4 ส.ค. 2023 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“สิงหา-ปีเถาะ” ลุย “ตราสารหนี้ระยะสั้น” รับดอกเบี้ยไทยขยับ

ดักเก็บ “หุ้นไทย” ช่วงตลาดไม่ไปไหน Downside จำกัด !!!
ลายแทงกองทุน: ประเทศไทยในเดือนส.ค.นี้ น่าจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญโดยเฉพาะความหวังในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของประเทศต่อไป ซึ่งในช่วงสุญญากาศเช่นนี้ คงทำได้แต่ “รอ” กันต่อไป
“หุ้นไทย” เองก็ยังไม่ไปไหนปัจจุบันอยู่ประมาณ 1,530 จุด มองไปเป้าหมายสิ้นปีที่ตลาดมองกันไว้ตั้งแต่ 1,630-1,680 จุด อัพไซด์พอมี แต่ก็ไมมากอะไร คงต้องมองข้ามกันไปไกลในปีหน้าเลยทีเดียว
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยไทยเอง ล่าสุดทาง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) ก็ขยับดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2.25% ที่ตลาดเคยมองไว้ว่าน่าจะจบตรงนี้ก็อาจไม่แน่ ถ้าตัวเลขเงินเฟ้อสูงยังกดดันอยู่ ก็เป็นไปได้ที่จะมีการขยับขึ้นอีกสักครั้ง
นั่นทำให้ผลตอบแทนในกลุ่มของ “ตราสารหนี้ระยะสั้น” ในตลาดปรับตัวดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยและก็กลายมาเป็นโอกาสการลงทุนด้วยเช่นกัน รวมถึง “หุ้นไทย” ในเวลานี้ที่แม้ Performance แย่ติดอันดับโลกไปแล้ว แต่มองมุมกลับตอนนี้ก็เป็นโอกาสเช่นกัน
วันนี้ทางทีมงาน ‘Wealthy Thai’ ได้คัดสรร “4 กองทุนเด่น” สิงหา-ปีเถาะ ที่น่าสนใจในสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวมาฝากกัน
“ASP-DPLUS”...เฟ้น "ตราสารหนี้ระยะสั้น" คุณภาพดีตอบโจทย์สายเซฟ
เริ่มต้นกันที่ “ASP-DPLUS: กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส” ของบลจ.แอสเซท พลัส อยู่ในกลุ่มของ “Short Term General Bond” ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมาผลการดำเนินงานไม่เคยติดลบ ถ้าไปส่องดูผลขาดทุนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือ Maximum Drawdown ของกองทุนนี้จึงเทากับ “ศูนย์” นั่นเอง และสะท้อนถึงฝีไม้ลายมือของทีมผู้จัดการกองทุนได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของนโยบายลงทุนก็เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีคุณภาพเป็นหลัก ณ วันที่ 30 มิ.ย. 23 พอร์ตมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ 2 เดือน 19 วัน มีอัตราผลตอบแทน (Yield to Maturity) อยู่ที่ 2.61% การขายคืนหน่วยลงทุนนักลงทุนจะได้รับเงินหลังขาย 1 วันทำการ (T+1) ถือว่าเหมือนกองตราสารตลาดเงินกันเลยทีเดียว ในขณะที่ผลตอบแทนดีกว่า
หน้าตาพอร์ตของ ‘กอง ASP-DPLUS’ ล่าสุด (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 23) ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศทั้งหมด กระจายไปในตราสารหนี้เรทติ้ง BBB 40.85%, พันธบัตรรัฐบาล 22.21%, ตราสารหนี้เรทติ้ง A 32.58%, AA 3.80% และต่ำกว่า BBB อีก 0.18%
“PEQ”...ลุย "หุ้นไทย" พื้นฐานดีแบบไร้ข้อจำกัด
ต่อกันด้วยสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นสลับกันบ้าง อย่าง “PEQ: กองทุนเปิด ฟิลลิป ตราสารทุน” ของบลจ.ฟิลลิป บลจ.ลูกโบรกเกอร์ที่น่าจะมี DNA ด้านการลงทุนจากแม่อยู่บ้างไม่มากก็น้อย จัดอยู่ในกลุ่ม “Equity General” หรือ “กองหุ้นทั่วไป” ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยพื้นฐานดีที่อยู่ใน SET และ mai ได้แบบไร้ข้อจำกัดทั้งขนาดและสไตล์ของหุ้นที่ลงทุนนั่นเอง
หน้าตาพอร์ตล่าสุด (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 23) นั้น มีการลงทุนในหุ้นอยู่ 93.75% กระจายไปใน 5 อุตสาหกรรมดังนี้ 1) บริการ 35.16%, 2) ธุรกิจการเงิน 16.86%, 3) ทรัพยากร 12.19%, 4) อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 10.17% และ 5) เทคโนโลยี 8.28%
“โดย 5 หุ้นที่ ‘กอง PEQ’ ลงทุนสูงสุด ได้แก่ BBL 7.40%, ADVANC 6.13%, CPN 5.88%, AOT 5.58% และ BDMS อีก 5.50% ซึ่งล้วนเป็นหุ้นที่นักลงทุนน่าจะคุ้นชื่อกันเป้นอย่างดี”
สำหรับกองทุนนี้ ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลแต่เน้นเอาปันผลที่ได้กลับไปลงทุนต่อเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวเป็นสำคัญ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผลขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) -47.17%
“AIA-ST”...คัดเน้นๆ "ตราสารหนี้ระยะสั้น" Investment Grade
สลับมาที่ “AIA-ST: กองทุนเปิด เอไอเอ ตราสารหนี้ระยะสั้น AIA-ST” ของบลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) กันบ้าง กองทุนนี้อยู่ในกลุ่ม “Short Term General Bond” ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีเครดิตเรทติ้งระดับลงทุนได้ (Investment Grade) เป็นหลัก ตอบโจทย์สายเซฟเช่นเดียวกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเคยขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) เพียง -0.006% เท่านั้น
สำหรับหน้าตาพอร์ต (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 23) มีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้อยู่ที่ 0.09 ปี มีอัตราผลตอบแทน (Yield to Maturity) ที่ 2.10% โดยลงทุนตราสารหนี้ในประเทศทั้งหมด
“กระจายไปในพันธบัตรรัฐบาล 61.62%, ตราสารหนี้เรทติ้ง A 31.23% และ AA อีก 9.31% โดยนักลงทุนจะได้รับเงินหลังขายหน่วยลงทุนแล้ว 1 วัน (T+1) เท่ากับกลุ่มกองตราสารตลาดเงินในขณะที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า”
“TLDIVEQ-D”...โฟกัส "หุ้นปันผล" พื้นฐานดีในตลาดไทย
ปิดท้ายกันด้วย “TLDIVEQ-D: กองทุนเปิดทาลิส DIVIDEND STOCK หุ้นทุนปันผล” ของบลจ.ทาลิส ที่มีผู้บริหารหุ้นฝีมือดีไปร่วมก่อตั้งด้วย กองทุนนี้จัดอยู่ในกลุ่ม “Equity General” หรือ “กองหุ้นทั่วไป” เน้นลงทุนหุ้นไทยพื้นฐานดี และมีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลทั้งใน SETและ mai ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารพอร์ตที่สำคัญยังตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการ “ปันผล” ในระหว่างทางที่ลงทุนด้วย
ณ วันที่ 30 มิ.ย. 23 ‘กอง TLDIVEQ-D’ มีการลงทุนในหุ้นอยู่ 94.97% กระจายไปใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1) บริการ 23.69%, 2) ทรัพยากร 20.11%, 3) อสังหาริมทรัพย์ 15.72%, 4) เทคโนโลยี 14.43% และ 5) ธุรกิจการเงิน 11.65%
“โดย 5 หุ้นที่กองทุนลงทุนมากสุดนั้น ประกอบไปด้วย SSP 7.10%, ILINK 6.37%, WHA 5.26%, III 4.99% และ ADVANC 4.97%”
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผลขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) -43.90%
ในช่วงที่ดอกเบี้ยไทยขยับขึ้นมาเป็นโอกาสดีของนักลงทุนสายเซฟที่จะลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงไม่ต่างไปจากเดิม กับกลุ่มของ “กองตราสารหนี้ระยะสั้น” ได้เป็นอย่างดี ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้ มองหาโอกาสลงทุนใน “หุ้นไทย” จังหวะนี้ Downside จำกัด ก็เป็นจังหวะสำหรับนักลงทุนระยะยาวเช่นกัน นี่เป็น “4 กองทุนเด่น” สิงหา-ปีเถาะ ที่น่าจะเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจได้บ้างไม่มากก็น้อย
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา