12 ส.ค. 2023 เวลา 11:14 • หนังสือ

"สำนวนการสอบสวน" ทำให้คนติดคุกหรือรอดคุกได้อย่างไร

เมื่อตำรวจทำสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาคนใดก็ตาม ตำรวจก็รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ ไว้ในสำนวนการสอบสวน มีการสอบสวนบุคคลที่เป็นฝ่ายผู้เสียหาย พยานคนกลาง สอบผู้ต้องหา แล้วรวบรวมสำนวนการสอบสวนนั้นส่งไปให้อัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาต่อไป และอัยการจะเป็นผู้รักษาสำนวนการสอบสวนทั้งหมดไว้กับอัยการ
เมื่อมีการพิจารณาคดีชั้นศาล อัยการก็จะใช้สำนวนการสอบสวนที่ตำรวจสอบไว้นั้นเป็นพยานเอกสาร เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าพยานคนใดเคยให้การไว้กับตำรวจอย่างใด ผู้ต้องหาเคยให้การไว้กับตำรวจอย่างไรในชั้นสอบสวน ถ้าพยานคนใดเกิดเบี้ยวขึ้นมาในชั้นศาล
เช่นว่า ชั้นตำรวจเคยให้การว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้าย และพยานลงชื่อไว้แล้ว พอถึงศาลพยานกลับคำว่าจำเลยไม่ใช่คนร้าย อัยการก็จะใช้พยานเอกสารที่พยานเคยลงชื่อให้การไว้กับตำรวจว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายให้ศาลดู เพื่อเอาผิดกับพยานที่เบิกความเบี้ยวคนนั้น ฐานให้การเท็จหรือเบิกความเท็จต่อไป
ในชั้นสอบสวนพยาน ผู้ต้องหาได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้วว่าได้เคยให้การอย่างไร เช่น คำให้การของผู้ต้องหาเคยรับสารภาพ ผู้ต้องหาก็เซ็นชื่อไว้ในคำให้การเป็นหลักฐาน ผู้ต้องหาเคยแสดงท่าทางประกอบคำรับสารภาพ ตำรวจถ่ายภาพประกอบคำรับสารภาพไว้ ผู้ต้องหาเซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้ว หรือพยานเคยชี้ตัวผู้ต้องหา พยานได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้ว ชั้นจับกุมผู้ต้องหาเคยให้การไว้อย่างไร รับสารภาพ ปฏิเสธ หรือว่าภาคเสธ เหล่านี้มีหลักฐานอยู่ในสำนวนการสอบสวนทั้งนั้น
ผู้ต้องหาบางคนเซ็นชื่อเพียงตัวเดียว หรือให้การเพียงคำเดียว พอถึงชั้นศาลลายเซ็นเหล่านั้นหรือคำพูดเหล่านั้นกลับมารัดคอให้จำเลยต้องติดตะรางในชั้นศาล หรือทำให้จำเลยกลับหลุดในชั้นศาล เพราะคำพูดเดียงคำเดียวหรือลายเซ็นเพียงตัวเดียวก็มี ทั้งๆ ที่จำเลยอาจจะทำผิดหรือไม่ได้ทำผิดเลยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเงื่อนแง่ของกฎหมายแท้ๆ เชียว เพราะฉะนั้น สำนวนการสอบสวนคดีอาญาจึงมีความสำคัญถึงเสรีภาพหรือคุกตะรางของจำเลยโดยตรงทีเดียว
เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน จึงขอแนะนำข้อที่ท่านควรปฏิบัติเกี่ยวกับเอกสารการสอบสวนของตำรวจ เพื่อเป็นเกราะป้องกันสิทธิของท่านโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1.การบันทึกการจับกุม
เมื่อตำรวจจับกุมเราเป็นผู้ต้องหานั้น ตำรวจจะทำบันทึกการจับกุมขึ้นด้วย โดยในบันทึกการจับกุมนั้น ตำรวจจะลงรายละเอียดไว้ว่าจับกุมเราที่ไหน? เมื่อไร? มีใครบ้างที่ร่วมทำการจับกุมและพฤติการณ์จับกุมเป็นอย่างไร? แล้วบันทึกด้วยว่าเราจะให้การอย่างไร รับสารภาพ ปฏิเสธ หรือให้การภาคเสธ แล้วจะมีลายมือชื่อผู้ร่วมทำการจับกุมเซ็นไว้ท้ายบันทึกการจับกุม และยังให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย
สมมติว่าบันทึกการจับกุมฉบับหนึ่งสาระสำคัญว่าจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 ได้ขณะผู้ต้องหาที่ 1 กำลังแบกถุงใส่กรอบอลูมิเนียมบานเกร็ดหน้าต่างเป็นของกลาง แล้วผู้ต้องหาที่ 1 รับสารภาพว่าได้ลักเอาไปขายให้กับผู้ต้องหาที่ 2 ผู้ต้องหาที่ 1 นำตำรวจไปจับผู้ต้องหาที่ 2 จับผู้ต้องหาที่ 2 ได้พร้อมกับแผ่นอลูมิเนียม 20 แผ่นเป็นของกลาง ผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพ และยังบันทึกต่อไปอีกว่าตำรวจไม่ได้ทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เรียกร้องเอาทรัพย์สินใด หรือให้ทรัพย์อะไรเสียหายเลย
แต่... ถ้าความจริงปรากฏว่า ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นเจ้าของร้านขายของเก่า เป็นนายจ้างของผู้ต้องหาที่ 1 ผู้ต้องหาทั้งสองอยู่ที่ร้านของผู้ต้องหาที่ 2 ด้วยกัน ตำรวจค้นร้านของผู้ต้องหาที่ 2 พบแผ่นอลูมิเนียม 10 แผ่นจึงยึดไว้เป็นของกลาง ผู้ต้องหาทั้งสองให้การว่ารับซื้อไว้จากคนที่เอามาขาย โดยไม่รู้ว่าเป็นของที่ขโมยมา ตำรวจขนอลู มิเนียมของกลางออกจากร้าน เป็นเหตุให้กระจกใส่ตู้เสื้อผ้าแตกไป 2 บาน
สมมุติว่าความจริงเป็นอย่างนี้แล้ว เราซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 1, 2 เซ็นชื่อลงไปในบันทึกการจับกุมที่ตำรวจทำขึ้นนั้นก็เท่ากับเรายอมรับว่าบันทึกการจับกุมที่ตำรวจทำขึ้นนั้นถูกต้องตามที่บันทึกทุกประการ ซึ่งหากคดีถึงศาลแล้ว ผู้ต้องหาทั้งสองจะแก้ตัวยากมาก เพราะในบันทึกการจับกุมนั้นตำรวจมักจะเขียนไว้ว่า “ได้อ่านบันทึกแล้ว รับรองว่าถูกต้อง จึงลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน”
ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่ผู้ต้องหาจะเซ็นชื่อลงในบันทึกการจับกุมนั้น อย่าลงชื่อในเศษกระดาษเปล่าๆ เป็นอันขาด เพราะใครจะเติมข้อความอะไรข้างบนลายมือชื่อเราก็ได้ และต้องระวังให้ดี ต้องอ่านบันทึกการจับกุมอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกับความเป็นจริงก็อย่างลงชื่อลงไปเป็นอันขาด
เช่น การบันทึกการจับกุมนี้เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย ยึดของกลางได้ในร้าน ไม่ใช่ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 1 กำลังแบกของกลางอยู่ ผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ลักทรัพย์แต่รับซื้อไว้จากคนที่เอามาขาย โดยไม่รู้ว่าเป็นของคนร้าย แต่บันทึกการจับกุมว่าเรารับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างมาก
ซึ่งหากเราเซ็นชื่อลงไปในบันทึกการจับกุมฉบับนี้ ข้อความในบันทึกการจับกุมก็จะผูกมัดให้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามนั้น ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อเราอย่างยิ่งในการต่อสู้คดีในชั้นศาล จึงเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากตำรวจบันทึกการจับกุมไม่ถูกต้องก็บอกให้เขาบันทึกเสียใหม่ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้าเขาแก้ให้เราลงชื่อได้ แต่ถ้าไม่ตรงกับความจริงก็ไม่ควรลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
2.บันทึกการแจ้งข้อหา
การจับกุมหรือการสอบสวนผู้ต้องหานั้น กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาว่ากระทำผิดในฐานใด เช่น ฐานลักทรัพย์ รับของโจร ฉ้อโกง หรือฐานปล้นทรัพย์ เป็นต้น
โดยปกติตำรวจจะบันทึกแจ้งข้อหาเราไว้ในบันทึกการจับกุม หรือไม่ก็บันทึกการแจ้งข้อหาแยกออกจากบันทึกการจับกุม คือ แยกบันทึกคนละฉบับกัน
เราในฐานะผู้ต้องหา หากไม่เข้าใจข้อกล่าวหาแล้วก็ควรจะต้องสอบถามตำรวจผู้แจ้งข้อหาให้เข้าใจชัดแจ้งเสียก่อน
ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจแจ้งข้อหาแก่เราฐานชิงทรัพย์กับปล้นทรัพย์นั้น ทางกฎหมายถือว่าต่างกันและมีโทษแตกต่างกัน คือ ชิงทรัพย์นั้นต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย แต่มีผู้กระทำผิดไม่ถึง 3 คน เป็นชิงทรัพย์ แต่ถ้าทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะกลายเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ขึ้นมาทันที ซึ่งมีโทษสูงกว่าชิงทรัพย์ คือ ฐานชิงทรัพย์ธรรมดาโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี แต่โทษฐานปล้นทรัพย์ธรรมดาจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 15 ปี ซึ่งโทษต่างกันมาก
เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจข้อหาต่างๆ ให้ตำรวจที่แจ้งข้อหาเราอธิบายให้เราเข้าใจเสียก่อน ว่าข้อหานั้นหมายความว่าอย่างไร ถ้าหากตำรวจเขาไม่ยอมอธิบายและเราไม่เข้าใจข้อหาแล้ว เราก็ควรที่จะให้ตำรวจเขาบันทึกไว้ในบันทึกข้อกล่าวหาว่า “เราไม่เข้าใจข้อหา” ถ้าตำรวจไม่ยอมบันทึกเช่นนั้น เราก็มีทางเลือก คือ ควรให้การปฏิเสธไว้ก่อน ไม่ใช่รับสารภาพไปทั้งๆ ที่เราไม่เข้าใจข้อหาเลย มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นภัยแก่เราในชั้นสู้คดีในศาล
ข้อควรสังเกต จะต้องอ่านบันทึกการแจ้งข้อหาให้ละเอียดรอบคอบทุกตัวอักษรว่าถูกต้องตามความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงก็ควรเซ็นชื่อในบันทึกการแจ้งข้อหา ถ้าไม่ตรงกับความจริงเราก็มีสิทธิที่จะไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหาเหล่านั้น ซึ่งทางปฏิบัติถ้าเราไม่ยอมลงชื่อ ตำรวจจะบันทึกไว้ว่า “ผู้ต้องหาไม่ยอมเซ็นชื่อ” ไว้ในบันทึกแจ้งข้อหาดังกล่าว
ในกรณีที่มีข้อหาหลายข้อหา เราจะรับสารภาพหรือจะปฏิเสธข้อหาอะไรก็ให้ว่ากันให้ชัดๆ ลงไป เช่น รับสารภาพฐานยักยอก ฉ้อโกง ปฏิเสธฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ไม่ใช่รับหรือปฏิเสธคลุมๆ กันไปไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายแก่เราในภายหลัง
มีบางข้อหาที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่าเราทำผิดฐานหนึ่ง หรือทำผิดอีกฐานหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจร คือ มีคำว่า “หรือ” อย่างใดอย่างหนึ่ง หมายความว่า ให้เราเลือกให้การเอาฐานใดฐานหนึ่งในสองฐานนี้ เราก็มีสิทธิที่จะเลือกได้ ถ้าเราจะให้การรับสารภาพ เช่นว่ารับสารภาพฐานลักทรัพย์ แต่ปฏิเสธฐานรับของโจร หรือรับสารภาพฐานรับของโจร แต่ปฏิเสธฐานลักทรัพย์ก็ได้ เป็นต้น
แต่ถ้าเราจะให้การปฏิเสธแล้ว เรามีสิทธิปฏิเสธได้ทั้งสองฐานเลย เช่น เราให้การว่า “ข้าพเจ้าขอให้การปฏิเสธทั้งข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร” เป็นต้น
โปรดระวังว่าการเซ็นชื่อลงในบันทึกการแจ้งข้อหานั้นเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผูกพันเราไปในชั้นศาล เพราะจะเป็นพยานเอกสารใช้ยันเราในชั้นศาลได้ เราจะต่อสู้ว่าเซ็นชื่อไปโดยไม่ได้อ่านข้อความเลย ส่วนมากศาลมักจะไม่ค่อยรับฟัง เพราะในบันทึกการแจ้งข้อหามักจะระบุมัดเราไว้ว่า “อ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้อง จึงลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน” จึงต้องควรระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดี
3.บันทึกแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม หรือผู้ต้องหา
แต่ก่อนกฎหมายไม่ได้กำหนดสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุมไว้ในกฎหมาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2527 ได้มีการแก้กฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใหม่ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 7 ทวิ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิของเขา ดังต่อไปนี้
3.1 สิทธิในการพบและปรึกษาทนายสองต่อสอง
ปกติผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจจับนั้นจะอยู่ในความควบคุมดูแลของตำรวจตลอดเวลา จะพูดคุยหรือปรึกษาหารือกับคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจไม่ได้ ซึ่งเป็นการบั่นทอนเสรีภาพของประชาชนมาก เพราะผู้ต้องหานั้นไม่ใช่ผู้กระทำผิด เป็นเพียงผู้ต้องหาว่าได้กระทำผิดเท่านั้น เพราะฉะนั้นเขาควรจะมีสิทธิปรึกษาทนายเพื่อต่อสู้คดี อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชน
ในทางปฏิบัติเมื่อทนายมาถึงโรงพัก จะมาเมื่อไรก็ได้ เมื่อมาถึงจะต้องแจ้งสารวัตรใหญ่ (สวญ.) หรือร้อยเวรให้ทราบว่าต้องการจะพบผู้ต้องหาคนใด แล้วตำรวจจะจัดให้มีห้องให้ทนายพบกับผู้ต้องหาได้ บางแห่งถ้าไม่มีห้องก็จะจัดให้พบกันในห้องของพนักงานสอบสวนเลยแต่ตำรวจหรือผู้คุมคนใดจะมานั่งฟังการปรึกษาของทนายกับผู้ต้องหาไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นว่ามีสิทธิปรึกษา “ทนายสองต่อสอง” คือ มีสิทธิปรึกษาหารือพูดคุยกันโดยไม่มีคนอื่นมารับฟังด้วย
ปัญหาว่าผู้ต้องหาจะพบหรือติดต่อกับทนายอย่างไร ถ้าหากผู้ต้องหามีทนายประจำตัว มีฐานะดีก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากผู้ต้องหายากจน ไม่มีปัญญาจะจ้างทนายจะทำอย่างไร ความจริงเดี๋ยวนี้นักกฎหมายของบ้านเราได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนี้กันมาก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงมีพระราชดำริว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรจะให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชนผู้ไม่รู้กฎหมาย แต่ชาวบ้านส่วนมากยังไม่รู้ว่าจะไปติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางกฎ หมายที่ไหน? กับใคร?
จึงขอแนะนำองค์กรของกฎหมายที่จะให้ความช่วยเหลือท่าน เรียกว่า “การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” ภาษาอังกฤษว่า “Legal Aid” องค์กรดังกล่าวจะจัดหาทนายมาให้คำปรึกษาและช่วยเหลือท่านฟรี ดังต่อไปนี้ คือ
3.1.1 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เรียกชื่อย่อๆ ว่า “ส.ค.ช.” ของกรมอัยการที่กรุงเทพฯ อยู่ที่กรมอัยการขางศาลหลักเมือง สนามหลวง กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด “ส.ค.ช.” อยู่ที่ที่ทำการอัยการจังหวัด ทุกจังหวัด
3.1.2 สภาทนายความ ตั้งอยู่ที่ตรงข้ามโลตัส สะพานใหม่ ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ ถ้าต่างจังหวัดให้สอบถามทนายที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ
3.1.3 เนติบัณฑิตยสภา ตั้งอยู่ที่ถนนกาญจนาภิเษก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
3.1.4 ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวง
3.1.5 ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์
3.1.6 สำนักช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ
3.1.7 สมาคมบัณฑิตยสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย
3.1.8 ทนายประจำโรงพัก ในกรุงเทพฯ
ปัจจุบันมีหลายโรงพักที่ทางสภาทนายความแห่งประเทศไทยได้จัดทนายไว้ประจำโรงพักเพื่อช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
เพราะฉะนั้นท่านที่เป็นผู้ต้องหาแต่ยากจนไม่มีเงินทองที่จะจ้างทนายต่อสู้คดี ท่านเองหรือญาติของท่านก็จะต้องติดต่อสอบถามตามองค์กรที่ได้กล่าวไว้แล้ว เพื่อขอความช่วยเหลือจากเขา เขาจะรีบช่วยเหลือท่านทันที
3.2 สิทธิในการได้รับการเยี่ยมตามสมควร
แต่ก่อนเวลาเราไปโรงพักเราจะเห็นป้ายแขวนไว้หน้าห้อง มีข้อความว่า “ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน” ซึ่งก็สร้างความเจ็บปวดให้กับญาติมิตรของผู้ต้องหาเป็นอันมาก ในที่สุดประชาชนก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิการเยี่ยม การประกันผู้ต้องหาเป็นผลสำเร็จ คือ มีกฎหมายออกมาให้ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการเยี่ยมได้ตามสมควร
การเยี่ยมผู้ต้องหาที่โรงพักนั้น โดยปกติตำรวจเขาจะกำหนดเวลาให้เยี่ยมผู้ต้องหาได้ เช่น บางโรงพักกำหนดเวลาเยี่ยมไว้ 3 เวลา เช้า เวลา 8.00 น. ถึง 9.00 น. กลางวัน เวลา 12.00 น. ถึง 13.00 น. เย็น เวลา 16.00 น. ถึง 17.00 น. เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องไปเยี่ยมตามเวลาที่โรงพักกำหนดไว้ เพราะถือว่าเป็นการเยี่ยมตามสมควร ตามที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิผู้ต้องหาได้
วิธีเยี่ยมผู้ต้องหานั้น ตำรวจจะไม่ยอมให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาข้างในห้องขังเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าเยี่ยมหรือผู้ต้องหา เขาจะให้ผู้เข้าเยี่ยมยืนคุยกับผู้ต้องหาอยู่ข้างนอกห้องขัง
ส่วนผู้ต้องหาที่ตำรวจให้ศาลฝากขังไว้นั้น ปกติผู้ต้องหาจะไปขังไว้ที่เรือนจำ การเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาก็ต้องไปเยี่ยมที่เรือนจำ ไม่ใช่ที่โรงพัก
การเยี่ยมผู้ต้องหาที่เรือนจำ เขาก็มีระเบียบว่าด้วยการเยี่ยมผู้ต้องหาไว้เหมือนกัน ซึ่งผู้เยี่ยมก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบนั้นๆ
3.3 สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ผู้ต้องหาที่เกิดการเจ็บป่วยขึ้นนั้น กฎหมายบังคับไว้เลยว่าจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว ในทางปฏิบัติเมื่อผู้ต้องหาเกิดการป่วยเจ็บขึ้น ถ้าเป็นขั้นธรรมดาไม่รุนแรงอะไร ร้อยเวรที่พบการป่วยเจ็บ (ไม่ใช่ร้อยเวรเจ้าของสำนวน) จะต้องช่วยรักษาพยาบาลตามสมควร เช่น ปวดหัวเป็นไข้หวัดก็จะต้องให้ยารักษาตามสมควร
แต่ถ้ามีอาการป่วยหนัก ร้อยเวรที่พบการป่วยเจ็บจะนำส่งโรงพยาบาล หรือคลีนิกได้ 2 ทาง คือ ทางหนึ่งส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน อีกทางหนึ่งคือ โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนมากมักจะส่งไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะที่นั่นจะมีห้องควบคุมผู้ต้องหาและห้องรักษาพยาบาลผู้ต้องหาไว้เรียบร้อย มีเตียงเฉพาะคนไข้ที่เป็นผู้ต้องหา มีตำรวจเฝ้าผู้ต้องหาอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้นหากท่านที่เป็นผู้ต้องหาที่ป่วยเจ็บหรือญาติผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหาป่วยเจ็บก็ต้องรีบแจ้งร้อยเวรหรือสารวัตรใหญ่ทันที เขาจะได้จัดการรักษาพยาบาลให้ตามกฎหมาย ซึ่งหากตำรวจผู้น้อยไม่ช่วยเหลือผู้ต้องหา ท่านก็ต้องรีบแจ้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับ เขาจะรีบช่วยเหลือท่านในทันที ทั้งนี้เพราะเป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาจะต้องได้รับการช่วยเหลือตามกฎหมายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี บันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาในการพบและปรึกษาทนายสองต่อสองตามข้อ 3.1 สิทธิในการได้รับการเยี่ยมตามสมควรตามข้อ 3.2 และสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยตามข้อ 3.3 ก็ดี ตำรวจเขาจะทำเป็นหนังสือบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าเขาได้แจ้งสิทธิเหล่านั้นให้เราทราบไว้แล้ว ตามกฎหมายแล้วเขาจะให้เราลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน บันทึกดังกล่าวเราควรจะอ่านเสียก่อนให้ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้วจึงเซ็นชื่อลงไป ซึ่งเราก็ควรเซ็นเพราะเป็นการแจ้งสิทธิให้เราทราบ เราไม่ได้เสียหายอะไรมีแต่ได้อย่างเดียว
4.บันทึกการตรวจค้น
การตรวจค้นเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานฝ่ายปกครองตามกฎหมาย
การค้นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ ให้ทำต่อหน้าผู้ต้องหาหรือจำเลย หมายความว่า โดยหลักแล้วให้ค้นต่อหน้าผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไปไม่ได้หรือไม่ติดใจมากำกับค้น ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะตั้งผู้แทนหรือพยานมากำกับก็ได้ ถ้าผู้แทนหรือพยานไม่มีก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลในครอบครอบครัวหรือต่อหน้าพยานดังกล่าวแล้ว
หลักการค้นนั้นกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานต้องทำบันทึกรายละเอียดในการค้นและทำบัญชีสิ่งของที่ยึดได้ แล้วอ่านบันทึกและบัญชีนั้นให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จำเลย ผู้แทนหรือพยานฟัง และให้เขาลงลายมือชื่อรับรองไว้
เมื่อยึดสิ่งของใดแล้ว ต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จำเลย ผู้แทนหรือพยานดู แล้วให้เขารับรองว่าถูกต้อง ถ้าเขาไม่รับรองหรือรับรองก็ให้บันทึกไว้ หมายความว่า ถ้ารับรองว่าการค้นถูกต้องก็ให้บันทึกให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อ แต่ถ้าทำบันทึกการตรวจค้นแล้ว ผู้ต้องหาไม่ยอมเซ็นชื่อก็ให้บันทึกไว้ว่า “ผู้ต้องหาไม่ยอมลงชื่อ” เป็นต้น
เพราะฉะนั้นผู้ต้องหาจึงมีสิทธิที่จะลงชื่อรับรองการค้นหรือไม่รับรองการค้นก็ได้ ก่อนที่เราจะเซ็นชื่อลงไปในบันทึกการตรวจค้น จึงต้องอ่านบันทึกนั้นให้ละเอียดเสียก่อน ถ้าถูกต้องก็ต้องเซ็น ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่เซ็น
จากบันทึกการตรวจค้นดังกล่าว ถ้าปรากฏความจริงว่าตำรวจได้ยึดสิ่งของหลายอย่างของเราไป แต่กลับบันทึกว่า “มิได้ยึดทรัพย์สินใดไป” ดั่งนี้แล้วเราก็คงจะเซ็นชื่อรับรองความถูกต้องไม่ได้แน่ เพราะถ้าบันทึกยอมรับเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับเรายอมรับว่าตำรวจไม่ได้เอาของอะไรของเราไป ต่อไปภายหน้าเราก็ขอของที่ยึดไปคืน คงจะขอคืนยาก เพราะเสียท่าไปเซ็นว่าเขาไม่ได้ยึดเอาของอะไรของเราไปเสียแล้ว จึงต้องระวังกันให้ดีหน่อยในเรื่องนี้
5.บันทึกยึดของกลาง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานฝ่ายปกครองมีสิทธิค้นและยึดสิ่งของใดๆ ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ และเมื่อยึดสิ่งของใดได้แล้วก็จะต้องทำบันทึกการยึดของกลาง และทำบัญชีของที่ยึดไว้ การบันทึกต้องระบุผลการค้นว่าเป็นอย่างไร ยึดอะไรได้หรือไม่และให้ผู้ต้องหา ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัวจำเลย ผู้แทนหรือพยาน ดูแล้วให้เขารับรองว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าเขาไม่รับรองก็ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจยึดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
สิทธิของผู้ต้องหาที่จะลงชื่อในบันทึกยึดของกลางจึงมีเช่นเดียวกับสิทธิที่จะลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นในข้อ 4.
6.บัญชีของกลางในคดีอาญา
ของกลางในคดีอาญาที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นหลักฐานในคดีนั้น การสอบสวน พนักงานสอบสวนจะทำบัญชีของกลางในคดีอาญาไว้เป็นหลักฐาน โดยต้องบอกรายละเอียดไว้ว่าเป็นบัญชีของกลางในคดีอะไร? สำนวนเลขที่อะไร? คดีระหว่างใครกับใคร? มีรายละเอียดว่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นอะไร? ยึดได้จากใคร? เมื่อใด? และในท้ายบัญชีของกลางนั้นจะให้ผู้ต้องหาลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน และมีลายมือชื่อของพนักงานสอบสวนด้วย
จึงเป็นหน้าที่ของผู้ต้องหาจะต้องตรวจตราความถูกต้องของบัญชีของกลางก่อนจะลงชื่อลงไป หากไม่ถูกต้องก็มีสิทธิทักท้วงให้พนัก งานสอบสวนแก้ไขให้ถูกต้องได้
เช่นว่า ตำรวจบันทึกว่าของกลางรายนี้ยึดไว้จากเราซึ่งเป็นผู้ต้องหา แต่ความจริงยึดได้จากคนอื่น ไม่ได้ยึดจากเรา อย่างนี้เราก็มีสิทธิไม่ลงชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีของกลางดังกล่าว
7.บัญชีทรัพย์ของกลาง
กรณีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บัญชีของกลางตามข้อ 6. นั้น เป็นบัญชีของกลางทั่วๆ ไป เช่น ของกลางที่เกิดจากการประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย เช่น ยึดอาวุธปืน กระสุนปืน เสื้อผ้าของคนร้าย รถยนต์พาหนะของคนร้ายที่ใช้กระทำผิด เป็นต้น ซึ่งรวมไปถึงบัญชีทรัพย์ของกลางที่เกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ด้วย แต่บัญชีของกลางตามข้อ 7 นี้มุ่งพิเศษที่จะใช้ให้เห็นถึงบัญชีทรัพย์ของกลางที่เกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยเฉพาะ
เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง รับของโจร หรือปล้นทรัพย์ เป็นต้น
บัญชีดังกล่าวพนักงานสอบสวนจะแบ่งทำเป็น 2 แบบ คือ (1). บัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย และ (2). บัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายได้คืน
การที่ต้องทำบัญชีของกลางทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายและบัญชีของกลางที่ได้คืนก็เพื่อความสะดวกในการคิดราคาทรัพย์ ว่าทรัพย์หายไปเท่าไร ได้คืนเท่าไร และยังขาดอีกเท่าไร เมื่ออัยการฟ้องจำเลย อัยการจะได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์ต่อไป
ในบัญชีดังกล่าวจะระบุรายละเอียดทำนองเดียวกับบัญชีของกลางในคดีอาญาข้อ 6 มีการให้ผู้ต้องหาลงชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีทรัพย์ดังกล่าวด้วย
ข้อควรระวัง ผู้ต้องหาอ่านข้อความในบัญชีอย่างละเอียดก่อนจะเซ็นชื่อ หากไม่ถูกต้อง ต้องแจ้งพนักงานแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นท่านผู้ต้องหาก็มีสิทธิไม่ลงชื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีทรัพย์สินนั้นได้
8.แผนที่เกิดเหตุ
ตามปกติการสอบสวนที่ถูกต้องนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องไปที่เกิดเหตุแล้วบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ ซึ่งเป็นเรื่องการทำงานของพนักงานสอบสวนเองว่าได้ไปตรวจที่เกิดเหตุโดยมีสภาพอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร และพนักงานสอบสวนเขาจะเซ็นชื่อของเขาเอง ไม่ได้ให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อในบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุนั้นด้วย
และต้องทำแผนที่เกิดเหตุไว้ด้วยเพื่อความชัดเจนในการสอบสวน และจะต้องไปทำแผนที่เกิดเหตุจริง ไม่ใช่ทำแผนที่เกิดเหตุโดยวิธีวาดภาพกันบนโต๊ะในห้องทำงานโดยไม่ได้ไปดูที่เกิดเหตุเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นที่เกิดเหตุจะไม่ตรงตามความเป็นจริง
ในคดีอาญาแผนที่เกิดเหตุนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้ต้องหาจะติดคุกเพราะแผนที่เกิดเหตุก็มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะชี้ให้เห็นจากตัวอย่างแผนที่เกิดเหตุการณ์ลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้
พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ว่าในแผนที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหาเข้าไปลักรถโดยเข้าทางประตู ง. ซึ่งอยู่ติดกับกำแพง ค. แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแต่กำแพง ค. เท่านั้น ไม่มีประตู ง. อยู่เลย ผู้ต้องหาจะเข้าไปลักรถทางประตู ง. ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่มีประตู ง. เลย มีแต่กำแพง ค. เท่านั้น แต่ผู้ต้องหาได้เซ็นชื่อลงในช่องผู้ต้องหาแล้ว เป็นการรับรองว่าแผนที่ตำรวจทำขึ้นนั้นถูกต้องทุกประการแล้ว
เมื่อมีการพิจารณาคดีชั้นศาล ผู้ต้องหาจะอ้างความจริงว่าไม่มีประตูเลยมีแต่กำแพงเท่านั้น แผนที่ตำรวจทำนั้นไม่ถูกต้องได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองเซ็นชื่อรับรองว่าถูกต้องไปแล้ว ความเสียเปรียบย่อมเกิดแก่ผู้ต้องหาแน่นอน แม้ความจริงผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจจะหาทางแก้โดยวิธีแถลงให้ศาลออกไปดูที่เกิดเหตุว่าความจริงที่เกิดเหตุจะมีประตูทางออกหรือไม่ก็จริง แต่ถ้าเกิดศาลไม่ได้ไปดูที่เกิดเหตุ เราก็อาจจะเข้าคุกได้ง่ายๆ เพราะการด่วนเซ็นชื่อในแผนที่เกิดเหตุแท้ๆ เชียว
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเซ็นชื่อลงในแผนที่เกิดเหตุจะต้องดูกันให้ละเอียดว่า แผนที่ที่ตำรวจให้เซ็นชื่อถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง ต้องขอให้ตำรวจแก้ไขเสียให้ถูกต้องจึงลงชื่อไป ถ้าตำรวจไม่ยอมแก้ไข เราก็มีสิทธิไม่เซ็นชื่อในแผนที่เกิดเหตุนั้นได้
บางครั้งก็มีการโต้เถียงกันระหว่างผู้เสียหาย พยานและผู้ต้องหา ว่าความจริงแล้วแผนที่เกิดเหตุนั้นเป็นอย่างไรกันแน่? คือ ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าแผนที่เกิดเหตุที่ตนอ้างนั้นถูกต้อง
ทางออกที่ถูกต้องของตำรวจในเรื่องนี้ก็คือ ตำรวจจะต้องทำแผนที่ขึ้นคนละฉบับ คือฉบับหนึ่งฝ่ายผู้เสียหายกล่าวอ้างนำชี้ อีกฉบับพยานกล่าวอ้างนำชี้ และฉบับหนึ่งก็ฝ่ายผู้ต้องหากล่าวนำชี้ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านเป็นผู้ต้องหากล่าวอ้างนำชี้แผนที่เกิดเหตุในฉบับที่ท่านกล่าวอ้าง ท่านก็ย่อมมีสิทธิที่จะเซ็นชื่อลงในแผนที่เกิดเหตุฉบับที่ท่านเห็นว่าถูกต้องนั้นได้ แต่แผนที่ฉบับที่ผู้เสียหายและพยานนำชี้ ถ้าเราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราก็มีสิทธิไม่เซ็นชื่อได้
9.บันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาและบันทึกภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหา
เมื่อเราตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิด ถ้ามีพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นคนรู้จักกับเราดี โดยปกติแล้วตำรวจจะไม่จัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหา ไม่มีการบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา เพราะถือว่ารู้จักกันดีแล้ว ไม่ต้องมีการชี้ตัวอีก แต่พนักงานสอบสวนบางคนก็จัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหาด้วย ไม่ว่าพยานผู้เสียหายจะรู้จักหรือไม่รู้จักกับผู้ต้องหาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพยานหลักฐานมั่นคง ป้องกันไม่ให้พยานมีการเบี้ยวกันในชั้นศาลว่าผู้ต้องหาไม่ใช่คนเดียวกันกับที่ถูกชี้ตัวในชั้นพนักงานสอบสวน
การชี้ตัว การดูตัวผู้ต้องหาในต่างประเทศนั้น เขามีวิธีชี้ตัวดูผู้ต้องหาโดยไม่ให้ผู้ต้องหารู้ตัวเลย เช่น ผู้ต้องหานั่งอยู่ในห้องกระจก พยานดูตัวอยู่นอกกระจก โดยที่กระจกนั้นพยานมองเห็นผู้ต้องหาฝ่ายเดียว แต่ผู้ต้องหามองไม่เห็นพยาน วิธีนี้ทำขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาโกรธอาฆาต พยานก็กล้าชี้กล้าดูตัวผู้ต้องหา โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลของผู้ต้องหา
วิธีการชี้ตัว หรือดูตัวที่ตำรวจทำกันทุกวันนี้ ส่วนมากเขาจะจัดให้ผู้ต้องหายืน หรือนั่งปะปนกันกับคนอื่นๆ ประมาณ 5-6 คน มักจะให้แต่งกายคล้ายๆ กัน แล้วให้พยานดูหน้าดูตัวว่าคนไหนที่เป็นผู้ต้องหาที่พยานจำได้ แล้วให้พยานทำการชี้ตัว เมื่อชี้ตัวถูก ตำรวจก็จะรีบถ่ายภาพการชี้ตัวไว้เป็นหลักฐานทันที แล้วก็บันทึกรายละเอียดในการชี้ตัวไว้ให้ผู้ต้องหา พยานผู้ชี้ตัว และพนักงานสอบสวนลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน แล้วก็จะทำบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาไว้อีกฉบับหนึ่ง
ในการบันทึกการชี้ตัวพนักงานสอบสวนจะบันทึกพฤติการณ์รายละเอียดในการชี้ตัวไว้อย่างครบถ้วน เช่นว่า “ได้จัดให้ผู้ต้องหาแต่งกายตามสมัครใจ ยืนปะปนกับบุคคลอื่นรวม 10 คน ให้พยานชี้ตัว ผลปรากฏว่า “พยานชี้ตัวผู้ต้องหาได้ถูกต้อง” หรือถ้าพยานไม่ยอมชี้ตัวก็จะบันทึกไว้ว่า “พยานไม่ยอมชี้ตัว” หรือชี้ตัวก็จะบันทึกไว้ว่า “พยานชี้ตัวผู้ต้องหาผิด” เป็นต้น
การชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหานั้น ก่อนจะจับผู้ต้องหาได้ก็เป็นเรื่องระหว่างตำรวจกับพยานผู้ชี้ตัวเขาจะบันทึกการชี้ตัวภาพถ่ายได้ถูกต้องหรือไม่? เขายังไม่ได้ให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อ จะให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่ออีกทีก็ตอนจับผู้ต้องหาได้แล้ว ให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อรับรองว่าเป็นรูปถ่ายของตนจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นรูปถ่ายของเราจริง เราก็ควรเซ็นชื่อไปตามความเป็นจริง ส่วนบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหานั้น ตำรวจจะให้ผู้ต้องหากับพยานผู้ชี้ตัวลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
ข้อที่ผู้ต้องหาจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสิทธิของเราตามกฎหมายก็คือ อย่าด่วนเซ็นชื่อส่งเดชลงไปในช่องผู้ต้องหาเป็นอันขาด ถ้าเรื่องไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้วเราจะเสียเปรียบในเชิงคดีมาก ถ้าปฏิเสธสู้คดีในชั้นศาล
ตัวอย่างก็มีเช่น การชี้ตัวครั้งนั้น สมมุติว่าก่อนชี้ตัวพยานมาพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนชี้ตัวผู้ต้องหาให้พยานดูก่อน หรือว่าขณะที่ชี้ตัวผู้ต้องหา พยานยืนลังเลดูไปดูมาตั้งหลายรอบแล้วจึงชี้ตัวหรือชี้ตัวแล้วชี้ตัวผิด แต่มีการบันทึกว่า “ชี้ตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีการลังเล ชี้ตัวผู้ต้องหาทันที ไม่มีใครชี้แนะทั้งสิ้น” คงเห็นได้ชัดว่าผลคดีมันแตกต่างกันมาก
เช่นว่ามีคนชี้แนะก่อนชี้ตัว ชี้ตัวโดยลังเลไม่แน่ใจชี้ตัวผิด พฤติการณ์เหล่านี้พอไปชั้นศาลจะทำให้ศาลเห็นว่าพยานไม่แน่ใจว่าจะจำผู้ต้องหาได้จริงหรือไม่ พฤติการณ์ทำนองนี้ศาลมักจะยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป แต่ถ้าชี้ตัวทันทีแน่นอนมั่นคง เห็นปุ๊บชี้ปั๊บอย่างนี้ยากที่ผู้ต้องหาจะรอดตะรางไปได้
พฤติการณ์การบันทึกชี้ตัวผู้ต้องหาเหล่านี้ ถ้าพนักงานสอบสวนบันทึกลงไปให้ตรงกับความเป็นจริงแล้ว ผลคดีก็เปลี่ยนแปลงยาก แต่ถ้าบันทึกบิดเบือนต่อความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาก็เป็นบุญของผู้ต้องหาที่มีโอกาสหลุดคดีไปได้ แต่ถ้าบันทึกเป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหา ท่านที่เป็นผู้ต้องหาจึงมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิอันชอบธรรมของท่านได้โดยวิธีอ่านบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาและบันทึกภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาให้ดีๆ ก่อนที่จะเซ็นชื่อลงไปในช่องผู้ต้องหา มิฉะนั้นจะแก้ยากเมื่อถึงชั้นสู้คดีชั้นศาล
ตัวอย่าง ความเห็นสั่งไม่ฟ้องของพนักงานสอบสวน
คดีนี้กล่าวหาว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหานี้ได้กระทำโดยประมาท ทำให้เกิดเพลิงไหม้และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นได้รับความเสียหาย
เหตุเกิด แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร บัดนี้การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการสอบสวนได้ความดังนี้
การสอบสวนผู้กล่าวหามี 1 ปาก คือ 1. ร.ต.ท.พิทักษ์ ประภาถะโร ผู้กล่าวหา ให้การว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ
ผู้กล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนคดีอาญาและจราจร จนกระทั่งเวลาที่เกิดเหตุได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุกรุงธนว่าเกิดเหตุเพลิงไหมขึ้นที่บริเวณซอยตรอกขี้เถ้า ถนนกรุงธนบุรี 4 แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ผู้กล่าวหาจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับขั้น และแจ้งกองพิสูจน์ให้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุ
จากนั้นผู้กล่าวหาได้ออกไปยังสถานที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบว่าเพลิงกำลังลุกไหม้ขึ้นที่บ้านเลขที่ 93 (บ้านเลขที่เก่า 802/1) ซึ่งเป็นบ้านของผู้ต้องหา รถดับเพลิงยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เพลิงได้ลุกไหม้บ้านข้างเคียงได้รับความเสียหาย มีบ้านเลขที่ 89 (802/2) ซึ่งเป็นบ้านของนายวารี วัฒนเกียรติ เพลิงได้ลุกไหม้ทั้งหลัง และลุกไหม้บ้านเลขที่ 800 ซึ่งเป็นบ้านของนายสุวพร ขนิษฐโศภณ เพลิงได้ลุกไหม้ทั้งหลัง และลุกไหม้บ้านเลขที่ 91 (802/3) ซึ่งเป็นบ้านของนายวิทูร สิทธิเวช เพลิงได้ลุกไหม้บางส่วน
และเพลิงได้ลุกลามไหม้บ้านเลขที่ 77 ซึ่งเป็นของนายอมร อินสุข เพลิงได้ลุกไหม้บางส่วนและรถดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้จนสงบ ขณะเกิดเหตุไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและไม่มีกลิ่นน้ำมันในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งเพลิงได้ลุกไหม้มาจากบริเวณห้องรับแขกภายในบ้านของผู้ต้องหา ซึ่งมีปลั๊กตู้เย็นเสียบไว้
ขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาได้นำเอาสิ่งของออกไปส่งมารดาที่บริเวณปากซอยตรอกขี้เถ้า เพื่อนำไปขายที่ตลาดวงเวียนใหญ่ในตอนเช้าๆ เมื่อผู้ต้องหากลับมาบ้านก็พบว่าเพลิงไหม้ และไม่สามารถดับเพลิงดังกล่าวได้ และผู้ต้องหาได้มอบตัวต่อผู้กล่าวหา เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การสอบสวนผู้ต้องหามี 1 ปาก คือ 1.นายกิจจา ทองรัตนะนันทร์ ผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุผู้ต้องหาได้ตื่นขึ้นมาเพื่อเตรียมสิ่งของให้มารดาไปขายในตอนเช้าที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ผู้ต้องหาและนางสาวโสภา มีทรัพย์แสน ภรรยาซึ่งไม่ได้จดทะ เบียนสมรสได้นำของออกไปส่งมารดาที่บริเวณปากซอยตรอกขี้เถ้าเพื่อขึ้นรถสามล้อเครื่อง จากนั้นผู้ต้องหาและนางสาวโสภาฯ ได้เดินกลับบ้าน
เมื่อมาถึงพบว่ามีควันไฟขึ้น เมื่อเปิดบ้านออกพบว่าที่ห้องรับแขกมีเพลิงไหม้อยู่ จึงทำการดับเพลิงแต่ไม่สามารถดับได้ เพลิงได้ลุกไหม้มาก จากนั้นผู้ต้องหาจึงได้นำบิดาออกจากบ้าน ซึ่งป่วยเป็นอัมพาตอยู่ออกจากบ้าน จึงไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินภายในบ้านออกมาได้แต่อย่างใด จึงถูกเพลิงไหม้จนหมดตามบัญชีทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ ภายในห้องรับ แขกมีปลั๊กตู้เย็นเสียบไว้ และเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร จึงได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้นั้นผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
การสอบสวนพยานบุคคลมี 9 ปาก คือ 1.นายวารี วัฒนเกียรติ พยาน ให้การว่าเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 89 (802/2) ตามวันเวลาที่เกิดเหตุพยานได้นอนอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งเวลาเกิดเหตุ นายวิทูร สิทธิเวช ได้มาเคาะเรียกพยาน เนื่องจากได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่บ้านผู้ต้องหา และไหม้ลุกลามมายังบ้านพยาน พยานจึงได้ออกจากบ้านโดยไม่ทันได้ขนทรัพย์ออกมาแต่อย่างใด จึงได้ถูกเพลิงไหม้จนหมดตามบัญชีทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ ซึ่งบ้านของพยานไม่มีประกันภัยแต่อย่างใด
2.นายวิทูร สิทธิเวช พยาน ให้การว่าเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 91 (802/3) ตามวันเวลาที่เกิดเหตุขณะที่นอนอยู่พยานได้ยินเสียงคนร้องตะโกนว่าไฟไหม้ จึงตื่นขึ้นมาและเปิดหน้าต่างออกดู และพบว่าที่บ้านของผู้ต้องหาซึ่งปลูกติดกันนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ พยานจึงได้ไปร้องเรียนนายวารี วัฒนเกียรติ ให้ออกจากบ้าน เนื่องจากเพลิงได้ลุกลามไหม้บ้านแล้ว
ซึ่งบ้านพยานเพลิงได้ลุกไหม้เสียหายบางส่วนตามบัญชีทรัพย์ถูกเพลิงไหม้ และรถดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ บ้านของพยานนั้นมีประกันภัย ซึ่งทำประกันไว้กับบริษัท สามัคคีประกันภัย จำกัด ซึ่งได้ชดใช้มาเป็นจำนวนเงิน 57,000 บาท
3.นายสุวพร ขนิษฐโศภณ พยาน ให้การว่าเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 800 ตามวันเวลาที่เกิดเหตุขณะที่นอนอยู่ได้ยินเสียงร้องตะโกนว่าไฟไหม้ จึงได้ตื่นขึ้นและออกมาดู พบว่าเพลิงไหม้ลุกไหม้ขึ้นที่บ้านผู้ต้องหา และกำลังลุกลามมาถึงบ้านพยานซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านผู้ต้องหา จึงไม่สามารถขนทรัพย์สินภายในบ้านออกมาได้ทัน จึงได้ถูกเพลิงลุกไหม้จนหมดตามบัญชีทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้นั้น
4.นายอมร อินสุข พยาน ให้การว่าเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 77 ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ขณะที่นอนอยู่ได้ยินเสียงคนร้องตะโกนว่าไฟไหม้ จึงได้ออกมาดู พบว่าบ้านผู้ต้องหาเพลิงกำลังลุกไหม้และลุกลามบ้านเรือนข้างเคียงและลุกไหม้บ้านของพยานเสียหายบางส่วน ตามบัญชีทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้นั้น
5.นางผ่องศรี เนียมเจียม พยาน ให้การว่าเป็นมารดาของผู้ต้องหา ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ พยานได้ตื่นขึ้นและเตรียมของเพื่อนำไปขายที่ตลาดวงเวียนใหญ่ จากนั้นพยานและผู้ต้องหาและนางสาวโสภา มีทรัพย์แสน ได้ช่วยกันขนของออกไปส่งที่บริเวณปากซอยตรอกขี้เถ้าเพื่อขึ้นรถสามล้อเครื่อง จนกระทั่งเวลา 10.00 น. พยานได้กลับมาที่บ้าน และพบว่าได้ถูกเพลิงไหม้บ้านจนหมด ซึ่งไม่ได้ขนเอาทรัพย์สินภายในบ้านออกมาแต่อย่างใด
6.นายเจริญ ทองรัตนะนันท์ พยาน ให้การว่าเป็นบิดาของผู้ต้องหาซึ่งป่วยเป็นอัมพาต ตามวันเวลาที่เกิดเหตุดังกล่าว ผู้ต้องหาและนางสาวโสภา มีทรัพย์แสน ได้พาพยานออกไปจากที่เกิดเหตุ เนื่องจากเพลิงได้ลุกไหม้ไม่สามารถดับได้ ซึ่งเพลิงได้ลุกไหม้ภายในห้องรับแขก ซึ่งมีปลั๊กเสียบไว้และเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจึงได้ลุกไหม้ดังกล่าว
7.นางสาวโสภา มีทรัพย์แสน พยาน ให้การว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุ พยานได้ตื่นจากที่นอนเพื่อมาเตรียมของให้นางผ่องศรี มารดาผู้ต้องหานำไปขายที่ตลาดวงเวียนใหญ่ เพื่อขายให้กับประชาชนที่มาใส่บาตรพระในตอนเช้าๆ จากนั้นพยานได้นำของออกไปส่งที่บริเวณปากซอยตรอกขี้เถ้าเพื่อขึ้นสามล้อเครื่อง จากนั้นพยานและผู้ต้องหาได้เดินกลับบ้าน เมื่อมาถึงพบเห็นว่ามีควันไฟขึ้นที่บ้าน จึงเปิดบ้านออก พบว่าเพลิงได้ลุกไหม้ที่ห้องรับแขก
พยานและผู้ต้องหาได้ช่วยกันเอาน้ำมาดับเพลิง แต่ไม่สามารถดับได้ พยานและผู้ต้องหาจึงช่วยกันนำเอานายเจริญ ทองรัตนะนันท์ ออกไปจากที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่สามารถขนทรัพย์สินออกมาจากที่เกิดเหตุได้แต่อย่างใด
8.นายชาญกฤช ปรีชายุทธ พยาน ให้การว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุ พยานได้ตื่นจากที่นอนเพื่อออกมาวิ่งออกกำลังกายตอนเช้าทุกๆ วัน เมื่อออกมาพบว่าที่บ้านผู้ต้องหาได้เกิดเพลิงไหม้ พยานจึงร้องตะโกนว่าเพลิงไหม้ๆ และพยานเห็นผู้ต้องหาและนางสาวโสภาฯ ช่วยกันพานายเจริญฯ ออกจากที่เกิดเหตุและพยานได้ยินผู้ต้อง หาพูดขึ้นว่า “ที่บ้านติดเซพทีคัทตั้งสองตัวยังเอาไม่อยู่เลย ซึ่งได้อุ่นกับข้าวไว้ที่เตาและออกไปส่งนางเล็กฯ กลับมาที่บ้านอีกครั้งไฟได้ไหม้แล้ว”
จากนั้นพยานได้ขนของภายในบ้านพยานออก เนื่องจากบ้านอยู่ติดกันแต่เพลิงลุกไหม้ลามไม่ถึงบ้านพยาน รถดับเพลิงสามารถคุมเพลิงไว้ได้ จึงมีทรัพย์สินที่เสียหายแต่อย่างใด
9.นายสมชาย ลีนุกุล พยาน ทำงานอยู่การไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งทางวิทยุจากศูนย์สั่งการระบบไฟฟ้าว่าที่บ้านผู้ต้องหาเกิดเพลิงไหม้ พยานกับพวกจึงได้ไปที่เกิดเหตุ และตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อให้พนักงานดับเพลิงฉีดน้ำได้สะดวก และควบคุมเพลิงไว้ได้ ซึ่งทรัพย์สินของการไฟฟ้านั้นไม่มีอะไรเสียหายแต่อย่างใด
พยานเอกสารและพยานวัตถุ
รายงานผลการตรวจพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ความเห็นจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ถูกเพลิงไหม้เสียหายมากหมดทั้งหลัง ดังนั้น ไม่สามารถระบุถึงตำแหน่งของต้นเพลิงและยืนยันถึงสาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้ ตามหนังสือที่ มท.0664.215/682 ลง 3 พ.ค. 34 จำนวน 1 ฉบับ
หลักฐานทางคดีและความเห็นของพนักงานสอบสวน
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุนั้น ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ผู้กล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนคดีอาญาและจราจร จนกระทั่งเวลาที่เกิดเหตุ ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุกรุงธนว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่บริเวณซอยตรอกขี้เถ้า ถนนกรุงธนบุรี 4 แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ผู้กล่าวหาจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับขั้น และแจ้งกองพิสูจน์ให้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุ
จากนั้นผู้กล่าวหาได้ออกไปยังสถานที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบว่าเพลิงกำลังลุกไหม้ขึ้นที่บ้านเลขที่ 93 (บ้านเลขที่เก่า 802/1) ซึ่งเป็นบ้านของผู้ต้องหา รถดับเพลิงยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ทันที เพลิงได้ลุกลามไหม้บ้านข้างเคียง คือ บ้านเลขที่ 89 (802/2) ของนายวารี วัฒนเกียรติ และบ้านเลขที่ 800 ของนายสุวพร ขนิษฐโศภณ ได้ถูกไหม้เสียหายทั้งหลัง นอกจากนี้ยังมีบ้านเลขที่ 91 (802/3) ของนายวิทูร สิทธิเวช และบ้านเลขที่ 77 ของนายอมร อินสุข เพลิงได้ลุกไหม้บางส่วน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้จนสงบ ขณะเกิดเหตุไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และไม่มีกลิ่นน้ำมันให้ที่เกิดเหตุแต่อย่างใด จากการสอบสวน นายวารี นายวิทูร นายสุวพร นายอมร พยานซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุต่างไม่ทราบสาเหตุที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ คงมีแต่นายเจริญฯ ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน โดยป่วยอยู่ในบ้านเกิดเหตุขณะที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวได้ให้การยืนยันว่า เพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นก่อนที่บริเวณตู้เย็นในห้องรับแขกภายในบ้านของผู้ต้องหาซึ่งมีปลั๊กไฟฟ้าเสียบไว้
จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าขณะที่เกิดเหตุผู้ต้องหาพร้อมด้วยนางสาวโสภาได้ช่วยนางผ่องศรี มารดานำเอาสิ่งของไปส่งที่บริเวณปากซอยตรอกขี้เถ้า เพื่อนำไปขายที่ตลาดวงเวียนใหญ่ เมื่อผู้ต้องหาและนางสาวโสภาฯ กลับมาบ้านก็พบว่าเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่ในบ้านพัก จึงได้ช่วยกันดับเพลิงเอง แต่ไม่สามารถดับเพลิงดังกล่าวได้ ผู้ต้องหาจึงได้ช่วยนำตัวนายเจริญฯ บิดาซึ่งป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถลุกหนีได้เองออกจากบ้านพัก แล้วผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเพื่อต่อสู้คดีต่อไป
จากการตรวจที่เกิดเหตุของกองพิสูจน์หลักฐาน ไม่สามารถระบุถึงตำแหน่งของต้นเพลิงและยืนยันถึงสาเหตุของเพลิงไหม้ได้ คงมีแต่นายเจริญฯ พยาน ยืนยันว่าเพลิงได้เกิดลุกไหม้ขึ้นที่ตู้เย็นภายในห้องรับแขกก่อนแล้วไหม้ลามไป เชื่อว่าเหตุครั้งนี้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร จึงทำให้ช็อตและทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้และลุกลามไหม้บ้านเรือนข้างเคียงได้รับความเสียหาย ตามบัญชีทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้นั้น ไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้หนึ่งผู้ใดแต่อย่างใด
ทางคดีมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอในการยืนยันการกระทำความผิดของผู้ต้องหานี้ฐาน “กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามข้อหาและบทกฎหมายดังกล่าว
จึงเสนอสำนวนการสอบสวนมาเพื่อโปรดพิจารณา
พันตำรวจโท..............................
(.......................................)
สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจ........................
พันตำรวจโท...........................................
(......................................)
สารวัตรสอบสวน (หัวหน้างานสอบสวน)
สถานีตำรวจนครบาล...............................
ร้อยตำรวจโท...........................................
พนักงานสอบสวน
...................................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
12 ส.ค. 66
โฆษณา