4 ส.ค. 2023 เวลา 12:28 • การศึกษา

Horme: พลังชีวิตที่เด็กทุกคนมี แต่กักเก็บไว้ได้ไม่เท่ากัน

ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี กล่าวว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมพลังชีวิต ความอยากรู้อยากเห็น พลังที่เรียกว่า ฮอร์เม่ (Horme) หากเด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เขาก็จะหล่อเลี้ยงพลังนี้ได้นาน ทำให้การใช้ชีวิตแต่ละวันสนุกน่าค้นหา อยากพัฒนาตัวเอง มีพลังขับเคลื่อนด้วยตนเองเพื่อใช้ศักยภาพ/ความสามารถที่มีอยู่ตามธรรมชาติในแต่ละคนเต็มที่
ห้องเรียนมอนเตสซอรีจึงออกแบบให้เด็กหล่อเลี้ยงฮอร์เม่ไว้ มีอิสรภาพและขอบเขตที่เหมาะสม ไม่มีการสอบ เด็กแต่ละคนเรียนรู้ตามจังหวะ pace and rhythm ของตนเอง ...ครูสัมผัสฮอร์เม่ได้ทันทีจากท่าทาง สายตาของเด็กเวลาทำงาน
และพลังนี้ก็หล่อเลี้ยงหัวใจครูมอนเตสซอรีทั่วโลกเช่นกัน ❤️
💁🏻‍♀️ จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กวัย 3-6 ปีมีฮอร์เม่หรือไม่
1. มีความสนใจใคร่รู้ในสิ่งรอบตัว มีบางอย่างที่เขาอยากศึกษาและมีสมาธิจดจ่อได้ เช่น หยุดดูว่ามดทำอะไรกันแล้วสังเกต วิเคราะห์ หาคำตอบ รู้สึกอัศจรรย์ใจกับสิ่งที่ค้นพบด้วยตนเอง มีเรื่องที่เขาพบเจอมาเล่าให้เราฟังอย่างยินดีปรีดา
2. เมื่อเราตั้งคำถามชวนคิด (ในบรรยากาศที่เหมาะสม) เขารู้สึกสนุก มีส่วนร่วม อยากทดลองและกล้าตอบ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
3. เขามีช่วงเวลาอิ่มเอมกับสิ่งรอบตัวที่แสนจะธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดาสำหรับเด็ก) เช่น การผสมสี การปั้น การเล่นกับใบไม้ดอกไม้ การสำรวจดินหลังฝนตก การไปดูน้ำขึ้นน้ำลง วิถีชีวิตในชุมชน ฯลฯ เป็นคนละเรื่องกับความตื่นเต้นจากของเล่นที่ซื้อมาใหม่หรือเรื่องสนุกจากจอตามกระแสนิยม
4. เขาสามารถจดจ่อและเปิดใจฟังเรื่องราวใหม่ๆได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่สนใจมาก่อนแต่หากผู้เล่าใช้วิธีการและเวลาเล่าอย่างเหมาะสม เด็กควรสนใจจดจ่อได้บ้างในระยะเวลาสั้นๆตามวัย ไม่เบื่อง่าย ไม่เดินลุกหนีไปทันทีทันใด ไม่ปิดหูปิดตาทำเสมือนไม่มีสิ่งตรงหน้า
5. ตั้งคำถามเป็นและรู้จักเล่นต่อยอดสิ่งที่สนใจได้ เขาจะทำงานด้วยความเพียรพยายาม ยินดีภูมิใจกับตนเองเมื่อสามารถคิดหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาได้เอง
💁🏻‍♀️ แบบไหนที่เราควรตระหนักและผู้ใหญ่ควรปรับสิ่งแวดล้อม
1. เด็กไม่ค่อยชอบคิดตาม ต้องกระตุ้นเยอะเพื่อให้เด็กตั้งใจฟัง
2. เด็กเอ่ยคำว่า “ไม่รู้” ง่ายดายและรวดเร็วโดยไม่ประมวลผลและยอมแพ้เลิกคิดกลางคันบ่อยๆ
3. ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่รู้สึกตื่นเต้นยินดีกับเรื่องราวในวิถีชีวิต แต่มักจะจดจ่อกับเรื่องราวในจอและสนุกในโลกแฟนตาซี ตาเป็นประกายเมื่อถูกตามใจหรือได้ดูจอ แต่กลับหม่นหมอง ไร้พลังเมื่อไม่มีสิ่งกระตุ้น
4. ไม่ชอบทำอะไรด้วยตนเอง เหม่อลอย และอยู่นิ่งๆไม่ขยับตัวทำในสิ่งที่ตนสามารถทำได้ รอฟังคำสั่ง ไม่มั่นใจแม้เป็นเรื่องที่ทำทุกวันเป็นปกติวิสัย
💁🏻‍♀️ การหล่อเลี้ยงฮอร์เม่
1. ส่งเสริมให้เด็กพึ่งพาตนเอง ทำกิจวัตรด้วยตนเอง ทำกิจวัตรให้เป็นเรื่องปกติสม่ำเสมอ มีส่วนร่วมในครอบครัว ไม่ต้องจ้างเด็กทำงานบ้าน หากเราทำได้ดีแต่แรกเราไม่ต้องใช้ระบบรางวัลวัตถุเลย แค่เราขอบคุณเขาอย่างจริงใจ หัวใจเขาจะพองฟูได้แน่ๆเพราะ self esteem เกิดแล้ว
2. ผู้ใหญ่มีเวลาพาเด็กใช้ชีวิต ชี้ชวนให้เขาเห็นสิ่งรอบตัวด้วย
3. ให้เด็กมีเวลาสังเกตสิ่งรอบตัวในบรรยากาศเงียบสงบบ้าง ไม่ต้องกระตุ้นเร้าตลอด
4. ตั้งคำถามปลายเปิด ชวนคิดแล้วนำเขาไปสู่คำตอบ เช่น หากเด็กถามว่าทำไมหมาตัวนั้นเดินกะเผลก เราไม่ต้องตอบทันทีว่า “หมาแก่แล้ว” ก็ได้ เราลองชวนเขาคิดว่า “นั่นสิ หนูคิดว่ามีอะไรทำให้หมาเจ็บขาได้บ้าง” เขาอาจจะมาพร้อมกับคำตอบเกินจริง แต่นั่นเขาก็ได้ฝึกคิด
5. หาเวลาพาลูกไปเดินเส้นทางธรรมชาติ ชี้ชวนให้เขาดูนั่นนี่ ปลูกฝังให้เขาเห็นว่าทุกอณูบนโลกนี้มีเรื่องราวให้เรียนรู้เยอะไปหมด หาเวลาพาเขาไปพิพิธภัณฑ์ดีๆ (แม้จะมีน้อย) พาไปดูชุมชนที่มีปราชญ์ชาวบ้าน ชมคอนเสิร์ตการแสดง ชมการแข่งกีฬา นิทรรการศิลปะ หยุดชมดนตรีเปิดหมวกที่เพราะๆ (หลานครูชอบดูโขน ชอบดูคนเล่นดนตรีสด) เหล่านี้หล่อเลี้ยงฮอร์เม่และสร้างพลังชีวิตแก่เด็กได้ดีมาก
6. อย่าให้หน้าจอพรากโอกาสสังเกตสิ่งรอบตัว
7. มีพื้นที่ให้เด็กสามารถใช้ความเป็นเด็ก ได้เล่นอิสระเต็มที่ ได้ละลายพฤติกรรมและความเครียดออกไปตามธรรมชาติ โดยมีกติกาพื้นฐานคือไม่ทำร้ายคน ไม่ทำลายของ ไม่ทำตนเองบาดเจ็บ
ฮอร์เม่เหมือนเปลวไฟ เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมไฟดวงนี้ แต่เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งเด็กบางคนไฟกลับริบหรี่ลง อาจจะด้วยระบบการศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกื้อกูลก็ตาม
สองมือของผู้ใหญ่สามารถหล่อเลี้ยงไฟได้ และเราสามารถดับไฟฮอร์เม่ได้เช่นกัน
เด็กท่องหนังสือได้ พูดตามได้ ทำข้อสอบได้ เต้นและร้องตามคลิปได้ ไม่ได้แปลว่ามีฮอร์เม่..
เพราะฮอร์เม่คือการมีพลังชีวิต มีพลังเรียนรู้ มีพลังพัฒนาตนเอง ไม่ว่ากับเรื่องสนุกหรือไม่สนุก ไม่ว่าจะมีคนจับตาดูหรือไม่มี ฮอร์เม่จะทำให้เขาอยากเรียนรู้และทำแต่ละวันให้ดี ทำสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อตัวเอง
#บันทึกครูมอนเตสซอรี
#montessoriguidesdiary
โฆษณา