Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
แบกเป๋าแบกเป้ By PunPun
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2023 เวลา 17:43 • ท่องเที่ยว
กัวลาลัมเปอร์
ประสบการณ์การเดินทางเที่ยวแบบ Backpacker ครั้งแรกของเราที่มาเลเซีย-สิงคโปร์ Ep.2
ความเดิมต่อจาก Ep. ที่แล้ว เราเดินทางออกจากกรุงเทพมาที่ปีนังตั้งแต่บ่ายวันที่ 18 July 2023 ด้วยรถไฟ แล้วถึงตัวเกาะบ่ายวันที่ 19 ตีเวลาไปเลยว่า 1 วันเต็มๆ แต่เราก็ได้ชมบรรยากาศริมทาง ที่บอกเลยว่า คุ้ม! แล้วเราก็ได้แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เป็นไฮไลต์ เช่น สตรีทอารต์ และหมู่บ้านประมง Chew Jetty เป็นต้น ที่เที่ยวอื่นเช่น Penang Hills นี่ไม่ได้ไป เพราะจะต้องตื่นเช้า แล้วต้องอยู่ครึ่งวัน เลยไม่ได้ไป 😢
Ep.2 นี้จะเป็นการเดินทางออกจากปีนัง ไปที่กัวลาลัมเปอร์ หรือ KL ซึ่งเป็นเมืองหลวงเมืองใหญ่สุดของประเทศมาเลเซีญ ใช้เวลาเกือบทั้งวันของวันนี้ มาดูกันว่า เดินทางสะดวกมั้ย และที่เกริ่นใน Ep. แรกที่ว่า รถไฟจะวิ่งเร็วกว่าขาที่มาจากปาดังฯ-ปีนัง ว่าจะเป็นอย่างไร ไปดูกัน
DAY 2 (20 July 2023)
เราเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมประมาณ 9 โมงครึ่ง เพื่อไปหาของกินและเตรียมตัวขึ้นเรือเฟอรี่กลับไปที่เมืองปีนัง (แผ่นดินใหญ่) โดยร้านเราที่จะไปกินกันเป็นร้านติ่มซำชื่อดังชื่อว่า Tai Tong ซึ่งเป็นร้านติ่มซำที่คนมาที่ปีนังหลายคนแนะนำให้มากิน ก็เลยลองมากิน ร้านนี้อยู่ห่างห่างจากโรงแรมไม่มากประมาณ 600 เมตร ใช้เวลาเดินมา ประมาณ 10 นาทีก็ถึงแล้ว
ป้ายร้านติ่มซำ Tai Tong
เมื่อเข้ามาในร้านพนักงานร้านก็จะมาถามเราว่าเรามากันกี่คน หลังจากนั้นให้เราเดินตามร้านไป เมื่อเดินไปถึงที่นั่งแล้วพนักงานก็จะนำใบขาวมาให้เรา โดยหลังจากนี้เราจะมีหน้าที่ นำใบขาวไปที่โต๊ะวางติ่มซำ แล้วก็ไปชี้ไปเลือกติ่มซำที่เราอยากจะกิน
ซึ่งพนักงานร้านที่อยู่ตรงนั้นก็จะติ๊กใบที่เราเอามา ซึ่งแน่นอนว่าใบขาวใบนี้คือใบคิดเงินเวลาเรากินเสร็จแล้วก็เอาไปจ่ายที่เคาน์เตอร์
ใบสั่งติ่มซำ
เราสั่งติ่มซำ ที่เอาเข้าจริงๆเราก็มั่วเอานั่นแหละ เพราะหิวมาก แล้วแต่ละอย่างน่ากินทั้งนั้น เลยหยิบๆ เลือกๆ มา ราคาที่โดนไปทั้งหมดก็ 56.4 RM (~430 บาท) แต่หารสองแล้วก็ตกคนละ 215 บาทก็คือคุ้มอยู่ละ อิ่มแปล้เลย
เมนูติ่มซำทั้งหมด
จากนั้นเราก็ออกเดินทางกันไปที่ KL แต่แล้วก็เกิดปัญหาจนได้ เมื่ออินเตอร์เน็ตที่ซื้อมาจากปาดังฯ ไม่สามารถเชื่อมต่อได้เพราะเน็ตเต็มโควตาที่ให้มา ทั้งๆที่คนขายซิมหน้าด่านเค้าบอกว่า เป็นแบบ Unlimited เลยทำให้ต้องไปซื้ออีกซิมหนึ่ง ซึ่งราคาถูกมากแค่ 10 RM (~80 บาท) แต่ก็ยังใช้ทันทีไม่ได้ ต้องทำการ Register ก่อน ซึ่งช็อปหายากมาก ไว้เดี๋ยวมาบอกรายละเอียดกันตอนปัญหาระหว่างการเดินทางก็แล้วกัน
หลังจากที่เรางุ่นง่าน กับเรื่องอินเตอร์เน็ตอยู่พักหนึ่ง เราก็ตัดสินใจเรียกแท็กซี่ไปที่ท่าเรือทันที เพราะกลัวจะตกเรือ (เรือออก 11 โมงครึ่ง) ที่ตกแล้วอาจจะต้องรอถึง 1 ชั่วโมงเลย (เที่ยงครึ่ง) และที่สำคัญคืออาจจะไม่ทันเที่ยวรถไฟที่ไป KL ก็เป็นได้ เที่ยวรถไฟคือ 12:45 จนแล้วจนรอดคือเราไปทัน 11 โมงครึ่งได้ทัน แล้วมาถึงฝั่งตอน 11:45 (ใช้เวลาแค่ 15 นาที) ก็มาถึงแล้ว
จากนั้นเราก็มารอกันที่ตัวสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ วันนี้คนเยอะกว่าเมื่อวานอยู่บ้าน อาจเป็นเพราะเที่ยวรถขาออกช่วงนี้มีเยอะ คนเลยไปกันคนละจุปลายทาง ซึ่งเราก็มาเช็คเที่ยวรถของเราก็ยังคงเป็น 12:45 เหมือนเดิม
บรรยากาศในตัวสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ
เวลาประมาณ 10 นาทีก่อนขึ้นรถ พนักงานก็จะมาเรียกขึ้นรถ เราต้องนั่งตามที่นั่งที่เราจองไว้ในเว็บ *เดี๋ยวจะมาสอนวิธีจองตั๋วรถไฟในเว็บให้* เมื่อถึงเวลารถก็ออกตรงตามเวลาคือเที่ยงเที่ยง 45 ซึ่งรถขบวนนี้จะพาเราไป KL ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 15 นาที ถึงที่ KL เวลา 5 โมงตรง
บรรยากาศข้างทางของรถไฟสาย ปีนัง-KL
บรรยากาศข้างทางก็ช่วงที่ออกจากปีนังแรกๆ ก็จะเป็นพื้นที่เมือง จากเมืองเป็นสวนปาล์ม แต่พอเข้ารัฐเปรัค-สลังงอร์ ที่เป็นรัฐที่ตั้งของ KL เป็นภูเขาหมดและป่าไม้หมดเลย ป่าไม้ที่นี่เขียวขจีมาก น่าเป็นเพราะว่าฝนตกชุกละมั้ง เพราะได้รับอิทธิพลทั้งฝั่งตะวันออกที่เป็นทะเลจีนใต้ กับฝั่งตะวันตกที่เป็นทะเลช่องแคบมะละกา แล้วก็ภูเขาที่เห็นรายทางเหมือนจะเป็นเขาหินปูนสวยๆ เหมือนแถวๆ พังงา กระบี่บ้านเราอะ เราจะเห็นได้ที่เมืองอีโปห์ เมืองเอกรัฐเปรัค
อยากรู้กันมาแล้วใช้มั้ยว่า ความเร็วที่รถที่ใช้ความเร็วเท่าไหร่
ความเร็วของรถไฟสายปีนัง-KL เฉลี่ยคือ 130-140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ปันปัน แบเป๋าแบกเป้
ซึ่งความเร็วประมาณนี้เป็นความเร็วพอๆกับความเร็วของรถไฟสายลาว-จีน ที่อาจจะไปลองใช้ในทริปหน้า อุปส์! สปอยซะละ 555 🤭 ที่เป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่ยังเร็วไม่เท่ารถไฟความเร็วสูงจริงๆ แบบจีน แบบไต้หวัน แบบยุโรป หรือ แบบชินคันเซ็นของญี่ปุ่นนะ ที่วิ่งได้ 250-300++ กิโลเมตร/ชั่วโมงหรอก
ทีนี้มารีวิวในตัวขบวนรถบ้าง ในขบวนรถเนี่ย ที่นั่งกว้างมาก แล้วยิ่งนั่งตรงกลางโบกี้ ก็จะได้นั่งแบบหันหน้าเข้าหากัน มีโต๊ะอยู่ตรงกลางเลย นั่งสบายมมาก แต่รูปถ่ายไม่ค่อยเยอะมากเท่าไหร่ ในตัวขบวนรถ เพราะคนโดยสารมีมาก คงกลัวเรื่อง PDPA แหละ เพราะที่นี่กฎหมายค่อนข้างเข้ม เราได้ถ่ายไม่กี่รูปเอง กลัวเขาจะนึกว่าเราจะแอบถ่ายเขา เพราะนี่เคยโดนเข้าใจผิดเรื่องนี้ตอนเที่ยวที่ LA อ่ะ
บนหัวเราก็จะเป็นที่เก็บสัมภาระ เหมือนเครื่องบิน แล้วตรงกลางทางเดินเราก็จะเหมือนเป็นจอ แสดงวีดีทัศน์ของการรถไฟมาเลย์ ฉายวนไป หนึ่งในนั้นมีการฉายเกี่ยวกับการจัดทริป พาคนมาเลย์มาเที่ยวที่บ้านเราด้วยละ แบบพามาเที่ยวหาดใหญ่ เที่ยวสงขลางี้ เพราะอยู่ใกล้กันกับบ้านเขา แล้วตรงหัวโบกี้จะเป็นจอแสดงแผนที่การเดินทางของรถว่าตอนนี้อยู่แถวไหน แล้วสถานีที่กำลังจะถึง คือสถานีอะไร เป็นต้น
บรรยากาศในตัวรถ & อาหารกล่องบนรถ
มาในส่วนของของกินบ้าง นี่บอกเลยว่าสั่งมาเยอะมาก หมายถึงว่า สั่งกินเกือบตลอดทาง นี่สายกินไง เลยหิวตลอด 555 มื้อแรกหลังออกจากปีนังเราสั่งเป็น นาซิ เลอมัก (Nasik Lemak) เป็นอาหารประจำชาติมาเลเซีย สั่งมา 11 RM (~85 บาท) แล้วน้ำ 3RM (25 บาท) รวมเป็นเงินไทย 110 บาท เป็นอาหารกล่องเวฟอุ่น เหมือนข้าวหล่องเซเว่นบ้านเรา รสชาติคือไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้อร่อยมาก คือกลางๆ อ่ะ
แล้วก็อีกเมนูหนึ่งจำไม่ได้แล้วว่าเมนูอะไร เหมือนเป็นอาหารท้องถิ่นของมาเลย์เหมือนกัน คล้ายๆ ข้าวหมกเนื้อ รสชาติออกหวานๆนิดนึง ราคา 12RM (~95 บาท) อันนี้สั่งมาตอนใกล้ถึง KL
ตึกเปโตรนาส, KL Tower & Merdeka 118
สิ่งที่ลืมบอกไปก็คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนรถไฟ สามารถเชื่อมต่อได้ฟรีไม่ต้องล็อกอินใดๆ แต่ความเร็วอาจจะยังไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ เพราะวิ่งผ่านหุบเขาและป่า แต่ก็คิดว่าดีกว่าไม่มี โดยเฉพาะเรา ที่ซึ่งตอนนี้เน็ต LTE/4G/5G คือใช้ไม่ได้เลยตั้งแต่ออกมาจากปีนังแล้ว อย่างน้อยก็ปล่อยชีวิตได้บ้างล่ะ
รถมาถึง KL ตรงเวลา คือ 5 โมงเย็น โดยมีตึกแฝดเปโตรนาส สัญลักษณ์ของประเทศ มาต้อนรับเราเลย พร้อมกับหอชมเมือง KL Tower และก่อนที่จะถึงตัวสถานีที่ลงคือ KL Sentral เราก็จะได้เห็นตึก Merdeka 118 ซึ่งจะเป็นว่าที่ตึกที่สูงที่สุดในอาเซียนเรา และเป็นว่าที่ตึกที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกเชียวละ! รองจากเบิร์จ คาลิฟา ที่ดูไบ UAE ตึกนี้มีความสูง 679 เมตร มี 118 ชั้น ซึ่งเป็นที่มาของเลขตึก และแน่นอนว่าถ่าเป็นตัว ก็จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของมาเลเซีย เช่นเดียวกับตึกเปโตรนาส
รับรองว่า มาอยู่ที่นี่ 4วัน 3คืน ไปไหนมาไหน ก็จะเห็นตึกนี้ตั้งตระหง่านเห็นทุกมุมเมืองเลยละ และได้ข่าวมาว่าสิ้นเดือนนี้ (31 สิงหา) ซึ่งเป็นวันชาติของมาเลเซีย ตึกนี้ก็อาจจะเปิดให้ไปชมวิวกันแล้ว หลังจากที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2017
หลังจากที่เราได้ก้าวเท้าลงมาที่ตัวชานชลาสถานี KL Sentral แล้ว เราก็ขึ้นบันไดเลื่อนออกมา เพราะรถจอดชั้นใต้ดิน ก็หาทางออกอยู่นาน เราต้องเดินออกไปทางห้าง NU Sentral เท่านั้น เพื่อที่จะออกไปที่โรงแรมของเรา อีกด้านของ KL Sentral จะเป็นอาคารสนง.ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่ไปโรงแรม และเหมือนจะอันตรายด้วย เพราะถนนเส้นใหญ่มาก
KL Sentral เนี่ยเป็นสถานีรถไฟกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์รวมการคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะมาจากทางเหนือ แบบของเรา หรือว่ามาทางเครื่องบิน KLIA ก็ต้องนั่งบัส, รถไฟ KLIA Express มาลงที่นี่กันทั้งนั้น และห้าง NU Sentral ไฮไลต์ของที่นี่นอกจากเป็นห้างที่เชื่อมกับตัวสถานีแล้ว ก็คืออุโมงค์ไม้ตรงทางขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ที่ที่เราถ่ายรูปออกมาได้สวย แต่เรายังไม่ได้ถ่ายตอนนั้น เพราะเราจะเอากระเป๋าไปเก็บไปเช็คอินที่โรงแรมก่อน แล้วค่อยมา
สถานี KL Sentral
โรงแรมเราใช้เวลาเดินไป 10 นาที บอกเลยว่าเป็นโรงแรมที่หรูที่สุดในทริปละ โรงแรมนี้มีชื่อว่า “Dua Sentral” จองผ่าน Airbnb มาในราคา 675 บาท/คน/คืน แน่นอนว่าโคตะระถูกมาก กับโรงแรมคุณภาพแบบนี้
เราจะต้องไปเอาคีย์การ์ดที่ขึ้นไปออฟฟิศ ชั้น 20 ห้อง 2001 เพื่อไปเอากุญแจไปไขที่ห้องเรา นี่แหละการเช็คอิน เราได้ห้อง 1504 ซึ่งต้องลงไปที่ชั้น 15 แล้วมาดูรีวิวกันที่นี่เลย
ภาพในห้อง
คือแบบ เต็ม 10 ให้ 100 ไปเลย เพราะคือหรูหรามาก ก.ไก่ล้านตัว เพราะมีทุกอย่างครบครับ ทั้งโซนทำครัว โซฟา ทชโต๊ะทำงาน โซนห้องนั่งเล่น ห้องน้ำแยกแห้งแยกเปียก มีอ่างอาบน้ำ ฯลฯ อารมณ์เหมือนกับว่าเป็นคอนโด แล้วปล่อยเช้าให้มาเป็นแบบที่พักอ่ะ ซึ่งใน Airbnb มันจะมีอะไรแบบนี้เยอะมาก อยากจะโพสต์เป็นวีดีโออยู่นะ แต่ว่าใน Blockdit ไม่สามารถโพสต์เป็นคลิปได้ ดังนั้น ไว้รอตัดต่อคลิปเสร็จ แล้วลง YouTube แล้วค่อยมาให้ดูละกัน เอ่อ! ลืมบอกไปว่านี่ทำ YTB ด้วยนะ
หลังจากที่ชื่นชมห้องพักไปแล้ว เราก็ไปกันที่แรกของทริปใน KL กันเลย แน่นอนว่ามาถึงแล้วก็ต้องไปเช็คอินเป็นที่แรก นั่นก็คือ ตึกแฝดเปโตรนาส!! เรานั่งจากสถานี KL Sentral ด้วยรถไฟสายสีแดง KJ Line มา 5 สถานี ถึงสถานี KLCC แล้วเดินตามทางออกมาทางห้าง KLCC
ตึกแฝดเปโตรนาส (ฝั่งด้านหน้า)
ตึกเปโตรนาส หรือ Twin Towers สร้างขึ้นในปี 1998 ด้วยความสูง 452 เมตร มีทั้งหมด 88 ชั้น และเป็นสัญลักษณ์ Original ของประเทศมาเลเซีย อีกทั้งยังเคยเป็นอดีตตึกสูงที่สุดในโลก ระหว่างปี 1998-2003 ก่อนที่จะถูกโค่นด้วยความสูง 508 เมตร ของตึกไทเป 101 ที่ไต้หวัน
ในปัจจุบัน เป็น 1 ใน 3 แลนด์มาร์กที่สำคัญของมาเลเซีย เช่นเดียวกับหอชมเมือง KL Tower และตึก Merdeka 118 ที่จะเปิดสิ้นเดือนนี้ด้วย และยังคงสถิติในฐานะตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก อยู่ในปัจจุบัน
วันนี้มาถ่ายกันที่ด้านหน้าของตึก เรามากัน 2 วันเลยที่นี่ แล้วอีกวันหนึ่งจะไปถ่ายอีกฝั่งของตึก ซึ่งมีมุมสวยๆ มากเลยละ มันเป็นสวนสาธารณะชื่อ KLCC Park ที่นอกจากถ่ายรูปคู่กับตึกแล้วเนี่ย มีอะไรที่เป็นไฮไลต์อีกบ้าง ติดตามที่ Ep.หน้านะ
ด้านหน้าของตึกคนเยอะมาก ก.ไก่ล้านตัวอีกแล้ว รูปออกมาก็จะติดคนอยู่บ้างละนะ แต่ถ่ายออกมาก็หลายรูปอยู่เหมือนกันนะ ในฝั่งนี้ ก็จะมีช่างภาพ เหมือนเป็นช่างภาพมาถ่ายรูปเรา ตามมาถาม มาคุย ว่าจะให้เขาถ่ายรูปเรามั้ย ก็แน่นอนว่าเสียตังค์ เพราะเป็นอาชีพเขา ซึ่งราคาก็อยู่ที่จะตกลงกัน และการเลือกจำนวนรูปที่ถ่ายด้วย ว่าจะเอารูปไหน อย่างนี่ลองรูปนึงมา 15RM (~120 บาท) ถือว่าโอเค แต่ว่าช่างอีกคนนึงถ่ายอีกคนราคา 3 รูป 20RM นี่แอบแพงไปเลย เพราะคงไม่ได้ต่อราคาเขามั้ง เลยได้รูปเดียวตั้ง 15RM 😢
หลังจากนั้นก็กลับที่พัก แต่ก็ติดลมถ่ายไม่หยุด ถ่ายอีกมุม ตรงกำแพงต้นไม้ ตรงฟุตบาธอะ มุมนี้ก็สวยเหมือนกัน ยิ่งไม่มีคนด้วย ยิ่งสวยไปอีก แต่รู้มั้ยหลังจากพวกเราถ่ายกันตรงนี้เสร็จปุ๊บ นทท.มาจากไหนไม่รู้ ก็มายืนถ่ายตรงนี้กันเยอะเลย เหมือนพวกเรามาเปิดโลกไงไม่รู้ 555
และแล้ว Day 2 ก็จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย มาติดตามกันต่อที่ Day 3 โพสต์ต่อไปเด้อ บอกเลยว่า ทั้งพิเศษ และ อัดแน่นสุดๆ ละ 🥳🤩
💸 ค่าใช้จ่ายทั้งหมดใน Day 2 💸
✓
ค่าติ่มซำหารสอง คนละ 28.2RM (~215 บาท)
✓
ค่าตั๋วรถไฟปีนัง-KL Sentral คนละประมาณ 81RM (~650 บาท)
✓
ค่าซิมมือถือ (ที่ดูเหมือนยังใช้ไม่ได้เหมือนเดิม) 10RM (~80 บาท)
✓
ค่าอาหารทั้งหมดบนรถ 26RM (~210 บาท)
✓
ค่ารถไฟฟ้าไปกลับ KL Sentral-KLCC-KL Sentral ประมาณ 3.2RM (~25 บาท)
✓
ค่ารูปถ่าย 15RM (~120 บาท)
★
ค่าที่พัก 3 คืน 2025 บาท/คน (ตกคืนละ 675)
รวมั้งหมด 3,325 บาท
ลาออกไปเช็กอิน
ท่องเที่ยว
มาเลเซีย
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย