Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ปรับมั้ยไปต่อ
•
ติดตาม
5 ส.ค. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
4ช่องต้องรู้ EP.33 : บุคคลสี่ประเภทในทีมงานสมรรถนะสูง
4ช่องต้องรู้ EP.33 ในวันเสาร์แรกของเดือนสิงหาคมนี้ ขอนำเสนอเรื่อง แนวทางการสร้างทีมงานสมรรถนะสูง โดยการผสมผสานบุคคลที่มี “มุมมอง” ต่องานและต่อคนที่แตกต่างกันสี่มุมมองมาร่วมทีมงานเดียวกัน
หากได้ “ส่วนผสมที่ลงตัว” ทีมงานนั้นก็จะเป็นทีมงานสมรรถนะสูง แต่ถ้าส่วนผสมไม่เหมาะสมก็อาจพังได้ทั้งทีมเช่นกันครับ
ส่วนประเด็นที่ว่า ในแต่ละทีมควรประกอบด้วยคนแต่ละประเภทในสัดส่วนเท่าใดนั้น คงต้องอยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าทีม เพราะในแต่ละสถานการณ์นั้น ความต้องการคนแต่ละลักษณะย่อมจะแตกต่างกัน เรามาลองดูกันครับ
🔎 บุคคลสี่ประเภทที่ควรมีอยู่ในทีมงานสมรรถนะสูง
🔹 [1]: “ผู้คุมกฏ” [Administrator]
คือ คนที่ “เน้นความถูกต้องของกระบวนการ” และโฟกัสที่ผลงานรายบุคคลมากกว่าของทีม เขาอาจมีความยึดหยุ่นในงานไม่มาก แต่จะมีความละเอียดรอบคอบและแม่นยำในกฏกติกา และยึดถือขั้นตอนในกระบวนการทำงานที่ถูกต้องเป็นสำคัญ
(อาจแทนบุคลิกภาพด้วย รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส - The Box ซึ่งเสมือนคนที่ตีกรอบความคิดของตนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ยึดถือและเคารพกฏเกณฑ์เป็นสำคัญ)
คุณประโยชน์ของเขาต่อทีม: คนประเภทนี้ช่วยให้ทีมงานไม่ละเลยหรือมองข้ามความถูกต้องของกระบวนการทำงาน จึงช่วยควบคุมคุณภาพงาน (แต่ถ้ามีมากเกินไป งานจะไม่ค่อยเดิน เพราะยึดติดกับกฏเกณฑ์ที่อาจเป็น “กับดัก” ของกระบวนการทำงานซึ่งอาจตึงเกินไปไม่คล่องตัวเท่าที่ควร)
🔹 [2]: “มนุษย์กาวใจ” [Coordinator]
คือ คนที่ “เน้นการทำงานเป็นทีม” และใส่ใจในรายละเอียดของกระบวนการปฏิบัติงาน
(อาจแทนบุคลิกภาพด้วย รูปวงกลม - The Circle ซึ่งแทนความรัก ความกลมเกลียว การไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมกับใคร มีความจริงใจต่อกัน)
คุณประโยชน์ของเขาต่อทีม: เป็นคนที่เปิดรับความคิดเห็นจากทุกคนในทีม ยอมรับในความแตกต่าง และประสานประโยชน์ของทีม ลดข้อขัดแย้ง โดยเขาจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างความสมานสามัคคีในทีมงาน ซึ่งในระยะยาว คนประเภทนี้จะสร้างทีมเวิร์คที่ดีได้ แต่ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งด้วย
🔹 [3]: “ผู้ต้นคิด” [Idea Generator]
คือ คนที่มีจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการมักมีความคิดอะไรใหม่ ๆ แบบไม่ตามหลังใคร และ “โฟกัสที่ผลลัพธ์ของงาน” มากกว่าที่กระบวนการทำงาน และมักนิยมในความเฉียบคมของบุคคล มากกว่าเรื่องทีมงาน
(อาจแทนบุคลิกภาพด้วย รูปสามเหลี่ยม - The Triangle ซึ่งเสมือนหัวลูกศรที่พุ่งขึ้นบน เป็นผู้ที่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน)
คุณประโยชน์ของเขาต่อทีม: กรณีเป็นหัวหน้าทีม เขาจะนำทีมสู่เป้าหมายค่อนข้างชัดเจน หากเป็นลูกทีมก็มักเป็นคนที่มีความคิดดี ๆ มาเสนอในทีมอยู่เสมอ
🔹 [4]: “นักสร้างผลลัพธ์” [Result Creator]
คือ คนที่ “เน้นผลลัพธ์ของทีมงาน” เป็นหลัก คือใส่ใจทั้งทีมงานและทั้งผลลัพธ์ของงาน
