4 ส.ค. 2023 เวลา 10:00 • ธุรกิจ

ถ้าไม่อยากแพ้ต้องประเมิน 7 สิ่งนี้

ซุนวูให้ความสำคัญกับเรื่องการประเมิน จุดประสงค์การประเมินนั้น ก็เพื่อให้รู้ว่าจะชนะได้หรือเปล่า หลังประเมินจริงจะรู้ว่ามีโอกาสชนะสักกี่เปอร์เซ็นต์
1
รู้ว่ามีโอกาสชนะจึงค่อยรบ ถ้าไม่มีก็จะไม่รบ ให้ไปหาวิธีอื่นเอา เพื่อรักษาทรัพยากรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รบแล้วก็ต้องมายืดเยื้อเพราะทุกอย่างมีต้นทุน
ดูว่าเจ้านายฝ่ายใดมีมรรคกว่ากัน แม่ทัพฝ่ายใดสามารถกว่ากัน ลม ฟ้า อากาศ และชัยภูมิเป็นประโยชน์กับฝ่ายใด กฎระเบียบฝ่ายใดเข้มงวดกวดขันดีกว่ากัน กำลังพลฝ่ายใดมากกว่า ทหารฝ่ายใดฝึกซ้อมได้ดีกว่า การให้รางวัลและการลงโทษฝ่ายใดชัดเจนกว่า เช่นนี้ก็รู้แล้วว่าฝ่ายใดจะชนะ
ซุนวู
1.เจ้านายฝ่ายใดมีมรรคกว่ากัน มรรคของซุนวูคือ สิ่งที่ทำให้ข้างบนและข้างล่างรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือพูดให้ง่ายก็คือประชาชนสนับสนุนหรือไม่ เป็นเรื่องของคุณธรรม เป็นเรื่องของเป้าหมายและความชัดเจน เพราะผู้นำสูงสุดมีหน้าที่กำหนดสิ่งเหล่านี้
ในโลกธุรกิจก็คือ Pian Point ของลูกค้า ถ้าเราจับได้ถูกเท่ากับว่าเราแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ เมื่อสิ่งที่เราทำแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ลูกค้าก็จะสนับสนุนกิจการเหล่านั้นเอง นี่จึงคือประชาชนสนับสนุนหรือไม่ มีแต่ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้นที่จะทำให้ทั้งข้างบนและข้างล่างเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ชัดเจนมากจึงมี "มรรค" มาก
2.แม่ทัพฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่ากัน สิ่งแรกที่ซุนวูเลือกแม่ทัพก็คือ ความสามารถ เราเคยพูดถึงในบทความเกี่ยวกับความสามารถของแม่ทัพแล้ว ความสามารถในที่นี้ก็คือ ความสามารถที่จะจัดการปัญหาได้หรือไม่
ในบางครั้งบริษัทที่ใหญ่แล้วจะมีการคัดเลือกผู้นำในฝ่ายบริหารสูงสุดขึ้นมา เลือกมาเพื่อจัดการปัญหาบางอย่างขององค์กรนั่นเอง ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องดูก็คือผู้บริหารคนนั้นจะมีความสามารถแก้ปัญหาที่บริษัทต้องการได้หรือไม่นั่นเอง
แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ยังเล็กอยู่เราก็คือ แม่ทัพที่ต้องนำองค์กรออกศึกด้วยตัวเอง ก็ต้องถามตัวเองว่าเรามีความสามารถที่จัดการปัญหาที่เผชิญอยู่ได้หรือไม่นั่นเอง
3.ฟ้าดินใครได้ ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบันฝนฟ้าอากาศมีผลต่อการรบ ฝนตกก็ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี แห้งแล้งก็ทำให้ทหารอิดโรยได้
ในโลกธุรกิจบางธุรกิจมีช่วงของ High season และ Low season การออกแพ็คเกจต่างๆจึงต้องประเมินตามฤดูกาลเหล่านี้ด้วย
หรือตำแหน่งทางการตลาดก็ต้องเลือกให้ดีหากเราไปเลือกในตลาดที่มีคู่แข่งมากมายก็จะทำให้เราต้องเหนื่อย หากเลือกผิดก็เสมือนฟ้าดินไม่เข้าข้างเรา
4.กฎระเบียบฝ่ายใดเข้มงวดกว่ากัน คนมากใช้กฎหมาย คนน้อยใช้คำสั่ง มีสิ่งนี้ก็เพื่อให้องค์กรเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดการมีผู้ใดกล้าและหากใครขัดขืนจะถูกลงโทษ
ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องของกฎข้อระเบียบนี้ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจ หรือแสดงอำนาจของผู้นำในองค์กรเสียมากกว่า เพราะผู้นำสูงสุดเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ มีความรับผิดชอบสูงสุดต่อองค์กร องค์กรสำเร็จได้ก็เพราะเราไปถึงวิสัยทัศน์นั้นๆ
หากองค์กรไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นพื้นฐานในการพิจารณากระทำสิ่งต่างๆ องค์กรย่อมไม่สามารถเดินไปถึงวิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้
5.กำลังพลฝ่ายใดมากกว่า ซุนวูไม่ได้หมายถึงจำนวนเพียงอย่างเดียว หรือเราลองพูดในบริบทว่ากำลังพลฝ่ายใดเข้มแข็งกว่า การมีจำนวนพลมากไม่ได้แปลว่าเป็นกำลังพลที่เข้มแข็ง
ยกตัวอย่างฝ่ายหนึ่งมีทหารเกณฑ์อยู่ 100,000 นาย และอีกฝ่ายมีทหารอาชีพ 100,000 นาย จำนวนเท่ากัน ถามว่าฝ่ายใดจะชนะ แน่นอนว่าหลายคนตอบว่า "ทหารอาชีพ" ที่ทุกคนตอบอย่างนี้ ไม่ได้วัดกันที่จำนวน แต่กำลังตอบในแง่ของความเข้มแข็งนั่นเอง
ไม่ต้องมีกำลังมาก แต่ต้องมีมากพอเพื่อที่จะคว้าโอกาสชนะเมื่อโอกาสนั้นมาถึง เปรียบเสมือนโลกธุรกิจ โดยส่วนใหญ่คนเริ่มต้นธุรกิจไม่ได้มีทรัพยากรที่เพียบพร้อม แต่เพราะมีจังหวะหรือโอกาสที่เข้ามา และเราใช้กำลังเท่าที่มีคว้าโอกาสนั้นมาได้นั่นเอง
6.ไพร่พลฝ่ายใดฝึกซ้อมได้ดีกว่า หมายถึงการเตรียมตัว เพราะฝึกฝน เวลาให้เตรียมตัวก็จะรวดเร็ว เราไม่มีทางรู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ถ้าเราเตรียมตัวมาดีเราจะสามารถรวมพลได้เร็วเพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้นได้
เหมือนนักดับเพลิงไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อไหร่ แต่เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้นักดับเพลิงจะต้องเตรียมตัวให้เร็วที่สุดและไปยังจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุดเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกซ้อมก็เพื่อเตรียมตัวรับมือสถานการณ์
ในโลกธุรกิจปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และรูปแบบธุรกิจไปมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI ก็ตาม หากธุรกิจใดรับมือไม่ทันก็มักจะเป็นธุรกิจที่ต้องล้มหายตายจากไป ฉะนั้นจงดูว่าไพร่พลของเรามีการฝึกซ้อมดีหรือไม่ ดีพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั่นเอง
7.การให้รางวัลกับการลงโทษฝ่ายใดชัดเจนกว่า เป็นทหารก็ต้องทำผลงานทำผลงานก็อยากได้รางวัล ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษเพราะลงโทษแม่นยำกฎระเบียบในกองทัพจึงไม่มีใครกล้าละเมิด ที่ละเมิดเพราะใช้กฎหย่อนยาน
ในตำราพิชัยสงครามซุนวูฉบับหัวซานกล่าวไว้ว่า ประเด็นสำคัญของการให้รางวัลและการลงโทษมีอยู่สองประการ หนึ่งคือทันเวลา สองคือพอเหมาะพอควร ให้รางวัลไร้ขีดจำกัดก็ไร้พระคุณ ลงโทษส่งเดชไม่เกิดบารมี
ในองค์กรหนึ่งหนึ่งพนักงานอาจอยู่เพราะเงินเดือนก็จริง แต่พนักงานสมัยนี้ก็พิจารณาถึงสวัสดิการอื่นๆขององค์กรด้วย บางครั้งที่พนักงานลาออกอาจจะไม่ใช่เพราะเรื่องของเงินเดือน แต่เป็นเพราะสวัสดิการไม่อาจจะดึงดูดใจให้พนักงานเก่งอยู่กับเราได้ตลอดนั่นเอง
ว่ากันว่าเด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการเติบโตในหน้าที่การงานด้วยเช่นกัน หากองค์กรไหนมีการบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ไม่ดี จึงมักไม่สามารถดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กรนั้นได้
สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจลองใช้เจ็ดข้อนี้ในการพิจารณาประเมินดู ในแต่ละข้อนั้นเราได้ทำไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อเราประเมินได้เราก็จะเห็นจุดที่เรายังบกพร่องอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้สิ่งที่คุณทำจะประสบความสำเร็จเสียทีเดียว แต่เป็นหลักประกันพอได้ว่าหากทำได้ถึงประมาณหนึ่งก็อาจจะไม่ต้องประสบความล้มเหลว
ซุนวูกล่าวต่ออีกว่า
ผู้เป็นแม่ทัพที่เชื่อในหลักการประเมินนี้จะได้ชัย ให้เอาตัวไว้ แม่ทัพคนไหนไม่เชื่อในหลักการนี้ย่อมแพ้แน่ ให้ปลดเสีย
ซุนวู
จะชนะหรือประสบความสำเร็จอย่างที่ซุนวูพูดไว้ไหม ก็คงต้องไปพิสูจน์กันดูอีกที แต่ที่แน่นอนคือประเมินแล้วจึงไม่แพ้ ไม่ประเมินเลยแพ้แน่นอน ฉะนั้นหากเริ่มอะไรก็ขอให้มีหลักยึดซะหน่อยก็คงจะอุ่นใจกว่า
2
โฆษณา