4 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

Dream : รู้จัก Homeless World Cup การแข่งฟุตบอลที่เปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน

Dream เป็นหนังเกาหลีเข้าใหม่ใน Netflix ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เรื่องราวของนักบอลที่ผันตัวมาเป็นโค้ชสำหรับคนไร้บ้านที่จะไปแข่งฟุตบอลเวิลด์คัพสำหรับคนไร้บ้าน หรือ Homeless World Cup
หนังค่อยๆ พาเราก้าวเข้าไปในโลกของคนไร้บ้าน ให้เราได้เห็นแง่มุมอีกด้านหนึ่งของเกาหลีใต้ที่เราอาจไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเหตุใดในประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีคนบางกลุ่มที่กลายเป็นคนไร้บ้านอยู่ ถูกตีตราว่าเป็นตัวอันตรายที่ถูกแบ่งแยกออกจากสังคม และหนังยังพาให้เรารู้จักกับ Homeless World Cup การแข่งขันฟุตบอลที่เข้ามาช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านทั่วโลก
📌 คนไร้บ้านในเกาหลีใต้…ปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้การพัฒนาของเศรษฐกิจ
ในสังคมเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ กลับซุกซ่อนความจริงอันน่าเศร้าที่คนไร้บ้านหลายคนต้องเผชิญอยู่ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งใน 20 อันดับ ประเทศที่มีคนไร้บ้านสูงที่สุดในโลก…
ในปี 2017 รัฐบาลเกาหลีใต้คาดว่ามีคนไร้บ้านกว่า 11,000 คน หากมองแค่ในกรุงโซล เมืองหลวงที่มีคนกว่า 10 ล้านคน คาดว่ามีคนอยู่ตามท้องถนนหรือสถานที่พักผิงราว 2,600 คน ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้อาจจะน้อยกว่าในลอสแอนเจลิส
หรือเมืองหลักๆ ของสหรัฐฯ แต่ในกรุงโซลมีอพาร์ทเมนท์ของรัฐบาลสำหรับคนที่มีรายได้น้อยอยู่เพียง 166,000 ห้องเท่านั้น และมีคนกว่า 320,000 ชีวิต ต้องพักอาศัยในห้องเช่าแบบแบ่งย่อยที่แออัด ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่เรียกว่า จกบัง (Jjokbang)
📌 ทำไมคนเกาหลีใต้หลายคนถึงกลายเป็นคนไร้บ้าน?
1) ดัชนีบ้าน (Housing Index) : ในขณะที่จำนวนคนไร้บ้านในกรุงโซลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงจาก 4,505 คน ในปี 2014 เหลือ 3,478 คน ในปี 2018 แต่ก็ถือว่าในกรุงโซลยังมีคนไร้บ้านจำนวนมากอยู่ดี
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านก็คือราคาบ้านที่สูงมาก
ดัชนีบ้าน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยราคาบ้านทั่วประเทศในเกาหลีใต้ โดยรวมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 33.6 ในปี 1987 ไปถึง 100.2 ในปี 2019 ยิ่งดูจากตัวเลขนี้แล้วจะเห็นว่าการที่จะเป็นเจ้าของบ้านสักหลังนั้นยากขึ้นไปทุกที
2) การล้มละลาย : การล้มละลายก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านเช่นกัน จากการศึกษาของรัฐบาลกรุงโซล พบว่า 24% ของคนไร้บ้าน สูญเสียบ้านจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนล้มละลาย โดยเฉลี่ยอายุของคนไร้บ้านเหล่านี้จะอยู่ที่ 50 กลางๆ
3) การติดแอลกอฮอล์ : คนไร้บ้านที่ติดแอลกอออล์ เป็นกลุ่มที่ยากต่อการได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากศูนย์พักพิงสำหรับคนไร้บ้านมักจะมีนโยบายปลอดแอลกอฮอล์ และมีข้อบังคับหลายอย่าง ทำให้คนเหล่านี้เลือกที่จะไปอยู่ตามท้องถนนแทน ส่งผลให้เรามักจะเจอคนไร้บ้านที่ติดแอลกอฮอล์อยู่ในโซลอย่างแพร่หลาย
📌 รัฐบาลเกาหลีใต้ทำอย่างไรกับคนไร้บ้าน?
