9 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • สุขภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตวายเรื้อรัง

เนื่องจากไตทำหน้าที่หลัก 3 อย่างคือ
1. ควบคุมเกลือแร่ในร่างกาย
2. ขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย
3. ผลิตสารที่จำเป็นต่อร่างกายเช่นฮอร์โมนที่ใช้สร้างเม็ดเลือดแดง (erythropoietin), วิตามินดี
ดังนั้นเมื่อไตทำงานได้ลดลง หน้าที่ทั้ง 3 จะเสียไป โดยมักเริ่มเกิดความผิดปกติตั้งแต่ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3 ขึ้นไป ดังนี้
1. มีค่าเกลือแร่ผิดปกติ
o โซเดียมต่ำ (Na): ผู้ป่วยที่มีโซเดียมต่ำมักเกิดจากรับประทานน้ำเยอะเกินกว่าที่ไตจะขับได้ ทำให้ไปเจือจางโซเดียมในร่างกาย ไม่ได้เกิดจากรับประทานโซเดียมน้อยไป ดังนั้นหากมีภาวะโซเดียมต่ำ วิธีแก้คือรับประทานน้ำลดลง ไม่ใช่รับประทานโซเดียมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมักต้องมีการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ถึงสาเหตุก่อน
o โพแทสเซียมสูง (K) : ไตทำหน้าที่ขับโพแทสเซียมส่วนเกิน ถ้าไตวายจะขับโพแทสเซียมได้น้อยลง ส่งผลให้มีโพแทสเซียมสูงได้ หากโพแทสเซียมสูงเกินไปจะส่งผลอันตรายรุนแรงถึงหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามีค่าโพแทสเซียมสูงควรลดอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงดังนี้
- ผักผลไม้ที่สีเข้มจัด เช่น ผักชี ผักโขม ชะอม ใบขี้เหล็ก ใบชะพลู กะหล่ำดอก คะน้า คื่นช่าย บร็อคโคลี่ ผักกะเฉด ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง
- พืชหัว เช่น เผือก แครอท ฟักทอง มันฝรั่ง แห้ว
- ผลไม้ที่มีเนื้อฉ่ำ สุก งอมเช่น กล้วย ส้ม ขนุน ลำไย ทุเรียน มะละกอ ฝรั่ง ผลไม้แห้งทุกชนิดเช่น กล้วยตาก ลูกเกด
- น้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม น้ำแครอท น้ำมะพร้าว
ที่กินได้
- ผัก : เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู แตงกวา ฟักเขียว ผักกาดขาว ต้นหอม ถั่วงอก กะหล่ำปลี บวบ
- ผลไม้ : สัปปะรด แอปเปิล แตงโม องุ่น สาลี่ ชมพู่ มะม่วงดิบ
หากลดอาหารที่โพแทสเซียมสูงแล้วยังมีค่าโพแทสเซียมในเลือดสูงอยู่ จะต้องรับประทานยาขับโพแทสเซียมต่อเนื่องทุกวันเช่น kalimate
o เลือดเป็นกรด (HCO3 ต่ำ) : ส่วนมากมักไม่มีอาการ และเป็นกรดไม่มากหากเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 3–4 แต่การที่เลือดเป็นกรดนานๆจะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้อฝ่อได้ วิธีรักษาคือจำกัดโปรตีนตามปริมาณที่กล่าวไป ร่วมกับรับประทานยาโซดามินท์ (sodamint) เพื่อให้ค่ากรดด่างในเลือด (HCO3) อยู่ที่ 24-26 mmol/L
o ฟอสเฟตสูง (Phosphate) : อาจทำให้มีอาการคันได้ หากสูงนานๆจะทำให้มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ วิธีการรักษาคือจำกัดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง อาหารที่มีฟอสเฟตสูงมีดังนี้
- เครื่องดื่มสำเร็จรูปเช่น น้ำอัดม กาแฟสำเร็จรูป 3-in-1 โกโก้ (กาแฟ ชา ที่ไม่ปรุงแต่งสามารถรับประทานได้)
- อาหารที่ใช้ผงฟูและยีสต์เช่นเบเกอรรี่ : ขนมปัง เค้ก คุกกี้ ซาลาเปา
- นมและผลิตภัณฑ์จากนมเช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม
- อาหารแปรรูปเช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น
- อาหารแช่แข็ง
- ถั่วทุกชนิด
- เนื้อสัตว์ทุกชนิด ไข่แดงและผลิตภัณฑ์จากไข่แดงเช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง บะหมี่เหลือง
หากจำกัดอาหารเหล่านี้แล้วค่าฟอสเฟตในเลือดยังสูง แพทย์จะให้ยาเพื่อลดฟอสเฟตในเลือด โดยยานี้จะให้รับประทานพร้อมอาหารเพื่อไปจับฟอสเฟตในอาหารและขับออกทางอุจจาระไป วิธีรับประทานยานี้มักต้องเคี้ยวให้ละเอียดและทานพร้อมอาหารคำแรกเช่นยาแคลเซียม หรือยาแลนทานัม (lanthanum) ส่วนยาเซเวลาเมอร์ (sevelamer) ไม่ต้องเคี้ยว สำหรับผู้ป่วยที่ฟอกเลือดแล้วก็สามารถปรับเปลี่ยนการฟอกเลือดให้ลดระดับฟอสเฟตได้
2. มีน้ำเกินในร่างกาย อาการคือบวมที่ขาสองข้าง และอาจเหนื่อย หายใจไม่สะดวกเวลานอนราบ หากมีอาการบวมให้จำกัดน้ำ โดยรับประทานน้ำ 500 มิลลิลิตร บวกกับปริมาณปัสสาวะ และหากปัสสาวะ < 500 มิลลิลิตรต่อวัน ต้องจำกัดน้ำทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม 750-1000 มิลลิลิตรต่อวัน และอาจต้องใช้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย แล้วแต่แพทย์พิจารณา
3. ด้านฮอร์โมนแบ่งเป็น 2 ชนิด
o ฮอร์โมนที่สร้างเม็ดเลือดแดงลดลงส่งผลให้เกิดภาวะซีด การรักษาคือแพทย์จะพิจารณาให้ยาเหล็กรับประทาน ฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
o วิตามินดีลดลงส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงต่อมพาราไทรอยด์ ทำให้ต่อมพาราไทรอยด์โตและทำงานมากผิดปกติ ต่อมพาราไทรอยด์นี้ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) ซึ่งหากสูงเกินไปจะเกิดภาวะกระดูกบาง เส้นเลือดแข็งตัวได้ วิธีการรักษาคือจำกัดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง รับประทานยาจับฟอสเฟต หรือปรับการฟอกเลือดในผู้ป่วยที่ฟอกเลือดแล้วตามข้างต้น หากระดับฟอสฟอรัสในเลือดปกติแล้วแต่ค่า PTH ยังสูงมีการรักษา 2 วิธี
1. ผ่าตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ที่โตผิดปกติออก
2. รับประทานยาลดพาราไทรอยด์ เช่น cinacalcet, calcitriol แต่มักต้องทานยาตลอดชีวิต
การจะรักษาวิธีใดต้องปรึกษากับแพทย์อย่างละเอียด
โฆษณา