7 ส.ค. 2023 เวลา 10:11 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
เซ็นทรัล พระราม 9

การเป็นผู้นำ ยากที่สุดคือการฝืนธรรมชาติในหลายๆ เรื่อง

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะต้องการที่จะตอบโต้ หรือตอบสนองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าอยู่เสมอ ดังนั้นคำว่าที่ฝืนธรรมชาติของการเป็นผู้นำ อาจจะเป็นการเสริมในเรื่องของการตอบโต้หรือตอบสนองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูซีรีย์จาก Netflix เรื่อง The Crown ซีรีย์นี้พูดถึงเรื่องราวชีวิตของควีนเอลิซาเบธที่สอง ต่างๆในแต่ละช่วง
NETFLIX : The Crown Season 3
แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ตอนที่ชื่อว่า "Coup" ในซีซั่นที่ 3 ตอนที่ 5
เป็นเหตุการณ์ในช่วงปี 1968 ที่รัฐบาลของฮาโรลด์ วิลสันประสบปัญหากับทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีการพยายามปรับลดงบประมาณของกองทัพลง
ซึ่งในขณะนั้นก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของนายวิลสัน จึงมีการพยายามที่จะคิดล้มล้างรัฐบาลลง โดยไปสนับสนุนลอร์ดเมานต์แบตเทน ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือ "การรัฐประหาร" นั่นเอง แต่ทางฝ่ายของรัฐบาลวิลสันทราบแผนการนี้ก่อนจึงได้มีการแจ้งไปยังควีนเอลิซาเบธที่สอง
นายกฯ ขู่ควีนฯว่าอย่าลืมว่าช่วงนี้กระแสประชาชนเริ่มไม่พอใจเรื่องความสิ้นเปลืองจากการใช้เงินของราชวงศ์ และถ้าควีนฯเห็นชอบกับแนวคิดนี้ ตัวเองจะไม่ปกป้องสถาบันฯแล้วจะสนับสนุนฝ่ายที่ไม่เอาราชวงศ์ที่อยู่ในรัฐบาลและอาจลงมือทำอะไรซักอย่าง
ควีนเรียกลอร์ดเมาท์แบทเทนเข้ามาคุย
ลอร์ดเมาท์แบทเทน: พระองค์จะปกป้องนายวิลสัน(นายกฯ)ไปทำไม
ควีน : เราปกป้องตำแหน่งนายกรัฐมนตรี(ไม่ได้ปกป้องตัวบุคคล) เราปกป้องรัฐธรรมนูญ เราปกป้องประชาธิปไตย
ลอร์ดเมาท์แบทเทน: แล้วถ้าคนสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยเป็นภัยต่อระบอบกับรัฐธรรมนูญเสียเองละ เราจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ
ควีน : "ใช่" เราจะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เราจะอดทนรอเวลา รอให้ประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาเป็นผู้ตัดสิน รอการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งถัดไปให้ประชาชนไล่เขาออกจากตำแหน่ง ถ้าประชาชนจะตัดสินใจเช่นนั้น
การรัฐประหารที่เกือบจะเกิดขึ้นในปี 1968 สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้น ถึงกระนั้นก็ตามพรรคเลเบอร์ของนายกฯ แฮโรลด์ วิลสัน แพ้การเลือกตั้งครั้งถัดมา แต่วนมาอีกสมัยเขาได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แล้วก็ต้องลาออกในเวลาต่อมา
ถึงแม้จะยังไม่มีการยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรี่ย์เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่จากที่ดูมาหลายมีหลายฉากที่ควีนฯ จะต้องผ่านความยากในการที่ต้องเพิกเฉยและวางตัวเป็นกลางกับสถานการณ์ของบ้านเมือง และให้เป็นหน้าที่ของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง ควีนฯ มีหน้าที่เพียงปกป้องรัฐธรรมนูญให้ยังคงอยู่
1
มีความสามารถให้แสดงว่าไม่สามารถ
ซุนวู
เราทำอะไรได้หรือไม่ได้เราย่อมรู้อยู่แก่ใจ บางครั้งไม่จำเป็นต้องไปแสดงออกหรือ Action สิ่งใดออกไป และเราไม่จำเป็นต้องตอบสนองกลับทุกเหตุการณ์ แต่ก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่อาจทนกับสิ่งเร้าได้ จึงต้องพยายามตอบสนองกับเหตุการณ์ต่างๆ นั่นเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบทำและนำมาสู่ความผิดพลาดหลายๆ ประการ
จริงอยู่ว่าในบางครั้งเหตุการณ์ซึ่งๆหน้านั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจจะนิ่งเฉยได้ ดูทรงแล้วน่าจะออกผลลัพธ์มาไม่ดี แต่ในฐานะผู้นำสูงสุดจำเป็นต้องคำนึงถึงส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเรื่องบางเรื่องก็ไม่มีใครสามารถฟันธงอนาคตได้ มีแค่เรานั้นจะปกป้องหลักการใดมากน้อยแค่ไหน
ลอร์ดเมาท์แบทเทนและพรรคพวกคิดว่าสถานการณ์ที่เราเจออยู่เป็นสถานการณ์ที่แย่และเลวร้ายมากจำเป็นจะต้องทำอะไรบางอย่างขึ้นมา นี่คือการพยายามที่จะ "กระทำ" ซึ่งทุกการกระทำมีต้นทุนที่จะต้องจ่าย และรู้ว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้สำเร็จก็คือการมีควีนฯหนุนหลัง และมั่นใจว่าด้วยสถานการณ์และเหตุผลสมควรที่จะยึดอำนาจของนายกฯ
1
ลอร์ดเมาท์แบทเทน สอบตกในข้อนี้ของซุนวู ที่จริงท่านลอร์ดเป็นคนมีความสามารถอย่างแท้จริง และมีคนสนับสนุนพอสมควร หากแต่วิธีการนั้นผิดอย่างมาก ท่านลอร์ดควรจะนิ่งเฉย หรือไม่ก็ลงไปทำการเมืองเองถ้าเชื่อว่านายกฯ คนนั้นทำงานได้ไม่ดี
คนส่วนมากล้มเหลวเพราะไม่รู้ว่าเรื่องนั้นๆ "ไม่ทำก็ได้" ลอร์ดเมาท์แบทเทน จึงเปรียบเสมือนผู้นำที่เราจะเห็นได้ทั่วๆไป ที่รู้สึกว่าตนนั้นจะต้องเข้ามาทำอะไรซักอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่วิธีที่ท่านลอร์ดเลือกนั้นเป็นวิธีที่ผิดนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ประมุขหรือคู่ความแขวนอาจนำความพ่ายแพ้มาสู่กองทัพ ด้วยเหตุผลสามประการคือ ไม่รู้ว่าบุกไม่ได้เดี๋ยวสั่งให้บุก ไม่รู้ว่าถอยไม่ได้แต่สั่งให้ถอย เท่ากับเป็นการผูกมัดกองทัพ ไม่รู้การบริหารกองทัพแต่แทรกแซงการบริหาร จะทำให้กองทัพสับสน ไม่รู้การศึกแต่ส่งบัญชาการศึกเอง กองทัพจะแคลงใจ
ซุนวู
สำหรับควีนเอลิซาเบธ ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่พยายามเข้ามาแทรกแซงทางกองทัพหรือรัฐบาล มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเห็นส่วนตัวมีการโน้มเอียงอยู่แล้ว จึงกล่าวได้ว่าสิ่งที่ควีนอลิซาเบ็ธทำเป็นการฝืนธรรมชาติมนุษย์อย่างแน่นอน
สถานการณ์อังกฤษในสมัยนั้นอาจจะย่ำแย่จริง จะเป็นเพราะการบริหารของรัฐบาลก็ตามแต่ ใครๆก็อยากให้รัฐบาลนี้ออกไป แต่สิ่งที่ ควีนเอลิซาเบธตอบลอร์ดฯ เป็นสิ่งที่ยากมากที่เราจะไม่ทำอะไรเลย แต่ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเอง เป็นการแสดงถึงอำนาจที่เข้มแข็งอย่างมากในฐานะ "สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ"
จากมุมมองของซุนวู สิ่งที่ควีนเอลิซาเบธทำจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆจะทำได้ ฉะนั้นการจะเป็นผู้นำทัพหรือประมุขของประเทศ หรือผู้นำในองค์กรใดก็ตาม บางครั้งสิ่งที่ยากก็คือการตัดสินใจที่จะไม่ทำหรือตอบสนองสถานการณ์ใดใดก็ตาม แต่คือการเชื่อมั่นในหลักการดั้งเดิมให้ยังคงดำเนินต่อไปตามวิถีนั้น
อาจจะพอกล่าวได้ว่า ความยากที่สุดของการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่คือการฝืนธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการตอบสนองทุกเหตุการณ์ ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่า
โฆษณา