รัฐบาลเกาหลีเองก็พยายามจะลดจำนวนคนไร้บ้านในเกาหลีใต้ ในกรุงโซล ถึงแม้จำนวนคนไร้บ้านก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลกรุงโซลประมาณการณ์ว่าจำนวนคนไร้บ้านในปี 2017 ลดลงประมาณ 30% จากจำนวนคนไร้บ้านในปี 2010
อย่างไรก็ตามปัญหาคนไร้บ้านก็ยังพบได้อยู่ หากคุณเดินอยู่ในกรุงโซล การพบคนไร้บ้านตามมุมต่างๆ ก็เป็นภาพที่เห็นจนชินตา
ในสมัยประธานาธิบดีมุนแจอิน กระทรวงสวัสดิการประกาศนโยบายที่จะช่วยเหลือคนไร้บ้าน โดยพยายามสร้างบ้านให้สำหรับคนไร้บ้าน สร้างงาน และเปิดให้มีการฝึกอบรมอาชีพสำหรับคนไร้บ้าน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ให้คนไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนสังเกตความเป็นไปของคนบ้านใกล้เรือนเคียง ว่าใครอาจมีแนวโน้มจะกลายเป็นคนไร้บ้าน
📌 Homeless World Cup การแข่งฟุตบอลเพื่อยกระดับชีวิตคนไร้บ้าน
ในหนังได้พาเราไปรู้จักกับ Homeless World Cup เป็นการจัดการแข่งขันฟุตบอลโดย The Homeless World Cup organization ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 เพื่อหวังจะช่วยลดปัญหาคนไร้บ้าน โดยการแข่งขันจะเป็นการคัดเลือกคนไร้บ้านจากแต่ละประเทศเข้ามาร่วมแข่งขันฟุตบอลกัน
โดยจะคัดเลือกจากเกณฑ์คือ
ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขัน Homeless World Cup มาก่อน และเข้าเกณฑ์อย่างน้อยหนึ่งข้อในนี้
  • 1.
    เป็นคนไร้บ้านอย่างน้อย 1 ปี โดยอ้างอิงจากนิยามคำว่าคนไร้บ้านในแต่ละประเทศ
  • 2.
    มีรายได้หลักจากการยืนขายหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารตามท้องถนน (ในหนังจะเห็นว่ามีคนที่ขายนิตยสาร The Big Issue นิตยสารที่ช่วยสร้างอาชีพให้คนไร้บ้าน)
  • 3.
    เป็นผู้ลี้ภัย หรือเคยลี้ภัยแต่ได้รับสถานะผู้พำนักแล้ว
  • 4.
    อยู่ในช่วงบำบัดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ฟุตบอลทัวร์นาเมนต์แรกถูกจัดขึ้นในปี 2003 ที่ Graz ประเทศออสเตรีย การแข่งขันฟุตบอลได้เปลี่ยนชีวิตของคนไร้บ้านจำนวนมากมายทั่วโลก มีประเทศกว่า 70 ประเทศที่เข้าร่วมกับองค์กรนี้
การแข่งขัน Homeless World Cup ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับการแข่งขันล่าสุดในปี 2023 ก็เพิ่งจะจบลงไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 300 คน จาก 30 ประเทศ แบ่งเป็นทีมผู้ชาย 28 ทีม และทีมผู้หญิง 12 ทีม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เกิดการแแพร่ระบาดโควิด
ถ้าถามว่าการแข่งขันนี้ให้อะไรกับคนไร้บ้าน และให้อะไรกับสังคม มันอาจไม่ใช่เงินรางวัลจำนวนมหาศาล แต่สิ่งที่คนไร้บ้านได้รับคือ ความภาคภูมิใจในตัวเอง การได้พาตัวเองไปเจอกับโอกาสใหม่ๆ ได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ทำให้อยากพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ได้รับการยอมรับและเรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นคนกลับมา ในขณะที่สังคมก็ได้รับแรงกระเพื่อมจากการแข่งขันครั้งนี้ และไม่มองคนไร้บ้านเป็นคนไร้ค่าอีกต่อไป
เพราะในสนาม ไม่ว่าผู้เข้าแข่งขันจะเป็นใคร เคยทำอะไรมา
แต่ในนั้นทุกคนคือ “นักฟุตบอล” อย่างเท่าเทียมกัน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา