12 ส.ค. 2023 เวลา 14:59 • ครอบครัว & เด็ก

โอเคมั้ยที่พ่อแม่จะเหนื่อยกับการเลี้ยงลูก ❓

การเลี้ยงเด็กไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เมื่อบทบาทการเป็นพ่อแม่เริ่มต้นก็แทบไม่มีเวลาให้หยุดพัก พ่อแม่มือใหม่อาจต้องเริ่มต้นบทบาทตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ยาวไปจนถึงพระจันทร์ตั้งตรงบนท้องฟ้าและเป็นแบบนี้วนไป เมื่อเริ่มปรับตัวได้ เด็กน้อยก็เติบโตขึ้นให้ต้องคอยปรับกันไปเรื่อย ๆ พอรวมกับความคาดหวังของตัวพ่อแม่เอง ภาระและน้ำหนักในใจคงยิ่งสะสมพอกพูนขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
วันแม่ในปีนี้ Psycholism จึงอยากชวนทั้งแม่และพ่อมาทำความรู้จักกับภาวะ Parental Burnout เพื่อเช็คสุขภาพใจก่อนที่จะหมดไฟกับการดูแลลูกน้อย
จากผลสำรวจของ Ohio State University ในปี 2021 ในกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี 1,285 คน พบว่ามีจำนวนมากถึง 66% ที่กำลังอยู่ในภาวะ Parental Burnout คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในภาวะนี้มักจะมีความรู้สึกหมดแรง เหนื่อยล้ากับการดูแลลูก เริ่มรู้สึกว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี
นอกจากพ่อแม่จะได้รับผลโดยตรงจากภาวะนี้แล้ว ลูกเองก็ได้รับผลไปด้วยเช่นกัน ผู้ปกครองที่มีภาวะ Burnout มีงานวิจัยบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในภาวะนี้มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับลูกมากขึ้น
🔎สัญญาณของ Parental Burnout
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราเริ่มเข้าข่าย เหนื่อยเกินไป หรือต้องการความช่วยเหลือแล้วหรือเปล่า เรามี 3 สัญญาณที่อยากชวนมาลองสำรวจตัวเองกัน
1. เริ่มมีระยะห่าง (ทางอารมณ์) กับลูก
จากที่เคยอยากอยู่ใกล้ ๆ ตลอด อยากรู้ว่าลูกทำอะไร รู้สึกยังไง ถ้าคนเป็นพ่อแม่เริ่มรู้สึกเหนื่อย เริ่มรู้สึกว่าอยากถอยห่างออกมามากขึ้น อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังมีความอ่อนล้าทางอารมณ์
2. หงุดหงิด โมโหกับการดูแลลูก
เป็นเรื่องปกติที่ในครอบครัวจะมีเรื่องขัดใจกันเกิดขึ้น แต่ถ้าพ่อหรือแม่เริ่มหงุดหงิดง่าย ๆ กับเรื่องเล็กน้อย หรือรู้สึกขัดใจกับกิจวัตรประจำวันที่เคยทำเป็นปกติ และมีการตอบโต้ในเรื่องนั้นอย่างรุนแรง ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะ Parental Burnout เช่นกัน
3. รู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่พ่อแม่ได้ไม่ดี ไม่ยินดีกับบทบาทที่เป็นอยู่
ในฐานะพ่อแม่คงมีหลายจังหวะที่เราประทับใจในตัวลูกของเรา และรู้สึกว่าตัวเราเองก็เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดีเหมือนกันนะ แต่ถ้าความรู้สึกแบบนี้เริ่มหายไป ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นที่น่าชื่นชม หรือเราทำได้ไม่ดีนัก และแอบคิดบ่อย ๆ ว่าถ้าไม่ต้องเลี้ยงลูกชีวิตจะเป็นยังไงบ้าง ความคิดเหล่านี้เป็นอีกสัญญาณสำคัญที่กำลังเตือนเราว่าเราอาจกำลังเหนื่อยเกินไป
❤️‍🩹 แล้วจะป้องกัน หรือลดความรู้สึกเหล่านี้ได้ยังไงบ้าง
ภายใต้หมวกของการเป็นพ่อแม่ที่ต้องสวมอยู่เสมอ คงไม่แปลกที่จะมีความคิด ความรู้สึกเหล่านี้วนเวียนเข้ามาบ้าง Psycholism มีแนวทางในการรับมือในเบื้องต้น 4 ข้อให้คุณพ่อคุณแม่นำไปลองปรับใช้ดูกัน
1. ลดความคาดหวัง
มีงานวิจัยยืนยันว่าพ่อแม่ที่มีความเป็น Perfectionist สูง คาดหวังว่าตนเองจะต้องดูแลลูกได้ดีในทุก ๆ ด้าน มีโอกาสเกิดภาวะ Parental Burnout สูงตามไปด้วย ถ้าคุณเข้าข่ายนี้ ลองพยายามปรับความคาดหวัง ตั้งเป้าหมายให้เป็นไปตามความเป็นจริง ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายใจ และความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น เพื่อลดความรู้สึกเหนื่อยให้น้อยลง
2. ชวนคนในบ้านมาสร้างกิจวัตรร่วมกัน
กิจวัตรที่สม่ำเสมอจะช่วยลดความเครียด ทำให้ไม่ต้องคิดตัดสินใจทุก ๆ วัน และการออกแบบร่วมกันยังเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวด้วย วันหยุดนี้อาจจะลองชวนลูก และสมาชิกในบ้านมาสร้างตารางร่วมกัน เช่น ช่วงเวลาไหนที่ทุกคนจะเข้านอน ทุกเย็นวันศุกร์เป็นวันออกกำลังกาย คืนวันเสาร์เป็น Movie Night ปลอดโทรศัพท์ ไปจนถึงการวางตารางงานบ้านต่าง ๆ
3. แบ่งเวลาให้ตัวเอง
ถึงหน้าที่พ่อแม่ จะเป็น Full-time 24/7 แต่ก็อย่าลืมแบ่งเวลาเล็กน้อยสำหรับตัวเองบ้าง เมื่อลูกเริ่มโต อาจตกลงกันสลับวันกันดูแลลูก เพื่อให้พ่อแม่ได้มีเวลาแปะมือพักจากหน้าที่ พักผ่อนอย่างเป็นตัวเองกับกิจกรรมที่รัก
4. ขอความช่วยเหลือ
พ่อแม่หลายคนอาจะรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกต้องเป็นหน้าที่ของตัวเองตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริง ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นเมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จะส่งผลเสียต่อทั้งตนเองและลูกด้วย เมื่อรู้สึกว่าเหนื่อยเกินไป เริ่มเห็นสัญญาณด้านบน อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ อาจเริ่มด้วยการพูดคุยกันเอง การขอความช่วยเหลือจากครอบครัว การจ้างคนมาช่วยดูแล หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
ถึงบทบาทของพ่อแม่ รวมไปถึงลูกจะไม่มีปุ่ม Stop ให้กดหยุดไว้ได้ตลอดไป แต่ Psycholism อยากชวนทุกคนในบ้านมากดปุ่ม Pause ไว้สักนิด สำรวจตัวเอง ลดความคาดหวังต่อกันและกัน แทนที่ด้วยความเข้าใจ สื่อสารและรับฟังกันในฐานะมนุษย์ ให้วันหยุดวันแม่เป็นวันที่เราจะได้ตั้งหลักอย่างใจดีกับตัวเองอีกครั้งก่อนจะสวมหมวกอันล้ำค่าใบนี้และทำหน้าที่ตามบทบาทของเราต่อไป
โฆษณา