13 ส.ค. 2023 เวลา 11:30 • หนังสือ

"เมื่อศาลสงสัยพยานโจทก์แล้ว อย่าถามต่อให้ศาลหายสงสัย"

การที่จะให้ศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยไปในคดีอาญานั้น ทนายจำเลยหรือจำเลยมักจะใช้วิธีถามพยานโจทก์ให้ศาลสงสัยพยานโจทก์ให้ได้ เมื่อศาลสงสัยพยานโจทก์แล้วก็จะยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป เข้าหลักที่ว่า “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย”
แต่มีจำเลยและทนายจำเลยเป็นจำนวนมากที่ซักถามพยานโจทก์จนศาลสงสัยพยานโจทก์แล้ว แทนที่ทนายจำเลยจะหยุดถามแค่นั้นเพื่อให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจำเลยไป แต่ทนายจำเลยกลับไม่ยอมหยุดถาม กลับถามต่อไปอีกอย่างมันปาก เพื่อจะแสดงภูมิปัญญาของตัวเอง เพื่อขยี้ให้พยานโจทก์แหลกลาญลงไปอีก
แต่แทนที่พยานโจทก์จะแหลกลาญอย่างว่า กลับกลายเป็นว่าพยานโจทก์กลับให้การน่าเชื่อ ถือขึ้นมาอีก ทำให้ศาลหายสงสัยพยานโจทก์ไปเลย ผลก็คือ จำเลยติดคุกไปตามระเบียบ เพราะทนายจำเลยไม่หยุดถามในสิ่งที่ควรหยุด
เพราะฉะนั้น จึงอยากจะขอเตือนท่านจำเลยและทนายจำเลยในเรื่องนี้ คือ เมื่อถามพยานโจทก์ให้ศาลสงสัยพยานโจทก์ได้แล้วต้องหยุดถามต่อทันที อย่าถามต่อให้ศาลหายสงสัยพยานโจทก์เป็นอันขาด มิฉะนั้นจำเลยของท่านหลุดเข้าตะรางเพราะปากของท่านไม่มีเบรกอย่างแน่แท้
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการถามพยานให้ศาลสงสัยพยานโจทก์ สงสัย?
คดีอาญานั้นมีหลักอยู่ว่า “ทุกคนบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเขากระทำผิดจริง” ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือจำเลย ก็ต้องถือว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะพิพากษาได้ว่าเขากระทำผิดจริง
แน่นอนในการต่อสู้คดีของจำเลย จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าคำให้การของพยานโจทก์นั้นเป็นพยานเท็จ ไม่เป็นความจริง ขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ และหากมีการถามพยานโจทก์ให้ศาลสงสัยว่าพยานโจทก์จะเบิกความตามความสัตย์จริงหรือไม่แล้ว ส่วนมากศาลจะพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไป เพราะอาศัยหลักกฎหมายที่ว่า หากศาลสงสัยพยานโจทก์ก็ให้ยกฟ้องเสีย
ด้วยเหตุนี้ทนายจำเลยในคดีอาญาจึงมักจะพยายามถามให้พยานโจทก์ตอบคำถามให้ศาลสงสัยไว้ก่อน ยิ่งทำให้ศาลสงสัยโจทก์ได้มากเพียงใด? โอกาสที่ศาลจะยกฟ้องก็มีมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
ทนายบางคนพอถามพยานโจทก์ให้ศาลสงสัยได้แล้ว แทนที่จะหยุดถามแค่นั้นกลับแส่ถามต่อไปอีก แต่แทนที่ศาลจะสงสัย ศาลกลับเชื่อพยานโจทก์ยิ่งขึ้นไปอีก
แทนที่จะเป็นการดีกับจำเลย กลับกลายเป็นความซวยของจำเลย เพราะความฉลาดน้อยของทนายจำเลยแท้ๆ เชียว
ต่อไปนี้เป็นคดีตัวอย่างในเรื่องสงสัยพยานโจทก์
อัยการโจทก์ได้ฟ้องนางสาวสายสมรเป็นจำเลย ในข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยวิธีกัดลิ้น นายคึกรัก จนแทบจะขาดจากกัน
หลังจากที่อัยการโจทก์ได้ถามนายพิลึกซึ่งเป็นประจักษ์พยานแล้ว ทนายจำเลยจึงได้ยืนขึ้นซักค้านพยานโจทก์
ทนายจำเลย : “คุณบอกว่าคุณเห็นผู้เสียหายกับจำเลยเอาปากชนกันแบบคนจุ๊บกัน”
พยาน : “ใช่”
ทนายจำเลย : “ผู้เสียหายเอามือกอดเอวจำเลย จำเลยเอามือผลักอกผู้เสียหายดิ้นไปดิ้นมา”
พยาน : “ถูกต้อง”
ทนายจำเลย : “แต่อึดใจเดียวปากผู้เสียหายกับปากจำเลยก็แยกจากกัน”
พยาน : “ถูกต้อง”
ทนายจำเลย : “ก็แปลว่าคุณไม่มีโอกาสได้เห็นเลยว่าจำเลยเป็นคนกัดลิ้นผู้เสียหาย”
พยาน : “ไม่เห็น”
ที่ถูกแล้วทนายจำเลยถามพยานแค่นี้ก็พอแล้ว เพราะพยานโจทก์ตอบแล้วว่าพยานไม่เห็นตอนที่จำเลยกัดลิ้นผู้เสียหาย ซึ่งพอจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้แล้ว
แต่...แทนที่ทนายจำเลยจะหยุดแค่นั้น ทนายจำเลยกลับอวดฉลาดน้อย ถามต่อไปอีกจนได้เรื่อง
ทนายจำเลย : “เมื่อคุณไม่เห็นว่าจำเลยเป็นคนกัดลิ้นผู้เสียหายแล้ว เหตุไฉนคุณจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นคนกัดลิ้นผู้เสียหาย”
พยาน : “ผมไม่เห็นตอนที่จำเลยกัดลิ้นผู้เสียหายก็จริง แต่ผมเห็นตอนที่จำเลยคายลิ้นของผู้เสียหายออกจากปาก ผมจึงเชื่อว่าจำเลยต้องกัดลิ้นผู้เสียหายอย่างแน่นอน”
"ถามไม่มีเบรก"
ทนายจำเลยเมื่อถามพยานโจทก์ให้ศาลสงสัยได้ว่าพยานไม่น่าจะเห็นเหตุการณ์ได้แล้วก็ควรจะหยุดความแค่นั้น คือ ถามให้ศาลสงสัยก็พอแล้ว ถ้าถามหนักเลยไปอีก แทนที่ศาลจะสงสัยพยาน ศาลกลับไม่สงสัยพยานเลยก็มี
เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องนี้ให้ดี ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าถามต่อไปแล้วพยานพังแน่ก็อย่าถาม ไม่งั้นคนถามนั่นแหละจะรู้จักคำว่า “เสียใจ”
คดีปล้นทรัพย์ พยานตอบรับอัยการไปแล้วว่าเห็นจำเลยทั้งสามเข้าจี้เอาสร้อย คอทองคำหนัก 1 บาทจากคอของผู้เสียหายไป ทนายจำเลยพยายามยิงคำถามเข้าใส่พยานเพื่อทำลายน้ำหนักพยานในเรื่องแสงสว่างในที่เกิดเหตุ
ทนายจำเลย : “เสาไฟฟ้าห่างจากที่เกิดเหตุซักร้อยเมตรได้มั้ย”
พยาน : “ได้”
ทนายจำเลย : “ไฟที่เสาไฟฟ้าซักสี่สิบแรงเทียน”
พยาน : “ประมาณนั้น”
ทนายจำเลย : “ไฟดวงนั้นมีฝาครอบกันฝนด้วย”
พยาน : “มี”
ทนายจำเลย : “เพราะฉะนั้นแสงสว่างจากเสาไฟมาถึงที่เกิดเหตุที่ปล้นกันจึงสลัวมาก”
พยาน : “ก้อ...”
ทนายจำเลย : (เสียงดัง) “สลัวมาก”
พยาน : “ครับ”
ทนายจำเลย : “ขนาดอยู่ห่างกันแค่ศอกเดียวยังมองหน้ากันไม่ชัด”
พยาน : “ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่”
ถ้าทนายจำเลยหยุดถามแค่นั้น ทนายจำเลยก็จะเป็นต่อ เพราะศาลจะสงสัยแล้วว่าพยานอาจไม่เห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนเพราะแสงสลัวมาก แต่ทนายจำเลยกลับถามต่อไปอีกเพื่อจะขยี้พยานโจทก์ให้แหลกลาญไปเลย
ทนายจำเลย : (ยึดอก ขยับเสื้อครุยแสดงชัยชนะ) “แล้วคุณเห็นหน้าจำเลยได้ยังไง ในเมื่อแสงสว่างไม่มีในที่เกิดเหตุ”
พยาน : “ขณะที่จำเลยทั้งสามกำลังจี้โจทก์อยู่ พอดีมีแท็กซี่คันหนึ่งเปิดไฟสูงผ่านมาจอดถามพยาน ไฟจากหน้ารถส่องหน้าจำเลยทั้งสามชัดแจ๋วเลยแหละครับท่าน”
"รอยสัก"
อัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาฆ่าตัดคอนายบุญน้อยตายอย่างโหดร้ายทารุณ
จำเลยให้การต่อสู้ว่าผู้ตายไม่ใช่นายบุญน้อย เพราะไม่มีหัวนายบุญน้อยให้เห็นในการชันสูตรพลิกศพ
พยานเป็นบิดาของนายบุญน้อยผู้ตาย ได้เข้ามาเบิกความเป็นพยานของอัยการโจทก์ในฐานะที่เป็นบิดาของนายบุญน้อยผู้ตาย
หลังจากอัยการซักถามเสร็จแล้ว ทนายจำเลยยืนขึ้นซักค้านพยานปากนี้ เพื่อจะแสดงให้ศาลเห็นว่าผู้ตายไม่ใช่นายบุญน้อยตามที่อัยการฟ้อง
ทนายจำเลย : “วันที่ตำรวจชันสูตรศพผู้ตาย คุณก็ไปดูศพด้วย”
พยาน : “ดู”
ทนายจำเลย : “ศพนั้นนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว นอกนั้นผู้ตายไม่ได้ใส่อะไรเลย”
พยาน : “ใช่”
ทนายจำเลย : “แว่นตา นาฬิกา ปากกา แหวน รองเท้า หมวก เครื่องต่างกายอะไรไม่มีเลย นอกจากผ้าขาวม้าใหม่ๆ ผืนเดียวเท่านั้น”
พยาน : “ถูกต้อง”
ทนายจำเลย : “อีกอย่างหนึ่ง (ทนายยิ้มหยันๆ) ศพนั้นก็ไม่มีใบหน้าจะให้ดูด้วย เพราะว่าคอขาดใช่มั้ยครับ”
พยาน : “ใช่”
โดยหลักการแล้ว ทนายจำเลยถามพยานแค่นี้ในประเด็นที่ว่า “พยานจำผู้ตายได้หรือไม่ว่าเป็นลูกของตน” ก็เกินพอแล้ว เพราะเพียงแค่นี้ศาลก็สงสัยแล้วว่าพยานไม่สามารถจำศพได้ว่าเป็นลูกชายของพยานเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยได้แล้ว”
แต่...แทนที่ทนายจำเลยจะหยุดถามแค่นั้น ทนายจำเลยกลับขยับเสื้อครุยแถลงคารม แสดงความสามารถ (ที่ไร้ความสามารถ) ต่อไปจนได้เรื่องจนได้
ทนายจำเลย : “เมื่อศพไม่มีหัว ไม่มีเครื่องแต่งตัวอะไร ผ้าขาวม้าก็ผ้าใหม่ที่ตลาดก็มีขาย จึงไม่มีตำหนิอะไรที่จะทำให้พยานจำศพได้ว่าเป็นศพของลูกชายของพยาน ใช่หรือไม่...”
พยาน : “ผมนึกออกแล้ว ผู้ตายมีตำหนิ”
ทนายจำเลย : (ทำตาเหมือนถูกผีหลอก) “มีตำหนิ”
พยาน : “ใช่ครับ...ผู้ตายมีรอยสักชื่อผู้ตายไว้ที่ต้นแขนข้างซ้ายด้วย ผมเป็นคนผู้ตายไปสักที่วัดเมื่อตอนผู้ตายอายุยี่สิบ ผมจึงจำได้ว่าผู้ตายเป็นลูกของผมอย่างแน่นอน”
"จำเลยอ้างที่อยู่"
คดีฆาตกรรมคดีหนึ่ง จำเลยต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ โดยอ้างว่าคืนเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้กลับมานอนในบ้านซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ
หลังจากทนายจำเลยซักถามหญิงคนใช้แล้ว อัยการโจทก์ได้ลุกขึ้นค้านพยานดังกล่าว เพื่อจะแสดงให้ศาลเห็นว่าคืนเกิดเหตุจำเลยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุอย่างแน่นอน
อัยการโจทก์ : “คืนนั้นคุณคงนอนแต่หัวค่ำ”
พยาน : “ดึกค่ะ”
อัยการโจทก์ : “ซักหกทุ่มได้มั้ย”
พยาน : “ตีหนึ่ง”
อัยการโจทก์ : “ตื่นสักหกโมงเป็นไง”
พยาน : “ตีห้าครึ่ง”
อัยการโจทก์ : “สรุปว่าคุณนอนหลับไปสี่ชั่วโมงครึ่ง”
พยาน : “ถูกต้อง”
อัยการโจทก์ : “ตามธรรมดาคนที่นอนหลับจริงๆ จะไม่รู้อะไรเลย”
พยาน : “ถูกแล้วค่ะ”
ถ้าอัยการโจทก์หยุดคำถามไว้แค่นี้จะทำให้ศาลสงสัยได้ว่าขณะที่พยานซึ่งเป็นคนใช้ของจำเลยหลับอยู่ตั้งหลายชั่วโมงนั้น จำเลยอาจจะย่องกลับเข้ามากระทำผิดในบ้านที่เกิดเหตุก็ได้ อัยการโจทก์กลับขยี้พยานต่อไปจนได้เรื่องจนได้
อัยการโจทก์ : “แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าจำเลยไม่ได้เข้ามาในห้องนอนของเขาในคืนเกิดเหตุ”
พยาน : (ทำท่าเอียงอาย) “รู้สิคะ เพราะดิฉันนอนรอเค้าอยู่บนเตียงนอนทุกคืนเลยค่ะ”
ผลก็คือศาลเชื่อจำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุจริง ยกฟ้องปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป
“สนธยา”
คำถามที่เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ตอบได้ว่าคำตอบที่พยานได้ตอบไปแล้วนั้นถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นคำถามที่ผู้ตอบมักจะหลงตอบได้ง่ายๆ
พยานได้ตอบคำถามอัยการโจทก์ไปแล้วว่าเขาเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยี่ห้อ “โคลต์ สมิธ” ขนาด .38 ยิงผู้ตาย และพยานจำได้อย่างแน่นอนว่าอาวุธปืนของกลางกระบอกนี้เป็นปืนกระบอกเดียวกับที่พยานเห็นจำเลยใช้ยิงผู้ตายในวันเกิดเหตุ
ทนายอาวุโส บุญล้อม ผู้ชำนาญคดีฆาตกรรมเดินไปหยิบปืนของกลางที่วางไว้บนบัลลังก์ตรงหน้าผู้พิพากษาแล้วมาหยุดยืนอยู่ห่างพยานประมาณ 2 ศอก
ทนายจำเลย : “พยานคงเห็นปืนได้ชัดเจนมาก เพราะพยานอยู่ห่างจำเลยแค่วาเดียว”
พยาน : “ชัดมาก”
ทนายจำเลย : “จำเลยยิงผู้ตายแล้ว จำเลยก็โยนปืนทิ้งแล้ววิ่งหนีไป พยานเลยเดินไปเก็บปืนไว้เป็นของกลาง)
พยาน : “ใช่ครับ”
ทนายจำเลย : “พยานยังได้ตรวจดูปืนอย่างละเอียดด้วย”
พยาน : “ดูนิดหน่อยครับ”
ทนายจำเลย : (หยิบปืนของกลางเอาขึ้นมาจ้องดูใกล้ๆ กับแว่นตา แล้วก้มหน้าอ่านข้อความออกมาอย่างช้าๆ) “มีอักษรสอเสือ นอหนู ธอธง ยอยักษ์ สระอา... สนธยา คือชื่อของจำเลยสลักอยู่ที่ด้ามปืนด้วย (แล้วหันไปพูดกับพยาน) พยานจึงเชื่อมันว่าจำเลยที่ใช้ปืนยิงคนนี้ชื่อ สนธยา”
พยาน : “ใช่ครับ”
ทนายจำเลย : “เพราะฉะนั้น (ทนายยกปืนให้พยานดู) พยานจึงเชื่อว่าปืนของกลางกระบอกนี้เป็นปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายจริง เพราะมีชื่อจำเลยอยู่ที่ด้ามปืนด้วย”
พยาน : “ใช่ครับ”
ทนายจำเลย : “ศาลที่เคารพครับ” (ทนายจำเลยโค้งให้ศาลอย่างงดงามพร้อมกับส่งปืนของกลางให้ศาล) ปืนของกลางกระบอกนี้ไม่มีอักษรคำว่า “สนธยา” อยู่เลยครับ”
.......................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
13 ส.ค. 66
โฆษณา