Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
8 ส.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตัวเลขสถิติ หลอกเรา ได้อย่างไร ?
“การหลอกคนมี 3 วิธี คือ การโกหกธรรมดา ๆ, การโกหกคำโต และการใช้สถิติ”
แม้คำพูดนี้ จะถูกพูดเมื่อประมาณ 130 ปีที่แล้ว โดย Mark Twain นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน แต่ในปัจจุบันก็ยังคงใช้ได้อยู่ เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เราได้รับข้อมูลสถิติต่าง ๆ มากมายผ่านสื่อ
และด้วยความที่สถิติ มักจะอ้างอิงมาจากนักวิชาการ หรืองานวิจัยที่ดูน่าเชื่อถือ หลายคนจึงเลือกที่จะเชื่อข้อมูลนั้นอย่างสนิทใจ
ถึงอย่างนั้น ในอีกด้านหนึ่ง สถิติก็ไม่ใช่ความจริงที่แน่นอน 100% เพราะข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำมาใช้หลอกเราได้ แทนที่จะช่วยแสดงความจริง ออกมาให้เราเห็น
แล้วสถิติหลอกเราได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
สถิติเป็นสิ่งที่เรามักจะเห็นผ่านตาอยู่บ่อย ๆ โดยในชีวิตประจำวัน เรามักจะเห็นการใช้ตัวเลขสถิติ ในสิ่งเหล่านี้
- ข่าวเศรษฐกิจ และการลงทุน
- ตัวเลขทางธุรกิจ เช่น การเติบโตของรายได้ และกำไร
- การทำโพลล์ต่าง ๆ
- การพยากรณ์อากาศ
แม้ตัวเลขสถิติเหล่านี้ จะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเลขเหล่านี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริงเสมอไป
เพราะตัวเลขเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็ถูกเก็บโดยมนุษย์ ที่อาจจะมีอคติ และสามารถผิดพลาด เหมือนกันกับตัวของเรา
ทำให้อาจจะมีการเก็บข้อมูลผิดพลาด หรือบางครั้งก็อาจจะมีการบิดเบือนข้อมูล เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง ก็เป็นได้ เช่น
- เก็บข้อมูลอย่างลำเอียง
“กว่า 9 ใน 10 ของผู้ใช้งาน รู้สึกพึงพอใจมาก กับการใช้ผลิตภัณฑ์นี้” ข้อความคล้าย ๆ แบบนี้ มักจะอยู่ในโฆษณาสินค้าหลาย ๆ ตัว
แต่ข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจจะไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะเป็นการเก็บข้อมูล จากกลุ่มตัวอย่าง ที่ทางบริษัทสุ่มเลือกมาเท่านั้น
ซึ่งเราเองก็ไม่มีทางรู้เลยว่า กลุ่มตัวอย่างที่บริษัทเลือกมา มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้น มีจำนวนไม่มากพอ ก็จะทำให้ผลลัพธ์ ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมา อาจเป็นการ “ตั้งใจเลือก” กลุ่มลูกค้าที่ชอบแบรนด์นี้อยู่แล้วเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
- การเลือกใช้ค่าสถิติอย่างไม่เหมาะสม
คำว่าค่าเฉลี่ยนั้น ส่วนใหญ่แล้ว จะหมายถึง ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ที่เอาข้อมูลต่าง ๆ มาบวกรวมกัน และหารด้วยจำนวนคน
แต่ค่าสถิติตัวนี้ ไม่เหมาะที่จะใช้กับข้อมูลที่มีความแตกต่างกันมาก ๆ เพราะจะทำให้ได้ผลลัพธ์ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวไทยมีเงินในบัญชีอยู่ประมาณ 127,760 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างมาก จนดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่ มีฐานะดีเกินจริง
ทั้งที่เมื่อเราดูข้อมูลอีกด้าน จะพบว่า จำนวนบัญชีธนาคารเกือบ 110 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็นบัญชีธนาคารกว่า 89% ของบัญชีธนาคารทั้งหมดในไทย กลับมีเงินไม่ถึง 4,000 บาทด้วยซ้ำ
- บิดเบือนการนำเสนอข้อมูล
การนำเสนอข้อมูล อาจจะมีทั้งรูปแบบกราฟ แผนภูมิ หรือรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้
แต่การนำเสนอข้อมูล บางครั้งก็อาจจะเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
นอกจากนี้ แม้ข้อมูลที่นำเสนอจะครบถ้วน แต่ก็อาจมีการนำเสนอในรูปแบบ ที่สามารถนำไปสู่การทำให้เข้าใจผิดได้
เช่น การวาดกราฟให้ผิดสเกล หรือแสดงตัวเลขบวกเป็นสีแดง และตัวเลขลบเป็นสีเขียว จนทำให้คนสับสน เป็นต้น
- ตัดสินใจเรื่องอนาคต ด้วยข้อมูลในอดีตเพียงอย่างเดียว
ที่เห็นได้บ่อย ๆ ก็คือการลงทุน ที่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผลตอบแทน หรือผลประกอบการที่เราเห็นนั้น ต่างก็เป็นเพียงแค่ข้อมูลในอดีตเท่านั้น
แต่การลงทุน คือสิ่งที่เราต้องหวังผลไปในอนาคต นั่นจึงทำให้ในบางครั้ง เวลาที่เราลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการดี หรือกองทุนซึ่งให้ผลตอบแทนในอดีตสูง ๆ
ก็อาจจะประสบกับการขาดทุนเป็นอย่างมากได้ เพราะผลงานในอดีตนั้น ไม่ได้สะท้อนถึง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะมากระทบกับการลงทุนของเราในอนาคต นอกเหนือจากข้อมูลในอดีต เพียงอย่างเดียวด้วย
จากเรื่องราวที่เล่ามานี้เอง ก็ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า สถิติก็เหมือนเหรียญสองด้าน
เพราะถ้าหากข้อมูลเหล่านั้น ถูกเก็บอย่างถูกต้อง และไม่มีอคติเจือปน ก็จะทำให้เราได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูง มาช่วยในการตัดสินใจ ทั้งในเรื่องการประกอบธุรกิจ หรือการลงทุน ได้อย่างถูกต้อง
แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขสถิติ ก็สามารถเป็นเครื่องมือ ที่เจ้าของข้อมูล ใช้หลอกให้คนเชื่อ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือแสดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนตัดสินใจผิดพลาด ได้เช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่เราควรมี ก็คือ วิจารณญาณในการไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะปักใจเชื่อสิ่งใดนั่นเอง..
References
-
https://www.doa.go.th/share/attachment.php?aid=2730
-
https://planning.anamai.moph.go.th/th/km05/download?id=39014&mid=31845&mkey=m_document&lang=th&did=13529
-
https://www.facebook.com/photo/?fbid=362096865489936&set=pcb.362098722156417
-
https://thematter.co/thinkers/statistics-about-most-thai-people/140990
-
https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000132/download/Forecasting.pdf
-
https://dspace.bru.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/5609/Chapter-3-Apply%20Statistic%20New.pdf?sequence=6&isAllowed=y
-
http://old-book.ru.ac.th/e-book/inside/html/dlbook.asp?code=ST439
หุ้น
การลงทุน
เศรษฐกิจ
7 บันทึก
24
6
7
24
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย