Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WhoChillDay
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2023 เวลา 07:30 • การเมือง
จุดยืนชนชั้นนำสำคัญ !!
ตัวพ่อรัฐศาสตร์ "จารย์พิชาย" มองพลวัตรความขัดแย้งเคลื่อนจากบุคคลขยับสู่อุดมการณ์ชัดเจน
--- จุดเปลี่ยนประเทศ มวลชนแยกตัวเชิงอุดมการณ์แบ่งเป็น 2 ขั้ว เสรีนิยม “ก้าวไกล” ปะทะอนุรักษ์นิยม “เพื่อไทย” เร่งปฏิกิริยาแฟนคลับอารมณ์คุกรุ่น ส่อเพิ่มเชื้อไฟขัดแย้งในสังคม แนะทุกฝ่ายประคองเกมสู่ถนนสายสันติสุข ---
“มวลชนเหลือง แดง ส้ม เฉดทางอุดมการณ์ต่างกันแต่รวมกันได้ ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในสังคมจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจุดยืนของชนชั้นนำ การสลัด ก.ก. แบบไม่เหลือเยื่อใย ทำให้รัฐบาลพท.ต้องเผชิญศึกหนัก ทั้งใน และนอกสภา ที่ถูกตราหน้า...ทรยศประชาชน”
คีย์แมสเสจ ตัวพ่อรัฐศาสตร์ “รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อธิบายสถานการณ์การเมืองว้าวุ่น พลิกขั้วสลับข้างเปลี่ยนสีเวลานี้ เป็นประเด็นที่ตนและวงวิชาการ ได้คาดการณ์บนฐานหลักวิชาการ งานวิจัย จับสัญญาณการเมืองในแต่ละจังหวะ มาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ไล่มาถึงวันนี้ แล้วเค้าลางอนาคตว่าจะออกมาหน้าไหนบ้าง
ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปี 65 – 66 ในวงวิชาการรวมทั้งตนเองวิเคราะห์ว่า ถึงที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทย (พท.) จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) !!
ภายใต้ฐานคิด พท.ได้รับชัยชนะเป็นที่ 1 เพราะตอนนั้นมีความนิยมนำทุกพรรค แต่ยังไง ๆ เสียงสนับสนุนก็ไม่พอที่จะได้เป็นนายกฯ สุดท้ายต้องพึ่งเสียงของพปชร. หรือฟากรัฐบาลเก่า ที่มีสว.สนับสนุน เพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ที่นี้เกิดเหตุการณ์พลิกผัน...ระหว่าง พท. กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ช่วง 2 อาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งที่นิด้าโพลเปิดผลโพล วันที่ 3 พ.ค. 66 เป็นครั้งแรกที่คะแนนความนิยมของ “คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นำ “คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” ขณะเดียวกันคะแนนบัญชีรายชื่อ พท. ก็นำ ก.ก...น้อยมาก
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วคะแนนซีกพท. – ก.ก. ตั้งแต่นิด้าโพลทำมา มันเริ่มจาก 2 พรรครวมกันราว 60 % แต่พอปลายฤดูแตะ 70 % ซึ่งตรงนี้ออกมาตรงกับผลการเลือกตั้ง คือ 2 พรรครวมกัน
แต่จะสลับกัน...ช่วงแรก พท. เยอะกว่า - พอช่วงหลัง ก.ก. เยอะกว่า !!
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ อีกพรรคที่ไม่พูดถึงเลย...ไม่ได้ คือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากจะมีฐานมวลชนเดียวกับพท.แล้ว
ในมุมมองของตน...พท. – ก.ก.– รทสช. ทั้ง 3 พรรคนี้ เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวอุดมการณ์เข้มข้นกว่าพรรคอื่น...ซึ่งเป็นแนวปฏิบัตินิยม
และการจะสังเกตว่า พรรคไหนมีอุดมการณ์ให้ดูที่...คะแนนปาตี้ลิสจะสูง !! เพราะคนส่วนใหญ่เลือกตามความเชื่อ ความชอบ จะไม่เกี่ยวกับปัจจัยทรัพยากร เงิน และผลลัพธ์ออกมาก็จริงแบบนั้น
โหวตเตอร์กลุ่มนี้ คือมวลชนเหลือง - แดง - ส้ม เป็นประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง แต่เฉดอุดมการณ์อาจต่างกัน
ส่วนประชาชนที่เลือกด้วยปัจจัยอื่น เขาก็มีความคิดทางการเมือง แต่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ อาจให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นมากกว่าความคิดเชิงอุดมการณ์
แต่สิ่งที่ชัดเจน คือความคิดของประชาชนตอนนี้เปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนมาก ที่มาเลือกก.ก.โดยไม่มีอามิสสินจ้าง
ยกให้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกจากการติดตามของตน...เป็นพรรคที่ไม่ใช้เงินซื้อเสียงเลย ชนะการเลือกตั้งแบบขาวสะอาด
อันนี้ คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย !!
แต่แน่นอนการซื้อเสียงยังดำรงอยู่ แต่สัดส่วนเริ่มชัดว่าคนไม่เอาเงิน พึงรักษาอำนาจอธิปไตยตัวเอง และลงคะแนนเสียงด้วยจิตสำนึกทางการเมือง ลงคะแนนเสียงด้วยคาดหวังในอนาคตที่ดีกว่า...ดีมากขึ้น
“--- ช่วงปลายฤดูการแข่งขัน เขามองว่า… เอ๊ะ พท. ไม่ชัดเจน เรื่องเอาลุง ไม่เอาลุง !?
เลยเทคะแนนให้ ก.ก.เกือบทั้งหมด ประกอบกับคุณพิธา มีความโดดเด่นมาก มีความต้องใจ มีความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ บุคลิกดี พูดจาฉะฉาน จบการศึกษาสูง เป็นโรลโมเดลของคนรุ่นใหม่
เพราะฉะนั้นกลุ่มที่สนับสนุน ก.ก. มาจาก....
กลุ่มแดงประชาธิปไตยเดิม กลุ่มเหลืองแบบเสรี กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่ง
และระยะท้าย ๆ เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ถูกใจนโยบายเงินประกัน 3 พันบาท และถูกลูกหลานกล่อมเกลา
จากผลโพลสัปดาห์สุดท้ายที่นิด้าโพลไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ....กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปที่สนับสนุนก.ก. เพิ่มไป 21 % จากเดิมมีแค่ 6 % ---”
มวลชนเกิดการแยกตัว !?
จากการวิเคราะห์ความเป็นกลุ่มก้อนความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน (Active Citizen) มาตั้งแต่ ปี 53 – 66 จะเห็นว่า มวลชนแดง – เหลืองพันธมิตร - ส้ม พอมาถึงจุดหนึ่งเกิดการแยกตัวกัน !?
โดยเฉพาะเหลือง- แดง ภายในกลุ่มมวลชนก็ยังมีกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันมากในเชิงความคิด
ซีกแดง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1.กลุ่มแดงอุปถัมภ์... ฐานพท.
- มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม เชื่อมโยงกับผู้นำที่เข้มแข็ง
- ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน มีวิธีคิดยึดตัวบุคคลเป็นหลัก
- มีความชอบ “คุณทักษิณ ชินวัตร” มาก และชอบพท. ที่มีคนตระกูลชินวัตรอยู่ด้วย จึงมีความจงรักภักดี ใครแตะไม่ได้
- อนุมานว่ามีประมาณ 50 – 60 % ของคนที่เลือกพท.
- การกลับมาของคุณทักษิณ ยังเป็นศูนย์รวมทางซีกอนุรักษ์นิยม
- และคาดดึงมวลชน ช่วงชิงสนามการเมืองกับ ก.ก.หรือเสรีนิยม ทั้งในปัจจุบัน อนาคตแน่นอน !!
.
2.กลุ่มแดงประชาธิปไตย...แตกไป ก.ก.
- มีแนวคิดในเชิงประชาธิปไตย ให้น้ำหนักหลักการปกครองต้องมาจากประชาชน
- ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาพรรคการเมือง ที่ไม่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล
- ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางขึ้นมา อาจารย์ ข้าราชการ พนง.เอกชน
- เหตุผลเลือก พท. เพราะมองว่าเป็นพรรคที่ถูกกระทำจากรัฐประหาร
- และพร้อมสนับสนุนกลุ่มการเมือง ที่ออกแนวต่อต้านเผด็จการ หรืออำนาจนิยมทั้งหลาย
- จำนวนหนึ่งยังอยู่กับ พท. และช่วงหลัง จำนวนหนึ่งแตกไป ก.ก.
