11 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • อสังหาริมทรัพย์

เศรษฐา ‘เลี่ยงภาษี’ หรือ ‘วางแผนภาษี’

ผมไม่ได้มาตัดสินว่าคุณเศรษฐา มีส่วนร่วมในการเลี่ยงภาษีจริงหรือไม่ หรือเป็นการวางแผนภาษีที่แยบยล แต่ผมจะพูดในมุมมองของที่ปรึกษาการเงินว่า กรณีใดถือเป็นการวางแผนภาษี และกรณีใดถือเป็นการหนีภาษี
2
[ บทความโดย บรรยง วิทยวีรศักดิ์ ]
จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตผู้บริหารของ บมจ.แสนสิริ ถูกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉว่าทำธุรกรรมเลี่ยงภาษี จึงไม่สมควรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น
1
วันนี้ ผมไม่ได้มาตัดสินว่าคุณเศรษฐา มีส่วนร่วมในการเลี่ยงภาษีจริงหรือไม่ หรือเป็นการวางแผนภาษีที่แยบยล แต่ผมจะพูดในมุมมองของที่ปรึกษาการเงินว่า กรณีใดถือเป็นการวางแผนภาษี และกรณีใดถือเป็นการหนีภาษี
การวางแผนภาษี (Tax planning) คือ การกำหนดแนวทางปฎิบัติในการเสียภาษี เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุด หรือพูดง่ายๆก็คือ การเสียภาษีให้น้อยที่สุดแบบถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง
2
การหนีภาษี (Tax evasion) คือ ผลการวางแผนเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด ทั้งๆที่วิธีนั้นผิดกฎหมาย แต่หวังว่าจะหลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐได้
ดังนั้น ถ้าว่ากันตามทฤษฎี ก็ขึ้นกับว่าธุรกรรมที่คุณเศรษฐาเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นกฎหมายเปิดช่องให้ทำหรือเปล่า ถ้าเปิดช่องก็ถือเป็นการวางแผนภาษี แต่ถ้าไม่เปิดช่อง ถึงแม้คุณเศรษฐาเป็นผู้ซื้อและเสียภาษีของผู้ซื้อถูกต้อง มันก็ไม่สง่างาม เพราะไปเกี่ยวพันกับการหนีภาษี หรือพูดชัดๆก็คือ รู้เห็นการโกงภาษีนั่นเอง
5
ส่วนเรื่องที่ว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้หรือเปล่านั้น เชื่อว่ามีนักวางแผนภาษีและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มาแถลงไขเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว คำถามคือ ถ้ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ แล้วเราไปตีความว่าเป็นการผิดจริยธรรม คิดแบบได้หรือไม่
1
ต้องเข้าใจว่า เป้าหมายหลักของบริษัททุกแห่ง คือการแสวงหาผลกำไร ตราบใดที่กฎหมายเปิดช่อง และไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฏหมาย บริษัทก็จะเลือกแนวทางที่ตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด ประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด อันนี้ ผมว่าเราโทษเขาไม่ได้
1
คนที่จะต้องรีบล้อมคอก ปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนที่สุด คือกรมที่ดิน หรือกรมสรรพากร ถ้ารู้ว่ากฎหมายมีช่องโหว่ ต้องรีบแก้ไข
ผมขอยกตัวอย่างสองกรณีให้เห็นชัดเจน คือ
1. กองทุนหุ้นระยะยาว
ในอดีต มีการออกกฏหมายให้คนที่ลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวหรือ Long Term Fund /LTF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือหุ้นนั้นไม่ต่ำกว่า 7 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอผู้มีเงินได้ลงทุนได้ครบ 7 ปี ก็ถอนเงินทั้งหมดออกมา แล้วนำเงินก้อนเดิมมาลงทุนในกองทุนหุ้นนี้อีกหนึ่งรอบ
1
กลายเป็นว่า เงินก้อนเดียว ขอภาษีคืนได้หลายรอบ ต่อมา เมื่อกรมสรรพากรเจอปัญหานี้ ก็อุดช่องโหว่ด้วยการไม่ลดหย่อนภาษีให้กองทุนหุ้นระยะยาว แล้ววางกฎเกณฑ์ใหม่ว่า ต้องลงทุนในกองทุนที่เรียกว่ากองทุน SSF (Super Saving Funds)
3
ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเหมือนกัน แต่ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องลงทุนในระหว่างปี 2563-2567 เท่านั้น จึงจะลดหย่อนภาษีได้ ถือเป็นการแก้ปัญหานี้ไปเปลาะหนึ่ง
4
2.ภาษีที่ดินว่างเปล่า
เมื่อเราเริ่มบังคับใช้ภาษีที่ดิน มีการกำหนดว่าผู้ใดมีที่ดินแล้ว ไม่นำมาพัฒนา ปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะถูกองค์กรปกครองท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนสูงถึง 3% แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตร จะได้อัตราภาษีในอัตราที่ต่ำสุดคือ 0.15%
3
จึงมีเจ้าของที่ดินจำนวนมาก แปลงที่ดินเปล่าให้เป็นพื้นที่ปลูกกล้วยบ้างหรือปลูกพืชล้มลุกบ้าง เพื่อง่ายต่อการกลบไถเพื่อขายต่อในอนาคต
3
ทุกคนทราบกันดีว่า นี่คือการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายมาวางแผนภาษี เพื่อที่จะได้เสียภาษีให้น้อยที่สุด เจ้าของไม่ได้มีเจตนาที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างแท้จริง เพราะผลผลิตที่ได้ คงไม่คุ้มกับมูลค่าของที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินในตัวเมืองใหญ่
1
สิ่งที่รัฐในฐานะผู้กำกับกฎหมายจะทำได้ดีที่สุด คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่ ซึ่งต้องระมัดระวังในการบัญญัติกฎหมาย เพราะอาจจะไปกระทบกระเทือนเกษตรกรตัวจริง หรือกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะยากต่อการพิสูจน์ หรือวัดมูลค่าที่แท้จริงได้
หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการเก็บภาษี ไม่ว่ากรมที่ดิน กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากร จึงต้องอัพเดทกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ว่ามีช่องโหว่หรือไม่ และจะปิดช่องโหว่เหล่านี้ได้อย่างไร
จึงไม่แปลกใจ ที่ในสหรัฐอเมริกาจะมีคนร้องเรียนว่านายอีลอน มัสก์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กลับเสียภาษีน้อยเทียบเท่าคนกินเงินเดือนธรรมดา ซึ่งเขามองว่านั่นคือจุดบกพร่องของระบบทุนนิยม ที่คนเขียนกฎหมายสมรู้กับนายทุน ออกกฏหมายที่มีช่องโหว่ให้นายทุนเสียภาษีน้อยที่สุด
3
ผมเองก็เคยเขียนบทความให้ยกเลิก Final Tax ที่กฎหมายกำหนดว่า คนที่ได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ไม่ว่ากี่พันล้านบาท หากคนเหล่านี้เสียภาษีเพิ่มอีก 10% หรือ15% ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาหรือภาษีใดๆ เพิ่มเติม
1
ในขณะที่คนกินเงินเดือน หรือคนค้าขายที่มีรายได้สุทธิเพียง 4-5 ล้านบาท ต้องเสียภาษีถึง 35% บางคนต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% โดยที่เรียกคืนภาษีซื้อได้น้อยมากนี่จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ถือเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้สนับสนุนให้ชนชั้นกลางได้ลืมตาอ้าปากเลย
5
ความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องแก้ด้วยการร่างกฎหมายให้คนรวยเสียภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ปีละ 100 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ใช่นำทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ไปอุดหนุนคนรวยส่วนน้อย
ประเทศไทยไม่ได้ขาดคนมีฝีมือในการร่างกฎหมาย แต่เป็นเพราะผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจ ยังไม่กล้าลงมือกับคนรวยเท่านั้นเอง.
1
โฆษณา