11 ส.ค. 2023 เวลา 08:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Into a Weak Seasonality (เข้าสู่ฤดูกาลอ่อนแอ)

ในเดือน ก.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภาคเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงทั้ง CPI และ PPI และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ประกอบกับผลประกอบการของหลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาดแม้ในช่วงครึ่งแรกของปีจะเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงมายาวนาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายเดือน NASDAQ โดนแรงขายจากความผิดหวังในผลประกอบการบางบริษัท และแรงขายจากการจะปรับน้ำหนักในดัชนี
ส่วนฝั่งตลาดหุ้นเอเชียตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei) เริ่มเผชิญกับแรงขาย แต่ก็ยังมีความคาดหวังในการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ BoJ
ส่วนตลาดหุ้นอินเดีย (SENSEX) ยังคงทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องรับกับการย้ายฐานการผลิตของหลายบริษัทมาตั้งที่อินเดีย
อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศ DM ยังคงมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ยังรอนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ และการแก้ปัญหาการว่างงาน แต่จากราคาตลาดหุ้นจีนมองว่าถูกมากแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับ DM ที่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ภาคบริการคือ “เดอะ แบก”
ในภาพเศรษฐกิจเราเห็นว่าไม่เพียงแต่เงินเฟ้อ (ราคา) เริ่มชะลอตัวลง แต่ด้านผลผลิต (ปริมาณ) อาจปรับตัวลดลงด้วย ดัชนี PMI ภาคการบริการซึ่งเป็น “เดอะ แบก” ช่วยพยุงเศรษฐกิจมาทั้งปีเริ่มส่งสัญญาชะลอตัวลง
ในขณะที่ PMI ภาคการผลิตยังคงไม่ฟื้นตัวกลับมา อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งจากฝั่ง “ราคา” และ “ปริมาณ”
แม้ว่าสถานะการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลงอาจนำไปสู่การตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อในอนาคตของ Fed ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น แต่ในมุมปัจจัยพื้นฐาน เงินเฟ้อที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ผลักราคาสินค้าให้สูงขึ้น เริ่มปรับตัวลดลงอาจส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทให้ลดลงตามไปด้วย อาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทในครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวลงบ้าง
โดยในเดือนที่ผ่านมาดัชนีหุ้น MSCI ACWI ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนราว 3.4% ในขณะที่ MSCI EM ปรับเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าที่ราว 5.8% จากการที่ปัจจัยเงินเฟ้อฝั่ง DM เริ่มชะลอตัวลง ผู้ลงทุนเริ่มคาดหวังถึงการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารกลางยังคงเน้นย้ำว่าการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ (Data Dependent) ในรอบต่อไป
ตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ยังคงผันผวนมากเมื่อเทียบกับตลาดตราสารทุน (VIX) โดย MOVE Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วงสัปดาห์แรก จาก PMI ที่ปรับตัวลดลง ก่อนจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาในช่วงกลางเดือน หลังตัวเลข CPI จากความคลายกังวลในด้านการขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ จากตัวเลขทางภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ลดความร้อนแรงลง ทำให้ผู้ลงทุนคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อาจเหลือเพียงครั้งเดียว แม้ว่าเรามองว่าเฟดยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ได้อีก แต่ก็ใกล้สิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว (Peak Hawkishness) ซึ่งหลังจากเฟดหยุดอาจช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดได้บ้าง
เห็นโอกาสตลาด EM
ในภาพรายตลาด แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนหลังจากภาพเงินเฟ้อของฝั่ง DM เริ่มลดลง ส่งผลต่อมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของฝั่ง DM ทำให้ตลาด DM กลับมาปรับเพิ่มขึ้นดีกว่าตลาด EM แต่จาก Valuation ของฝั่ง DM ที่ “แพง” ในปัจจุบัน ทำให้เรามองตลาดหุ้น EM เป็นโอกาสในการลงทุนที่จะรับไม้ต่อจากตลาด DM ในช่วงครึ่งหลังของปี
โดยเรามองตลาดหุ้น ASEAN มีโอกาสในการลงทุนที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากจีน และแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงปลายปี น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ บางประเทศก็มีอัตราการเติบโตที่สูง เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม
อีกทั้ง ตลาดนี้มีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม “เทคโนโลยี” ที่ค่อนข้างน้อย อาจจะไม่ได้รับผลกระทบหากมีแรงเทขายทำกำไรของหุ้นเทคฯ เกิดขึ้น อีกทั้ง หากมองในด้าน Valuation ก็ถือว่าค่อน “ถูก” เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว
วางกลยุทธ์สิงหาคม
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ Asset Allocation ในเดือน ส.ค. 2566 เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ไว้เช่นเดิม โดยมีมุมมอง “Slightly Positive” สำหรับตราสารหนี้ จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
และมีมุมมองที่ “Neutral” ในตลาดหุ้นฝั่ง DM จากแนวโน้ม Valuation ที่สูง และผลกำไรที่น่าจะชะลอลงในช่วงถัดไป จากทั้งดอกเบี้ยที่สูงและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยมีการเพิ่มหนักการลงทุนในส่วนของ ASEAN เพิ่มขึ้น
  • คอลัมน์: Investment-Focus by KTAM
  • โดย: ดร. สมชัย อมรธรรม บลจ. กรุงไทย
โฆษณา