10 ส.ค. 2023 เวลา 18:28 • ปรัชญา

ความลับหล่อแก(2) ทิศต้องห้ามทางน้ำผ่านเข้าออกสุสาน

การใช้ผังก่อนฟ้า(โซยที)และผังหลังฟ้า (อ้าวที) เป็นวิธีพิจารณาเส้นทางน้ำผ่านเข้าออกสุสาน เพื่อเลือกทำเลที่ตั้งสุสานที่มีลักษณะเก็บหยางชี่ที่มากับลำน้ำ เพื่อไปรวมกับหยินชี่ที่มาจากภูเขา เพื่อทำให้เกิดความสมดุลของพลังงานทั้งคู่
สมัยถังเกิดข้อถกเถี่ยงกันถึงแหล่งที่มาของชี่ จีนแสดั้งเดิมอ้างว่าหยางซี่หยินซี่นั้นไม่แยกกัน เกิดจากภูเขา พัดพามาโดยลม รวมกันและเก็บกักโดยสายน้ำ จีนแสฝั่งเต๋าก็ว่าหยินชี่นั้นมาแต่ภูเขา หยางชี่มาแต่แม่น้ำ โลกจึงยืนยาว ชีวิตนั้นแสนสั้น
ฝั่งหยินชี่นั้นมาจากเทือกเขาสูง ยิ่งสูงยิ่งมีพลังมาก แต่ก็ต้องมีเทือกเขาลดหลั่นกันเป็นลำดับ เมื่อมาถึงเชิงเขาใกล้ทำเลสุสานได้เกิดการเก็บกักพลังงาน จึงอุปโลกให้แนวเทือกเขาคุนลุ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นมังกรแม่ ต่อมาภายหลังมีการเพิ่มเติมบรรดาเทือกเขาต่างๆเพิ่มขึ้นเป็นสารพัดมังกรจนถึงตอนใต้ไปจนถึงชายฝั่งทะเลตอนใต้ ตามความนิยมของกลุ่มผู้มีอำนาจบารมี
ฝั่งหยางชี่นั้นมีข้อถกเถียงกันมากกว่า เพราะภูเขาไม่เปลี่ยนรูป เทือกเขาไม่เปลี่ยนทิศ แต่การขุดคลองสมัยสุยเชื่อมภาคเหนือฝั่งฮวงโห เข้ากับภาคใต้ฝั่งแยงซี นำความเจริญลงสู่ตอนใต้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งเพิ่มข้อถกเถียง ภูเขาไม่เปลี่ยน เส้นทางน้ำเปลี่ยน ความเจริญลูกหลานจึงมุ่งลงใต้
ฝ่ายเต๋านำความเชื่อว่าหยางชี่ถ่ายเทมาจากสวรรค์ ลงสู่ลำน้ำต่างๆ แหล่งกำเนิดหยางซี่มาจากทางช้างเผือก กำหนดทิศทางโดยดาวเหนือทั้งเจ็ด (Big dipper) และดาวเหนือ (Polaris) จึงได้ทำการนำผังก่อนฟ้า-หลังฟ้ามาสวมเข้ากับทิศทาง 24ขุนเขาในหล่อแก
ปลายยุคถัง ท่านหยางกงพบว่าทิศเหนือแม่เหล็กโลกในหล่อแก คลาดเคลื่อนไปจากทิศเหนือจริง (ตามดาวเหนือ) จึงปรับจานให้ถอยหลังไปครึ่งขุนเขาราว 7.5องศา เรียกจานดั้งเดิมที่ชี้ไปยังทิศเหนือแม่เหล็กโลกว่าจานดิน และเรียกจานที่ปรับแก้ว่าจานฟ้า
จึงเป็นข้อสังเกตว่าดูหยินชี่ควรใช้จานดิน ดูหยางชี่ควรใช้จานฟ้า
สมัยซ่ง​ ท่านไล่ปู้อี้ปรับแก้อีกรอบ​ เพราะตำแหน่งขั้ว​แม่เหล็กโลกเคลื่อน​ ดาวเหนือก็เคลื่อน​ ขยับขึ้นหน้าจากดินไปครึ่งขุนเขา​ เพิ่มตำแหน่งดาวฤกษ์ที่เป็นเทพอสูร เรียกจานฟ้าเหมือนกัน​ กลายเป็นมีฟ้านอกฟ้าใน​ ตอนหลังจึงมาเรียกว่าจานคน​
สมัยชิงจีนแสรู้เรื่องความคลาดเคลื่อนแต่ไม่มีใครปรับแก้อีก​
สมัยปัจจุบันไม่มีใครสนใจการปรับแก้อีก จะใช้จานไหน กับเรื่องไหน แล้วแต่ความนิยม ความเชื่อ เหตุผล และการสืบทอดของแต่ละสำนัก
徐华发
11 ส.ค.2566
โฆษณา