12 ส.ค. 2023 เวลา 13:57 • ครอบครัว & เด็ก

(วันนี้เป็นวันแม่ จึงขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับแม่ผม เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว)

ผมเติบใหญ่ในครอบครัวมีกิน
‘มีกิน’ เป็นคนละคำ คนละเรื่องกับ ‘มีอันจะกิน’
มีกินคือไม่ได้อดอยาก แต่แค่มีกิน ไม่อาจเลือกกิน อีกทั้งไม่เคยกินอาหารในภัตตาคารใดๆ
ไม่มีน้ำอัดลม (ยกเว้นวันตรุษจีน) ไม่มีน้ำผลไม้ ไม่มีน้ำหวาน
1
อาหารประเภทกุ้งไม่อยู่ในเมนู เพราะเป็นอาหารแสลงต่อกระเป๋าเงิน ไก่ไม่ค่อยปรากฏตัวบนโต๊ะอาหาร เพราะในเวลานั้นไก่แพงมาก ยังไม่มีการเลี้ยงไก่แบบอุตสาหกรรม
คติวัยเด็กคือ “ไม่ต้องอดก็พอแล้ว ไม่ต้องเลือก”
พ่อแม่ผมมีลูกสิบคนกับช่างทำและซ่อมรองเท้าอีกคนสองคน รายได้จึงจำกัด ค่าอาหารก็จำกัด ดังนั้นการทำอาหารเลี้ยงคนทั้งบ้านรวมช่าง จึงต้องคำนวณรายจ่ายให้น้อยที่สุด แต่อิ่มที่สุด นั่นคือเฉลี่ย 50 บาทต่อวัน สำหรับคนทั้งบ้าน ทั้งสามมื้อ
เป็นหน้าที่ของท่านแม่ไปจ่ายตลาด
4
ทุกเช้าตรู่แม่ผมเดินไปตลาดสดชีกิมหยง หิ้วตะกร้าใบเขื่องไป แล้วกลับมาพร้อมของพะรุงพะรัง ไม่ขึ้นรถถีบสามล้อเพราะเปลืองเงิน ถ้าวันไหนฝนตก (ซึ่งมักตกทั้งปี) ก็ขลุกขลักหน่อย
1
ผมไม่ค่อยเล่าเรื่องแม่ให้ใครฟัง อาจเพราะเรื่องมันสั้นมาก สรุปชีวิตแม่ทั้งชีวิตได้ในบรรทัดเดียว นั่นคือ “แม่ศรีเรือน ทำงานหนัก รักลูก”
แม่บ้านสมัย 50-60 ปีก่อนต้องทำงานทุกอย่าง ผมเห็นแม่ทำงานตั้งแต่รุ่งสางจนมืดค่ำ เก็บกวาดบ้าน ซักผ้า จ่ายตลาด ทำอาหารวันละสามมื้อ (โปรดอย่าลืมว่าเป็นอาหารสำหรับคนสิบกว่าคน) ล้างชาม (โปรดอย่าลืมว่าเป็นจานชามของคนสิบกว่าคน) ตัดเสื้อผ้าให้ลูก รีดผ้า เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ล้างส้วม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ขายของหน้าร้าน และทำรองเท้าด้วย
2
ตั้งแต่เกิดมาจนถึงหลักไมล์ท้ายๆ ในชีวิต ผมยังไม่เคยเจอแม่บ้านที่ไหนทำงานหนักเท่านี้มาก่อน
2
.....................
เนื่องจากกับข้าวแพงกว่าข้าว อาหารทุกมื้อจึงหนักข้าวไว้ก่อน “กินข้าวแล้วอยู่ท้องกว่า”
คนสมัยนั้นคงสมองคนสมัยนี้ด้วยความพิศวงงงวย เอะอะอะไรก็ low-carb ไม่มีแรงทำงานหรอก
การหุงข้าวในสมัยนั้นไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า หุงด้วยหม้อขนาดใหญ่ด้วยเตาถ่าน
การหุงข้าวสำหรับสิบกว่าคนกินด้วยเตาถ่าน ต้องใช้ฝีมือ หลังจากซาวข้าว ต้มน้ำ เทน้ำข้าวทิ้งบ้าง เกลี่ยไฟ แล้วปล่อยให้สุกพอดี
หลังจากสิบกว่าชีวิตกินข้าวหมดแล้ว ก้นหม้อจะเหลือข้าวตังแห้ง ก็แกะข้าวก้นหม้อออกมาเก็บไว้ กินต่างหาก ไม่เหลือให้หมูกิน!
อาหารที่เรากินแม้จะธรรมดา แต่อร่อย แม่ผมเป็นคนทำอาหารอร่อยมาก (ความจริงใครๆ ก็มักเห็นว่าแม่ของตนเองทำอาหารวิเศษมาก!) แต่ฝีมือแม่ผมเป็นระดับ Michelin
ออกเสียง “มิเฉลิ้น” แปลว่ารสต้องตรงลิ้น ไมงั้นท่านพ่อไม่กิน
1
ท่านพ่อเป็นคน ‘คิว.ซี.’ งานอย่างเข้มงวด กล่าวคือหากจานไหนไม่อร่อย แทบจะไม่แตะเลย ด้วยเหตุนี้อาหารของแม่จึงยอดเยี่ยมมาก ทุกจานที่แม่ทำสะอาด และอร่อยมาก และก็ขยันหาอะไรใหม่ๆ มาทำ
1
คิดแล้วสงสารแม่บ้านสมัย 50-60 ปีก่อน ทำงานเหนื่อยแสนสาหัส เอาใจสามียากเย็น คำว่าแม่ศรีเรือนมีความหมายคล้ายๆ คำว่า แม่แบกเรือน
1
ตอนค่ำเวลาหิว แม่ก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวราดหน้าให้ลูกๆ กิน ลูกสิบคนก็สิบห่อใช่ไหม? ฝันไปเถอะ ซื้อมาห่อเดียวก็พอ เทข้าวเปล่าลงไปคลุก หนักข้าวไว้ก่อน ลูกหลายคน กินคนละสามสองคำ
1
ไม่อยากให้ลูกหิว แต่ไม่มีเงินมากพอ ตัวเองหิวไม่เป็นไร แต่ไม่ปล่อยให้ลูกหิว
7
ผมเคยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนชาวกรุงฟัง ก็บอกว่าเป็นประสบการณ์เดียวกัน เพราะพ่อแม่เธอซื้อก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ขอน้ำแกงกับถั่วงอกเยอะๆ ถึงบ้านก็เทข้าวลงไปคลุก
2
นานๆ ทีแม่อาจให้รางวัลตัวเองและลูกๆ ให้ผมข้ามถนนไปซื้อบัตเตอร์เค้กหนึ่งชิ้นที่ร้านกาแฟตรงข้าม ราคาชิ้นละหนึ่งบาท ถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือยอย่างยิ่ง ต่อมาก็มีร้านเบเกอรีมาเปิด ชื่อ รอแยล มีขนมฝรั่งหลายอย่าง จัดว่าเป็นของฟุ่มเฟือยเช่นกัน
แม่ไม่เคยฉลองวันเกิดให้สมาชิกในครอบครัว คงจำวันเกิดของลูกทั้งสิบคนไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยนั้นบ้านเราโดยเฉพาะครอบครัวจีน ยังไม่มีวัฒนธรรมฉลองวันเกิดและร้องเพลง Happy Birthday
1
มีอยู่ปีหนึ่ง ผมเปรยว่าเป็นวันเกิดของผม แม่ก็ต้มไข่ให้หนึ่งฟอง
แม่มีลูกสิบคน ดังนั้นจึงงานล้นมือเสมอ เวลาลูกคนไหนไม่สบาย (มักเป็นผม) ก็ดูแลลูกเป็นกรณีพิเศษ เจียดเงินซื้ออาหารบำรุงสุขภาพมาให้กิน ทั้งที่แพงแสนแพง
ในวัยเด็ก ผมขี้โรค ป่วยเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ บางครั้งนอนซม แม่ป้อนข้าวให้ทีละคำ
ความรักของแม่ยิ่งใหญ่ที่สุด ลูกต้องมาก่อนเสมอ
.................
แม่ทำงานหนักทั้งชาติ แต่ไม่เคยมีเงินเก็บ แม่สอนให้ลูกรู้จักค่าของเงินและความลำบากโดยแสดงให้เห็นทุกวัน ภายใต้เบ้าหลอมแบบนี้ เราไม่มีทางเป็นคนกลัวงานหนัก หรือเป็นมนุษย์ขี้บ่น
2
เมื่อผมเริ่มทำงานได้เงินเดือน ก็ส่งเงินข้ามประเทศไปให้แม่เรื่อยๆ แต่แม่ก็ไม่ใช้ เก็บไว้ให้ลูก
แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมแม่ที่หาดใหญ่ เวลากลับบ้านค่ำๆ เดินย่องเข้าบ้าน ก็ได้ยินเสียงแม่ลอดออกมาจากห้องนอนว่า “กินอะไรมาแล้วยัง?” แค่ฟังเสียงฝีเท้าลูก ก็รู้ว่าใคร
คงเพราะทำงานหนักทั้งชีวิต แม่ป่วยด้วยโรคกระดูกนานราว 30 ปี จนในตอนท้ายกระดูกทั้งร่างบิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ นิ้วมือทั้งสิบหงิกเบี้ยว ทุกครั้งที่อากาศเปลี่ยนแปลง ครึ้มฟ้าครึ้มฝน แม่จะเจ็บทรมานทั้งร่างราวกับเข็มนับหมื่นเล่มทิ่มแทงกระดูกพร้อมกัน อาการเจ็บของแม่จึงเป็นเครื่องมือพยากรณ์อากาศได้ดีกว่ากรมอุตุนิยมวิทยา เพียงเห็นแม่เจ็บ ก็รู้ทันทีว่าอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนจะตกในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
3
แม่จากโลกไปในวัยเพียงหกสิบกว่า หลังจากทำหน้าที่แม่ศรีเรือนมาทั้งชีวิต
1
ครั้งสุดท้ายที่ผมพบแม่คือเมื่อผมไปเยี่ยมแม่ที่บ้านเกิด วันสุดท้ายที่ผมจะกลับกรุงเทพฯ สีหน้าแววตาแม่ยังคงเต็มไปด้วยความห่วงใย บอกตอนผมลาแม่ไปขึ้นรถไฟว่า เราคงไม่ได้พบกันอีก แม่คงรู้จากสภาพร่างกายว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เห็นลูก
ชีวิตแม่ผมเป็นกระจกเงาสะท้อนชีวิตของ ‘แม่ศรีเรือน ทำงานหนัก รักลูก’ นับล้านๆ คนที่กระจายไปทั่วประเทศของเรา เป็นกระดูกสันหลังของชาติจริงๆ
แม่ศรีเรือน ศรีแห่งเรือน สิริมงคลแห่งชีวิต
ในชีวิตนี้คงไม่มีผู้หญิงคนไหนในจักรวาลรักเราเท่าแม่อีกแล้ว
1
วินทร์ เลียววาริณ
12 สิงหาคม 2566
(ส่วนหนึ่งจะรวมเล่มในเดือนตุลาคมนี้ ชื่อ ชีวิตที่ดี)
โฆษณา