ซีกเหลืองพันธมิตร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1.กลุ่มเหลืองเข้ม หรือเหลืองจารีต...“บิ๊กตู่” ไปไหนไปด้วย
- มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสุดโต่ง เชื่อมโยงกับสถาบันแบบดั้งเดิม
- มีความนิยมจงรักภักดีต่อสถาบันดั้งเดิมมากเป็นพิเศษ
- ภาพของการเป็นผู้นำ เป็นชนชั้นกลางระดับสูง มีภาพเป็นผู้ดีหน่อย ๆ บุคลิกดุดันคล้าย “บิ๊กตู่” และไม่ค่อยชอบนักการเมืองแบบปฏิบัตินิยม หรือพวกบ้านใหญ่
- ก่อนปี 62 สนับสนุนประชาธิปัตย์ - พอปี 62 หันมาสนับสนุน “บิ๊กตู่” - ปี 66 เทไป รทสช. ที่มี “บิ๊กตู่” เป็นผู้นำ
.
2.กลุ่มเหลืองอ่อน หรือเหลืองเสรีนิยม...โดนใจก.ก.
- แนวคิดเห็นคุณค่าของสถาบันดั้งเดิม แต่ไม่สุดโต่งมาก
- เป็นสายเอ็นจีโอ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีจิตสำนึกในทางประชาธิปไตยสูง
- ให้น้ำหนักประเด็นคุณธรรม ทุจริตคอรัปชั่น
- หันไปสนับสนุน...ก.ก.
ซีกมวลชนส้ม... เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
- วิธีคิดเสรีประชาธิปไตย
- เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเหลือง - แดง เพราะช่วงเติบโตไม่ได้อยู่ในช่วงเหลืองแดง
- แน่นอนเมื่อปี 62 เขาชอบพรรคอนาคตใหม่ พอปี 66 ส่วนหนึ่งเกินครึ่งชอบ...ก.ก.
- แต่กลุ่มคนเหล่านี้อายุ 18 -35 ปี ประมาณ 40 % ก็นิยม พท. ตอน “คุณอุ๊งอิ๊ง” เข้ามา ซึ่งทำให้คะแนน พท. จากเดิมมีฐาน 20 % ของประชากร พุ่งทะลุไปถึง 49 %
- ก่อนกลับมาเทคะแนนให้ก.ก. ในช่วงปลายฤดูการแข่งขัน จากความไม่แน่นอนของพท. จะเอาลุงหรือไม่เอาลุง และความเป็นโรลโมเดลคนรุ่นใหม่ของ “คุณพิธา”
เลือกตั้ง 66 เฉดอุดมการณ์ต่าง แต่ไหลรวมได้...ด้วยจุดร่วมเดียวกัน !?
1. กลุ่มเหลืองจารีต...จับมือกับ...กลุ่มแดงอุปถัมภ์ !! มีหลักคิดเป็นอนุรักษ์นิยม แนวโน้มเป็นอำนาจนิยม
2. กลุ่มเหลืองเสรีนิยม...จับมือกับ...กลุ่มแดงประชาธิปไตย !! มีหลักคิดประชาธิปไตยร่วมกัน โดนใจก.ก. เสนอนโยบายการเมืองโปร่งใส ตรงไปตรงมาทำลายโครงสร้างอำนาจ
3. ขณะเดียวกันกลุ่มเหลือง - กลุ่มแดง ที่มีมิติประชาธิปไตยมาก ๆ จะกลายเป็น...ส้ม !! บวกกับมวลชนคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เอาพวกอำนาจนิยม ต่อต้านอำนาจนิยม
ดีลระดับพรรคการเมือง เพื่อนกัน – สิ้นสุดทางเพื่อน !?
เมื่อก่อนก.ก.กับพท. อยู่กันได้ เนื่องจากมีจุดร่วมในเรื่องของประชาธิปไตย คือต่างไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร
แต่ในเชิงอุดมการณ์ที่เป็นแก่นแท้…ทั้งแง่การมองสังคมในอนาคต แนวนโยบายการจัดการสังคม
2 พรรคนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง !!
.
ถ้าเปรียบพรรคก้าวไกล เป็นต้นไม้
ลำต้น...เป็นเสรีประชาธิปไตย ต้องการสังคมแบบปัจเจกบุคคล ต้องมีความเท่าเทียมกันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
1
กิ่งก้าน...เป็นอุดมการณ์ใหม่ ๆ มาเป็นองค์ประกอบ อาทิ สตรีนิยม หลากหลายทางเพศ - พหุวัฒนธรรม - สิทธิกลุ่มน้อย - สิ่งแวดล้อมนิยม
.
ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีลำตัน...เป็นอนุรักษ์นิยม ต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม โครงสร้างอำนาจ ลำดับชั้นแบบเดิม ไม่เช่นนั้นคงไม่เรียกหัวหน้าพรรคว่า....บอส และอย่างที่บอกว่า...สู้ไปปรับไปอะไรแบบนี้
กิ่งก้าน...ออกเฉดอนุรักษ์นิยมแตกต่างกันไป มีหลายองค์ประกอบ เช่น ขวาแบบฟาสซิสต์ - ขวายึดตัวบุคคลประชานิยม - อำนาจนิยมแบบจารีต - เสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่ ที่ยอมรับประชาธิปไตย เป็นต้น
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ !!
ที่พท. จะโน้มเอียงไปร่วมมือกับกลุ่มเหลืองจารีต พรรคซีกรัฐบาลเดิม
เพราะไม่ได้ขัดแย้งกันในเชิงอุดมการณ์มาก เขามีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ที่สู้ ๆ กันมาก็แค่ขัดแย้งที่ตัวบุคคล
เมื่อย้อนดูวิวัฒนาการ...อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ฟากตะวันตก ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นอนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม หรือแบบจารีต พอช่วงหลัง ๆ เป็นอนุรักษ์แบบประชาธิปไตย
แล้วทำไมเราถึงเห็นว่า...ตะวันตกอุดมการณ์ทั้งเสรีนิยม – อนุรักษ์นิยมอยู่ร่วมกันได้
เพราะมีจุดร่วม คือ....ประชาธิปไตย !!
แต่ในสาระของอุดมการณ์อาจจะต่างกัน
และอนาคตจะเป็นการต่อสู้กันใน 2 อุดมการณ์นี้
ดังนั้นพลวัตความขัดแย้งของสังคมไทยในช่วงถัดไป... จะเคลื่อนตัวจากความขัดแย้งของตัวบุคคล เชื่อมโยงไปสู่ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์มากขึ้น !!
สูตรจัดตั้งรัฐบาล พท. – ก.ก. กับระดับความรุนแรงมวลชน !?
สูตรที่ 1 สลัดทิ้งโดยรักษาไมตรี
- พท. จับมือกับภูมิใจไทย - ประชาธิปัตย์ - ชาติไทยพัฒนา กับพรรคเล็กอื่น ๆ โดยไม่เอา 2 ลุง เพราะยังอยู่ในเงื่อนไขของ ก.ก.
- และให้ ก.ก.เป็นฝ่ายค้านไปก่อน
- ยังมีโอกาสผลักดันนโยบายร่วมกันในอนาคต พูดง่าย ๆ ถ้ารัฐบาลพท.อยู่ไม่ได้...มันยังมีทางออก
- สมมติพท.บริหารไปสัก 1 ปี มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น ถ้าตามสูตรมวลชน พท.อาจมีท่าที มีข้ออ้างได้ว่า....มวลชนไม่ยอมรับรัฐบาลเรา ในสภาก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจปรับครม. เป็นจังหวะดีที่จะดึง ก.ก. มาเป็นรัฐบาลแทนพรรคที่ปรับออกไป
- ระดับความรุนแรงของประชาชน มวลชน แม้จะมีความขุ่นเคืองระดับหนึ่ง แต่อาจไม่มากเท่าไหร่นัก ยังอยู่ในสถานการณ์ที่พอไปกันได้ ถ้าพท. สลัดทิ้งแบบรักษาไมตรี
- แต่ถ้าเป็นปรปักษ์กันแล้ว !! พท. - ก.ก. จะเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดเข้มข้น
สูตรที่ 2 ตัดบัวไม่เหลือเยื่อใย
- พท. เอา 2 ลุงเข้ามา !!
