6 ส.ค. 2023 เวลา 14:13 • ไลฟ์สไตล์

- โลกเสมือนจริง vs โลกแห่งความจริง -

คุณ Maesawa ผู้ก่อตั้งบริษัท ZOZO ในญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า เวลาสอบสัมภาษณ์พนักงานเข้าใหม่ เค้าสามารถบอกได้เลยว่าผู้สัมภาษณ์คนนี้เหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือไม่ เพียงแค่ดูบุคลิก ‘ตั้งแต่เดินก้าวขาเข้ามาในห้องประชุม’ โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวคำแนะนำตัวหรือผ่านการสัมภาษณ์งานแต่อย่างใด...
หรือคำว่า ‘รักแรกพบ’ ก็ยังไม่สามารถหาคำอธิบายแบบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างชัดเจนว่าทำไมคนสองคนถึงมี ‘ปฏิกิริยาทางเคมีในเชิงบวก’ หลังจากที่ได้สบตาและมองหน้ากันเพียงแค่ไม่กี่วินาที...
หรือเวลาเจอเพื่อนใหม่ในที่เรียนหรือที่ทำงาน ทำไมเราถึงรู้สึกดีกับคนบางคนเพราะรับรู้และสัมผัสถึง ‘พลังบวก’ ของเค้า ในทางกลับกันนั้น คนบางคนแค่ได้เห็นหน้าก็รู้สึกไม่อยากเข้าใกล้ทันที เพราะสัมผัสถึง ‘พลังลบ’ ที่ซ่อนอยู่ในร่างกายของเค้าถึงแม้จะมองไม่เห็นตามประสาทสัมผัสทางตาของมนุษย์เรา
โลกเสมือนจริง (Metaverse) เป็นคำที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งบังคับโดยทางอ้อมให้มนุษย์เราทุกคนไม่ว่าชนชาติไหนต้องยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ใน ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ และถูกผลักดันให้ไปอยู่โลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริงเกือบทั้งหมด
จากที่เคยต้องเดินทางไปที่ทำงานทุกวันก็สามารถทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ในโลก งานประชุมสัมมนาบรรยายต่างๆ ก็ถูกบังคับให้จัดในรูปแบบออนไลน์ แม้กระทั่งงานกินเลี้ยงดื่มก็จำเป็นต้องชนแก้วกันผ่านหน้าจอคอมหรือมือถือ หรืออยากจะซื้อข้าวของต่างๆ ก็ไม่ต้องไปที่ร้านค้าแค่กดแอพสั่งซื้อด้วยปลายนิ้ว... เรื่องเหล่านี้ได้กลายมาเป็น ‘เรื่องปกติ’ สำหรับชีวิตคนเราในปัจจุบันและในอนาคต
แต่แล้วก็เริ่มมีคำถามตามมาว่า ‘โลกเสมือนจริงนั้นจะสามารถทดแทนโลกแห่งความเป็นจริง’ ได้มากน้อยเพียงใด ในอนาคตอีก 100 ปีข้างหน้าจะมีแต่โลกเสมือนจริงและหุ่นยนต์ AI เหมือนในหนังแนวไซไฟ (Science Fiction) ต่างๆ หรือไม่
เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นเพื่อนร่วมมหาลัยในบ้านเรา โดยครั้งนี้เป็นการจัดฉลองใหญ่ครบรอบ 25 ปี และเน้นไปที่การจัดงานแบบ ‘เจอตัวเป็นๆ’ แต่ก็มีประชุมออนไลน์สำหรับคนที่เดินทางมางานไม่ได้จริงๆ ... ตอนแรกผมลังเลอยู่ไม่น้อยว่าควรเดินทางไปร่วมงานนี้ดีหรือไม่ หรือแค่เข้าร่วมงานทางออนไลน์ก็น่าจะพอแล้ว
พอได้คุยกับเพื่อนๆ ที่สนิทในกรุ๊ปไลน์ ก็พบว่าเพื่อนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ (อเมริกา ฮ่องกง) เดินทางกลับไปบ้านเราช่วงนั้นพอดีและสามารถไปงานเลี้ยงรุ่นนี้ได้ พอได้ข้อมูลประกอบแค่นั้นผมก็ตัดสินใจทันทีรีบขออนุญาตกับผู้บัญชาการทหารบกที่บ้านว่า ขอบินกลับไปบ้านเราชั่วคราวนะ เพราะ ‘อยากเจอเพื่อนๆ ตัวเป็นๆ’ หลังจากที่ได้แยกย้ายกันไปนานหลังเรียนจบกว่า 25 ปีแล้ว (แต่ก็ยังมีติดต่อกันทางออนไลน์อยู่)
ก่อนงานเลี้ยงใหญ่ช่วงเย็นวันนั้น ผมก็นัดกินเลี้ยงกลางวันพบปะสังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มเล็กซึ่งเคยได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุ๊ปเดียวกันถึงแม้จะรวมกันมาได้ไม่ถึง 10 คน แต่บอกได้คำเดียวเลยว่า ‘คุ้มค่าจริงๆ’ สภาพภายนอกทางร่างกายของแต่ละคนนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น ผมหงอก รอยย่นใต้ตา ผิวหนังเหี่ยว (แต่มีบางคนแอบทำหน้าเด้งมา) บางคนอ้วนขึ้นบางคนผอมลง ฯลฯ
แต่ ‘สภาพภายใน’ ของแต่ละคน ซึ่งสามารถสัมผัสและรับรู้ผ่านการพูดคุยทางน้ำเสียงและการแสดงออกทางร่างกายในระหว่างบทสนทนานั้นดูไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ คนที่เคยพูดเก่งชอบแสดงออกก็ยังคงทำตัวเหมือนเดิม คนที่เคยชอบรับฟังความเห็นคนอื่นในระหว่างบทสนทนาก็ยังคงเงียบขรึม สีหน้าแววตาท่าทีอากับกิริยาและน้ำเสียงของแต่ละคน มันทำให้ผมอดนึกถึงย้อนไปวันวานเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ที่เราได้มีโอกาสมาพบเจอกันครั้งแรกจริงๆ
พอถึงงานเลี้ยงรุ่นช่วงเย็น ปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานเยอะเป็นประวัติการณ์กว่า 300 ชีวิต แน่นอนว่าบางท่านผมก็จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่พอได้เห็นหน้าและพูดคุยกันเพียงเล็กน้อย ความทรงจำเก่าๆ ในอดีตก็เริ่มหวนกลับคืนมา ความรู้สึกนึกคิดกับเพื่อนคนนั้นผ่านกิจกรรมต่างๆ (ที่ไม่ได้เป็นออนไลน์) เช่น เคยไปค่ายอาสาต่างจังหวัด ทำกิจกรรมรับน้อง ฉลองกินเลี้ยงดื่ม โดดเรียนตีสนุ้ก เล่นจั่วไพ่ป๊อกเด้งในห้องชมรม ฯลฯ ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำลึกๆ รอเพียงการกระตุ้นกลับมาถ้าได้เจอ ‘ตัวเป็นๆ’ ของเพื่อนคนนั้น
ความรู้สึกทางอารมณ์และจิตใจเกี่ยวกับ ‘การรับรู้และสัมผัส’ ผ่านการพูดคุยกับเพื่อนมนุษย์ตัวเป็นๆ นั้น เป็นเรื่องที่ตัวผมเองก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้และเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงตามหลักทางวิทยาศาสตร์ โดยน่าจะขึ้นอยู่กับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่น่าจะสามารถรับรู้และสัมผัสได้ผ่านนิยามของคำว่า ‘โลกเสมือนจริง’
วันหยุดยาวช่วงฤดูร้อนในญี่ปุ่นที่เรียกว่า โอบ้ง (お盆: Obon) ซึ่งจัดในช่วงกลางเดือนสิงหาคม โดยครอบครัวส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลก็ตาม โดยในช่วงวันหยุดนี้ก็จะมีประเพณีการเต้นรำที่ชื่อว่า ‘บ้งโอโดริ’ เพื่อเป็นการต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษที่ได้กลับมายังโลกอีกครั้ง ในงานก็จะมีร้านค้าขายของกิน กิจกรรมของเล่นคล้ายๆ กับงานวัดหรืองานกาชาดบ้านเรา ทั้งเด็กเล็กหนุ่มสาวผู้สูงอายุก็จะแต่งตัวใส่ชุดยูกาตะฤดูร้อนเข้าร่วมงานเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ก็จะมีการจัดงานแสดงเทศกาลดอกไม้ไฟหรือฮานาบิ (花火: Hanabi) ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลวันหยุดหน้าร้อน ซึ่งแน่นอนว่าหลายท่านที่จำเป็นต้องไปอาศัยใช้ชีวิตอยู่ต่างเมืองก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้กลับมาเจอญาติมิตรหรือเพื่อนเก่าที่ได้ถือกำเนิดในภูมิลำเนาเดียวกัน... โดยงานเทศกาลต่างๆ เหล่านี้ถูกระงับไป 4 ปี เต็มๆ เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19
แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะไปร่วมทั้ง 2 งาน ซึ่งบอกได้คำเดียวเลยว่า ‘คุ้มค่ากับชีวิตและจิตใจ’ การได้ดูงานแสดงดอกไม้ไฟจริงๆ พร้อมกับครอบครัวทุกคน ถึงแม้จะต้องดูจากระยะไกลท่ามกลางทุ่งนาที่มืดมิดสนิทพร้อมกับเสียงร้องของแมลงต่างๆ แต่ดวงดาวเห็นชัดระยิบเต็มท้องฟ้า พอถึงช่วงไฮไลท์ที่ดอกไม้ไฟหลากสีส่องแสงสว่างกลบแสงดาวบนท้องฟ้า... มันเป็นความรู้สึกดีในจิตใจอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ
หรือเวลาที่ทุกคนในงานบงโอโดริเต้นรำพร้อมกันเป็นวงกลมรอบเวทีโดยพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักกันหรือคนแปลกหน้า แต่เหมือนกับทุกคนไม่ว่าจะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ พยายามขยับร่างกายเต้นรำและส่งต่อ ‘พลังทางจิตใจ’ ให้กับเพื่อนร่วมชีวิต ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นแต่รับรู้และสัมผัสได้
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถรับรู้และสัมผัสได้ผ่าน ‘โลกเสมือนจริง’ ในอนาคตอันใกล้หรือไม่
EP041
Kenko2022
2023/8/6
โฆษณา