9 ส.ค. 2023 เวลา 11:04

Job hopper ไม่ใช่เรื่องผิด? เพราะทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน

หลายคนมักคิดว่า Job hopper หรือการเปลี่ยนงานบ่อย เป็นเรื่องไม่ดี จนกลายเป็นภาพจำว่าคนที่เปลี่ยนงานบ่อยคือคนที่ไม่อดทนกับงาน แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนงานบ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางคนเกิดจากความตั้งใจที่อยากหางานที่ใช่สำหรับตัวเองจริง ๆ บางคนเกิดจากเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า Job Hopper จริง ๆ แล้วคืออะไร? แล้วผิดไหมที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะเป็น Job hopper กับงานที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตตัวเอง 🚀💼
มาร่วมหาคำตอบเหล่านี้กับผ่าน Tech ConNEXT Talk ในหัวข้อ: “Job hopper ไม่ใช่เรื่องผิด? เพราะทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน” กับ คุณ CK Cheong CEO จาก fastwork
🟥 Job Hopper คืออะไร
คุณซีเค กล่าวว่าการเป็น Job Hopper คล้ายกับ Bar Hopping ที่เราสามารถไปลองนั่งได้หลาย ๆ ร้านว่าเราชอบร้านไหนมากกว่า เช่นเดียวกันกับการทำงานที่เราก็สามารถลองได้หลาย ๆ งาน แต่ส่วนใหญ่ในสังคมไทยรวมถึงหลาย ๆ องค์กรในโลกมักมองว่า Job Hopper หรือการย้ายสายงานบ่อยเป็นเรื่องที่ไม่ดี ซึ่งผมเห็นต่างว่าการทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรทำและเป็นสิทธิที่เราสามารถทำได้
คนรุ่นก่อนมักมองว่าคนที่เปลี่ยนสายงานบ่อยเป็นคนทำงานไม่ดี หรือไม่อดทนกับงาน เพียงเพราะว่าเขายังมีทัศนคติหรือบรรทัดฐานบางอย่างของคนรุ่นก่อนอยู่ ซึ่งการหางานใหม่ในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กลับกันในสมัยนี้เราสามารถเข้า LinkedIn แล้วสมัครงานได้เลยทันที เผลอ ๆ ไม่ถึงวันเราสมัครได้ไปแล้ว 50 กว่างาน แล้วอาจรู้ผลภายในอาทิตย์นั้นเลยก็ได้
ฉะนั้นมองว่าคนที่เปลี่ยนสายงานบ่อยไม่ใช่เรื่องผิด และเขาไม่ควรโดนตัดสินแบบนั้น เพราะถ้ามองในมุมกลับกันถ้าคนในรุ่นก่อนมาอยู่ในยุคสมัยนี้เขาก็อาจจะต้องปรับตัวและอาจทำแบบเดียวกัน
🟥 คิดอย่างไรกับคำว่า ‘คนที่เปลี่ยนงานบ่อย คือคนไม่อดทน’
มองว่าคนที่เปลี่ยนงานบ่อย ไม่ใช่คนที่ไม่อดทน และรู้สึกว่าเราไม่ควรอดทนด้วย ถ้าเราเจองานที่ไม่ดี หรือไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเรา อยากให้มองว่าเราสามารถเลือกได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เราไปกินข้าวร้านหนึ่ง แล้วรู้สึกว่ามันไม่อร่อย เรามีสิทธิ์ที่จะลองร้านใหม่ไปเรื่อย ๆ ได้ จนกว่าจะเจอร้านที่เราชอบ
ซึ่งในการทำงานถ้าเราเจองานที่ไม่ใช่ เราไม่จำเป็นต้องอดทน หน้าที่ของเราคือเราต้องทดลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ เพราะสิ่งที่มีมูลค่ามากที่สุดของเราคือเวลา ไม่ใช่เงิน ฉะนั้นอะไรที่ไม่ใช่แล้วเราตัดออกไปจากชีวิตนั่นคือสิ่งที่ถูกแล้ว แล้วเริ่มมองหาสิ่งใหม่ คุณซีเค กล่าว
🟥 บอกกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองอย่างไร ให้เขาเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนงานบ่อย
คุณซีเค กล่าวว่า สำหรับพ่อแม่ที่เข้าใจในเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมาก แต่สำหรับใครที่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจ ผมอยากแนะนำว่าเราอย่าพยายามขอความคิดเห็นจากเขามากเกินไป เพราะถ้าสมมติเราเจองานที่เราชอบ และเราทำได้ดี ผู้ปกครองจะเข้าใจเราเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในมุมมองของพ่อแม่หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่อง Job Hopper แน่นอน สังคมภายนอกมักบอกเราว่าพอเราเรียนจบ เราต้องหางานที่มั่นคงทำ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย
ผมมองว่าหลังเรียนจบ อยากให้ลองทำอะไรก็ตามที่ท้าทายตัวเอง เพราะในช่วงนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่เรายังมีแรง เรายังสามารถทำในสิ่งที่เราอยากทำได้อยู่ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นเรื่องของความเสียดายที่เราไม่สามารถได้ลองทำอะไรในช่วงเวลาที่เรายังสามารถทำสิ่งนั้นได้อยู่ต่างหาก
🟥 ‘ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งหางานยากขึ้น’ จริงไหม?
คุณซีเค กล่าวว่า อย่าพึ่งไปคิดว่าเราอายุ 30 แล้วต้องมีทุกอย่าง ยิ่งถ้าสภาพแวดล้อมภายนอกมากดดันเราว่าเราต้องมั่นคง ต้องมีทุกอย่างในอายุเท่านี้ ผมจะบอกเลยว่า “ถ้าน้ำไม่เข้า เรือก็ไม่จม” และอีกอย่างพ่อแม่ของเราจะควบคุมเราได้น้อยลงก็ต่อเมื่อเราสามารถมีเงินซื้อข้าวเองได้ มีที่อยู่อาศัยเองได้ โดยที่เราไม่ต้องพึ่งเขาหรือพึ่งเขาน้อยลง
ซึ่งคนที่ Job Hopper ส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่มีเวลาทำตามความฝันของตัวเอง เขาเลยจำเป็นต้องเปลี่ยนงานบ่อย และด้วยยุคนี้ที่อำนาจการต่อรองไม่ได้ขึ้นอยู่กับนายจ้างอย่างเดียว แต่หลายอย่างต้องขึ้นอยู่กับลูกจ้างด้วย
🟥 จะรู้ได้อย่างไร ว่าเราควรเปลี่ยนจากงานเดิมไปสู่งานใหม่
คุณซีเค กล่าวว่า เราต้องลองก่อนเท่านั้นถึงจะรู้ อยากให้ลองทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ ในทางการตลาดจะมีคำหนึ่งที่เรียกว่า A/B Testing ที่เราสามารถทดลองได้ เราต้องลองทำ ไม่ลองก็ไม่รู้ และที่สำคัญอย่ายึดติดกับเรื่องเงินหรือรายได้มากจนเกินไป
🟥 ถ้าเราเรียนรู้จากที่หนึ่งแล้ว อยากลองเปลี่ยนสายงาน มีโอกาสที่เราจะ Job Hopper ได้เลยหรือไม่?
มองว่าเราสามารถเปลี่ยนสายงานได้เลย และอย่ายึดติดอยู่กับเงินเดือนเกินไป อย่าเพิ่งมองว่าทำยังไงถึงจะหาเงินล้านได้ แต่อยากให้ถามตัวเองว่าเราต้องเป็นคนแบบไหนถึงจะหาเงินล้านได้ เพราะฉะนั้นอยากแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้อย่าเลือกงานตามเงินเดือน เพราะผมย้ำเสมอว่าทรัพย์สินที่มีค่ากับเราจริง ๆ คือเวลา เราควรลงทุนกับตัวเองให้มากที่สุด เอาเวลาที่มีไปทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะคนเก่งไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่คนเก่งจะทำงานเพื่อเป้าหมาย คุณซีเค กล่าว
🟥 ทำไม Job Hopper เปลี่ยนงานบ่อย ๆ แต่เงินเดือนขึ้นเรื่อย ๆ
อาจเป็นเพราะว่านายจ้างไม่มีความสามารถมากพอ เพราะจริง ๆ แล้วถ้าพนักงานมาขอเพิ่มเงินเดือน HR ควรให้เงินเดือนพวกเขาเพิ่ม ก่อนที่เขาจะมาขอเงินเดือนเพิ่มด้วยตัวเองด้วยซ้ำ เพราะถ้าสมมติเราขอแล้ว ทางบริษัทไม่เพิ่มให้เรา เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าเราจะอยู่หรือจะไป เพราะถ้าเรามั่นใจในคุณค่าของตัวเอง เรามีสิทธิ์ที่จะสู้เพื่อตัวเอง ถ้า HR มองเห็นบางอย่างในตัวเรา และเราสามารถทำสิ่งนั้นได้ HR เขาจะมองออกว่าเราควรปล่อยพนักงานคนนี้ไปจริงหรือไม่ คุณซีเค กล่าว
🟥 ข้อดี-ข้อเสีย ของ Job Hopper ในตลาดแรงงาน
Job Hopper เป็นข้อดีสำหรับคนที่เก่ง แต่สำหรับคนทั่วไปเราต้อง Upskill ตัวเองด้วย เราควรทำให้ตัวเองเหมือนแบรนด์ แบรนด์หนึ่ง พยายามสร้างตัวเองขึ้นมา ว่าเราเก่งแบบไหน ถนัดด้านไหน แล้วจะไม่มีสิ่งไหนมาทดแทนเราได้ ทีนี้เราจะเป็นอาชีพไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอาชีพที่อยู่หน้ากล้องเสมอไป
เพราะฉะนั้นมองว่าเราต้องขายความรู้สึก แล้วเราจะกลายเป็นแบรนด์ที่ไม่มีใครมาทดแทนเราได้ เช่น แบรนด์ Nike เขาไม่เคยบอกว่ารองเท้าเขาวิ่งเร็วที่สุด หรือใส่สบายที่สุด แต่เขาบอกว่าใส่แล้ว คุณทำได้! (Just Do It) สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าให้กับลูกค้าและเป็นข้อดี ส่วนข้อเสียผมมองว่าแทบไม่มีเลย เพราะว่าถ้าเราลองเปลี่ยนสายงาน แล้วรู้ว่างานนี้ไม่ใช่ อย่างน้อยเราก็ได้ลองและเป็นกำไรของเรา แต่ถ้าเราเปลี่ยนงานแล้วงานนั้นแย่กว่าเดิมอย่างน้อยที่สุดเราก็ได้รู้ว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานแบบไหน
🟥 อยากเป็นฟรีแลนซ์ที่มั่นคง ต้องทำอย่างไร?
การเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีความมั่นคงอยู่แล้ว แต่ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานฟรีแลนซ์เพื่อความมั่นคง แต่ทำเพราะอาชีพนี้ไม่มีเพดานรายได้ แน่นอนว่าในช่วงแรกเราจะมีรายได้น้อย แต่ต่อไปเราจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับคนขับ Grab เขาไม่ได้ขับเพราะสิ่งนี้ช่วยให้เขารวยขึ้น แต่เป็นเพราะเขาสามารถเป็นนายเวลาของตัวเองได้ มีอิสระในการเลือกเวลาทำงานต่างหาก
🟥 ในมุมของบริษัท ถ้าเราไม่อยากให้ Job Hopper มองว่าบริษัทของเราเป็นเพียงทางผ่าน ควรทำอย่างไร
ในระหว่างทางให้ลูกจ้างเขาตัดสินใจด้วยตัวเองดีกว่าว่าจะเลือกทางไหน เราควรฟังมากกว่าพูด ไม่อยากให้คิดว่าเป็นผู้นำแล้วสามารถพูดทุกอย่างได้ การเป็นผู้นำมี 2 สิ่งที่สำคัญ คือ คุณต้องมั่นใจว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือต้องมี Humility เพียงพอที่รู้ว่าตัวเองต้องการคนที่เก่งกว่ามาทำงานกับคุณ ไม่ใช่มาทำงานให้คุณ หรือ “With you” not “For you” คุณซีเค กล่าว
โดยสรุปจะเห็นว่าการ Job Hopper หรือการเปลี่ยนงานบ่อย ไม่ใช่เรื่องผิด สุดท้ายแล้วถ้าเรายังไม่เจองานที่ชอบหรืองานที่เหมาะกับตัวเอง เราสามารถพาตัวเองออกไปเจองานใหม่ ๆ ได้ ถ้างานนั้นตอบโจทย์ความสามารถในการทำงาน และตอบโจทย์ชีวิตของตัวเอง เพราะทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน
อ่านบทความได้ที่ : bit.ly/3QxTBNt
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน
——————————————————

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา