9 ส.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

รามเกียรติ์: วรรณกรรม การเมืองแห่งกรุงสยาม

ในระหว่างการอภิปรายคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งคณะ ซึ่งเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ณ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สัปปายะสภาสถาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นอภิปรายตอบข้อซักถามต่าง ๆ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านได้เสนอมาในแต่ละประเด็น ซึ่งก็ได้มีการเปรียบเปรยตัวของนายกรัฐมนตรีเองว่า เป็น “พระราม พระลักษมณ์”
โดยให้เหตุผลว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหนึ่งว่า ควรวางบทบาทให้เหมือนกับรามเกียรติ์ แน่นอนว่า หากนายกรัฐมนตรีเป็นพระราม พระลักษมณ์แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็คงต้องเป็น “ทศกัณฐ์” แต่ถึงอย่างนั้น สังคมไทยคงไม่เหมือนในรามเกียรติ์ พร้อมกับกล่าวเสริมถึงจุดจบของทศกัณฐ์ว่า สุดท้ายแล้วลงเอยเช่นไรด้วย ทำให้บนพื้นที่สังคมออนไลน์ต่างมีการส่งต่อเนื้อหา ไม่ก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรามเกียรติ์เป็นจำนวนมาก
เท่านั้นไม่พอย่อมเป็นคำถามอย่างดีประจำวันที่สื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ได้นำมาสัมภาษณ์กับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาล อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ถูกถามว่า ตนเองนั้นเปรียบเหมือนดังตัวละครอะไรในรามเกียรติ์ นายวิษณุ กล่าวว่า เปรียบตัวเองเหมือน “พิเภก” โดยให้เหตุผลว่าสนุกดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพิเภกก็เคยอยู่กับทศกัณฐ์มาก่อน นายวิษณุก็กล่าวอีกว่า แต่สุดท้ายก็มาอยู่กับพระราม ก่อนที่จะเปลี่ยนใจไปตอบว่า เป็น “พระวิษณุ”
นอกจากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ถูกสื่อถามถึงกรณีนี้เช่นกัน ซึ่งนายอนุทินก็ตอบว่า เปรียบตัวเองว่าเป็น “นางสีดา”
ในแต่ละตัวละคร นอกจากจะมีบุคลิกภาพ อุปนิสัยที่แตกต่างกันแล้ว หากใครได้มีโอกาสได้อ่านหรือชมเรื่องราวผ่านการแสดงโขนแล้ว ก็คงสามารถที่จะจำแนกได้ทันทีว่า ใครเป็น “ธรรมะ” และใครเป็น “อธรรม” บ้าง นอกจากนั้น การที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกล่าวมาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการตีความตัวละครผ่านสิ่งที่แต่ละท่านเปรียบเปรยมา
ก่อนจะไปเจาะลึกถึงตัวละครในข้างต้น สำหรับรามเกียรติ์ มาจากวรรณกรรมเรื่อง “รามายณะ” ของอินเดีย (ว่ากันว่า รามายณะของไทยได้นำมาจากฉบับที่ฤาษีวาลมิกิแต่งขึ้น แต่มีการนำเนื้อเรื่องของรามายณะฉบับอื่นมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้รามเกียรติ์มีความสนุกสนานมากขึ้น) ซึ่งได้แผ่เข้ามายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 8 ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่เข้าใจว่าพ่อค้าชาวอินเดียเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ในรูปแบบของมุขปาฐะ (เล่าแบบปากต่อปาก)
ซึ่งชาวอินเดียได้เข้ามาค้าขายในดินแดนนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสินค้าที่เป็นที่ต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องเทศ ยางไม้หอม ไม้หอม อนึ่ง การค้าขายเองก็ทำให้เกิดสิ่งอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น การเผยแพร่วัฒนธรรม ศาสนา ไทยก็ได้รับเอาอารยธรรม ความรู้ และตำราต่าง ๆ จากอินเดียเข้ามาเผยแพร่เช่นกัน
หลังจากนั้น ได้มีการจารึกเรื่องราวของรามายณะลงในสมุดต่าง ๆ หากแต่ไม่ได้จดจารในสิ่งที่จำต่อ ๆ กันมา แต่เป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ตามฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทย จนกลายมาเป็นวรรณกรรมของไทยที่ชื่อว่า “รามเกียรติ์”
เมื่อมีการนำเนื้อเรื่องระหว่างรามเกียรติ์ กับ รามายณะ มาเปรียบเทียบแล้ว แม้จะมีเฉพาะบางส่วนที่ไม่ตรงกัน แต่ก็มีความต้องกันกับรามายณะในหลาย ๆ ฉบับของอินเดีย และมีบางส่วนที่พ้องกับรามายณะของประเทศเพื่อนบ้าน จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า รามเกียรติ์ของไทยคงจะมีการนำสำนวนของรามายณะในแต่ละฉบับมาถ่ายทอดให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม รวมถึงทัศนคติของคนในสังคมไทย
นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็มีรามายณะเช่นกันแต่ก็จะมีชื่อเรียกและเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่ก็แฝงไปด้วยคติ ข้อคิดที่คล้ายคลึงกันอยู่
ในสมัยอยุธยา ปรากฏว่ามีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับรามเกียรติ์หลายต่อหลายเรื่อง เช่น โคลงทศรถสอนพระราม โคลงพาลีสอนน้อง พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วรรณกรรมทั้งหลายก็ได้รับความเสียหายแทบทั้งหมด จนมาสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ไว้เพียง 4 ตอน คือ ตอน หนุมานเกี้ยวนางวานริน, ท้าวมาลีวราชว่าความ, ทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด และพระมงกุฎ
สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ก็ได้โปรดให้มีการชำระสะสางวรรณกรรม วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ รวมถึงรามเกียรติ์ ที่เคยมีแต่ครั้งสมัยอยุธยา พร้อมกับให้มีการฟื้นฟูการละเล่นอ่าน ร้อง รำ และมหรสพต่าง ๆ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ร่วมกันสืบสาน ถ่ายทอด และเป็นเครื่องที่แสดงถึงความเจริญของบ้านเมือง เป็นสิ่งประโลมใจชาวประชาให้คลายจากความเสียขวัญในช่วงบ้านแตกเมืองเสีย
แต่มาเฟื่องฟูอย่างมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ยุคทองของวรรณคดีไทย”
หลังจากนั้น รามเกียรติ์ก็ได้รับการทำนุบำรุง พร้อมกับการแสดงที่สำคัญอย่าง “โขน” เรื่อยมาในฐานะที่เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความอ่อนช้อยและอลังการ ทำให้ในเวลาต่อมา องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นบัญชี "Khon, masked dance drama in Thailand" (การแสดงโขนในประเทศไทย) เป็น “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
พร้อมกับ “Lkhon Khol Wat Svay Andet” (ละโคนโขลคณะวัดสวายอัณแดต) ของประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนปีเดียวกัน
นั่นคือ ประวัติความเป็นมาของรามเกียรติ์ ต่อไปเป็นลักษณะของตัวละคร (ที่นักการเมืองแต่ละท่านเปรียบเปรยตัวเองไว้) ซึ่งได้กล่าวไว้เบื้องต้น ประกอบด้วย พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ทศกัณฑ์ และพิเภก
● พระราม
เป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ เป็นเทพชั้นมเหศวรพงศ์มีฤทธานุภาพอันแกร่งกล้า หนึ่งในสามมหาเทพสำคัญตามคติพราหมณ์-ฮินดูที่เรียกว่า “ตรีมูรติ” และมีหลายชื่อ หลายปางตามอิทธิฤทธิ์และเหตุการณ์ เช่น วิษณุ หรือ พิษณุหิริอนันตไศยน ลักษมีบดี และจตุรภุช เป็นต้น
พระรามมีพระวรกายเป็นสีดอกตะแบก มี 4 กร ทรงตรี คทา จักร และสังข์ มีพระนางลักษมีเป็นเทวชายา มีพญาครุฑเป็นเทพพาหนะ และพญาอนันตนาคราชเป็นเทพบัลลังก์ประทับ ณ เกษียรสมุทร
พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ตามตำนานมีปางอวตารถึง 10 ปางด้วยกัน ประกอบด้วย
  • 1.
    มัสยาวตาร เป็นปลาไปปราบสังขอสูร
  • 2.
    กูรมาวตาร เป็นเต่าไปปราบอสูรมัจฉา
  • 3.
    วราหาวตาร เป็นหมูไปปราบเหรันตยักษ์
  • 4.
    นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ไปปราบท้าวหิรัณตาสูร
  • 5.
    วามนาวตาร เป็นคนเตี้ยไปปราบท้าวตาวันตาสูร
  • 6.
    ปรศุรามาวตาร เป็นรามสูรไปปราบกษัตริย์อรชุน
  • 7.
    รามาวตาร เป็นพระรามไปปราบทศกัณฐ์
  • 8.
    กฤษณาวตาร เป็นพระกฤษณะไปปราบท้าวพาณาสูร
  • 9.
    พุทธาวตาร เป็นพระสมณโคดมปราบท้าวปรนิมมิตวสวัตตี
  • 10.
    กัลกิยาวตาร เป็นมหาบุรุษผู้บันดาลให้โลกเป็นบรมสุข
พระนารายณ์ (ภาพพื้นหลัง: รามเกียรติ์ แอนิเมชัน “รามาวตาร” จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว / ภาพหัวโขน: SACIT Archive - สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน))
ในรามเกียรติ์ พระนารายณ์ได้เสด็จจุติไปมนุษยโลกยังวรรณะกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า “พระราม” พระราชโอรสในท้าวทศรถ ที่ประสูติแต่นางเกาสุริยา มีพระวรกายเขียวนวลราวกับนิลมณี มีศาสตราวุธประจำพระองค์เป็นศรนาค หากแต่เวลาที่ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์เป็นพระนารายณ์ก็จะทรงตรี คทา จักร และสังข์ไว้ที่พระหัตถ์ (มือ) ทั้งสี่
เมื่อเจริญพระวัยได้เสด็จออกผนวชตามพระพรที่นางไกยเกษีได้ขอไว้กับท้าวทศรถเป็นเวลาถึง 14 ปี ซึ่งในขณะนั้นทศกัณฐ์ได้มาลักพาพระอัครมเหสีอย่างนางสีดาไปยังกรุงลงกา จนเกิดเป็นศึกแล้วศึกเล่า กระทั่งเมื่อทศกัณฐ์สิ้น เสร็จมหาสงครามทั้งหลายแล้ว จึงได้เสวยราชย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระราม เป็นผู้ชายที่มีความรักที่มั่นคง กล้าหาญ มีคุณธรรม ไม่เลือกที่มักรักที่ชัง แล้วยังเป็นคนที่เข้าใจเลือกสรรบุคคลกับหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว เช่น ในตอนขับพิเภก ที่พิเภกได้พยายามพิสูจน์ทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ จนพระรามทรงรับเข้ามาอยู่ในกองทัพ โดยทำหน้าที่คอยบอกความลับ แยบยลกลในต่าง ๆ ของทศกัณฐ์ให้พระรามได้รู้ เพื่อจะตัดศึกสงคราม ชิงนางสีดากลับคืนมาให้ได้
แต่พระรามเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย ดังจะเห็นได้จากตอนนางลอย ที่ทรงเศร้าสลดจนเกือบสั่งประหารให้หนุมาน ฐานที่ไปเผากรุงลงกาจอนวายวอด เป็นเหตุให้นางสีดาต้องสิ้นชีวิต แต่ยังดีที่ทรงสำนึกได้ทัน ด้วยเพราะหนุมานได้กราบบังคมทูลว่า ธรรมดาแล้วศพที่ลอยน้ำมา 3 – 4 วันแล้วต้องอืดเน่า จึงให้มีการทดสอบเผาศพ แล้วทราบว่าเป็นนางเบญจกายที่จำแลงมา
รวมไปถึงตอนที่นางอาดูลยักษ์ได้หลอกล่อให้นางสีดาเขียนรูปทศกัณฐ์ขึ้นมา แล้วเข้าไปสิงในรูปจนลบไม่ออก เมื่อพระรามมาเห็นเข้า ด้วยความรักและหวงมากถึงกับโกรธกริ้ว จึงสั่งให้พระลักษมณ์เป็นผู้ประหารนางสีดา แต่ด้วยทุกวิถีทางก็ไม่สามารถที่จะประหารนางสีดาได้ เพราะนางมีความซื่อสัตย์ต่อพระรามโดยแท้ สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ได้ปรับความเข้าใจกัน
พระราม (ภาพพื้นหลัง: รามเกียรติ์ แอนิเมชัน “รามาวตาร” จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว / ภาพหัวโขน: SACIT Archive - สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน), สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13)
● พระลักษณ์
เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในท้าวทศรถ ที่ประสูติกับนางสมุทรเวที มีพระวรกายสีเหลืองคล้ายทอง พระลักษมณ์มีศรนาคเป็นศาสตราวุธประจำพระองค์ เมื่อเจริญพระวัยก็ได้ตามเสด็จพระราม นางสีดาออกบำเพ็ญพรต และได้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับพระราม ผู้เป็นพระเชษฐา (พี่ชาย)
พระลักษมณ์ เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ และจงรักภักดีทั้งต่อพระรามและนางสีดา ดังในตอนที่นางอาดูลยักษ์ได้หลอกล่อให้นางสีดาเขียนรูปทศกัณฐ์ขึ้นมา แล้วเข้าไปสิงในรูปจนลบไม่ออกนั้น เมื่อพระรามมีรับสั่งให้พระลักษมณ์เป็นผู้ประหารนางสีดา พระลักษมณ์ก็ไม่กล้าประหาร
สุดท้าย เมื่อนำพระขรรค์ฟาดไปที่นางสีดา แต่ด้วยเพราะบุญญาธิการนางสีดาจึงไม่สิ้นชีวิต พระลักษมณ์จึงให้พระนางหนีไป ก่อนที่ภายหลังพระรามและนางสีดาได้ปรับความเข้าใจกัน จนเสด็จกลับไปประทับที่พระนคร พร้อมด้วยพระมงกุฎและพระลบ ผู้เป็นพระราชโอรส
แต่พระลักษมณ์เองก็มักจะเป็นผู้ที่ต้องพลอย “รับกรรม” จากศาสตร์มารทั้งหลายอยู่เสมอ เช่น ในศึกกุมภกรรณ ที่ทรงต้องหอกโมกขศักดิ์เกือบจะวางวาย แต่ก็ได้หนุมานรับอาสาไปเก็บสรรพยา และพิเภกทำพิธีบดยาเสกเป่าแล้วทาลงที่แผล จนหอกหลุดออกไปได้
หรือแม้แต่ตอนที่ทศกัณฐ์จะสังหารพิเภก พระองค์ก็ทรงเข้ารับหอกกบิลพัสดุ์แทนพิเภก แต่ก็ได้ทั้งหนุมานและพิเภกช่วยกันปรุงสรรพยา จนหอกนั้นหลุดออกไป และในศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ พระลักษมณ์ พร้อมด้วยกองทัพวานรก็ถูกศรนาคบาศของอินทรชิตยิงใส่ จนเกือบสิ้นชีวิต แต่ยังดีที่ได้พญาครุฑมาคาบเอาศรที่กลายร่างเป็นนาคเหล่านั้นออกไปจนหมด
พระลักษมณ์ (ภาพพื้นหลัง: รามเกียรติ์ แอนิเมชัน “รามาวตาร” จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว / ภาพหัวโขน: SACIT Archive - สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน), สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13)
● นางสีดา
เป็นลูกของทศกัณฐ์ กับนางมณโฑ น้องสาวของอินทรชิต เมื่อแรกเกิดแทนที่จะร้องเหมือนเด็กทั่วไป แต่กลับร้องขึ้นมาเป็นคำได้ 3 ครั้งว่า “ผลาญราพณ์” ซึ่งเป็นนามหนึ่งของทศกัณฐ์ โดยพิเภกได้ทำนายว่า อันพระราชบุตรีนั้น เป็นกาลีบ้านกาลีเมือง จะทำให้ญาติวงศ์พงศาต้องร้าวฉาน แตกแยก ทางที่จะแก้อัปมงคลกาลนี้ได้คือ นำไปประหารประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง คือนำไปทิ้งเสีย โดยได้นำไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา
ขณะที่พระฤาษีนามว่า “ชนก” กำลังอาบน้ำอยู่ที่ท่า ปรากฏมีผอบที่ใส่นางสีดาลอยมาติดยังท่า พอเปิดมาพบว่าเป็นเด็กหญิง จึงนึกสงสารแต่ด้วยความเป็นนักพรต จึงได้ฝากพระแม่ธรณีเลี้ยงไว้ เมื่อเวลาผ่านไป เกิดความเบื่อหน่ายอยากกลับไปครองเมือง ครั้นจะเอาพระราชธิดาที่ฝากไว้ไปด้วย กลับจำไม่ได้ว่า ฝังไว้ตรงไหน จึงได้ทำการไถ่แล้วงัดผอบขึ้นมา จึงได้ตั้งนามของพระราชธิดาว่า “สีดา” ที่หมายถึง รอยไถ
หลังจากนั้นนางสีดาได้อภิเษกสมรสกับพระราม พร้อมโดยเสด็จไปปรนนิบัติในป่าจนถูกทศกัณฐ์ลักพาไป แล้วได้กลับมาครองคู่กับพระรามด้วยกัน พระรามและนางสีดาได้ให้กำเนิดพระราชโอรสถึง 2 พระองค์ด้วยกัน คือ พระมงกุฎ และพระลบ
นางสีดา เป็นผู้หญิงที่มีความงดงามราวกับนางฟ้า มีความซื่อสัตย์ต่อพระรามอย่างมาก รักนวลสงวนตัว เช่น ตอนที่ทศกัณฐ์เนรมิตกายเป็นสีทอง เพื่อให้นางสีดามาสนใจ แต่นางสีดาก็ไม่สนใจไยดีด้วย ผ่านไปถึง 14 ปี นางสีดาก็ยังคงรอให้พระรามมาพาพระองค์กลับไป รวมถึงยังเป็นหญิงที่มีความเด็ดเดี่ยว มั่นคง เช่น ตอนลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ถึงความรักและความบริสุทธิ์ต่อพระราม
แต่นางสีดาเป็นคนที่ค่อนข้างเอาแต่ใจตัว ไม่ทันเล่ห์กลต่าง ๆ ดังในตอนพระรามตามกวาง แม้พระรามพยายามบอกว่า กวางตัวนั้น (ที่ยักษ์มารีศแปลงกายมา) ไม่ใช่กวางธรรมดาสักกี่หน แต่นางสีดาก็ยังมีความปรารถนาที่จะอยากได้กวางตัวนั้นอยู่ดี จนเป็นเหตุให้ตนเองถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป
นางสีดา (ภาพพื้นหลัง: รามเกียรติ์ แอนิเมชัน “รามาวตาร” จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว / ภาพหัวโขน: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13)
● ทศกัณฐ์
เป็นยักษ์นนทุก (นนทก) ที่จุติมาเกิดเป็นลูกตนแรกของท้าวลัสเตียน ที่ประสูติกับนางรัชฎา เป็นยักษ์ที่มีกายสีเขียว มี 10 หน้า 20 มือ ศาสตรวุธประจำตัว ประกอบด้วย ศรนาค พระขรรค์ชัย จักร พระแสงหอกใหญ่ ตรี คทาธร ง้าว พะเนินขอน โตมร และเกาทัณฑ์ (ธนู) หลังจากท้าวลัสเตียนสิ้นก็ได้ครองกรุงลงกาต่อเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 3 มีมเหสีหลัก ประกอบด้วย นางกาลอัคคี, นางมณโฑ และนางสนมอีกเป็นจำนวนมาก มีลูกชาย 1,015 ตน ลูกสาว 2 ตน
เป็นยักษ์ที่มีคาถาอาคมแก่กล้า อิทธิฤทธิ์ที่แข็งขัน และยังสามารถถอดจิตออกจากตนได้ทำให้ประพฤติตนไม่ถูกต้อง นอกจากหน้าสีเขียว 3 ชั้นอย่างปกติแล้ว ทศกัณฐ์ยังมีหน้าสีทอง ที่บ่งบอกถึงเวลาที่สำราญใจ มีความสุข และยังมีหน้าที่แปลงเป็นพระอินทร์ ก่อนที่จะถูกพระรามสังหาร
ทศกัณฐ์ เป็นยักษ์ที่รักใครรักจริง โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้นั้นจะถูกหรือผิด เช่น ตอนที่นางสำมะนักขาถูกพระลักษมณ์ทำร้ายจนร่างกายเหลือไม่สมบูรณ์แล้วมาฟ้องทศกัณฐ์ชนิดยุแยงตะแคงรั่ว ทำให้ทศกัณฑ์เอาแต่จะทำศึกเพื่อชำระความกับพระราม พระลักษมณ์ให้ได้ท่าเดียว โดยไม่มีการสอบถามหาความให้ละเอียดถี่ถ้วน ยังเป็นยักษ์เจ้าชู้ จนเกิดเป็นคำอย่าง “เจ้าชู้ยักษ์” แล้วยังเป็นยักษ์ที่หยาบช้า ไม่มีคุณธรรม เอาแต่ใจตัว