(อาจแทนบุคลิกภาพด้วย รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า – The Rectangle คือมีหลักยึดคล้าย The Box แต่ก็มีความยึดหยุ่นในตัวที่มากกว่า จึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า)
คุณประโยชน์ของเขาต่อทีม: จัดเป็นขุมกำลังหลักในการสร้างผลงานให้กับทีม อาจไม่ค่อยมีความคิดความอ่านที่เป็นนวัตกรรมโดดเด่นอะไร แต่จะเน้นที่การทำงานที่ได้รับมอบหมายในขณะนั้น ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายและเสร็จทันภายในเวลาที่กำหนด โดยพาทีมงานเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะเป็นคนที่ให้เครดิตกับทีมเป็นหลัก
🔎 ข้อชวนคิด
1. สี่บุคลิกภาพนี้ บางส่วนเป็นผลมาจากอุปนิสัยและสายอาชีพที่แต่ละคนร่ำเรียนมา
เช่น คนจากสายงานบัญชีและการเงิน มักจะมีความเป็น Administrator คนจากสายงานด้าน HR มักจะทำหน้าที่เป็น Coordinator หรือ มนุษย์กาวใจได้ดี คนจากฝ่ายผลิตหรือฝ่ายขาย มักจะเป็นคนประเภท Result Creator ส่วนคนจากสายงานการตลาดมักจะเป็นประเภท Idea Generator เป็นต้น
และมีอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ จากอุปนิสัยส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ซึ่งอาจไม่ขึ้นกับตำแหน่งงานของเขาก็ได้
2. องค์กรที่มี Cross-Functional Team ต้องใส่ใจเรื่องการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม
สำหรับในองค์กรที่มีการตั้ง Cross-Functional Team เพื่อแก้ปัญหาของกระบวนการทำงานหรือของระบบงานใด ๆ ก็ดี ซึ่งมักต้องแต่งตั้งจากตัวแทนของสายงานต่าง ๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหานั้น ๆ ผู้บริหารควร “จัดสรร” บุคคลในแต่ละทีมงานให้มีคนที่มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมด้วย จะช่วยให้เกิดทีมงานที่เข้มแข็งและสามารถตอบโจทย์ขององค์กรได้อย่างดี
3. จำนวนคนประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีมากเกินไป ส่งผลต่อประสิทธิภาพของทีมงาน
ยกตัวอย่างเช่น หากตั้งบุคคลที่เป็น วงกลม (มนุษย์กาวใจ) จำนวนมากไป งานอาจไม่เสร็จทันกำหนด ถ้ามีคนแบบสามเหลี่ยม (ผู้ต้นคิด) มากไป ก็จะมีแต่ความคิดดี ๆ จำนวนมาก แต่ทว่า งานในปัจจุบันอาจทำไม่เสร็จ ต้องมีคนแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า (นักสร้างผลลัพธ์) ในสัดส่วนที่มากพอร่วมกับการมีบางคนที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ผู้คุมกฏ) อยู่ในทีม งานของทีมจึงจะสำเร็จลุล่วง ได้ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณงาน โดยได้ความกลมเกลียวของทีมงานเป็นผลพลอยได้อีกด้วย
4. “พันธกิจหลัก” ของทีมงานที่จะแต่งตั้ง คือสิ่งที่ผู้บริหารต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน
ทั้งนี้ ผู้บริหารต้องพิจารณาถึง “พันธกิจหลัก” หรือความคาดหวังของทีมที่จะตั้งขึ้นด้วย ว่าโดยบริบทขององค์กรในเวลานั้น ต้องการมีทีมงานเพื่อมาแก้ปัญหา หรือว่าสร้างสรรค์ผลงานอะไร เพราะการมีวัตถุประสงค์หลักของทีมที่ต่างกัน ย่อมทำให้ต้องมีการจัดสัดส่วนบุคลิกภาพของสมาชิกในทีมงานที่แตกต่างกันด้วย
ผมยังไม่เคยพบสูตรสำเร็จใดที่ระบุอย่างตายตัวถึงสัดส่วนที่ดีที่สุดของคนสี่ประเภทนี้ในแต่ละทีมงานเลย เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นทักษะและศิลปะเฉพาะตัวของหัวหน้างานที่มากประสบการณ์มักจะจัดการได้ดี
พบกันใหม่วันเสาร์หน้าครับ
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย