14 ส.ค. 2023 เวลา 04:35 • หนังสือ

"ข้อกฎหมาย" ทำให้จำเลยรอดคุกได้อย่างไร

ในต่างประเทศบางประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เวลาเขาพิจารณาคดีอาญา เขาจะใช้ระบบลูกขุนมาพิจารณา คือ เขาจะตั้งราษฎรธรรมที่ต่างอาชีพกัน เช่น ข้าราชการ พ่อค้า กรรมกร นักธุรกิจ รวมกันประมาณ 15-16 คน ขึ้นเป็นคณะลูกขุน
คณะลูกขุนมีหน้าที่พิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริง หมายความว่า พิจารณาว่าข้อใดน่าเชื่อว่าเป็นเท็จข้อใดน่าเชื่อว่าเป็นจริงเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาปัญหากฎหมายเลย การพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา คณะลูกขุนไม่เกี่ยว
และในปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านั้น ผู้พิพากษาก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ล้วงลงไปพิจารณาได้เลยว่าข้อเท็จจริงในคดีจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะลูกขุนจะพิจารณาชี้ขาด คือ ต่างคนต่างมีหน้าที่ต่างกันไป ผู้พิพากษามีหน้าที่พิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย คณะลูกขุนมีหน้าที่พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริง
ถ้าคณะลูกขุนทั้งหมดประชุมพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยทำผิดจริง คณะลูกขุนก็จะลงมติว่า “จำเลยผิด” (guilty) ศาลก็มีหน้าที่พิพากษาลงโทษจำเลยไป จะลงโทษมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องของศาล ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยไม่ผิดไม่ได้ ต้องพิพากษาว่าผิดตามที่คณะลูกขุนลงมติ แต่ถ้าคณะลูกขุนพิจารณาแล้วลงมติว่า “จำเลยไม่ผิด” (no guilty) แล้ว ศาลจะต้องพิพากษาปล่อยจำเลยไปลูกเดียว จะลงโทษจำเลยไม่ได้เป็นอันขาด
ระบบเหล่านี้ดีตรงที่ว่าราษฎรหลายอาชีพเข้าไปมีส่วนให้ความยุติธรรมแก่จำเลย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้พิพากษาเพียงสองสามคนมีอำนาจชี้ชะตาถูกผิดของจำเลยได้ เป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชน ไม่ใช่มอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่ผู้พิพากษาฝ่ายเดียวเท่านั้น
วิธีพิจารณาแบบลูกขุนนี้ ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาช่วยกันกลั่นกรองให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้แก่จำเลยมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับเมืองไทย เรื่องลูกขุนคงจะยังอยู่ในความฝันเท่านั้นเอง เพราะระบบอำนาจที่สะสมมาเป็นเวลาหลายศตวรรษยังล้างไม่ออก มันฝังเข้ากระดูกดำของบรรพบุรุษของเราไปแล้ว
ตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่าระบบลูกขุนเขาพิจารณาคดีอย่างไร เช่น คดีแชมป์โลก ไมค์ ไทสัน ต้องหาว่าข่มขืนดาราสาวผิวหมึกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อไทสันตกเป็นจำเลย ไทสันตั้งทนายสู้ อัยการเป็นโจทก์ฟ้องไทสัน เมื่อขึ้นศาลจะมีคณะลูกขุนนั่งพิจารณาร่วมกับผู้พิพากษาประมาณ 15-16 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพด้วยกัน
อัยการโจทก์นำผู้เสียหายและพยานโจทก์มาสืบให้ศาลเห็นว่าไทสันข่มขืนกระทำชำเราดาราสาวผิวดำจริง ฝ่ายจำเลยก็สืบสู้ว่าดาราสาวยินดีร่วมประเวณีกับจำเลย ไม่มีการข่มขืนกระทำชำเรา พอสืบพยานโจทก์จำเลยก็จบ ก็เป็นหน้าที่ของคณะลูกขุนทั้งหมดจะพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายว่าน่าเชื่อฝ่ายใดและไม่น่าเชื่อฝ่ายใด (ซึ่งศาลไม่มีอำนาจลงมติในปัญหาข้อเท็จจริงนี้) ในที่สุดคณะลูกขุนก็ลงมติว่าไทสันผิดจริง คือ ข่มขืนกระทำชำเราดาราสาวผิวดำจริง หลังจากนั้นก็หมดหน้าที่ของลูกขุนแล้ว
ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาว่าเมื่อลูกขุนลงมติว่าไทสันผิดจริงแล้ว ผู้พิพากษาก็จะพลิกตำรากฎหมายพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายดูว่าจะลงโทษไทสันกี่ปีจึงจะเหมาะสมกับรูปคดี ในที่สุดผู้พิพากษาก็พิพากษาจำคุกไทสันเป็นเวลา 6 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราดาราสาวผิวหมึก ซึ่งเป็นคดีที่ดังกระฉ่อนโลกในปี 1992
แต่สำหรับในประเทศไทย บ้านนี้เมืองนี้ของเราไม่ใช้ระบบลูกขุน เราใช้ระบบผู้พิพากษามีอำนาจเบ็ดเสร็จไปเลย พิจารณาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ราษฎรไม่เกี่ยว ไม่มีอำนาจร่วมพิจารณาคดีด้วย เช่น คดีไทสัน ถ้าเกิดในเมืองไทยเราแล้ว ศาลไทยก็จะพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้หมดเลย จะชี้จะเชื่อว่าไทสันจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ แล้วใช้กฎหมายลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง
โดยจะลงโทษจำคุกกี่ปีก็ได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หรือจะพิจารณาฟ้องปล่อยจำเลยไปก็ได้ แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร นี่คือความแตกต่างระหว่างการพิจารณา ระบบลูกขุนกับระบบผู้พิพากษา
1.ข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายนั้น หมายความว่าอย่างไร
ข้อเท็จจริง หมายความว่า อะไรที่เป็นข้อเท็จ อะไรที่เป็นข้อจริง รวมเรียกกันว่า “ข้อเท็จจริง” คือ มีทั้งข้อเท็จและข้อจริงอยู่ด้วยกัน เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป จำเลยสู้คดีว่าไม่ได้เอารถยนต์ของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงจึงมีอยู่ว่าจำเลยเอารถของผู้เสียหายไปจริงหรือไม่
โจทก์มีพยาน 2 คน เห็นจำเลยขับรถยนต์ของผู้เสียหายไป จำเลยอ้างว่าขณะเกิดเหตุจำเลยนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีทางที่จะคลานออกมาขับรถของใครไปได้ เพราะฉะนั้นข้อเท็จจึงมีอยู่ว่าพยานโจทก์ 2 คน โกหกหรือว่าจำเลยโกหก ข้อจริงจึงมีว่าพยานโจทก์ 2 คน เห็นจำเลยจริงหรือว่าจำเลยนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจริง
เวลาศาลเขียนคำพิพากษา หรือตำรวจ อัยการเขียนสำนวนการสอบสวน หรือเขียนคำแถลง เขียนอุทธรณ์ ฎีกา จึงมักจะเขียนกันว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า” คือ มีทั้งข้อเท็จและข้อจริงอยู่ในเรื่องเหล่านั้น แล้วจึงมาพิจารณาดูว่าอะไรน่าเชื่อว่าเป็นข้อเท็จ และอะไรน่าเชื่อว่าเป็นข้อจริง
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ คือ เหตุการณ์ทั้งหลายทั่วๆ ไปที่เกิดขึ้น เช่น พยานเห็นจำเลยโดยอาศัยแสงสว่างจากไฟฉาย เป็นข้อเท็จจริง จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจริงหรือไม่ เวลากลางคืนเดือนมืดไม่มีแสงสว่าง พยานจะเห็นและจำจำเลยได้อย่างไร ใครเป็นคนไปแจ้งความเหล่านี้เป็นเรื่องราวเป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้น
ข้อกฎหมาย คือ เป็นข้อที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การกระทำเหล่านั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติไว้หรือไม่ เช่น ก.แทง ข. ที่ท้องจนบาดเจ็บสาหัส ข.วิ่งหนีไปติดรั้ว ก.วิ่งไล่จะแทง ข.ซ้ำอีก ข.จึงยิง ก.ไป 1 นัด เป็นเหตุให้ ก.ตาย ข้อเท็จจริงก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก.แทง ข. ข.ยิง ก.ตาย ส่วนข้อกฎหมายก็คือ การกระทำของ ก. และ ข. จะผิดกฎหมายอะไรหรือไม่
อย่างตามปัญหานี้ ก.มีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 288 ส่วน ข.ที่ยิง ก.ตาย ไม่ผิดกฎหมายฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 เพราะการกระทำของ ข.เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ตามตัวอย่างนี้จะเห็นชัดเจนว่า ปัญหาข้อเท็จจริง คือ ก.ทำอะไร ข. และ ข.ทำอะไรตอบต่อ ก ส่วนปัญหาข้อกฎหมายก็คือ ก. ข. ผิดกฎหมายอะไรหรือไม่นั่นเอง
หรือตัวอย่างอื่น เช่น แดงสามีเข้าไปหาเหลืองภริยาที่บ้านของภริยา เพื่อร่วมประเวณีกันฉันท์สามีภริยา เหลืองไปแจ้งความว่าแดงบุกรุกและพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ข้อเท็จจริงก็คือ แดง เหลืองเป็นสามีภริยากัน แดงไปหาเหลืองที่บ้านของเหลือง กอดปล้ำเหลืองเพื่อจะร่วมประเวณีเหลือง แต่เหลืองไม่ยอมจึงไปแจ้งความ ส่วนข้อกฎหมายก็คือ การกระทำของแดงสามี จะมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานและพยายามข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 365, 276 หรือไม่ นี่คือปัญหาข้อกฎหมาย
2. ปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายจะเกี่ยวพันกันในการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล หรือการอุทธรณ์ ฎีกา ตลอดเวลาจริงหรือไม่
แน่นอน... ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะต้องเกี่ยวพันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก่อนจะถึงตำรวจ ในเรื่องถึงตำรวจ ถึงอัยการ ตำรวจก็ต้องทำสำนวนการสอบสวนและต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นยังไง แล้วสรุปข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนและสรุปข้อกฎหมายลงไปด้วย
เช่นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าแดงปล้นเงินสดดำไป 20,000 บาท พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าในปัญหาข้อกฎหมายนั้น แดงผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 แล้วส่งสำนวนการสอบสวนที่มีทั้งปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายให้อัยการพิจารณา อัยการพิจารณาแล้วจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องก็พิจารณาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
สมมุติว่าฟ้องไปแล้ว อัยการก็ต้องบรรยายฟ้องข้อเท็จจริงให้ศาลฟังว่าจำเลยทำผิดอย่างไร ผิดกฎหมายอะไร มาตราใด ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลจะพิพากษาก็จะต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และจำเลยกระทำผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ แล้วก็พิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องไป
แม้โจทก์จำเลยจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือศาลอุทธรณ์ ฎีกา จะตัดสินคดีโจทก์จำเลย ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ต้องกล่าวถึงปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งนั้น
เช่น ศาลฎีกาพิพากษาว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา มีกำหนด 10 ปี ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่าข้อเท็จ จริงดังกล่าวจำเลยกระทำไปเพราะการป้องกันตัว การกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยไป จะเห็นได้ว่าศาลฎีกาจะพูดถึงข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก่อน จึงจะพูดถึงว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายนั้นมักจะเกี่ยวพันกันอยู่เสมอ
เพราะฉะนั้นการสู้คดีของจำเลยทุกวันนี้ จึงสู้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จำเลยบางคนก็สู้เฉพาะข้อเท็จจริง บางคนก็สู้เฉพาะข้อกฎหมาย แล้วแต่การต่อสู้ของจำเลยแต่ละคน
เช่น แดงจำเลย สู้ข้อเท็จจริงอย่างเดียวว่าแดงไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกับผู้ตาย เอาพยานมาสืบสู้กันว่าขณะเกิดเหตุแดงจำเลยนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลไม่มีทางที่จะลุกมาฆ่าผู้ตายได้ อย่างนี้เรียกว่าสู้ข้อเท็จจริงอย่างเดียว พยานโจทก์ พยานจำเลยคนไหนน่าเชื่อหรือไม่ก็ว่ากันไป
หรือแดงไม่สู้ข้อเท็จจริง คือ ยอมรับข้อเท็จจริงว่ายิงฆ่าผู้ตายจริง ไม่เถียงว่าฆ่าจริง แต่สู้ว่าการกระทำนั้นเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมาย คือ สู้ข้อกฎหมายอย่างเดียวว่าการกระทำของจำเลยไม่ผิดกฎหมาย
การสู้คดีของจำเลยย่อมมีสิทธิสู้ได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมาย ไม่มีกฎหมายห้าม
3.ศาลฎีกาเคยตัดสินบ้างหรือไม่ว่าอะไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเคยตัดสินปัญหาเหล่านี้ไว้มาก เพราะบางครั้งก็เป็นปัญหาคาบเกี่ยวเหมือนกันว่าอะไรเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อะไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งโจทก์จำเลยต่างก็โต้เถียงกันจนต้องให้ศาลฎีกาชี้ขาดไว้เป็นหลักฐาน
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ฎีกาที่ 493/2489 การริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญา การที่ศาลจะสั่งริบสิ่งที่จำเลยใช้กระทำผิดหรือไม่นั้น การริบจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ฎีกาที่ 1356-1360/2508 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย 4 คน ฐานหลบหนีภาษีศุลกากรเป็นเงิน 66,789.80 บาท จำเลยไม่มีเงินค่าปรับ จึงให้กักขังแทนค่าปรับ การกักขังแทนค่าปรับเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ฎีกาที่ 428/2512 การที่จำเลยทั้งสองใช้ไม้ตะพดเป็นอาวุธตีผู้เสียหายแล้วลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์
ฎีกาที่ 1569/2517 การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา จะลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่โจทก์อ้างมาในคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ คือ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ศาลลงโทษตามคำขอท้ายฟ้อง คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้หรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ฎีกาที่2633/2527 ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วหรือยัง เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 635/2485 เหตุที่เกิด เกิดที่ตำบลใดนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 1465/2509 การที่จำเลยแทงผู้ตายขณะที่มีการต่อสู้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่การกระทำจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ฎีกาที่ 710/2516 เอกสารที่จำเลยทำปลอมขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใครหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 3826-3827/2526 ธนาคาร อ.สาขาสุขุมวิทจะอยู่ในเขตท้องที่พญาไทหรือไม่ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทมีเขตอำนาจสอบสวนกินแดงไปถึงไหนนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 665/2528 จำเลยจะลงลายมือชื่อแทน ค.โดยได้รับมอบหมายด้วยวาจา การกระทำของจำเลยไม่ทำให้ ค.เสียหาย หรือไม่น่าจะทำให้ประชาชนเสียหาย จำเลยไม่มีเจตนาปลอมเอกสาร หากจะฟังว่าจำเลยทำผิดก็ขอให้ศาลรออาญาแก่จำเลย เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งนั้น
ฎีกาที่ 1675/2529 อายุความจะเริ่มนับเมื่อใด เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ปัญหาที่ว่าโจทก์ทราบมูลเหตุแห่งคดีนี้และรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
4.ที่ว่าข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น หมายความว่าอย่างไร ศาลมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายได้ตลอดเวลาหรือไม่
ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าระหว่างปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายนั้น อะไรที่มีผลต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนต่างกันอย่างไร
ปัญหาข้อเท็จจริง เช่นว่า จำเลยจะข่มขืนจริงหรือไม่ พยานคนไหนจะเห็นจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ที่เกิดเหตุมีแสงสว่างหรือไม่ ผู้ตายถูกฟันแทงกี่แผล ใครเป็นคนสอบสวนคดีนี้ เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันด้วยพยานหลักฐานว่าพยานของโจทก์หรือพยานของจำเลยฝ่ายใดจะน่าเชื่อกว่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นส่วนรวมอะไร
แต่ถ้าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เช่นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีผลทำให้จำเลยทุกคนพ้นจากการลงโทษหรือไม่ ฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายห้ามไว้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วหรือยัง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายหรือได้รับการยกเว้นการลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ทั้งนั้น
ดังนั้น หลักในเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ปัญหาข้อกฎหมายบางอย่างเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ข้อกฎหมายบางอย่างก็ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องแยกกันให้ดี อะไรเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป
ตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ของกลางริบได้หรือไม่ การกระทำของจำเลยผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เป็นต้น
ข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้นมีผลต่างกันอย่างไร
มีผลต่างกันที่ว่าข้อเท็จจริงทั่วๆ ไป ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ถ้าโจทก์ จำเลยเขาไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือไม่ได้อุทธรณ์ ฎีกาขึ้นมาแล้ว ศาลอุทธรณ์ ฎีกา ก็ไม่มีอำนาจที่จะยกขึ้นมาวินิจฉัยเอง
แต่ถ้าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว แม้ฝ่ายใดจะไม่ได้หยิบยกขึ้นมาสู้ ศาลทุกศาลก็หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อยของประชาชนส่วนรวม
ตัวอย่าง
อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 100 คน หาว่าเดินขบวนเป็นกบฏเพื่อล้มล้างกฎหมายของแผ่นดิน จำเลย 100 คน สู้คดีว่าเดินขบวนโดยสงบไม่ได้เป็นกบฏ คือสู้ว่าเดินขบวนเพื่อขอประชาธิปไตย ศาลจะฟังว่าจำเลยเดินโดยสงบหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ถ้าฝ่ายใดไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ หรือไม่ได้อุทธรณ์ ฎีกาขึ้นมา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านั้นได้เอง
แต่ถ้าศาลไหนก็ตามไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลเหล่านั้นจะยกขึ้นมาวินิจฉัยเองก็ได้
เช่น คดีนี้สมมุติว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกทั้ง 100 คน ฐานเป็นกบฏคนละ 10 ปี จำเลยทุกคนอุทธรณ์ข้อเท็จจริงว่าไม่ได้เป็นกบฏ โดยไม่ได้อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย แต่ถ้าศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าอัยการโจทก์ได้มาฟ้องจำเลยเมื่อเกิน 20 ปีแล้ว (คดีนี้มีอายุความฟ้องร้อง 20 ปี) คดีเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ถือว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้เลยโดยไม่ต้องฟังว่าโจทก์จำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาปัญหาเหล่านี้มาหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฎีกายกขึ้นตัดสินได้เลย
เช่น คดีนี้พอศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไปได้เลย หรือสมมุติว่าคดีนี้ปรากฏว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เป็นฟ้องที่ใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย หรือมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจำเลยทั้ง 100 คนแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายนี้พิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยไปได้เลย แม้ว่าจะไม่มีฝ่ายโจทก์หรือจำเลยอุทธรณ์ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาก็ตาม เพราะถือว่าเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั่นเอง
5. ปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายมีข้อห้ามมิให้มีการอุทธรณ์ ฎีกาเพียงใดหรือไม่
(ก). จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก หรือให้กักขังแทนโทษจำคุก
(ข). จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(ค). ศาลพิพากษาว่าจำเลยผิด แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ (ง). จำเลยต้องคำพิพากษาให้ปรับเกินหนึ่งพันบาท เหล่านี้จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่ห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
หมายเหตุ คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ในข้อ (1) นี้ มีทางแก้ที่จะอุทธรณ์ได้ 2 วิธี คือ (ก). ให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นลงชื่อรับรองให้อุทธรณ์ (ข). อธิบดีกรมอัยการ หรืออัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการมอบหมายลงชื่อรับรองให้อุทธรณ์
(2). คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ห้ามอุทธรณ์คำสั่งจนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งในประเด็นสำคัญ และมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย
คำสั่งระหว่างพิจารณา คือ ศาลจะสั่งระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีก่อนที่ศาลจะพิพากษา แต่จะต้องเป็นคำสั่งที่ไม่ทำให้เสร็จสำนวน เช่น ศาลสั่งตัดพยานโจทก์จำเลย สั่งไม่อนุญาตให้โจทก์จำเลยเลื่อนคดี คำสั่งเหล่านี้ยังไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน สั่งแล้วยังจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปอีก กฎหมายห้ามอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา จะอุทธรณ์ได้เหมือนกันต่อเมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งในประเด็นสำคัญ และมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย
เช่น ศาลสั่งตัดพยานโจทก์ระหว่างพิจารณา ต่อมาภายหลังศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงต่อศาลในคำพิพากษานั้น แล้วโจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลตัดพยานโจทก์นั้นได้ด้วย
คดีต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง คดีต่อไปนี้ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง
(1). คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกนิ 5 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จำคุกไม่เกิน 5 ปี ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ข้อนี้ถือเอาโทษที่จำเลยลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เป็นเกณฑ์ เมื่อศาลสองศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามในข้อเท็จจริง เช่น ศาลชั้นต้นจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 3 ปีเช่นกัน คดีควรยุติได้แล้ว ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง หรือศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขศาลชั้นต้นเล็กน้อย
โปรดสังเกตให้ดี ต้องเป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องห้าม อะไรเป็นแก้ไขเล็กน้อย อะไรเป็นแก้ไขมาก ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ที่ศาลฎีกาเคยตัดสิน เช่น ถ้าศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทกฎหมายแล้วแก้โทษด้วย ถือว่าเป็นการแก้ไขมาก
เช่น ศาลชั้นต้นลงโทษฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำคุก 6 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์แก้เป็นผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส ตามมาตรา 297 จำคุก 2 ปี ถือว่าแก้ทั้งบทและโทษ ถือว่าเป็นแก้ไขมาก ฎีกาข้อเท็จจริงได้ (ฎีกา 1738/2528)
หรือการแก้ไขจากไม่รออาญาเป็นรออาญา ถือว่าจากลงโทษจริงเป็นยังไม่ลงโทษจริง เป็นแก้ไขมาก (ฎีกาที่ 1103/2510) ฎีกาข้อเท็จจริงได้
ส่วนที่แก้ไขเล็กน้อย เช่น กรณีศาลอุทธรณ์แก้แต่โทษ ไม่แก้บทกฎหมาย ถือว่าแก้ไขเล็กน้อย เช่น แก้จากจำคุก 3 เดือน เป็น 1 ปี 6 เดือน (ฎีกา 1223/2502) หรือศาลชั้นต้นลงโทษฐานพยายามฆ่า ตามมาตรา 288, 72 จำคุก 15 ปี ศาลอุทธรณ์แก้เป็นจำคุก 5 ปี ไม่แก้บทกฎหมาย ดังนี้ ถือว่าแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกา (ฎีกาที่ 2716/2516)
(2). คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง หรือแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามโจทก์ฎีกาข้อเท็จจริง
ข้อ (1) เป็นเรื่องลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาข้อเท็จจริง แต่ตามข้อ (2) นี้เป็นเรื่องศาลลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ห้ามเฉพาะโจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น คือ คงเห็นว่าเมื่อจำเลยถูกลงโทษมากแล้วก็ควรยุติได้แล้ว จึงห้ามโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
(3). ถ้าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินโทษดังกล่าว ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจำเลย ให้จำเลยฎีกาได้
ข้อนี้จะเห็นว่าเขาดูที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่มาก ไม่เกิน 2 ปี ศาลอุทธรณ์ก็ยังลงโทษไม่เกินศาลชั้นต้น น่าจะยุติได้แล้ว จึงห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่ถ้าศาลอุทธรณ์แก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย เช่นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 1 ปี ให้รออาญา ศาลอุทธรณ์แก้เป็นจำคุก 2 ปี ไม่รออาญา อย่างนี้เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย ถือว่าเป็นผลร้ายแก่จำเลย จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกา
(4). ถ้าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
แปลว่า เมื่อสองศาลพิจารณาตรงกันแล้ว เห็นว่าจำเลยไม่ผิด ยกฟ้องไปแล้ว มีการกลั่นกรองกันถึงสองศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว กฎหมายก็เห็นว่าควรจะพอกันได้แล้ว ไม่ควรจะให้มีการฎีกาเพื่อให้ลงโทษจำเลยอีกต่อไป จึงห้ามไม่ให้ทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
(5). ห้ามคู่ความฎีกาคำพิพากษา หรือคำสั่งในข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่อย่างเดียว
วิธีการเพื่อความปลอดภัยนั้น กฎหมายเขียนไว้เพื่อป้องกันมิให้คนร้ายมีโอกาสมากระทำผิดซ้ำอีก โดยวิธีให้ศาลมีอำนาจพิพากษา หรือมีคำสั่งเพื่อความปลอดภัยใน 5 วิธีต่อไปนี้ คือ
(5.1) กักกันจำเลย (5.2) ห้ามจำเลยเข้าเขตกำหนด (5.3) เรียกประกันทัณฑ์บน (5.4) คุมตัวจำเลยไว้ในสถานพยาบาล (5.5) ห้ามจำเลยประกอบอาชีพบางอย่าง
เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งในข้อเท็จจริงในเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่อย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 อย่างดังกล่าวแล้ว กฎหมายห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยเหล่านั้น
หมายเหตุ กรณีที่ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงในข้อ (5.1), (5.2), (5.3) และ (5.4) นั้น จะฎีกาได้โดยวิธีการ ดังนี้
(ก) ขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้
(ข) ขอให้อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่าควรฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านั้นได้ คงจะเห็นแล้วว่าในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินแล้วจะอุทธรณ์ฎีกาได้ทุกเรื่องไป คดีมีโทษต่ำก็ไม่ควรอนุญาตให้อุทธรณ์ฎีกา หรือคดีที่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไปทั้งสองศาลก็ห้ามฎีกา เป็นต้น
ข้อจำกัดเหล่านี้มีไว้เพื่อจะมิให้มีการอุทธรณ์ฎีกาให้รกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น เว้นแต่คดีที่จำเลยถูกลงโทษจริงๆ ก็ควรที่จะให้โอกาสจำเลยสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยจนถึงศาลฎีกาได้
ส่วนปัญหาที่ว่าข้อกฎหมายมีข้อจำกัดในการอุทธรณ์ ฎีกาเพียงใดหรือไม่นั้น กฎหมายจำกัดในเรื่องปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้ต่างกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นจำกัดและห้ามไว้มากมิให้มีการอุทธรณ์ฎีกากันได้ แต่ปัญหาข้อกฎหมายถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วย โดยหลักแล้วกฎหมายมักจะยอมให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายได้จนถึงศาลสูงสุด ศาลฎีกา
เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ ที่ห้ามมิให้มีการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
(1) ห้ามอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย (ดูรายละเอียดในข้อที่ว่าด้วยห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คือ กฎหมายห้ามอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวแล้ว)
(2) คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีที่ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วย แสดงว่าทั้งสองศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยบริสุทธิ์จึงให้ยกฟ้อง กฎหมายเห็นว่าไม่ควรให้ศาลฎีกาพิจารณาอีกให้เสียเวลา จึงห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง
(3) กรณีที่กฎหมายเขียนไว้ว่าให้ถือว่าเป็นที่สุดก็เท่ากับห้ามอุทธรณ์ ฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ตัวอย่างเช่น
(ก) ศาลสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ กรณีที่มีผู้ตายเพราะเจ้าพนักงานอ้างว่าได้กระทำการตามหน้าที่ หรือเพราเหตุที่ได้กระทำตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เช่น ตำรวจทำวิสามัญฆาตกรรมยิงคนตายขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือนักโทษตายในคุก เป็นต้น เมื่อศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้วสั่งว่าผู้ตายคือใครตาย เหตุใดจึงตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 คำสั่งศาลเช่นนี้ถือว่าสิ้นสุด ห้ามอุทธรณ์ ฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จ จริง ฝ่ายใดจะอุทธรณ์ ฎีกาคำสั่งของศาลไม่ได้ทั้งนั้น
(ข) เมื่อราษฎรฟ้องกันเอง ศาลไต่สวนแล้วสั่งว่าคดีมีมูล ถือว่าเด็ดขาด ห้ามคู่ความอุทธรณ์ฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ถ้าศาลสั่งว่าคดีไม่มีมูล โจทก์อุทธรณ์ ฎีกาได้
(ค) กรณีที่ตำรวจหรืออัยการนำผู้ต้องหาไปฝากขัง ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อได้ ตำรวจหรืออัยการไม่มีอำนาจอุทธรณ์ ฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ให้ศาลอุทธรณ์ ฎีกาอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ (ฎีกาที่ 1125/2496)
คงจะพอจับหลักกันได้แล้วว่า ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นมีการจำกัดห้ามอุทธรณ์ ฎีกากันหลายอย่าง แต่ปัญหาข้อกฎหมายนั้นโดยหลักแล้วอุทธรณ์ ฎีกาได้เสมอ เว้นแต่กรณีกฎหมายห้ามอุทธรณ์ ฎีกาไว้เท่านั้น
6.ข้อกฎหมายจะทำให้จำเลยรอดคุกได้หรือไม่
ข้อกฎหมายมีทางที่จะทำให้จำเลยรอดตะรางได้ ถ้าจำเลยหรือทนายจำเลยรู้จักวิธีเสาะหาหนทางเหล่านั้น ข้อกฎหมายที่จะทำให้จำเลยชนะคดีได้นั้นมีหลายทางด้วยกัน ดังตัวอย่างที่ยกให้ดูต่อไปนี้
(1). ตรวจดูว่าฟ้องนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ฟ้องอาญาตามกฎหมายนั้น เขามีแบบมีแผน ไม่ใช่ใครอยากจะฟ้องก็บรรยายฟ้องส่งเดชไปได้ ฟ้องจะต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์ ถูกต้องตามกฎหมายรวม 7 ประการด้วยกัน คือ (1.1) มีชื่อศาล วันเดือนปี (1.2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย ฐานความผิด (1.3) ตำแหน่งอัยการโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นผู้ฟ้องให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติ และบังคับ (1.4) ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ชาติ บังคับ ของจำเลย
(1.5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ บุคคล สิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี นอกจากนี้ฟ้องอาญายังจะต้อง (1.6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
(1.7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้อง จึงจะถือว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์
ดังตัวอย่างฟ้องคดีอาญาต่อไปนี้ คดีหมายเลขดำที่........................ ศาล อาญาธนบุรี วันที่ 27 เดือน เมษายน พุทธศักราช 2535 ความ อาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (กองคดีอาญาธนบุรี กอง 2) โจทก์
นายประสิทธิ์ เกตุตั้งมั่น จำเลย
ฐานความผิด ร่วมกับพวกที่หลบหนีทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กาย และพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุคคโลได้สอบสวนแล้ว
ข้าพเจ้า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ ขอยื่นฟ้อง (1) นายประสิทธิ์ เกตุตั้งมั่น (อายุ 27 ปี) อาชีพ รับจ้าง จำเลย ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 33/7 ถนน – ตรอกหรือซอย ซอยข้างโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ใกล้เคียง – ตำบล/แขวง บุคคโล อำเภอ/เขต ธนบุรี จังหวัด กรุงเทพมหานคร เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย มีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 27 เดือน ธันวาคม 2534 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยนี้ได้ทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
(ก) จำเลยนี้กับพวกอีก 3 คน ซึ่งยังหลบหนีอยู่ไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วม กันใช้กำลังกายชกต่อยเตะ นายราชันย์ รุ่งเรือง ผู้เสียหายที่ 1 หลายที่ ถูกที่บริเวณหูขวา และหัวของผู้เสียหายที่ 1 จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย รายละเอียดบาดแผล ปรากฏตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องนี้
(ข) จำเลยนี้กับพวกอีก 3 คน ซึ่งยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น โดยร่วมกันใช้อาวุธปืนพกสั้น ไม่ทราบขนาด จำนวน 1 กระบอก ซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ เป็นอาวุธยิงนายมงคล คงกษัตริย์ ผู้เสียหายที่ 2 จำนวนหลายนัด ถูกที่แขนซ้าย สะบักและหน้าท้อง
ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งจำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล โดยกระสุนปืนที่จำเลยและพวกใช้ยิงไปถูกอวัยวะที่ไม่สำคัญที่จะทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ถึงตายได้ ผู้เสียหายที่ 2 จึงไม่ตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก บาดแผลปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องนี้
เหตุในฟ้องข้อ 1 (ก) และ (ข) เกิดที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ข้อ 2 ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2534 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ คดีมีมูล
ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว โดยมีประกันตัวไปตั้งแต่วันที่จับกุม ได้ส่งตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว
คำขอท้ายคำฟ้องอาญา การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตราดังนี้ คือ ประมวลกฎหมายอาญา 295, 288, 80, 83 ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่ง
ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาคำฟ้องโดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วย 1 ฉบับ และรอฟังคำสั่งยอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว
(ลายเซ็น) โจทก์ (นายบุญร่วม เทียมจันทร์)
คำฟ้องฉบับนี้ข้าพเจ้า นายวัชระ สุจริตกุล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้เรียง (ลายเซ็น) ผู้เรียง
คำฟ้องฉบับนี้ข้าพเจ้า นางสาวสุนันทา ทวีผล ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด เป็นผู้เขียนหรือพิมพ์ (ลายเซ็น) ผู้เขียนหรือพิมพ์
จะเห็นได้ว่าตามตัวอย่างฟ้องดังกล่าวจะมีรายละเอียดครบทุกอย่างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะต้องละเอียดชัดเจนพอสมควรว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร ซึ่งจะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จากตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยวิธีอย่างไรจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 บาดเจ็บ และจำเลยพยายามฆ่าอย่างไร ทำต่อผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร โดยละเอียดชัดแจ้ง ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งก็ถือว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ที่สุด
แต่ถ้าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ดี บรรยายฟ้องขาดลักษณะสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ บรรยายฟ้องไม่ดีจำเลยไม่เข้าใจฟ้องได้ดี กฎหมายถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม และฟ้องคดีอาญาที่เคลือบคลุมนั้นถือว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นมาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และสามารถยกฟ้องโจทก์ได้ตลอดเวลา
และแม้จำเลยก็สามารถยกเอาข้อที่โจทก์ฟ้องเคลือบคลุมขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ด้วย ซึ่งถ้าศาลฟังว่าฟ้องนั้นเคลือบคลุมจริง ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยจึงมีทางที่จะสู้คดีโจทก์โดยอ้างว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เป็นฟ้องที่บรรยายฟ้องไม่ชัดเจน
คือ เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมได้ด้วย และถ้าเป็นเช่นที่จำเลยต่อสู้จริง จำเลยก็จะมีทางรอดตะรางได้อย่างง่ายดาย จำเลยจึงจะต้องตรวจฟ้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องจำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ทันที
ตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
ฎีกาที่ 137/2486 ฟ้องว่าจำเลยลักลอบเล่นการพนัน มีลักษณะคล้ายจับยี่กี่และหวย ก. ข. แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยเล่นอย่างไร เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ฎีกาที่ 444/2502 ฟ้องว่าจำเลยเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัส โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบาดเจ็บสาหัสอย่างไร รักษาเกินกว่า 20 วันหรือไม่ เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ฎีกาที่ 750/2508 บรรยายฟ้องฐานปลอมเครื่องหมายการค้าว่าจำเลยมีบล็อกแม่พิมพ์เป็นเครื่องมือทำไพ่ปลอมไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทำปลอมเครื่องหมายการค้าหรือไม่ ทั้งยังไม่บรรยายฟ้องด้วยว่าการกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อหรือไม่ ซึ่งขาดองค์ประกอบของความผิด ถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ฎีกาที่ 658/2518 ฟ้องเบิกความเท็จบรรยายฟ้องว่า เบิกความเท็จกับความจริงเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้บรรยายว่าข้อความนั้นเป็นข้อสาระสำคัญดีอย่างไร อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานเบิกความเท็จ จึงเคลือบคลุม
ฎีกาที่ 313/2526 ฟ้องว่าจำเลยสอบสวนบันทึกเสนอข้อความบิดเบือนความจริงและบันทึกข้อความนอกสำนวน โดยมิได้บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร บิดเบือนอย่างไร ข้อความใดที่ว่านอกสำนวน เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
ฎีกาที่ 75/2503 ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คโดยไม่มีเงินในธนาคารเพียงพอ แต่บรรยายในฟ้องว่าจำเลยออกเช็คในเดือนพฤศจิกายน 2500 ให้จ่ายเงินแก่ผู้เสียหายในเดือนสิงหาคม 2500 (ย้อนหลังไป) และเดือนสิงหาคม 2500 นั้น ผู้เสียหายนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคาร ธนาคารปฏิเสธ ดังนี้ ถือว่าบรรยายฟ้องไม่เป็นความผิด แม้จำเลยจะรับสารภาพก็ไม่ผิด
ฎีกาที่ 1638/2509 ฟ้องที่มิได้บรรยายให้ชัดแจ้ง ไม่แน่นอนว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไว้เป็นประโยชน์ของจำเลยเมื่อวัน เดือนใด ฯลฯ เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำผิด
ฎีกาที่ 1514/2479 ฟ้องมิได้ระบุสถานที่เกิดเหตุ แม้จำเลยจะรับสารภาพศาลก็ยกฟ้อง
ฎีกาที่ 1525/2522 สถานที่เกิดเหตุเป็นสาระสำคัญที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดการกระทำผิด ย่อมเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าได้กระทำผิด ณ สถานที่ใด จึงถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับแล้ว แม้โจทก์จะยื่นฟ้องใหม่ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิที่จะฟ้องอีก
ฎีกาที่ 288/2511 ฟ้องซึ่งโจทก์มิได้ลงชื่อ เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกายกฟ้องได้
ฎีกาที่ 890/2503 ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ (ทนาย) ฟ้องคดีอาญาแล้ว ทนายผู้ที่รับมอบอำนาจย่อมลงชื่อในฟ้องแทนผู้มอบอำนาจได้
หวังว่าคงจะเห็นได้ชัดเจนแล้วนะว่าฟ้องที่ไม่ดีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือฟ้องที่เคลือบคลุมนั้นทำให้ศาลยกฟ้องปล่อยจำเลยได้ง่ายๆ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยหรือทนายจำเลย จะต้องคอยจ้องตรวจตราฟ้องโจทก์ให้ดี ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องให้รีบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบและถ้าฟ้องนั้นไม่ถูกต้องจริงๆ แล้ว จำเลยก็มีสิทธิชนะคดีได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องออกแรงสู้คดี สืบพยานโจทก์จำเลยให้เมื่อยตุ้ม...
นี่คือคัมภีร์รอดตะรางบทหนึ่งที่รอดได้เพราะโจทก์บรรยายฟ้องไม่ดี
(2). ศึกษาดูกฎหมายที่เราถูกฟ้องว่ามีช่องทางใดบ้างที่จะทำให้เราชนะคดี
ไม่ว่าจะเป็นอัยการโจทก์ฟ้องเรา หรือราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเรา คำขอท้ายฟ้องเขาจะระบุไว้ว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอะไร มาตราใด เช่นว่า ผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายบาดเจ็บและพยายามฆ่า โจทก์ก็จะอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 288, 80, 83 ความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โจทก์ก็จะอ้าง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 หรือความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ใช้เงินตามเช็ค โจทก์ก็อ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นต้น
เราเป็นจำเลยจึงต้องดูคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ให้ดีว่าเขาอ้างกฎหมายอะไรและมาตราอะไร แล้วเราก็พยายามศึกษากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนั้นและมาตราเหล่านั้นให้เข้าใจได้ดี เพื่อจะหาช่องทางที่จะทำให้เราชนะคดีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ความจริงกฎหมายทุกฉบับจะมีตัวบทมาตราที่กำหนดความผิดและโทษไว้ เราจะต้องอ่านและทำความเข้าใจในมาตราที่โจทก์อ้างว่าเราทำผิดกฎหมายนั้นให้เข้าใจ และพยายามแยกให้ออกว่ากฎหมายในมาตราเหล่านั้นมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เพราะคนที่จะทำผิดกฎหมายในมาตราใด จะต้องทำผิดครบองค์ประกอบของความผิดนั้นจึงจะผิดกฎหมาย ถ้าขาดองค์ประกอบของความผิดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ผิดกฎหมายตามที่โจทก์อ้าง
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ.... ปี”
องค์ประกอบความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรานี้ มีดังนี้ (ก) ข่มขืนกระทำชำราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตน (ข) โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ หรือ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือ โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือ โดยหญิงถูกทำให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นคนอื่น
ตามข้อ (ก) หมายความว่า เราต้องมีการกระทำชำเราหญิงโดยที่หญิงเขาไม่ยินยอมและหญิงนั้นต้องไม่ใช่ภริยาเราด้วย ถ้าเป็นภริยาเราก็ไม่ผิดฐานข่มขืน มีการขู่เข็ญ ขู่ว่าจะทำร้าย จะฆ่า หรือใช้กำลังประทุษร้าย ใช้กำลังกอดปล้ำชกต่อย หรือโดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จับหญิงขึงพืดแล้วกระทำชำเราหรือโดยทำให้หญิงเข้าใจว่าตนเป็นคนอื่น อาจจะโดยปลอมตัวว่าเป็นสามี ลักหลับหญิงทำให้หญิงเข้าใจว่าเราเป็นสามีจำเลย การกระทำดังกล่าวจึงจะเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ตามที่โจทก์อ้างไว้ในท้ายคำฟ้อง
ทีนี้เมื่อเราเข้าใจในองค์ประกอบความผิดที่เราถูกฟ้องแล้ว เราก็มาดูว่าการกระทำของเราเข้าองค์ประกอบความผิดของกฎหมายหรือไม่ เช่น สมมุติว่าคดีนี้เรารักใคร่กับผู้เสียหายได้เสียกันด้วยความพอใจทั้งสองฝ่าย เราก็ไล่ดูว่าการกระทำของเราครบองค์ประกอบของความผิดมั้ย ถ้าไม่ครบองค์ประกอบของความผิด เราก็ไม่ผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
อย่างเช่นคดีนี้องค์ประกอบความผิดข้อ (1) ที่ว่าข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตน ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเราไม่ได้ข่มขืนอะไรทั้งสิ้น เพราะกระทำชำเรากันด้วยความรักใคร่ การกระทำของเราก็ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดแล้ว แม้ขาดองค์ประกอบของความผิดไปข้อเดียวข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว
เมื่อเราศึกษาองค์ประกอบของความผิดตามมาตราที่โจทก์อ้างในท้ายฟ้องแล้ว ได้ความว่าการกระทำของเราไม่ครบองค์ประกอบของความผิด เราก็จะสู้ในข้อกฎหมายว่าการกระทำของเราขาดองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย คือ ก็จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยตามที่เราต่อสู้
นอกจากจะศึกษาตามมาตราที่โจทก์อ้างท้ายฟ้องแล้ว ยังจะต้องศึกษากฎหมายทั้งฉบับที่โจทก์อ้างนั้นว่ามีข้อยกเว้นใดๆ ที่ถือว่าการกระทำของเราไม่ผิดกฎหมาย หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือลดโทษบ้าง
หมายความว่า นอกจากจะดูเฉพาะมาตราที่โจทก์อ้างท้ายฟ้องแล้ว ก็ควรจะดูมาตราอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่เราด้วย กฎหมายบางมาตราก็มีข้อยกเว้นในมาตรานั้นๆ เลยว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ผู้กระทำไม่ผิดหรือไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง บางครั้งก็ไปยกเว้นไว้ในมาตราอื่นๆ ในกฎหมายฉบับนั้นก็ต้องตรวจดูให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง ตัวอย่างที่ยกเว้นความผิดได้ในมาตราเดียวกันก็มี
เช่น พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 เรื่องการพกพาอาวุธปืน กฎหมายเขียนไว้ดังนี้
“มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพกพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์...”
จะเห็นว่าความผิดฐานพกพาอาวุธปืนนั้นโดยปกติมีความผิด กฎหมายห้าม เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตพกพาเมื่อเราถูกฟ้องว่าพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เราก็วางแผนสู้คดี เราก็ศึกษาดูในมาตรา 8 ทวินี้ มีข้อยกเว้นไว้ว่า “กรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามควรแห่งพฤติการณ์”
ข้อเท็จจริงได้ความว่าคืนเกิดเหตุเราติดตามคนร้ายที่เข้าปล้นบ้านเราไปอย่างรีบด่วน จึงต้องพกเอาอาวุธปืนติดตัวไปด้วย หรือเราต้องเอาเงินสดหลายล้านบาทติดตัวไปฝากธนาคารโดยรีบด่วน เพราะทราบข่าวว่าคนร้ายจะเข้าปล้น เรากลัวว่าจะมีคนร้ายมาดักปล้นกลางทาง จึงพกปืนติดตัวไปด้วย อย่างนี้ก็ถือว่าเราต้องพกปืนติดตัวเพราะมีเหตุจำเป็นและรีบด่วนตามพฤติการณ์ กฎหมายยกเว้นไว้ให้เรากระทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย
เรายกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นสู้คดีว่าเราพกอาวุธปืนไปในเมืองจริง แต่เรามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามพฤติการณ์ ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนั้นจริงๆ ศาลก็จะยกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยไป เพราะถือว่าการกระทำของจำเลยไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายยกเว้นให้อำนาจจำเลยกระทำการเช่นว่านั้นได้จริงๆ
บางครั้งกฎหมายก็บัญญัติยกเว้นไว้ในมาตราอื่นๆ ไม่ใช่ในมาตราเดียวกัน เราก็ควรดูกฎหมายให้ครบถ้วนทั้งฉบับ บางทีเราก็จะเห็นทางออกของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายได้ เช่น ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ใช้เงินตามเช็ค ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เขียนไว้ว่า
“ถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช่เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นสุดผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกัน...”
เพราะฉะนั้นถ้าเราถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดีเช็คแล้ว ถ้าได้ความว่าเราได้ชำระเงินตามเช็คภายใน 30 วันแล้ว หรือหนี้ที่ได้ออกเช็คนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด กฎหมายถือว่าคดีเลิกกัน เมื่อคดีเลิกกันเราก็ยกข้อกฎหมายขึ้นสู้ว่าคดีที่เราถูกฟ้องนี้ได้เลิกกันแล้ว ศาลก็จะพิพากษาให้ยกฟ้องหรือจำหน่ายคดี คือให้เราชนะคดีนั่นเอง
หรืออย่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (4) วรรคสอง เกี่ยวกับเรื่องไม้แปรรูปว่าไม้ลักษณะต่อไปนี้ถือว่าเป็นไม้แปรรูป คือ
“ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น รวมทั้งไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าได้เคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี สำหรับไม้อื่นที่มิใช่ไม้สักและห้าปีสำหรับไม้สัก มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูป
หมายความว่า ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านเรือนหรือเครื่องใช้ เช่น เครื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้ หรือเวลารื้อบ้านออกมา หรือรื้อเครื่องไม้เฟอร์นิเจอร์ออกมา โดยไม้ทั้งหลายได้ใช้มาแล้วไม้น้อยกว่าสามปี ไม้สักไม่น้อยกว่าห้าปี กฎหมายไม่ถือว่าเป็นไม้แปรรูป เพราะฉะนั้นถ้าเราถูกฟ้องฐานมีไม้แปรรูป แต่ได้ความว่าไม้เหล่านี้เป็นไม้เก่าเคยปลูกบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี ไม้สักไม่น้อยกว่าห้าปี เราก็ไม่ผิดฐานมีมีแปรรูป เพราะกฎหมายไม่ถือว่าเป็นไม้แปรรูป ได้ยกเว้นให้แล้วว่าไม่ผิดฐานมีไม้แปรรูป
เหล่านี้คือข้อกฎหมายที่บัญญัติยกเว้นไว้ในกฎหมายเหล่านั้นว่าไม่ผิดกฎ หมาย ซึ่งเป็นช่องทางที่จะทำให้จำเลยชนะคดีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องศึกษาถึงช่องว่างเหล่านั้นให้ดีเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง
(3) ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินให้จำเลยรอดคุกมาแล้ว
คดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาไม่ว่าเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยจะเป็นฝ่ายชนะหรือแพ้ ทางราชการมักจะพิมพ์ไว้เป็นรูปเล่มทุกปี เรียกว่าคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านี้ เมื่อตัดสินแล้วมักจะเป็นแนวบรรทัดฐานให้ศาลอื่นๆ ยึดถือเป็นแนวทางตัดสินคดีทำนองเดียวกัน คำพิพากษาฎีกาจึงถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่นักกฎหมายทั้งหลายยึดถือเป็นแนวปฏิบัติตลอดมา
มีคดีเป็นจำนวนมากที่จำเลยชนะคดีเพราะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาได้เคยตัดสินไว้ จำเลยหรือทนายจำเลยที่ฉลาดก็จะหาทางสู้คดีโดยอาศัยแนวฎีกาดังกล่าวเป็นทิศทางการสู้คดีแล้วอ้างว่าคดีทำนองเดียวกันนี้เคยตัดสินมาแล้วตามคดีแดงเลข ที่เท่านั้นเท่านี้ ปีนั้นปีนี้ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน ศาลก็มักจะตัดสินเป็นแนวเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อจำเลยจะสู้คดี นอกจากจะศึกษาตัวบทกฎหมายแล้ว ยังจะต้องศึกษาแนวคำพิพากษาฎีกาเพื่อสู้คดีอีกด้วย
ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาเคยตัดสินให้จำเลยชนะคดีเพราะข้อกฎหมายมาแล้วให้ท่านดูเป็นอุทาหรณ์
ฎีกาที่ 1502/2518 (หลักกฎหมายมีว่าถ้ากฎหมายที่ใช้ขณะกระทำผิดกับกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังกระทำผิดต่างกัน ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย) จำเลยถูกฟ้องว่ามีอาวุธปืน คดีอยู่ระหว่างฎีกาตัดสิน ได้มี พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ อนุญาตให้นำอาวุธปืนมาขอรับอนุญาตภายใน 90 วัน ไม่ต้องรับโทษ ดังนี้ ถือว่ากฎหมายที่ใช้ภายหลังที่จำเลยกระทำผิด ยกเว้นโทษให้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ
ฎีกาที่ 1647/2512 (ความผิดฐานพยายามกระทำผิดนั้น หลักกฎหมายมีว่าจะต้องได้มีการลงมือกระทำผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล ถ้ายังไม่ได้ลงมือ ยังไม่ผิดฐานกระทำผิด)
จำเลยควักปืนออกมา ปากกระบอกปืนเพิ่งจะพ้นเอว ยังไม่ทันหันปากกระบอกปืนไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายแย่งปืนได้เสียก่อน ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยยังไม่ผิดฐานพยายามฆ่า เพราะการกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำผิด
ฎีกาที่ 1212/2527 (เรื่องป้องกัน หลักกฎหมายมีว่าถ้าใครมาประทุษร้ายเราโดยผิดกฎหมาย เราก็มีสิทธิป้องกันตัวได้ ถ้าป้องกันพอสมควรแก่เหตุไม่ผิดกฎหมาย)
จำเลยเป็นหัวหน้ายาม สอบสวนผู้ตายไม่ได้อยู่ยามตามหน้าที่ ผู้ตายพูดทำนองไม่ยำเกรง ตรงเข้าเตะต่อยทันที จำเลยชกต่อยตอบโต้ไปเพื่อป้องกันตัว เมื่อจำเลยลุกขึ้นจากที่ถูกผู้ตายเตะต่อย ผู้ตายได้แทงจำเลยอีก 2 ครั้ง ครั้งที่สองถูกหน้าท้องไส้ไหล จำเลยจึงยิงไป 2 นัด ในระยะห่าง 1 วา ขณะที่ผู้ตายขยับจะแทงเอาอีก หากจำเลยไม่ยิงผู้ตายอาจเข้าทำร้ายถึงตายได้ เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
ฎีกาที่ 1722/2526 (เรื่องรับของโจร มีหลักกฎหมายอยู่ว่า ถ้ารับทรัพย์โดยรู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำผิดก็ผิดฐานรับของโจร ถ้าไม่รู้ก็ไม่ผิด)
คนร้ายลักพระแสงกระบี่ของพระบรมรูปทรงม้าไปขายจำเลยที่ร้าน ซึ่งได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุในเวลาค้าขายตามปกติ เป็นการกระทำตามปกติในธุรกิจการค้า แม้รับซื้อไว้ในราคาถูก มิได้เก็บไว้ในลักษณะซ่อนเร้น ถือว่าจำเลยซื้อไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ จำเลยไม่ผิดฐานรับของโจร
ฎีกาที่ 1353/2508 (เรื่องการบุกรุก มีหลักกฎหมายว่าถ้าเข้าไปในเคหสถานคนอื่นโดยมีเหตุอันสมควร ก็ไม่ผิดฐานบุกรุก)
บุตรสาวของเจ้าของบ้านนัดให้จำเลยเข้าไปหา และพาจำเลยเข้าไปในบ้าน ถือว่าจำเลยเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ผิดฐานบุกรุก
ฎีกาที่ 2673/2527 (หลักกฎหมายอายุความฟ้องร้องคดีอาญานั้น กฎหมายกำหนดไว้เลยว่าคดีอะไรจะมีอายุความฟ้องร้องภายในกี่ปี ถ้าเกินไปจากนั้นก็ขาดอายุความฟ้องร้อง ทำให้จำเลยรอดตะรางได้)
จำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 17 มีอายุความ 5 ปี เกิดเหตุวันที่ 27 มกราคม 2519 โจทก์นำตัวมาฟ้องศาลวันที่ 18 พฤษภาคม 2526 คดีขาดอายุความแล้วเพราะเกิน 5 ปี
ฎีกาที่ 1780/2531 (หลักกฎหมายเรื่องอายุความร้องทุกข์และอายุความฟ้องร้องในคดีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้น อายุความร้องทุกข์ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะฟ้องร้องไม่ได้ เว้นแต่ผู้เสียหายจะฟ้องเอง ภายในกำหนดอายุความร้องทุกข์)
โจทก์ร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และฟ้องคดีภายใน 5 ปี (อายุความฟ้องคดีเช็ค 5 ปี) เมื่อไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำผิด คดีขาดอายุความ
ฎีกาที่ 1824/2499 (พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หลักกฎหมายมีว่าการที่จะผิดฐานมีอาวุธปืนนั้น จะต้องได้ความผู้นั้นได้ครอบครองอาวุธปืนไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตน ถ้าเพียงครอบครองไว้ชั่วคราวแทนผู้อื่นก็ไม่ผิด)
เจ้าของปืนฝากปืนไว้แก่จำเลยชั่วขณะ โดยไปซื้อบุหรี่ห่างจากที่จำเลยยืนคอย 10 วา ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองปืนนั้น จึงยังไม่ผิดฐานมีอาวุธปืน
ฎีกาที่ 586-600/2504 (พ.ร.บ.เช็คฯ หลักกฎหมายมีว่าการที่จะผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ต้องได้ความว่าออกเช็คเพื่อชำระเงินกันจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ออกเช็คเพียงประกันหนี้โดยไม่เจตนาใช้เงินจริงๆ ตามเช็คเท่านั้น)
จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารและจ่ายเงินให้โจทก์นำไปใช้ในการก่อสร้าง แต่ให้โจทก์ออกเช็คเป็นประกันการก่อสร้าง รวมทั้งจำนวนเงินที่จ่ายออกไป โดยตกลงกันว่าจะบังคับให้จ่ายตามเช็คได้ต่อเมื่อได้คิดหักทอนบัญชีกันก่อน ต่อมาจำเลยเอาเช็คไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยไปแจ้งตำรวจว่าโจทก์ทำผิดอาญาเรื่องเช็ค ดังนี้ จำเลยผิดฐานแจ้งเท็จ โจทก์ไม่ผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ใช้เงิน
ฎีกาที่ 1333/2523 (พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ หลักกฎหมายมีว่าพระราชกฤษฎีกา หรือประกาศรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ต้องคัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่อำเภอและที่ทำการกำนัน หรือที่สาธารณสถานในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเขาทราบ ถ้าไม่ได้ประกาศ ศาลจะยกฟ้อง)
เขตใดจะเป็นเขตควบคุมการแปรรูปได้ จะต้องมีประกาศของรัฐมนตรีและคัดสำเนาประกาศปิดในที่ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 5 เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และอัยการโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่ามีประกาศของรัฐมนตรีและได้คัดสำเนาประกาศดังกล่าวติดไว้ในที่กำนัน ที่อำเภอ หรือที่สาธารณสถานแล้ว จึงพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยไป
ฎีกาที่ 437/2511 (พ.ร.บ.ป่าไม้ การจะเป็นไม้แปรรูปหรือไม่นั้น กฎหมายป่าไม้กำหนดไว้ว่าอย่างไรเป็นไม้แปรรูป แต่ถ้าไม้อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นเครื่องใช้ หรือเคยเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นเครื่องใช้มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นไม้แปรรูป)
จำเลยต่อเรือทำสำเร็จเป็นตัวเรือแล้ว ตอกหมันยาชัน ใช้ล่องลำคลองได้แล้ว แม้ยังมิได้ติดตั้งเครื่องยนต์และหางเสือ ยังไม่ได้ต่อปากระวางหรือทำเก๋ง ก็ถือว่าเป็นเครื่องใช้ตามกฎหมายแล้ว มิใช่ไม้แปรรูป จำเลยจึงไม่ผิดฐานมีไม้แปรรูป
ฎีกาที่ 1152/2502 (พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ พ.ศ.2522 มีหลักกฎหมายอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงต่อเติมอาคารนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนส่วนประกอบอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักอาคารเดิมเกินร้อยละสิบ ถ้าเกินต้องขออนุญาต)
จำเลยต่อเติมขยายเตาอบให้ใหญ่ขึ้นภายในห้องของจำเลย ตัวอาคารมิได้สร้างออกไปจากเดิม ดังนี้ไม่เป็นการปลูกสร้างที่จะต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479
ฎีกาที่ 622/2493 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องร้องทุกข์ อำนาจฟ้อง หลักกฎหมายมีว่าความผิดต่อส่วนตัวนั้น ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ก่อนแล้ว อัยการโจทก์จะฟ้องคดีนั้นไม่ได้)
ความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ ถ้าไม่ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้เสียหายแจ้งความเฉพาะเรื่องถูกทำร้ายร่างกายเท่านั้น ไม่ได้ร้องทุกข์ฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ อัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเฉพาะข้อหานี้
ฎีกาที่ 577/2496 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องผู้เสียหายในคดีอาญา ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะร้องทุกข์และฟ้องคดีเองได้ แต่ถ้าไม่ใช่ผู้เสียหายแล้วไม่มีสิทธิเช่นนั้น การที่บุคคลเข้าร่วมกระทำผิดด้วย ถือว่าผู้นั้นไม่ใช่ผู้เสียหาย)
ผู้เสียหายสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ถือว่าได้ร่วมแระทำผิดด้วย ผู้ที่เข้าร่วมกระทำผิดด้วยไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องผู้อื่นที่ทำร้ายตน
ฎีกาที่ 783/2493 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องฟ้องซ้ำ หลักกฎหมายมีว่าการกระทำอย่างเดียวเมื่อฟ้องศาลจนศาลลงโทษจำเลยไปแล้ว จะมาฟ้องจำเลยคนเดียวอีกไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามฟ้องซ้ำ)
โจทก์และจำเลยคดีนี้ได้เคยถูกอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจนศาลพิพากษาลงโทษฐานต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันมาแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายในการกระทำเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ฎีกาที่ 1733/2521 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องศาลสั่งตัดพยานโจทก์ หลักกฎหมายมีว่าถ้าศาลเห็นว่าพยานโจทก์จำเลยคนใดไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลก็มีอำนาจสั่งตัดพยาน งดสืบพยานคนนั้นได้)
คดีกรรโชกทรัพย์ ศาลสืบตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ รู้เห็นผู้เดียวตอนจำเลยกับโจทก์เรื่องกรรโชกที่ฟ้อง นอกนั้นเป็นผู้รับบอกเล่าจากโจทก์ ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลสั่งงดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้องได้
ฎีกาที่ 1015/2479 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หลักกฎหมายมีว่าถ้าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแล้ว ศาลยกขึ้นพิจารณาเองได้ตลอดเวลา แม้ว่าโจทก์จำเลยจะไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม)
โจทก์ไปกู้ยืมจำเลยโดยยอมเสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นเรื่องที่ลูกหนี้สมัครใจ โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงร่วมกระทำผิดกฎหมายด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ลงโทษเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แม้จำเลยมิได้ยกอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประ ชาชน
ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยตัดสินยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยให้พ้นคุกพ้นตะรางได้นี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเนติบัณฑิตยสภาได้จัดพิมพ์ขึ้นจำหน่ายแก่นักกฎหมายและประชาชนทั่วไป ใครๆ ก็มีสิทธิซื้อหาไว้เป็นเจ้าของได้ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านั้นได้ตัดสินไปตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งจะมีทั้งจำเลยติดคุกและไม่ติดคุก มีทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งนับได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยากรู้กฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งหลายที่ได้ยกมาเป็นอุทาหรณ์เหล่านี้ คงพอจะชี้ให้ท่านเห็นแล้วว่าปัญหาข้อกฎหมายนั้นมีช่องทางที่จะทำให้จำเลยรอดคุกรอดตะรางได้หลายทาง
จึงขออวยพรให้ท่านจำเลยที่บริสุทธิ์ทั้งหลายจงใช้ข้อกฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่ท่าน เพื่อท่านจะได้รับเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายโดยทั่วหน้ากัน
.......................................
ศรัญญา วิชชาธรรม
14 ส.ค. 66
โฆษณา