- หรือจะเอาเฉพาะพลังประชารัฐ ไม่เอารวมไทยสร้างชาติ แต่เซ้นส์ของประชาชน มวลชน...ไม่ต่างกัน เพราะ พท. ทิ้งจุดยืนประชาธิปไตย และไปโอบรับพรรคการเมืองที่สืบทอดรัฐประหาร ซึ่งมีจุดยืนประชาธิปไตยแกว่งไปแกว่งมา
- ประกาศแตกหักเป็นปรปักษ์กับก.ก. ชัดเจน - ปรปักษ์กับประชาชน – มวลชนที่สนับสนุนก.ก. - รวมทั้งมวลชนที่มีความคิดฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างในพท.เอง
- พท.ถูกตรงหน้าว่า...ทรยศประชาชน !! ....ทิ้งจุดยืนประชาธิปไตย ที่เคยให้สัญญาไว้
- ทำให้ระดับความรุนแรงของประชาชน มวลชน มีปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรง มีความขัดแย้งสูง !! อารมณ์ขุนเคืองที่คุกรุนเริ่มทะลัก ๆ ๆ ออกมา
- กลายเป็นรัฐบาลที่เผชิญกับศึกหนักมาก ทั้งในสภา นอกสภา
- แน่นอนเสียงในสภาแน่น มีมาเติม 70 กว่าเสียง และเป็นไปได้ว่าอาจเลือกมาพรรคเดียว โน้มไปพลังประชารัฐมากกว่า เพราะคำนึงเรื่องของเสียงแบบพอเหมาะพอเจาะ แต่ถ้าเอารวมไทยสร้างชาติมาด้วย เสียงอาจเยอะไป...น่าจะมีปัญหาในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี
- สิ่งสำคัญต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากทาง ก.ก.
- นอกสภา ต้องเผชิญกับการประท้วงทุกวัน ก็รอดูว่าจะจัดการอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ดีไม่ดีอาจอยู่ได้ไม่นาน พ.ย. - ธ.ค. อาจมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น !!
- ผลจากการตัดสินใจครั้งนี้...ทำให้ประชาชน มวลชนเสื้อแดง - คนที่มีจุดยืนความคิดประชาธิปไตย และเสรีนิยม จะกลับมาร่วมกับก.ก.มากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต
ความขัดแย้งในมิติการพัฒนาทางการเมือง !?
ถ้าเรียนรู้ประวัติศาสตร์โลก และการประคับประคองไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง
หมายความว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต้องยอมลดท่าที่แข็งกร้าว ยอมลดผลประโยชน์บางส่วน เพื่อกระจายไปสู่สังคมบ้าง ย่อมทำให้เกิดแนวทางการปฏิรูปที่จะสามารถไปได้
เหมือนกับแถวยุโรปเหนือ เวลาเปลี่ยนแปลง เขาไม่นองเลือดเหมือนในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือยุโรปตอนต้นเท่าไหร่
และในยุโรปเหนือเกือบทุกประเทศ เขาสามารถรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้
ด้วยการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำ ที่ไม่แข็งกร้าว และยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการกระจายทรัพยากร กระจายอำนาจไปสู่ประชาชนมากขึ้น
ถ้าสามารถประคับประคองจุดเปลี่ยนประเทศไปได้...ย่อมทำให้สังคมไม่เกิดการปะทะกัน !!
เพราะในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในสังคมจะรุนแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจุดยืนของชนชั้นนำ !?
- ถ้าชนชั้นนำมีความแข็งกร้าว รักษาอำนาจตัวเองเอาไว้ จะนำไปสู่การนองเลือด แต่ท้ายสุดจะเปลี่ยนแปลงวันยังค่ำ จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
- ถ้าประเทศไหน ชนชั้นนำ มีความคิดปฏิรูปสักหน่อย ไม่ยึดติดกับความแข็งกร้าว ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป
ประเทศนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติ และก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งสังคมโดยรวม และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
“---ที่นี้ในสังคมไทย เสียดายตรงที่ว่า คนมีอำนาจเขาไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์โลก...ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรนะ !!
อยากฝากทั้งกลุ่มนำของแต่ละฝ่าย ฝ่ายผู้ชุมนุม ต้องชุมนุมด้วยสันติวิธี พยายามลดสิ่งที่กระตุ้นไปสู่การใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทางฝ่ายชุมนุม...
ช่วยกันที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากความรุนแรง... อันนี้ผมพูดในสิ่งที่คาดหวังนะครับ ---”
.
#WhoChillDay
4 ส.ค. 2566
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
#พิชาย รัตนดิลก ณ อุยุธยา #มวลชนชุมนุม
#ดีลข้ามขั้ว #เพื่อไทย #ก้าวไกล
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เลาะรั้วการเมือง
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย