13 ส.ค. 2023 เวลา 09:25 • ปรัชญา

ทุบหม้อข้าว บุกจันทบุรี เวิร์คตอนไหนบ้าง?

เคยเป็นมั้ย? เลือกงานไปแล้ว แต่ตอนนั่งทำงานอยู่ ใจก็ยังคิดวกวนว่าเลือกถูกแล้วหรือยังนะ? เราควรเปลี่ยนไปงานอื่น หรือสายอาชีพอื่นมั้ยนะ?
หรือ… มีเพื่อนมาชวนแพลนทริปในอีกหลายเดือนข้างหน้า คุณอยากไปนะ ถ้าได้หายใจหายคอ หยุดทำงานสักครู่ คุณคิดว่าจะดีกับสุขภาพจิตมาก แต่คุณไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างระหว่างตอนนี้กับวันเดินทาง ถ้างานเดือดตอนนั้นละ? ถ้าคุณบังเอิญได้งานใหม่แล้วติดโปรละ? คุณตอบเพื่อนว่า ดูก่อนละกัน แล้วทริปก็ล่มไป
Dilemma โลกแตกนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเองยังเจออยู่ทุกวัน และจริงๆ ก็ยังก้าวข้ามไม่ได้ บางครั้งมันรบกวนชีวิตประจำวันด้วยการทำให้เรากลายเป็นคนตัดสินใจไม่ได้ หรือชอบแพลนที่จะทำบางอย่าง แล้วเปลี่ยนใจกลางคันอยู่บ่อยๆ
Behavioural Science มีหลักคิดหลายแบบที่อาจจะช่วย “ผ่อนๆ” ความปวดหัวให้คุณลงได้บ้าง หนึ่งในกลยุทธ์เหล่านั้นคือแบบนี้:
ถ้าอะไรก็ตามที่คุณลังเลอยู่นั้น มี “immediate cost” แต่ว่า “delayed benefit” ให้เรา commit ไปเลย แล้วปล่อยให้ตัวเราในอนาคตจัดการกับมัน
คำว่า Commit นี้หมายถึงคุณต้องตัดทางเลือกของตัวคุณในอนาคตทิ้ง …ทำให้ตัวขี้เกียจคนนั้นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำตามที่ตัวคุณตอนนี้ตกลงใจไว้ล่วงหน้า!
เท้าความนิดหน่อย…
หลักการนี้อยู่บนข้อสมมติฐานว่าคุณเป็นคนที่ Time Inconsistent (อ่านเพิ่มได้ในบทความด้านล่าง) ซึ่งมีความหมายว่า พฤติกรรมหรือทางเลือกของคุณเปลี่ยนไปตามเวลาที่คุณถูกให้ตัดสินใจ เช่น คุณจะมีแนวโน้มที่จะตอบตกลงไปออกกำลังกายในวันที่ 1 กันยายนมากกว่า ถ้าเราถามคุณวันนี้ เทียบกับมาถามในวันที่ 31 สิงหาคม
เพราะว่าทั้งความสุขและความเจ็บปวดในอนาคตของคุณมีความหมายน้อยกว่าความสุขและความเจ็บปวดในปัจจุบัน
แล้วการ Commit ช่วยยังไง?
ในเคสที่สิ่งที่คุณกำลังลังเลอยู่นั้นจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดตอนนี้ (การอ่านหนังสือตอนนี้เลย) แต่มีประโยชน์ในอนาคตไกลๆ (การได้เข้าเรียนหรือได้งานในที่ที่คุณใฝ่ฝัน) เมื่อคุณเอา cost ตอนนี้ มาเทียบกับ benefit ที่คุณรู้สึกได้ตอนนี้ ซึ่งถูกสมองคุณทำให้ด้อยค่ากว่าความเป็นจริงมาเทียบกัน ความ “ไม่เอาไม่อยากทำ” หรือ immediate cost จึงชนะ …คุณยอมแพ้ ไม่ทำมันในที่สุด
Commitment มาช่วยแก้ปัญหานี้โดยการเปลี่ยน “จุดของเวลา” ที่คุณตัดสินใจ โดยทำให้ทั้ง cost และ benefit อยู่ในอนาคตไกลๆ ด้วยกันทั้งคู่
วันนี้ คุณคิดว่าคุณควรไปออกกำลังกายในวันที่ 1 กันยายน เพราะประโยชน์จากการออกกำลังกายจากมุมมองของตัวคุณวันนี้ มีค่าสูงกว่าความเหนื่อยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (assume ว่าคุณไม่ชอบออกกำลังนะ)
แต่คุณต้องไม่หยุดอยู่แค่คิด!!
นี่คือจุดสำคัญที่สุด… คุณต้องทำให้ตัวคุณในวันที่ 1 กันยายน "ไม่มีทางเลือก" เช่นด้วยการจ่ายค่ายิมแบบ non-refundable ไว้ล่วงหน้า หรือถ้าเงินแค่นั้นไม่พอต้านตัวขี้เกียจในตัวคุณก็อาจจะต้องเล่นใหญ่กว่านี้ เช่น ฝากเงินก้อนใหญ่ขึ้นไว้กับเพื่อน แล้วให้เพื่อนยึดเงินไปได้ถ้าคุณไม่ทำตามที่ commit
เครื่องมือที่ช่วยบีบบังคับตัวคุณในอนาคตนี้ behavioural scientists เรียกว่า “Commitment Device”
แน่นอนว่า commitment device ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิต
บางครั้ง อย่างในตัวอย่างการเลือกสายงานด้านบน คุณอาจจะไม่ควร commit ด้วยซ้ำ มีโอกาสสูงที่สายงานตอนนี้อาจจะไม่ใช่ทางที่ถูกก็ได้ และการมี mindset ว่าการเปลี่ยนสายงานเป็นความเป็นไปได้นึง อาจช่วยให้คุณยินดีเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากขึ้น
แต่ใน “สถานการณ์ที่เหมาะสม” commitment device ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนจำนวนมากมาแล้ว
การทุบหม้อข้าวบุกจันทบุรีตามหัวข้อบทความก็เป็นตัวอย่างนึง บุกวันนี้ เป็นไทไปอีก 300 ปี
ตัวอย่างคลาสสิกที่ผู้เขียนชอบมาก คือประเด็นการเก็บออมเงิน
แน่นอนว่าวิธีนึงคือ เอาเงินใส่กระปุก ล็อกแล้วโยนกุญแจทิ้งไป… แต่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Richard Thaler และ Shlomo Benartzi บุกเบิกวิธีการที่ฉลาดกว่านั้น ที่ตอนนี้ถูกดัดแปลงไปใช้อย่างแพร่หลาย
สองคนนี้ออกแบบโปรแกรมการออมเงินสำหรับวัยเกษียณสำหรับพนักงานบริษัท ชื่อว่า “Save More Tomorrow” ซึ่งเค้าพบว่า ภายใน 3 ปีกว่า ช่วยเพิ่มอัตราการออมเงินของพนักงานที่เข้าร่วมจาก 3.5% เป็น 13.6% …เพิ่มขึ้นมาเกือบ 4 เท่า!
ดีลของ Save More Tomorrow ที่นำเสนอให้พนักงานบริษัทนี้ง่ายมาก... ทุกครั้งที่เงินเดือนคุณเพิ่มขึ้น “ในอนาคต” คุณจะยินยอมให้เงินส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้ถูกเก็บออมเข้า retirement fund ของคุณโดยอัตโนมัติเลยมั้ย?
สังเกตว่าเงินที่โปรแกรมต้องการเก็บออม ไม่ใช่เงินตอนนี้ แต่เป็นเงินในอนาคต!
นอกจากความเวิร์คที่เห็นชัดเจนต่ออัตราการออมแล้ว สองคนนี้พบอีกว่า commitment device ในลักษณะนี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน เกือบ 4 ใน 5 ของพนักงานที่ได้รับข้อเสนอ ตอบตกลงรับดีล และในกลุ่มที่ตกลงแล้วนี้ อีก 4 ใน 5 ไม่ถอนตัวไปไหนต่อเนื่องกันถึง 4 รอบการขึ้นเงินเดือน!
นี่แปลว่ามนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่แค่ time inconsistent (หรือให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นคือ present biased) แต่ยัง “รู้ตัว” อยู่แล้วด้วยว่าตัวเองมีปัญหา และต้องการตัดทางเลือกของตัวเองในอนาคต!
ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนแบบนี้ ไม่ว่าจะในบริบทของการซื้อประกัน ออมเงิน ลงทุน (DCA tool หรือพวกกองทุน SSF ช่วยคุณได้) การออกกำลังกาย การลงทุนในหน้าที่การงาน หรือด้านอื่นๆ ในชีวิต... ทุบหม้อข้าวนั่นซะ :)
โฆษณา