5 ส.ค. 2023 เวลา 09:21 • ประวัติศาสตร์

• วรรณะของอินเดียคืออะไร?

ระบบวรรณะ (Caste System , Varna) คือการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ปรากฏอยู่ในอินเดียและอนุทวีป ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 3,000 ปี โดยคำว่าวรรณะตามภาษาสันสกฤตมีความหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสี คุณลักษณะ รูปลักษณ์ หรือชาติกำเนิด
8
วรรณะประกอบไปด้วย 4 วรรณะหลักด้วยกัน ได้แก่วรรณะพราหมณ์ (Brahmins) ที่เป็นนักบวชและผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา วรรณะกษัตริย์ (Kshatriyas) ที่เป็นนักรบและผู้ปกครอง วรรณะแพศย์หรือไวศยะ (Vaishyas) ที่หมายถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพทั่วไป อย่างเช่นพ่อค้า เกษตรกร และวรรณะศูทร (Shudras) ที่เป็นแรงงานหรือคนรับใช้
พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร วรรณะหลักทั้งสี่ของอินเดีย
ในคัมภีร์ฤคเวทของฮินดูได้ระบุไว้ว่า วรรณะทั้งสี่เกิดขึ้นจากอวัยวะของพระพรหม กล่าวถือพราหมณ์เกิดจากศีรษะ กษัตริย์เกิดจากแขน แพศย์เกิดจากขา และศูทรเกิดจากเท้า (แต่บางตำนานก็บอกว่า พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากมือ และแพศย์เกิดจากกระเพาะ)
นอกจากวรรณะหลักที่มีอยู่สี่วรรณะแล้ว ในแต่ละวรรณะก็จะมีวรรณะย่อย ๆ ที่เรียกว่าอนุวรรณะ (Sub-castes) หรือชาติ (Jati อ่านว่า ชา-ติ) ที่แบ่งแยกได้เป็นพัน ๆ หมื่น ๆ กลุ่ม ตามการประกอบอาชีพหรือถิ่นที่อยู่
ส่วนจุดเริ่มต้นของการมีระบบวรรณะ ก็มาจากการที่ชาวอารยันได้อพยพเข้ามาในอนุทวีปอินเดีย ซึ่งชาวอารยันก็ได้แบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติของตนกับกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม เพื่อจัดระเบียบทางสังคม
1
โดยสามวรรณะแรกได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ จัดเป็นวรรณะของชาวอารยัน วรรณะกลุ่มนี้ยังเป็นทวิชะ (Dvija) หรือคนที่เกิดสองครั้ง เกิดครั้งแรกคือเกิดจากครรภ์มารดา ส่วนเกิดครั้งที่สองก็คือการรับเข้าสู่วรรณะ (ภายหลังทวิชะจะหมายถึงพราหมณ์อย่างเดียว)
2
ส่วนคนพื้นเมืองดั้งเดิม ชาวอารยันถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นทาส แรงงาน และเป็นคนรับใช้ของชาวอารยัน ต่อมาจะกลายเป็นวรรณะศูทร
2
นอกจากนี้สีผิวก็ยังถูกใช้แบ่งแยกระหว่างชาวอารยันกับคนพื้นเมือง โดยชาวอารยันจะมีผิวขาว ส่วนคนพื้นเมืองจะมีผิวดำ และในแต่ละวรรณะก็จะมีสีประจำตัว ได้แก่พราหมณ์สีขาว กษัตริย์สีแดง แพศย์สีเหลือง และศูทรสีดำ เป็นที่มาที่ว่าทำไมวรรณะมีความหมายถึงสีด้วย
1
ส่วนการดูว่าบุคคลที่เกิดมาอยู่ในวรรณะใด ก็ดูจากเกิดในวรรณะใดก็ต้องเป็นวรรณะนั้น อย่างเช่นพ่อแม่เป็นวรรณะพราหมณ์ ลูกก็ต้องเป็นวรรณะพราหมณ์ โดยทั่วไปคนที่แต่งงานกันจะอยู่ในวรรณะเดียวกันหรือในสังคมกลุ่มเดียวกัน ที่สำคัญคือวรรณะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และต้องเป็นวรรณะนั้นไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตามก็มีความเชื่อที่เกิดขึ้นมาภายหลัง โดยเชื่อว่าชาติกำเนิดไม่ได้เกี่ยวกับการกำหนดวรรณะ แต่มาจากการกระทำหรืออาชีพที่ประกอบอยู่ อย่างเช่นพ่อแม่เป็นพราหมณ์แต่ลูกเป็นพ่อค้า จะถือว่าลูกอยู่ในวรรณะแพศย์
เมื่อพูดถึงเรื่องราวของวรรณะ อีกหนึ่งเรื่องที่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ คนที่อยู่นอกวรรณะหรือที่รู้จักในชื่อจัณฑาล (Chandala) ที่ถูกมองว่าน่ารังเกียจและห้ามยุ่งเกี่ยวใด ๆ ทั้งสิ้น (Untouchables) แต่ในปัจจุบันจัณฑาลเป็นคำที่ถูกมองว่าเหยียดและหยาบคาย และเปลี่ยนมาเรียกว่า ทลิตหรือดลิต (Dalits) ที่ครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ยากไร้แทน
3
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คนที่อยู่นอกวรรณะจะเกิดจากพ่อที่มีวรรณะต่ำกว่าแม่ แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมพ่อแม่ไม่ถูกขับออกจากวรรณะด้วย เลยมีการตั้งทฤษฎีว่า การทำผิดกฎหรือหลักของศาสนาฮินดูอย่างร้ายแรง อาจจะเป็นต้นตอของการมีอยู่ของคนนอกวรรณะ ที่ถูกขับออกจากศาสนาก็เป็นได้
3
คนที่อยู่นอกวรรณะจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบวรรณะได้ และลูกหลานก็จะสืบทอดความไม่มีวรรณะด้วยเช่นกัน แต่คนนอกวรรณะหลายคนก็ใช้ความสามารถที่มีจนมีบทบาทสำคัญในสังคมได้ อย่างเช่นกรณีของราม ณัฐ โกวินทร์ (Ram Nath Kovind) อดีตประธานาธิบดีของอินเดียที่เป็นคนนอกวรรณะ
2
*** References
• dw. India's caste system. http://bitly.ws/QcEA
• Britannica. Caste of India. http://bitly.ws/QcEk
• BBC. What is India's caste system?. http://bitly.ws/QcDY
• ระบบสังคมอินเดีย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#HistofunDeluxe
โฆษณา