7 ส.ค. 2023 เวลา 11:14 • ประวัติศาสตร์

เรื่องเล่าจาก “สีชมพู” สีที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

“สีชมพู” เป็นสีตามธรรมชาติที่เราเห็นจนคุ้นเคย ตั้งแต่ดอกไม้จนไปถึงท้องฟ้า แต่สีชมพูกลับกลายเป็นหนึ่งในสีที่ดึงดูดสายตามากที่สุดโลก สีที่ถูกจดจำว่าเป็นสีของผู้หญิง แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วสีชมพูเคยเป็นสีของผู้ชายมาก่อนและมีประวัติศาสตร์ผูกพันกันมายาวนานกว่าผู้หญิงเสียอีก
วันนี้เราจะขอเล่าเรื่องราวของ “สีชมพู” สีแห่งความอ่อนโยน อ่อนหวาน สีที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งบทบาทและความหมายมากที่สุดในโลกกัน
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในเชิงชีววิทยา ย้อนอดีตไปซัก 1 พันล้านปีก่อน ในยุคที่ธรรมชาติค่อยๆ พัฒนาสีสันของตัวเองขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบร่องรอยจากฟอสซิลโมเลกุลของคลอโรฟิลด์ที่อยู่ใต้ท้องทะเลในยุคนั้นและสร้างขึ้นมาใหม่จนได้ค้นพบว่าจริงๆแล้ว “สีชมพูเป็นสีตามธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดของโลก”
ส่วนในเชิงประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น สีชมพูได้ถูกอธิบายครั้งแรกใน “โอดิสซี” หนึ่งในมหากาพย์กรีกโบราณ อีเลียด และ โอดิสซี เขียนโดย โฮเมอร์ ช่วง 800 ปีก่อนคริสตกาล (เรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอยและการเดินทางกลับหลังจากสงคราม) เค้าได้เขียนอธิบายสีของท้องฟ้าในตอนเช้าไว้ว่า "Then, when the child of morning, rosy-fingered dawn appeared..." ซึ่ง Roseus ในภาษาละติน หมายถึง Rosy หรือ สีชมพู นั่นเอง
สีชมพูเคยเป็นสีของผู้ชายมาก่อน
ก่อนช่วงศตวรรษที่ 19 สีชมพูจัดว่าเป็นเฉดสีของสีแดง ยังไม่มีการบัญญัติคำว่าสีชมพูขึ้น แต่จะเรียกว่า สีแดงอ่อน สีแดงขาว ดังนั้นความหมายของสีชมพูจึงมีความหมายเหมือนกับสีแดงที่แสดงถึงพลังอำนาจและความมั่งคั่ง นอกจากนี้สีแดงยังเป็นสีย้อมผ้าที่ราคาแพงที่สุดของยุคนั้นอีกด้วย ทำให้ผู้ชายนิยมใส่เสื้อผ้าสีชมพูเพื่อแสดงถึงสถานะของตัวเอง
ในศตวรรษที่ 12 เสื้อผ้าเด็กแบบแยกชายหญิงก็ได้กำเนิดขึ้น แน่นอนว่าสีของเสื้อก็จะอิงตามสีของผู้ใหญ่ในแต่ละเพศดังนั้นเสื้อสีชมพูหรือในตอนนั้นเรียกว่าสีแดงอ่อนจะเป็นของเด็กผู้ชาย ซึ่งหากเราสังเกตตามภาพเขียนเกี่ยวกับศาสนาจากยุคกลางก็จะเห็นได้ว่าพระเยซูตอนเด็กมักจะถูกวาดอยู่ในชุดสีชมพู ส่วนของเด็กผู้หญิงจะเป็นสีฟ้า ตามสีของพระแม่มารี แต่โดยทั่วๆไปเด็กก็ใส่เสื้อผ้าสีขาวนั่นแหละ เพราะทำความสะอาดง่ายกว่าผ้าสีและสื่อถึงความบริสุทธิ์
สีชมพูเริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนโยน
ในยุคศตวรรษที่ 18 แนวความคิดของยุคโรแมนติคเริ่มก่อตัวขึ้น สีพาสเทลต่างๆเริ่มเป็นที่นิยมในราชสำนักยุโรป สีชมพูได้ตัดความเชื่อมโยงกับสีแดงซึ่งสื่อถึงผู้ชาย ความรุนแรงของสงครามและเริ่มเปลี่ยนความหมายกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนโยน นุ่มนวล และความเป็นผู้หญิง
สีชมพูเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้หญิงตะวันตกเพราะ มาดามปอมปาดัวร์ (Madame de Pompadour) พระสนมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 หนึ่งในผู้นำทางแฟชั่นของราชสำนักฝรั่งเศส เธอเป็นคนที่ชอบสีชมพูมากและมักจะสวมเสื้อผ้าสีนี้อยู่บ่อยๆ
ถึงขั้นที่ว่าเธอมีสีชมพูที่เป็นชื่อของเธอเองว่า “Rose Pompadour” และด้วยอิทธิพลของพระราชวังแวร์ซาย ทำให้เทรนด์สีชมพูเป็นกระแสอย่างรวดเร็วในราชสำนักและสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศสและทั่วยุโรป
กำเนิดคำว่า “Pink” ครั้งแรก
จริงๆ แล้วคำว่า “Pink” นั้นถูกใช้มานานก่อนที่จะใช้เรียกสีชมพูพอสมควรตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 โดยคำว่า Pink เป็นชื่อเรียกอีกอย่างของดอก Dianthus ที่เป็นสีชมพู และในอดีตก็ยังใช้เป็นคำอธิบายการกระพริบตา ขยิบตา คล้ายกับคำว่า Blink หรือ Wink
หลังจากที่สีชมพูเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 สีชมพูก็มีคำเรียกเป็นของตัวเองว่า Pink ตามชื่อของดอกไม้ ตามหลักการเดียวกันกับ Violet ที่มาจากชื่อของดอกไม้เช่นกัน
ส่วนคำว่า “ชมพู” ในภาษาไทยนั้นมาจากภาษาบาลีสันสกฤตคำว่า “ชมฺพุ” แปลว่า ชมพู่ ที่เป็นผลไม้ที่เราคุ้นเคยกัน เพราะสีของผลของชมพู่นั้นมีสีแดงอ่อนคล้ายกับสีชมพูนั่นเอง
สีชมพูกลายเป็นสีตัวแทนของผู้หญิง
สีชมพูเป็นสีของทุกเพศเรื่อยมาจนกระทั่งช่วงสงครามโลก ผู้ชายเริ่มใช้สีที่สดใสน้อยลงเปลี่ยนเป็นโทนสีเข้มขึ้นหรือหม่นลงด้วยอิทธิพลจากเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆจากสงคราม ในขณะที่ผู้หญิงยังคงใช้ของต่างๆที่มีสีสว่างหรือสีโทนอ่อน
โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงเริ่มกลับไปทำงานบ้านหลังจากที่ต้องไปทำงานแทนผู้ชายที่เข้าร่วมสงคราม โฆษณาต่างๆ ถูกทำเพื่อปลุกความเป็นผู้หญิงขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้ภาพของภรรยาในอุดมคติที่แต่งตัวมีสีสัน กรุยกราย และ อ่อนหวาน
สีชมพูถูกย้ำว่าเป็นสีของผู้หญิงมากขึ้นและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากที่มีการผลิตสิ่งของต่างๆ แบบอุตสาหกรรมส่งผลให้สีชมพูที่เคยยึดอยู่ความมั่งคั่งของชนชั้นสูงจึงหายไปและเข้าถึงทุกชนชั้น
ผสมกับพลังของสื่อต่างๆ ทั้งโฆษณา โทรทัศน์ และ ภาพยนตร์ ที่ผูกสีนี้เข้ากับความเป็นผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สีชมพูกลายเป็นสีของผู้หญิงในที่สุดและสีน้ำเงินเป็นของผู้ชายไปโดยปริยาย
สีแห่งความสนุกสนาน และ ความโดดเด่น
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 สีชมพูกลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งด้วยภาพลักษณ์ของความสนุกสนานและความโดดเด่น ทั้งจากสีชมพูนีออนจากงานศิลปะแบบ Pop Art เช่น ผลงาน Marilyn จาก Andy Warhol ในปี 1967 หรือ สีชมพูสดใสจากตุ๊กตาบาร์บี้ ส่วนในความหมายเดิมเรื่องความสดใส น่ารัก อ่อนหวานนั้นก็ยังมีเหมือนเดิม เช่น งานของซานริโอ้ เฮลโลคิตตี้ หรือ มายเมโลดี้
Anna Moneymaker / NYT / Redux
สีชมพู กับ บทบาททางสังคมในปัจจุบัน
สีชมพูถูกใช้ในกิจกรรมทางสังคมอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะด้าน สิทธิสตรี สุขภาพ LGBTQ+ หรือ เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เช่น การรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม การประท้วงต่อต้านสงครามอิรักโดยผู้หญิง และ การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ LGBT ก่อนที่จะมารวมเป็นหนึ่งในสีสายรุ้งในเวลาต่อมา (ส่วนเรื่องที่สีชมพูถูกตัดออกในธง Pride เป็นเพราะเรื่องต้นทุนการผลิตนะ)
ด้วยประวัติศาสตร์ทั้งหมดของสีชมพูที่เคยเป็นทั้งของชายและหญิงในแต่ละยุคทำให้ในปัจจุบันสีชมพูกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามการผูกโยงสีหรืออะไรก็ตามเข้ากับแต่ละเพศและเป็นสีตัวแทนของความลื่นไหลทางเพศในที่สุด
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนแปลงกันได้เพราะบทบาท คุณค่า และความหมายของสีขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของคนและสังคมซึ่งหากปัจจัยเหล่านั้นเปลี่ยนไป ในอนาคตสีชมพูก็อาจมีความหมายแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงก็ได้นะ
โฆษณา