แล้วยังเป็นยักษ์ที่ไร้ความรับผิดชอบ เวลาโกรธเกลียดใครแล้ว ก็จะโกรธเกลียดชนิดเข้ากระดูกดำ และไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น ดังในตอนขับพิเภก แทนที่จะรับฟังความเห็นของพิเภก กลับขับไสไล่ส่งพิเภกออกไปจากกรุงลงกา พร้อมกับตัดขาดจากความเป็นพี่เป็นน้องกัน เพียงเพราะพยากรณ์สุบินนิมิต (ความฝัน) ไม่ถูกใจตน
ทศกัณฐ์ (ภาพพื้นหลัง: รามเกียรติ์ แอนิเมชัน “รามาวตาร” จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว / ภาพหัวโขน: SACIT Archive - สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน), หัวโขน www.khonmask.cjb.net)
● พิเภก
เป็นเวสสุญาณเทพบุตรที่มาจุติในฐานะพระราชโอรสในท้าวลัสเตียน กับ นางรัชฎา เป็นน้องชายของทศกัณฐ์ มีกายเป็นสีเขียว แล้วมีความชำนาญในด้านโหราศาสตร์ การพยากรณ์ แต่ถูกทศกัณฐ์ขับไล่ เพราะแนะนำให้ส่งนางสีดาคืนกลับพระรามไป ซึ่งเป็นที่เคืองขัดแก่ทศกัณฐ์อย่างยิ่ง
หลังจากนั้นก็ไปอยู่กับพระรามปฎิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ในการสงคราม เช่น การหาฤกษ์ยาม การทำนายฝัน ที่สำคัญคือ การบอกกลอุบายการใช้อาวุธและความลับต่าง ๆ เพื่อชัยชนะ เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระรามได้สถาปนาเป็นผู้ครองกรุงลงกาต่อ เมื่อเกิดการกบฏภายในจนถึงกับถูกจองจำไว้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระรามและหนุมาน พิเภกมีมเหสี 1 ตน คือ นางตรีชฎา และมีลูกสาว 1 ตน ชื่อว่า นางเบญกาย
พิเภก เป็นยักษ์ที่มีความซื่อสัตย์ รู้ผิดชอบชั่วดี ดังในตอนนางลอย เมื่อพระรามทราบว่า นางเบญกายผู้ที่ถูกทศกัณฐ์ใช้ให้มาแปลงกายเป็นนางสีดาแกล้งตายลอยน้ำมานั้น คือลูกของพิเภก พระรามก็ลองใจด้วยการถามว่า มีโทษสถานใดตามที่ระบุไว้ในกฎพระอัยการ พิเภกก็ตอบทันทีว่า ให้ประหาร ทั้งที่เป็นลูกแท้ ๆ ของตัวเอง พระรามเห็นแก่ความซื่อสัตย์ของพิเภก จึงปล่อยนางเบญจกายไป แล้วยังเป็นยักษ์ที่รู้จักแนะนำแต่สิ่งดีงามให้ แล้วยังเป็นยักษ์ที่กตัญญูรู้คุณ แต่พิเภกเป็นยักษ์ที่มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ถามไม่ตอบ
พิเภก (ภาพพื้นหลัง: รามเกียรติ์ แอนิเมชัน “รามาวตาร” จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว / ภาพหัวโขน: หัวโขน www.khonmask.cjb.net)
เมื่อได้ทราบถึงลักษณะของตัวละครต่าง ๆ แล้ว คราวนี้ก็จะมาวิเคราะห์ตัวละครผ่านความคิดเห็นของนักการเมืองแต่ละท่านบ้าง เริ่มจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ได้เปรียบยกตนเป็นเหมือนดังพระราม พระลักษมณ์ ซึ่งแอดมินได้ตั้งข้อสมมุติฐานว่า การที่กล่าวไปเช่นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าตนเองนั้นเป็น “คนดี” มีความตั้งใจที่จะบริหารราชการแผ่นดินให้มีความเจริญก้าวหน้า แต่ก็มีบางบุคลิกของพระรามที่มีส่วนคล้ายคลึงกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบ้างอย่างเห็นได้ชัด คือ การเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย
ดังจะเห็นได้จากการตอบคำถามกับสื่อมวลชนในบางครั้ง ที่มักจะเก็บทรงไม่อยู่ ฉุนเฉียวง่าย รวมถึงการเป็นคนที่รักมาก หวงมากในอำนาจการเป็นผู้นำ ต่อให้มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งมากสักเพียงไหนก็ตาม พลเอกประยุทธ์ก็ยังคงดึงดันที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งที่ใคร ๆ ก็ร่ำพรรณนาสารพัดว่า บริหารประเทศย่ำแย่ ไม่ฟังเสียใครนอกจากเจ้าสัว นายทุนใหญ่โต (รวมถึง…) ราคาข้าวของทุกอย่าง รวมถึงน้ำมันก็แพงอย่างหูฉีก แต่ค่าแรงงานขั้นต่ำ กลับถูกอยู่ที่เดิม
หากใครเห็นต่างไปจากตนแล้ว อาวุธที่สำคัญซึ่งเปรียบได้กับศรนาค ศาสตราวุธประจำองค์พระราม พระลักษณ์ในการกำราบบุคคลเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงประชาชนตาดำ ๆ ธรรมดาด้วยแล้ว ก็คือ การยัดข้อหา หรือดำเนินคดีต่าง ๆ อย่างไม่เป็นธรรม
ส่วนที่กล่าวว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ที่น่าจะหมายฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลอย่างฝ่ายค้าน หรืออาจจะเป็นเปรียบสิ่งที่คอยทำให้สังคมไทยย่ำแย่อย่างปัญหาต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่แพง แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับมีราคาที่ถูก ซึ่งเปรียบได้กับทศกัณฐ์นั้น จึงน่าจะเป็นการสื่อถึงการเป็นภาพแทนของความชั่วร้ายที่คอยมาแพ้วพาล แล้วทำให้พระราม พระลักษณม์ต้องคอยปราบปรามความชั่วร้ายเหล่านั้นให้ราบคาบไป
แต่กว่าจะปราบทศกัณฐ์ได้ก็ต้องใช้เวลานานถึง 14 ปี เพราะทศกัณฐ์ได้ถอดดวงใจเก็บไว้ แล้วหนุมานก็ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมโดยการให้พระฤาษีโคบุตรพาไปฝากถวายตัวเป็นพระราชบุตรบุญธรรม สบโอกาสตอนที่ทศกัณฐ์ออกไปรบ ขโมยกล่องดวงใจนั้นมา แล้วจึงถูกศรพระรามสังหารปลิดชีพ
แต่สำหรับประเทศไทยคงจะไม่เป็นเหมือนดั่งรามเกียรติ์ อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ ที่ต้องใช้เวลานานอย่างนั้นในการแก้สรรพปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า ประชาชนเขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว หากแต่ขึ้นอยู่กับ “ความพร้อม” และ “ความตั้งใจ” ของรัฐบาลเท่านั้นเองว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เด็ดขาดไปได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาถึง 14 ปี อย่างรามเกียรติ์ ซึ่งหากจัดการได้ก็ถือเป็นคุณ แต่ถ้าหากทำไม่ได้ก็น่าจะรู้ถึงคำตอบนั้นดี
ในส่วนของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เปรียบตัวเองว่าเป็นนางสีดานั้น หากจะพิจารณาด้านการเมืองแล้ว น่าจะหมายถึงในเรื่องของฐานะการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีฐานเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องไขว่คว้าเอาไว้ เพื่อต่อรองให้รัฐบาลสามารถคงอยู่ได้ แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้มีการยุบรัฐบาลอยู่เนือง ๆ ก็ตาม
หากแต่เมื่อใดที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ฐานเสียงก็จะเบนเข็มไปให้ฝ่ายค้านอย่างไม่ต้องสงสัย ประกอบกับช่วงที่มีกระแสข่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีความแตกแยก (ในขณะนั้น) เป็นผลให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎร “ล้ม” อยู่หลายสิบครั้งนับแต่ต้นปี 2565 แต่ก็ไม่แน่เสมอไปก็ได้กับการเปรียบตัวเองว่าเป็นนางสีดา อาจจะมองว่า นางสีดามีความงามที่สมควรครองคู่อยู่กับพระรามก็เป็นได้เหมือนกัน
และที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในตอนแรกเปรียบตนเป็นดังพิเภกด้วยเหตุผลว่า สนุกดีนั้น ในประเด็นนี้ถือว่าค่อนข้างจะคาดเดาได้ยากว่า ต้องการจะสื่ออะไร แต่หากพิจารณาจากบุคลิกของพิเภกกับบุคลิกของวิษณุแล้วก็มีความสอดคล้องกันที่ว่า พิเภกเป็นคนที่รู้ความลับทุกอย่างของทศกัณฐ์ เมื่อมาอยู่กับพระรามก็ได้บอกแทบทุกสิ่งทุกอย่างให้พระรามรู้ จนถูกมองว่าเป็นไส้ศึก แต่วิษณุก็ต่างจากพิเภกตรงที่ว่า ด้วยความเป็นไส้ศึกบางครั้งก็มีความเล่ห์เหลี่ยมอยู่ในตัวแล้วแต่โอกาสจะแสดงออกมา
ซึ่งในส่วนของนายวิษณุ เครืองาม เวลาชี้แจงอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวกฎหมายก็จะมีกลวิธีการตอบแบบ “เลี่ยงบาลี” แล้วในการตอบแต่ละครั้งก็สร้างเป็นความกังขาให้กับสังคม ตั้งแต่กรณีของ “บัตรเขย่ง” เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 จนมาถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสียบบัตรแทนกันได้ เมื่อใครได้ยินก็ต่างต้องร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “อิหยังวะ!?”
แต่ก็ได้มาเปลี่ยนเป็นพระวิษณุ แน่นอนว่า พระวิษณุ ก็คือ พระนารายณ์ ตามคติพราหมณ์-ฮินดูที่ถือว่า เป็นหนึ่งในสมมติเทพ สำหรับผู้ที่มีบุญญาธิการที่จะได้มาจุติเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน แล้วพระวิษณุเองก็เป็นเทพที่มีอิทธิฤทธิ์มากพระองค์หนึ่ง จึงน่าจะมองว่า การที่วิษณุเปรียบตัวเองเป็นดังพระวิษณุนั้น คงจะเป็นในเรื่องของการมีฤทธิ์มาก ซึ่งฤทธิ์มากของวิษณุนั้น ก็เป็นในเรื่องของการมีความรู้ด้านกฎหมาย หรือไม่ก็เป็นการนำชื่อตัวเองมาล้อเป็นเทพก็เป็นได้
ทั้งนี้ ในส่วนของการตีความนั้น เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนหนึ่งของแอดมินเท่านั้น
แต่ถึงอย่างไร การที่คนเราจะเปรียบตนเป็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นคนสวย คนหล่อ คนเก่ง หรือแม้แต่ “คนดี” หรือ “คนดีย์” ก็ตาม ย่อมไม่เท่ากับการ “ถอดหัวโขน” ที่แต่ละท่านสวมใส่กันอยู่ แล้วพึงตระหนักรู้และทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่ารู้และทำแต่เพียงลมปาก หรือเช้าชามเย็นชามไปวัน ๆ เพราะถ้าทำแต่อย่างนั้น สังคมไทยก็จะไม่มีวันก้าวหน้า เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
แล้วท่าน...จะเปรียบตัวของท่านเองเป็นเหมือนตัวละครใดในรามเกียรติ์กันบ้างล่ะครับ...
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#โขน #รามเกียรติ์ #การเมืองไทยในกะลา #รัฐบาลกระโถนเยี่ยว
โฆษณา