โขนพระราชทานเริ่มจัดแสดงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 เมื่อครั้งเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา ด้วยการจัดแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม
ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในฐานะกองอำนวยการจัดแสดงโขนได้ปรับปรุงการแสดงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายโขน ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูเครื่องแต่งกายโขนให้มีความประณีตตามแบบดั้งเดิม อีกทั้งได้พระราชทานทรัพย์จำนวน 3 แสนบาท ให้กรมศิลปากรนำไปศึกษาหาข้อมูลและจัดทำเครื่องแต่งกายโขนให้มีความวิจิตรงดงาม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ ขึ้นอีกครั้ง ปรากฎว่าได้รับความชื่นชอบอย่างมากจากผู้ชมจนต้องมีการเพิ่มรอบการแสดงขึ้นอีก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนขึ้นทุกปี จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อการแสดงโขนนี้ว่า “โขนพระราชทาน” นับแต่นั้นมา
โขนพระราชทาน มีการจัดแสดงมาถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เตรียมเปิดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2566 โดยเปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันนี้ (12 สิงหาคม) เป็นต้นไป
ความโดดเด่นของโขนพระราชทานไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงามเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาผสมผสานเทคนิคสมัยใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงการจัดแสงสีเสียงที่ช่วยให้มีมิติสมจริง ทำให้โขนพระราชทานนั้นมีความผสมผสานกันทั้งความทันสมัยและท่วงท่าลีลาการแสดงที่งดงามตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิม ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เรียกได้ว่าเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย อันเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย ทั้งช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินโขน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในฐานะนักแสดงที่ต้องทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนักจนเชี่ยวชาญ ทำให้ “โขน” ซึ่งเป็นการแสดงเก่าแก่ดั้งเดิมตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยากลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
นับเป็นการฟื้นฟูนาฏศิลป์อันทรงคุณค่าให้สืบทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นอย่างน่าภาคภูมิใจ สมดั่งพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง