6 ส.ค. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

นอกจาก ‘เงินเดือน’ มีวิธีไหน? ดึงดูดใจคนเก่งมาร่วมงาน แถมอยู่ด้วยกันไปยาวๆ

เป็นเรื่องปกติของแต่ละองค์กรที่ต้องการได้คนเก่ง ๆ มาร่วมงานด้วย เพราะความสามารถของบุคคลเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กรสู่การประสบความสำเร็จในอนาคต นำมาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน
องค์กรยุคใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำงาน และมัดใจให้อยู่กับองค์กรให้นานเท่าที่เป็นไปได้ นอกจากการเพิ่มเงินเดือนแล้ว ยังต้องมีอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อจูงใจให้คนมีฝีมืออยากมาทำงานด้วย
เรามี 7 แนวทางสำคัญ มาแนะนำ ดังนี้...
1. ความคาดหวังต่อที่ทำงาน (เชิงกายภาพ)
เช่น ทำเลเหมาะสม เพราะทำเลที่ตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เนื่องจากคนรุ่นใหม่น้อยคนที่จะอดทนเดินทางไปกลับจากที่ทำงานเกินวันละ 3 ชั่วโมง รวมถึงสถานที่ทำงานทันสมัย เช่น มีห้องพักผ่อน ห้องอาหาร ห้องเล่นเกม/กีฬา ห้องประชุมที่มีความผ่อนคลาย
2. ความยืดหยุ่นในการทำงาน (Flexibility)
อีกปัจจัยสำคัญที่คนทำงานหันมาให้ความสนใจมากกว่าเงินเดือนในยุคนี้คือ ความยืดหยุ่นในการทำงานซึ่งมาในรูปแบบของทั้งเวลา หรือชั่วโมงทำงานที่ไม่ควรบังคับแบบ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นพร้อมตอกบัตรอีกต่อไป และสามารถทำงานที่บ้าน ประชุมออนไลน์
รวมถึงการไม่วัดผลการทำงานจากชั่วโมงที่ทำ แต่วัดจากคุณภาพ วิธีการสื่อสาร เช่น อีเมล หรือตารางงานที่อัดแน่นเกินไป จนไม่มีช่องว่าง เพราะการทำงานที่ยืดหยุ่น นอกจากจะช่วยลดความเครียด ทำให้พนักงานจัดการงานได้แล้ว ยังช่วยเพิ่ม Productivity และทำให้สุขภาพจิตดีมากยิ่งขึ้น
3. สวัสดิการจูงใจ
เพราะคนหางานใหม่นอกจากเรื่องเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องการสวัสดิการที่ดีขึ้นด้วย เช่น วันลาพักร้อนจำนวนที่ไม่น้อยเกินไป, ประกันสุขภาพ (นอกเหนือจากประกันสังคม), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ค่าทุนการศึกษาพนักงานหรือลูกๆ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีส่วนช่วยให้พนักงานรู้สึกสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงสันทนาการ สานสัมพันธ์ กีฬา ท่องเที่ยว พักผ่อน ทั้งที่ให้เป็นวันหยุดประจำปีถึง 10 วันและสะสมข้ามปีได้ เป็นต้น
4. เส้นทางสายอาชีพและการพัฒนาศักยภาพ (Career Path & Learning)
ถ้าการสัมภาษณ์งานสนใจเป้าหมายระยะยาวในอาชีพของพนักงาน เส้นทางอาชีพที่ชัดเจนและการเติบโตก็ย่อมเป็นปัจจัยที่พนักงานพิจารณาในระยะยาวเช่นกัน เพราะพวกเขามักมองว่าในสายงานนี้จะโตได้ถึงไหน และมีโอกาสในการพัฒนาสกิลตัวเองมากน้อยเพียงใด โครงสร้างองค์กรที่เห็นได้ชัดจึงจำเป็น
5. Work-Life Balance
 
อาจจะฟังแล้วธรรมดาเมื่อกล่าวว่า คนต่างต้องการ Work-Life Balance ที่ดี มีเวลาให้ตัวเองและงานในระดับที่ยอมรับได้ แต่ยังคงเป็นความจริงว่าคนเกือบทุกเจเนอเรชันต่างยอมรับว่าพวกเขาต้องการสมดุลชีวิตที่ดี
เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่าการยอมทำงานล่วงเวลาเพื่อเงินเพิ่มขึ้นเหมือนยุคก่อน โดยถ้าพวกเขามีความสุขกับปริมาณงานและช่วงเวลาที่พอดี ความสามารถในการทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน
6. วิธีการทำงานร่วมกัน
 
โดยผู้บริหารต้องมีความเข้าใจการทำงานของคนแต่ละเจนฯ ที่อยู่ในองค์กร และสามารถลดความต่างของช่องว่างระหว่างวัยได้ รวมถึงการชอบให้มีการพิจารณาผลงานจากฝีมือจริงมากกว่าความอาวุโส เป็นต้น
7. การสร้างแบรนด์ให้บริษัท
 
ทัศนคติของผู้หางานรุ่นใหม่ให้ความสนใจในชื่อเสียงและคุณค่าของบริษัทสูง ทำให้องค์กรที่ต้องการพนักงานมากฝีมือ นอกจากการโฆษณาสินค้าให้เป็นที่รู้จักแล้ว HR ยังต้องสร้างแบรนด์ด้วยเหมือนกัน
แต่เป็นการสร้างแบรนด์ของชื่อบริษัท เพื่อดึงดูดให้คนเก่งมาสมัครงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น บริษัทขนาดกลาง/เล็กก็สามารถทำได้ เพียงแต่ผู้บริหารต้องตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารคน
โฆษณา