10 ส.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ดื่มน้ำปริมาณไหนถึงเรียกว่าดี หรือแบบไหนถึงเรียกว่ามากเกินไป ?

ตั้งแต่ยังเล็กเราถูกปลูกฝังว่า ‘เราควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน’ เพื่อจะได้มีสุขภาพที่ดี เนื่องจากร่างกายของเราส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยน้ำ และผลดีของการดื่มน้ำนั้นก็ช่วยทั้งทางกายภาพภายนอก ที่ทำให้สดชื่น ปรับอุณหภูมิร่างกาย หรือแม้กระทั่งดับกระหาย ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อภายในที่ทำให้ระบบต่าง ๆ ของอวัยวะทำงานได้อย่างปกติ ไร้ซึ่งปัญหา หรือโรคภัย
3
แต่รู้หรือไม่ว่า หากเราดื่มน้ำมากเกินไป กลับอาจจะให้โทษโดยที่เราไม่รู้ตัวได้ !
หากอ้างอิงตามข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การดื่มน้ำที่เพียงพอควรอยู่ในปริมาณ 2 ลิตรหรือประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย สุขภาพผิวดี สมองทำงานดี การขับของเสียก็ทำงานได้เป็นระบบ
ขณะเดียวกันหากเราดื่มน้ำมากเกินไปล่ะ!
การดื่มน้ำมากเกินไป หมายถึง การดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายจะรับไหว กล่าวคือในปริมาณที่สูงถึง 6-7 ลิตรต่อวัน และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายได้รับปริมาณน้ำมากขนาดนั้นก็จะกลับตาลปัตรให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพแทน เช่น
💧 การดื่มน้ำที่มากเกิน ทำให้ไตทำงานอย่างหนักขึ้น เนื่องจากอยู่ในสภาวะตัวกรอง อาจจะทำให้ไตมีปัญหา หรืออาจหนักถึงขั้นไตทำงานหนักผิดปกติจนหมดสติ หรือเสียชีวิตได้
💧 ภาวะโซเดียมในร่างกายจะต่ำ หรือ ไฮโปแนทรีเมีย (Hyponatremia) เพราะร่างกายเสียสมดุลเนื่องจากน้ำจะไปเจือจางทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมในร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดเซลล์บวมน้ำ อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้
1
💧 เมื่อเรารับน้ำมากเกินไปและในเวลารวดเร็ว จะทำให้เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ (Water Intoxication) อาจส่งผลต่อกายภาพโดยตรง ที่หมายถึงร่างกายอาจจะรับน้ำไม่ไหว จนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือรู้สึกหมดแรงแบบไม่รู้ตัว
จะเห็นได้ว่าแม้การดื่มน้ำจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่หักโหมหรือฝืนด้วยความเชื่อผิด ๆ ว่ายิ่งดื่มยิ่งดี แต่ให้คิดเสมอว่า ดื่มน้ำให้ดีต้องดื่มในปริมาณที่พอเพียง เท่านี้ก็ช่วยลดปัญหาสุขภาพลงไปได้
แล้วถ้าเราไม่ได้วัดปริมาณการดื่มน้ำ จะรู้ได้อย่างไรว่าเราดื่มน้ำมากเกินไป ให้เราสังเกตง่าย ๆ 3 ข้อ
1) มีอาการอยากเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติหรือไม่ : โดยปกติจำนวนการเข้าห้องน้ำในหนึ่งวันจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6–8 ครั้ง หากเกินกว่านี้ ให้พิจารณาจากการดื่มน้ำก่อนว่าเราดื่มเยอะเกินความจำเป็นหรือเปล่า แต่หากดื่มในปริมาณปกติแล้วแต่ยังเกิดอาการอยู่ ให้สำรวจตัวเอง อาจเกิดจากโรคอื่นที่มีผลมาจากสาเหตุคล้ายกัน
2) มีอาการเป็นตะคริว :   ตะคริวนั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากการที่เราดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ดังนั้นเมื่อเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อบ่อยครั้ง ให้ลองพิจารณาดูว่าเราอยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยงที่ดื่มน้ำไม่พอหรือมากเกินไป
3) มีอาการผิดปกติ : อาการผิดปกติทั่วไปแบบไร้สาเหตุ ก็สามารถมาจากการดื่มน้ำมากเกินไปได้ ดังนั้นเมื่อเกิดการปวดหัว อ่อนล้า หรือง่วงซึม ให้เริ่ม  ดูก่อนว่าเราเข้าข่ายดื่มน้ำเยอะเกินไปหรือไม่
จากบทความนี้ที่เราได้นำมาแชร์กันหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกท่าน หันมาใส่ใจการดื่มน้ำที่เป็นเรื่องใกล้ตัวกันมากขึ้น สังเกตว่าวันนี้ปริมาณการดื่มน้ำของเราเป็นอย่างไรเพียงพอหรือเกินพอ จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ตามมาในภายหลังได้ครับ
 
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา