13 ส.ค. 2023 เวลา 08:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จีนเตรียมเสริมความมั่นคงให้กับพลังงานหมุนเวียนด้วยโรงไฟฟ้าสูบกลับขนาด 2,800 MW

เพราะเทรนพลังงานหมุนเวียนกำลังมา การจัดการเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น ทั้้งนี้เพราะพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์หรือลมนั้นมีจุดอ่อนเรื่องความเสถียรในการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
และจีนที่กำลังเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ต้องมีการเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของตนด้วยการเพิ่มระบบกักเก็บพลังงาน
2
ถ้าพูดถึงการเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ภายหลังเมื่อเราต้องการ เราก็คงนึกถึงแบตเตอรี่ เหมือน Power bank ที่เราใช้กัน แต่กับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศ Power Bank นับหมื่นนับแสนตัวก็คงเอาไม่อยู่
โรงไฟฟ้าแบตเตอรี่ของ กฟผ. ที่เริ่มมีนำเข้ามาใช้เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแล้วในปัจจุบัน
ปัจจุบันเราจะเริ่มได้ยินข่าวการนำโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่เข้ามาทำหน้าที่ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในยามที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟสูง ซึ่งโรงไฟฟ้าแบบนี้มีข้อดีในเรื่องการตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้นทุนก็ยังถือว่าสูงจนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างค่าไฟฟ้าโดยรวม
1
สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศนั้น ระบบ Pumped hydroelectric energy storage หรือโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับที่ใช้การสูบน้ำกลับขึ้นไปเก็บบนอ่างเก็บน้ำด้านบนและปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายามที่ต้องการใช้ไฟฟ้านั้นถือว่ามีต้นทุนต่อหน่วยการกักเก็บพลังงานที่ต่ำกว่า
โรงไฟฟ้าแบบสูบกลับจะมีทั้งแบบเปิดอย่างเช่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ในบ้านเรา หรือแบบปิดที่อ่างเก็บน้ำทั้งอ่างบนและอ่างล่างไม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำอย่างเขื่อนศรีนครินท์และเขื่อนภูมิพล
และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา จีนก็ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสูบกลับ Warang ขนาดกำลังการผลิตสูงสุด 2,800 เมกะวัตต์เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มเข้ามาในระบบไฟฟ้าอย่างมากมายจากโซล่าฟาร์มในทะเลทรายโกบีและที่ราบสูงทิเบต
1
โดยโรงไฟฟ้า Warang นี้ตั้งอยู่ในปกครองตนเองทิเบตไห่หนาน ซึ่งใช้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน Laxiwa ที่สร้างกั้นแม่น้ำเหลืองเป็นอ่างเก็บน้ำตอนล่าง (เหมือนกับเขื่อนท่าทุ่งนาของบ้านเราที่เป็นอ่างล่างให้กับเขื่อนศรีนครินท์ในการเป็นโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับ)
4
โรงไฟฟ้าแบบสูบกลับนั้นประกอบด้วยส่วนปั๊มน้ำกับกังหันน้ำที่อยู่ในเขื่อน
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า Warang นี้เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ได้กว่า 20 ล้านหน่วย เชื่อมต่อเข้ากับระบบสายส่งแรงดัน 750 กิโลโวลต์เสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
1
ทำให้กว่า 650,000 ครัวเรือนได้มีพลังงานสะอาดใช้ได้อย่างมั่นคงไม่ต้องกังวลเรื่องแดดไม่มีลมไม่พัด และเมื่อเข้าใช้งานเต็มที่โรงไฟฟ้า Warang นี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่าปีละ 5 ล้านตันเลยทีเดียว
โดยจีนได้มีแผนการเริ่มการก่อสร้างระบบกักเก็บพลังงานแบบโรงไฟฟ้าสูบกลับเข้าเสริมระบบอีกกว่า 200 โครงการทั่วประเทศด้วยกำลังการผลิตรวมกว่า 270,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2025 เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนที่กำลังเพิ่มเข้ามาในระบบไฟฟ้าของประเทศจีนอย่างมหาศาลภายในอนาคตอันใกล้นี้
1
ทั้งนี้แค่ในมณฑลชิงไห่ของจีนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั้นจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่ง 2 ใน 3 มาจากแสงอาทิตย์เข้ามาในระบบอีกว่า 100,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030
3
สำหรับประเทศไทยเรานั้นปัจจุบันก็ได้มีการก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับนี้อยู่แล้ว 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่
1. โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 1-4 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์
2. เขื่อนศรีนครินท์เครื่องที่ 4-5 กำลังการผลิต 360 เมกะวัตต์
3. เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 กำลังการผลิต 170 เมกะวัตต์
4
โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาที่มีการผสมผสานพลังงานหมุนเวียนด้วยกังหันลมและโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับเพื่อให้เรามีพลังงานสะอาดใช้ได้อย่างมั่นใจ
ซึ่งทำให้มีกำลังการการผลิตรวมกว่า 1,530 เมกะวัตต์ ช่วยรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศนั้นยังมีเสถียรภาพได้
4
และเร็ว ๆ นี้ก็กำลังจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสูบกลับอีก 1 แห่งที่เขื่อนจุฬาภรณ์ ด้วยกำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าสูบกลับเพื่อทำหน้าที่สำรองพลังงานให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศด้วยกำลังการผลิตกว่า 2,330 เมกะวัตต์
รายละเอียดโรงไฟฟ้าสูบกลับที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ.
ในการที่โลกเราจะเข้าสู่การใช้พลังงานที่ปลอดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเท่านั้น ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้ายังเป็นเครื่องมือหลักที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้
1
และระบบกักเก็บพลังงานเหล่านี้ต้องมีขนาดและรูปแบบที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่นับวันมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โรงไฟฟ้าแบบสูบกลับนี้จึงยังคงมีความจำเป็นต่ออนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ยกเว้นว่าเราจะมีเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่ถูกและดีกว่านี้
โฆษณา