8 ส.ค. 2023 เวลา 23:07 • ปรัชญา

“ วัดผลของการปฏิบัติ ”

ถาม : เวลาปฏิบัติแล้วมีเหตุการณ์ทำให้จิตถดถอย พอกลับไปปฏิบัติต่อ ควรต่อยอด หรือนับหนึ่งใหม่
พระ อาจารย์ : ทำต่อไป เหมือนรับประทานอาหารแล้วหยุดไป พอว่างก็รับประทานต่อ ไม่ได้เริ่มต้นใหม่
ทำไปตามกำลัง ทำอะไรได้ก็ทำไป นั่งสมาธิได้ก็นั่งไป ถ้านั่งไม่ได้ก็เปิดธรรมะฟังไปก่อน หรือสวดมนต์ไปก่อน หรือลุกขึ้นมาเดินจงกรม ควบคุมจิตใจให้อยู่กับการเดินก็ได้ ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้นว่ามีกำลังมากน้อย ถ้ามีกำลังมากก็จะปฏิบัติได้มาก ถ้ามีกำลังน้อยก็จะปฏิบัติได้น้อย เป้าหมายอยู่ที่การควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ
ถ้าว้าวุ่นขุ่นมัวก็ต้องหาวิธีทำให้กลับมาเป็นปกติ จะใช้วิธีการบริกรรมพุทโธๆ เพื่อให้ลืมเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ว้าวุ่นขุ่นมัวก็ได้ หรือใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เหมือนฝนตกแดดออก เราไปห้ามเขาไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่เราไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ใจ ก็ต้องมาแก้ที่ใจ ดับความอยาก ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ
การปฏิบัติก็เพื่อรักษาความเป็นปกติของใจ ไม่ให้ทุกข์ไม่ให้วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ แต่ต้องฝึกซ้อมไว้ก่อน เพราะถ้าไม่ซ้อมเวลาเกิดเหตุการณ์ จะไม่สามารถดึงใจให้กลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว ต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ จะทรมานใจมาก ถ้าซ้อมไว้ก่อนก็จะสามารถดึงใจให้กลับเป็นปกติได้ทันที ปัญหาอยู่ที่เราไม่รู้ว่าใจไม่เป็นปกติ เพราะไม่คอยดูใจ มัวแต่ดูสิ่งที่อยู่ภายนอกใจ
ต้องย้อนกลับมาดูที่ใจว่าเป็นปกติหรือไม่ ปล่อยวางได้หรือไม่วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆหรือไม่ ให้คอยดูตรงนี้ สงบหรือว้าวุ่นขุ่นมัว จะวัดผลของการปฏิบัติก็วัดกันตรงนี้.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๕ กัณฑ์ที่ ๔๒๓
๒๔ เมษายน ๒๕๕๔
โฆษณา