Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
14 ส.ค. 2023 เวลา 14:30 • ประวัติศาสตร์
วันแม่แห่งชาติ: ความเป็นมา บทเพลง และมุมมอง
อย่างที่เราทุกคนต่างก็ทราบกันดีนะครับว่า วันที่ 12 สิงหาคม นอกจากจะเป็นวันหยุดราชการ วันหยุดตามประเพณีทั้งของสถาบันทางการเงิน และภาคเอกชนแล้ว ยังถือเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติด้วย
แรกเดิมทีวันแม่แห่งชาติได้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ปีต่อ ๆ ต้องระงับไป เมื่อสงครามสงบลง หลาย ๆ หน่วยงานก็มีความพยายามในการที่จะรื้อฟื้นวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง
ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 15 เมษายน เป็น “วันแม่ของชาติ” (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ในช่วงนั้น สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดงานวันแม่แห่งชาติ ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จด้วยดี โดยวันแม่แห่งชาติในเวลานั้น นอกจากพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังจัดให้มีการประกวดแม่ของชาติ ตลอดจนคำขวัญวันแม่ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของแม่ แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากขาดผู้สนับสนุน
จนสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียว จนในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยึดเอาวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เป็น “วันแม่แห่งชาติ” นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ มณฑลพิธีสนามหลวง (ภาพ: มติชนออนไลน์)
เมื่อกล่าวถึงวันแม่แห่งชาติแล้ว ก็แถมในส่วนความเป็นมาของ “วันพ่อแห่งชาติ” ให้ ประดับไว้เป็นสาระความรู้แถมไปด้วยสักนิดหนึ่งเลยแล้วกันนะครับ
วันพ่อแห่งชาติ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครช่วยการศึกษา ได้ยึดเอาวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัขกาลที่ 9 เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดชที่ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชน รวมถึงเป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อที่มีต่อสถาบันครอบครัวและสังคมไทยอีกด้วย
พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ณ มณฑลพิธีสนามหลวง (ภาพ: กรมสอบสวนคดีพิเศษ)
จึงถือเป็นวันสำคัญที่ใครหลาย ๆ คนต่างมีความกระตือรือร้นที่จะประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เป็นพิเศษ ซึ่งไม่เฉพาะแต่แม่ แต่อาจจะเป็นการทำในสิ่งที่ดีงามเพื่อพ่อ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลาย แล้วยังเป็นวันที่ดอกมะลิทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำวันแม่แห่งชาตินั้น ได้เบ่งบานและนิยมกันอย่างมากในฐานะสิ่งแทนความรักอันบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก เป็นความรักที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาที่ไม่เสื่อมคลาย
นอกจากดอกมะลิแล้ว บทเพลงต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของแม่ที่มีต่อลูกก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างให้บรรยากาศของวันแม่แห่งชาตินั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นและซาบซึ้งใจ แน่นอนว่า เพลงที่เปิดในวันแม่นั้น มีมากมายหลากหลายบทเพลงด้วยกัน แต่มีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ถือเป็น “เพลงในตำนาน” และ “เพลงเบสิก” (Basic) ซึ่งใครหลาย ๆ คนต้องนึกออก เมื่อได้กล่าวถึงบทเพลงเหล่านี้
● ค่าน้ำนม
เพลง ค่าน้ำนม แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน ครูเพลงลูกทุ่งคนสำคัญของไทย ได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งที่ตนเองเจ็บป่วยอย่างหนักด้วยโรคเรื้อนที่เป็นมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ ทำให้ช่วงปี พ.ศ. 2485 ครูไพบูลย์ ต้องเก็บตัวรักษาอาการป่วย พร้อมกับการรับจ้างแต่งหนังสือนิทานสำหรับเด็ก และแต่งเพลงเป็นอาชีพ แต่ลำพังเงินที่ได้มา มันก็ไม่เพียงพอต่อการรักษาและค่ายาต่าง ๆ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ครูไพบูลย์ป่วยหนักนั้น ผู้เป็นแม่ก็ได้คอยมาเฝ้าดูแลตนอย่างไม่นึกรังเกียจแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อกันอย่างง่ายดาย จนมาปี พ.ศ. 2502 อาการป่วยก็ทำให้ครูไพบูลย์ทรมานอย่างมาก ต้องใช้ยาเสพติดในการบรรเทาอาการ แต่อาการก็ยิ่งทรุดลงไปอีก ทำให้บังเละ วงศ์อาบู ดาวตลกสมัยนั้น ชักชวนให้ไปรักษาที่วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี เมื่อหายดีแล้วก็กลับมาพักพื้นที่บ้านพักในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของครูไพบูลย์
กระทั่งปี พ.ศ. 2508 แม่ของครูไพบูลย์ก็ได้เสียชีวิตลง จากการสูญเสียในครั้งนั้นก็ได้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงชุด “แม่” หนึ่งในนั้นก็มีเพลง “ค่าน้ำนม” รวมอยู่ด้วย
นอกจากความรู้สึกทั้งหมดที่กลั่นออกมาจนได้เป็นเพลง ค่าน้ำนม แล้ว เพลงจะมีชีวิตชีวาไม่ได้หากปราศจากนักร้อง ซึ่งบทเพลงดังกล่าว แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ในการร้องเพลง ค่าน้ำนม คือ บุญช่วย หิรัญสุนทร ซึ่งในตอนนั้นได้นัดหมายการอัดแผ่นเสียงไว้ตอนเวลา 10.00 น. ที่ชั้นบนของศาลาเฉลิมไทย ถนนราชดำเนินกลาง แต่ด้วยความที่บุญช่วยได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ รอจนถึงบ่ายแล้วก็ยังไม่ปรากฏตัวสักที
ทำให้สง่า อารัมภีร ครูเพลงและนักเรียบเรียงเสียงประสาน เสนอ ชาญ เย็นแข ให้เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงแทน กว่าจะอัดแผ่นเสียงสำเร็จได้ ชาญต้องใช้เวลาร้องถึง 4 – 5 ครั้งด้วยกัน เมื่อแผ่นเสียงเพลง ค่าน้ำนม วางออกจำหน่ายได้ไม่นานก็โด่งดังเป็นพลุแตก ส่งผลให้ชื่อเสียงของชาญ เย็นแข ได้รับความนิยมควบคู่ไปกับชื่อของครูไพบูลย์ บุตรขัน
อนึ่ง ในช่วงที่มีการจัดงานวันแม่ ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายนนั้น ทางสถานีวิทยุก็ได้มีการเปิดเพลงที่ครูไพบูลย์ได้แต่งเอาไว้ อย่างค่าน้ำนมตลอดทั้งวัน จึงทำให้บทเพลงดังกล่าวได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงสำคัญประจำวันแม่ไปโดยปริยาย แล้วในเวลาต่อมา เพลง ค่าน้ำนม นั้นก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 อีกด้วย
สามารถรับฟังเพลง ค่าน้ำนม ต้นฉบับที่ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข ได้ที่:
https://youtu.be/A8B1oVP0Ios
เทปคาสเซ็ท อัลบั้มเพลง ค่าน้ำนม ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข (ภาพ: เทพ SHOP)
● ใครหนอ
เพลงนี้แต่งโดย สุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2540 หากได้มีโอกาสสดับรับฟังกันแล้ว ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก แต่แท้ที่จริงแล้ว เพลง ใครหนอ เป็นเพลงสำหรับจีบสาวจากชายหนุ่มผู้หนึ่งที่หลงรักเธอมานาน
เป็นเรื่องราวของสุรพล โทณะวณิก ที่แอบรักสวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2532 มาตั้งแต่สมัยที่ตนเองเป็นเพียงแค่เด็กขายน้ำ แล้วไปจีบนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามชื่อว่า “เชอร์รี่ ฮอฟแมนน์” แล้วก็โดนไล่ออกมา จนสุรพลได้มีโอกาสมาพบกับเชอร์รี่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นนักร้องใช้ชื่อในวงการว่า “สวลี ผกาพันธุ์” แล้ว ตอนนั้นสุรพลก็ได้เป็นนักแต่งเพลงแล้วเช่นกัน ประกอบกับยังโสดและรักสวลีอยู่ หากแต่สวลีรักและได้สมรสกับอดีศักดิ์ เศวตนันทน์แล้ว
มีอยู่วันหนึ่งที่ริมทางเท้าของสนามมวยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินนอก สุรพลเกิดคิดถึงสวลีขึ้นมา จึงได้นั่งแต่งเพลงที่มีชื่อว่า “ใครหนอ” ขึ้น เมื่อแต่งเสร็จก็เอามาให้สวลีร้อง แต่สวลีก็ไม่ยอมร้อง เพราะรู้ว่าเป็นเพลงจีบ ด้วยความพยายามถึง 2 ปี สุรพลจึงต้องเติมท่อนที่ร้องว่า “คุณพ่อคุณแม่” เพิ่มเข้าไป สวลีถึงยอมร้อง
แล้วจากเพลง ใครหนอ นี่เอง ทำให้สวลี ผกาพันธุ์ และสุรพล โทณะวณิก ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 และในเวลาต่อมา เพลง ใครหนอ ก็ได้กลายมาเป็นเพลงสำคัญประจำวันแม่
หลังจากนั้น สุรพล ได้สมรสกับนงลักษณ์ โรจนพรรณ แล้วมีลูกด้วยกัน แต่ไม่นานชีวิตคู่ของเขาก็ต้องจบลง เพราะสุรพลยังคงรักสวลีอยู่มิเสื่อมคลาย แม้จะเป็นการแอบรักข้างเดียวมาโดยตลอด จนกระทั่งสวลี ผกาพันธุ์ ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 แต่หัวใจของสุรพล โทณะวณิก มิได้มีที่ว่างใด ๆ ในหัวใจเหลืออยู่ ด้วยเพราะเขามอบความรักทั้งหมดให้กับสวลี ผกาพันธุ์ นักร้องที่เป็นที่ชื่นชอบที่สุด แม้ว่าเธอจะแต่งงานและมีครอบครัวที่สมบูรณ์มานานแล้ว
สามารถรับฟังเพลง ใครหนอ ต้นฉบับที่ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์ ได้ที่:
https://youtu.be/rBbRAhpJjMM
ปกอัลบั้มเพลง ใครหนอ ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์ (ภาพ: Apple Music)
● อิ่มอุ่น
เพลงนี้แต่งโดย ศุ บุญเลี้ยง เมื่อปี พ.ศ. 2535 จากความตั้งใจของหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งที่ต้องการให้มีบทเพลงสำหรับขับกล่อมคุณแม่หลังคลอด ให้ได้รู้ถึงคุณประโยชน์ของการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ สำหรับคุณแม่และลูกน้อยในตึกกุมารเวช โรงพยาบาลศิริราช ได้ฟังเพลงและมีความสุขร่วมกันในช่วงเวลาการให้นม แม้บทเพลงจะไม่ได้มีกล่าวถึงคุณประโยชน์ทางโภชนาการของนม แต่ก็เป็นการสร้างความผูกพันที่ดีระหว่างแม่กับลูก
จนเวลาผ่านไป เพลง อิ่มอุ่น ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเพลงสำคัญประจำวันแม่ไปโดยปริยายเช่นกัน
สามารถรับฟังเพลง อิ่มอุ่น ต้นฉบับที่ขับร้องโดย ศุ บุญเลี้ยง ได้ที่:
https://youtu.be/XfbQUgsMSZE
ปกอัลบั้มเพลง อิ่มอุ่น ขับร้องโดย ศุ บุญเลี้ยง (ภาพ: Spotify)
แต่ไม่ว่าจะเป็นเพลงอะไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ความรักอย่างจริงใจของพ่อแม่ ตลอดจนผู้มีพระคุณที่มีต่อลูกนั้น ช่างมีค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าบทเพลงทุกบทเพลง หรือดอกไม้ทุกดอกที่มี หรือแม้แต่กิจกรรมทุก ๆ กิจกรรมที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ
