7 ส.ค. 2023 เวลา 14:29 • ธุรกิจ

Hammer & Nails ไอเดียธุรกิจ “Starbucks แห่งวงการร้านทำเล็บผู้ชาย”

จากอดีตคนไร้บ้านที่ถูกเมินใน Shark Tank แต่ตอนนี้มียอดขายกว่า 870 ล้านบาท
ความน่าสนใจของรายการ #SharkTank คือการได้เห็นเหล่า Shark ได้รุมงับผู้ประกอบการที่เข้ามาเสนอไอเดียในการขอทุน เราจะเห็นทั้งด้านดีของเหล่า Shark ที่ได้แนะนำการทำธุรกิจ แนวทางพัฒนา และด้านมืดที่แก่งแย่ง กดดัน ต่อรอง หรือบางครั้งก็เอาเปรียบผู้ประกอบการเพื่อสุดยอดดีลเด็ด
และอีกอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การมองภาพรวมธุรกิจ คาดเดาอนาคต จนบางครั้งเหมือนกับตัดสินว่าธุรกิจนั้นจะอยู่รอด รุ่งเรือง หรือจะหายไปจากตลาด แต่มนุษย์อยู่คู่กับทั้งความสำเร็จและความผิดพลาด aomMONEY จึงอยากหยิบธุรกิจน่าสนใจจากรายการนี้ ทั้งมุมมองและวิธีการของ Shark ที่จะพาธุรกิจก้าวไปข้างหน้า และการหักปากกาเซียนกับธุรกิจที่ Shark เลือกแล้วดับ-ไม่เลือกกลับรุ่ง มาเป็น Case Study สนุก ๆ ให้ฟังกัน
วันนี้เป็นเรื่องของความสวยความงาม แต่ในกรณีนี้อาจเรียกว่าความ “หล่อ” เพราะโดยทั่วไปแล้ว คงเป็นเรื่องปกติที่คุณสุภาพสตรีจะเข้าร้านทำเล็บ แต่ ‘ไมเคิล แอลเลียต’ (Michael Elliot) เดินไปหาเหล่า Shark ในรายการ Shark Tank ซีซัน 6 โดยขอเงินลงทุน 200,000 ดอลลาร์ แลกกับการถือหุ้น 20% ในธุรกิจร้านกรูมมิงสำหรับผู้ชาย (Men’s Grooming - ดูแลผู้ชายให้ดูดีครบวงจร) ที่มีชื่อว่า “Hammer & Nails”
#Before_Shark_Tank
‘ไมเคิล แอลเลียต’ ชายผู้มีชีวิตยากลำบาก เขาเคยเป็นคนไร้บ้านอยู่ 2 ปี ที่ฟิลาเดอเฟีย ไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่ญาติพี่น้อง มีเพียงความคิดที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้โดยเฉพาะสายดนตรี เขาเคยเป็น Rapper เคยผลิตนิตยสารเกี่ยวกับวงการฮิปฮอป แต่ก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าประสบความสำเร็จ
หลังจากนั้นเขาก็ใช้ประสบการณ์ในการทำเพลงไปเสนอนักลงทุนเพื่อทำรายการโทรทัศน์ที่ชื่อว่า ‘Krush Rap TV’ ฉายให้ Channel 57 มีฐานแฟนรายการเป็นนักร้อง นักดนตรีฮิปฮอป ทำให้มีรายได้จากการสปอนเซอร์ เจ้าใหญ่อย่าง Coca-Cola และได้สัญญาการทำรายการกับ Channel 17 เพิ่มเติม ต่อมาไมเคิลก็ถูกนิตยสาร 'Source' ดึงตัวมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการพิเศษ
ต่อมาเขาเบนเข็มไปเรียนรู้การเขียนบทภาพยนตร์ ในปี 2002 เขาสร้างชื่อด้วยบทภาพยนตร์เรื่อง 'Brown Sugar' ที่เขียนมาจากประการณ์ตอนที่เขาเป็นคนไร้บ้าน และยึดอาชีพเขียนบทภาพยนตร์รวมถึงเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ให้สตูดิโอต่าง ๆ เช่น Walt Disney Pictures, Universal Pictures, Paramount Pictures เป็นต้น
การอยู่ในแวดวงฮอลลีวูดทำให้ไมเคิลชอบใช้เวลาไปกับการทำให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ ทั้งออกกำลังกาย, นวด, ทำสปา รวมถึงการใช้บริการตัดแต่งเล็บมือและเท้า แต่ไมเคิลก็พบว่า ตัวเขารู้สึกอึดอัดเมื่อต้องไปทำเล็บในร้านเสริมสวยของผู้หญิง มีสายตาที่จ้องมองมาที่เขามากมาย มีบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร เขารู้สึกว่าตัวเขาเป็นสิ่งแปลกปลอมในสถานที่แห่งนี้ จึงเกิดแนวคิดว่า หากมีสถานที่ที่ผู้ชายสบายใจที่จะเข้ารับบริการทำเล็บน่าจะดีกว่านี้ เขาเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อนสนิท ทำให้รู้ว่าหลายคนก็รู้สึกแบบเดียวกัน
เดือนพฤศจิกายน 2013 “Hammer and Nails” ร้านกรูมมิงที่ต้อนรับผู้ชายที่อยากดูแลตัวเองจึงเกิดขึ้นในเมืองลอสแองเจลิส โดยให้บริการทำเล็บด้วยเก้าอี้หนังหนานุ่ม มีโทรทัศน์จอกว้างส่วนตัว 32 นิ้ว ชุดหูฟัง Bose และมีเครื่องดื่มฟรีไว้คอยบริการ เพื่อให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม
#SharkTank
กันยายน 2014 ไมเคิลเดินเข้าไปในรายการ Shark Tank ด้วยข้อเสนอ 200,000 ดอลลาร์ เพื่อแลกกับหุ้น 20% ในธุรกิจ Hammer & Nails โดยเขาเปิดฉากเล่าที่มาที่ไปของธุรกิจนี้และมีโอกาสได้แบ่งปันภูมิหลังและการต่อสู้ที่ผ่านมาของเขาจนทำให้ Shark หลายคนประทับใจ
ไมเคิลเชิญ โรเบิร์ต เฮอร์จาเวค (Robert Herjavec) หนึ่งใน Shark มาลองนั่งเก้าอี้ที่ยกมาจาก Hammer & Nails พร้อมพนักงานมาให้บริการเพื่อจำลองประสบการณ์ในร้านของเขา
ไมเคิลกล่าวว่าต้นทุนในการสร้างร้าน Hammer & Nails อยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ สร้างมาเพื่อมอบประสบการณ์สุดพรีเมียมที่เขาให้คำจำกัดความว่า “ถ้ำนิพพานของชายหนุ่ม” (Man Cave Nirvana) โดยคิดค่าบริการที่ 23-125 ดอลลาร์ โดย 7 เดือนแรกของธุรกิจนี้ สร้างรายได้ให้ไมเคิล 150,000 ดอลลาร์ และแผนธุรกิจที่เขาต้องการทำหลังจากนี้คือการขายแฟรนไชส์ โดยเขาต้องการให้ Hammer & Nails เป็น “Starbucks แห่งเล็บของผู้ชาย”
1
#SharkAttack
หลังไมเคิลอธิบายถึงแผนธุรกิจที่ต้องการขายเป็นแฟรนไชส์ เหล่า Shark ก็เริ่มมองหน้าและแสดงอาการไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ “ทำไมคุณไม่ทำธุรกิจนี้เอง” มาร์ค คิวบาน (Mark Cuban) Shark อีกคนเอ่ยถาม และเมื่อไมเคิลพยายามอธิบายว่า การทำแฟรนไชส์นั้นจะช่วยให้ธุรกิจเติบโต Shark หลายมองว่าแนวคิดของเขามีความผิดปกติบางอย่าง
มาร์คเปรียบเทียบสิ่งที่ไมเคิลทำว่า เหมือนการ “เอาอานไปวางข้างหน้าม้า” (Putting the cart before the horse) ซึ่งหมายความว่า ไมเคิลพยายามให้คนมาซื้อแฟรนไชส์แทนที่จะทำให้ธุรกิจโด่งดังเสียก่อน แล้วมาร์คก็ขอผ่านธุรกิจของไมเคิล
ทางด้านโรเบิร์ต เฮอร์จาเวค ผู้ได้สัมผัสประสบการณ์บนเก้าอี้หนังแสนสบายและการบริการของ Hammer & Nails กล่าวว่า ไอเดียของไมเคิลดีมากและสงสัยว่าทำไมไม่มีร้านทำเล็บผู้ชายแบบนี้ทั่วไป แต่ติดที่เขาไม่ถูกใจคำตอบของไมเคิลที่ตอบคำถามของ Mark Cuban เกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ต้องการขยายแบบแฟรนไชส์จึงบอกผ่านธุรกิจนี้ไปอีกคน และขอบคุณไมเคิลกับบริการสุดพรีเมียมนี้
ลอรี่ เกรเนอร์ (Lori Greiner) เอ่ยชมไอเดียของไมเคิล แต่ก็มองไม่ออกว่าจะมีผู้ชายจำนวนมากแค่ไหนที่อยากไปทำเล็บ จนสร้างรายได้มากพอที่จะคืนทุนได้ เธอคิดว่าบริการนี้เกิดขึ้นรวดเร็วเกินไป เลยบอกผ่านธุรกิจนี้
เช่นเดียวกับ เควิน โอเลียรี (Kevin O'Leary) ที่สอบถามเกี่ยวกับตัวเลขรายได้และแนวโน้มทั่วไปก่อนจะบอกว่า #เป็นไปไม่ได้ แล้วบอกผ่านดีลนี้ตามไปอีกคน
เดย์มอนด์ จอห์น (Daymond John) เล่าว่าเขาเคยเข้าไปใช้บริการธุรกิจกรูมมิงคลับที่คล้ายกันอย่าง John Allen's ที่จะดำเนินธุรกิจและมีบริการเสริมอื่น ๆ เช่น ทั้งการตัดเย็บเสื้อผ้าและบาร์ ซึ่งยากที่จะทำแบบนั้นในธุรกิจแฟรนไชส์ แล้วบอกผ่าน Hammer & Nails
1
สรุปว่าการเดินทางของไมเคิลกับ Shark Tank นั้นสิ้นสุดลงโดยไม่ได้รับข้อเสนอจาก Shark เลยสักคน
#จุดจบของสิ่งหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งหนึ่งเสมอ
การออกรายการดังกล่าวทำให้ลูกค้าของ Hammer & Nails เพิ่มขึ้นเยอะมาก ที่สำคัญ มีผู้สนใจธุรกิจของไมเคิลและส่งข้อความหาเขากว่า 800 ราย ไมเคิลเลือกผู้ลงทุนที่น่าสนใจ 8 คน และระดมทุนได้ 200,000 ดอลลาร์ตามที่เขาต้องการ จากนั้นเขาก็เริ่มทำตามแผนการขยายกิจการในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ และได้เพิ่มการบริการเช่น การตัดผมและโกนหนวดเข้าไปในธุรกิจด้วย
2018 ไมเคิลได้ จอห์น โชย (John Choi) เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ อารอน เมเยอร์ (Aaron Meyers) มารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ โดยทั้งคู่มีประสบการณ์พัฒนาแฟรนไชส์ของ Massage Envy (ธุรกิจบริการนวด) ในเขต Northern California ซึ่งมีส่วนช่วยให้ธุรกิจของไมเคิลเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก
2021 Hammer & Nails มี 8 สาขา มีสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด 13 แห่ง
1
ต้นปี 2023 พวกเขามีสาขาแฟรนไชส์เพิ่มเป็น 41 แห่ง รายได้รวมทั้งหมดประมาณ 25,000,000 ดอลลาร์ต่อปี โดยแฟรนไชส์ Hammer & Nails มีราคาระหว่าง 234,700 – 531,400 ดอลลาร์ มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 20% และต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 6%
ในบทสัมภาษณ์ที่ไมเคิลให้กับนิตยสารการเงินและธุรกิจ Forbes เมื่อปี 2017 ไมเคิลกล่าวว่า ในรายการ Shark Tank เขาตื่นเต้นและประหม่าจนลืมอธิบายว่าทำไมเขาถึงอยากทำธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์มากกว่าจะเปิดสาขาเพิ่มเอง ไมเคิลบอกว่าเขาต้องการสร้างธุรกิจที่เป็นต้นแบบ เพื่อให้อำนาจกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชาวอเมริกัน-แอฟริกันคนอื่น ๆ ในการทำธุรกิจเพื่อตัวพวกเขาเอง ไมเคิลพยายามอุทิศเวลาเพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จ และเติบโตได้ด้วยแฟรนไชส์ที่เขาคิดขึ้นมา
และนี่เป็นหนึ่งให้ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ แม้จะถูกผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากกว่าทักท้วงว่าธุรกิจที่เขาทำนั้นมาก่อนกาล และแผนธุรกิจที่วางไว้นั้นไม่น่าจะใช่แบบแผนที่ถูกต้อง แต่ด้วยไอเดียที่ดีของธุรกิจ การเติบโตอันรวดเร็วของตลาด ความมุ่งมั่นที่จะยกระดับผู้ประกอบการให้เติบโตไปด้วยกัน และความพยายามที่เขามีมาตลอดชีวิตของเขา จึงทำให้ Hammer & Nails ประสบความสำเร็จในธุรกิจกรูมมิงสำหรับสุภาพบุรุษ แบบหักปากกา Shark
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า #มนุษย์อยู่คู่กับทั้งความสำเร็จและความผิดพลาด การทำธุรกิจนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทั้งช่วงเวลา, กระแส, ความต้องการของตลาด, การคาดการที่แม่นยำรวมถึงเงินทุน เหล่านี้ล้วนส่งผลให้การทำธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้
แต่สิ่งหนึ่งที่คนประสบความสำเร็จทำเหมือนกันคือ ความมุ่งมั่น พยายาม และมีความเชื่อที่ไม่สามารถลดลงหรือสูญหายไปได้จากคำพูดของใครก็ตามที่คิดไม่ตรงกัน เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่า สิ่งที่เราคิดขึ้นมาได้นั้น จะล้มไม่เป็นท่าหรือว่ารุ่งระดับโลก จนกว่าจะได้ลงมือทำ
เขียนและเรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา
#aomMONEY #ออมมันนี #ธุรกิจ #Shark #Franchise #Men #Grooming #SME #Entertainment #CaseStudy #Hammer_and_Nails
โฆษณา