10 ส.ค. 2023 เวลา 07:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Phelps Dodge กับ Manhattan Project

ใครที่ไปดู Oppenheimer มาแล้ว คงเห็นบทบาทการแสดงของ Matt Damon ในการแสดงเป็น Lt. Gen. Leslie Groves Jr. นายทหารผู้รับผิดชอบ Manhattan Project มาแล้ว
ถึงแม้บทบาทในหนังจะค่อนข้างน้อย แต่ความสามารถในการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้นั้นไม่เบาเลยทีเดียว หนึ่งในนั้นคือโครงการแยก Uranium-235 ที่เมือง Oak Ridge
ในเวลานั้น Earnest Lawrence ได้คิดค้นเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ได้สำเร็จตั้งแต่ปี 1929-1930 แล้ว โดยใช้สนามแม่เหล็กในการเร่งอนุภาคให้หมุนเป็นเกลียว ก่อนที่จะพัฒนาต่อมาเป็น calutron ซึ่งเป็นเครื่อง sector mass spectrometer ที่เร่งอนุภาคให้มีความเร็ว และใช้สนามแม่เหล็กในการแยกมวลสารที่มีน้ำหนักแตกต่างกันออกจากกัน
แต่การที่จะนำมันมาแยก uranium-235 ออกจาก uranium-238 นั้นยากยิ่งนัก เพราะมันมีน้ำหนักมวลต่างกันเพียง 1 % นิดๆ เท่านั้นเอง ดังนัันมันจึงต้องอาศัยกำลังสนามแม่เหล็กมหาศาล ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก และขดลวดไฟฟ้าจำนวนมหาศาล
แต่ในเวลานั้นทองแดงที่ใช้ทำสายไฟฟ้าเกิดขาดแคลน เนื่องจากถูกเอาไปทำเป็นปลอกกระสุน เขาจึงเกิดไอเดียที่จะใช้เงินทำขดลวดไฟฟ้าแทน เขาจึงไปยืมเงินมาจากคลังเก็บเงินก้อน West Point Bullion Depository 6000 ตัน! ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่คลังเก็บเงินถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก เพราะปกติพวกเขาเคยนับกันเฉพาะหน่วยเป็น troy ounce (31.103 กรัม) เท่านั้นเอง แต่ในที่สุดพวกเขาก็ใช้เงินมากถึง 13,000 ตันเลยทีเดียว ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
เงินก้อนเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายอย่างลับ ๆ และไปผ่านกระบวนการรีดให้เป็นม้วนขดลวดเงินที่โรงงานของ Phelps-Dodge (ชื่อคุ้น ๆ ใช่มั้ยครับ มันคือบริษัทแม่ของ Phelps-Dodge Thailand บริษัทลูกของ Stark นั่นเองครับ)
ขดลวดเงินเหล่านี้กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเครื่อง calutron ในโครงการ Y-12 และสามารถช่วยทำให้ทีมสามารถเพิ่มความบริสุทธิ์ของ uranium-235 จากที่ธรรมชาติอยู่ที่ 0.72% ให้มาอยู่ที่ประมาณ >10% ในขั้นแรก และ >88% ในขั้นที่สองเลยทีเดียว
จนในที่สุด ในเดือนสิงหาคม 1945 calutron ก็สามารถช่วยทำให้ทีมแยก
uranium-235 มากพอที่จะใช้ทำระเบิด Little Boy ได้ในที่สุด
แต่หลังจากนั้น การแยก uranium-235 โดยการใช้การแพร่กระจายของก๊าซกลับทำได้ง่าย และมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ในที่สุดเครื่อง calutron ก็ถูกใช้น้อยลงเรื่อย ๆ ก่อนที่ทางโครงการจะหลอมขดลวดทั้งหลายเหล่านี้กลับไปเป็นเงินก้อน เพื่อคืนให้กับคลังในที่สุด โดยมีความสูญเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อีกเกร็ดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การควบคุมเครื่อง calutron มีแยก isotope ทั้งสองให้แยกออกจากกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความแม่นยำสูงมาก แต่ผู้หญิงท้องถิ่นในเมือง กลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านักวิทยาศาสตร์ระดับดอกเตอร์มากกว่าเป็นไหน ๆ จึงได้รับหน้าที่ควบคุมเครื่องนี้ จนถูกขนานนามว่า calutron girls
ส่วน Phelps Dodge ก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับเหมือง และสายไฟทองแดงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถูกซื้อกิจการโดย Freeport-McMoRan ในปี 2007 ในราคา 25.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
หากไม่มีโครงการ Y-12 การทำระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ไปทิ้งที่เมือง Hiroshima ก็คงจะไม่สามารถทำได้สำเร็จทันเวลาแน่ ๆ
โฆษณา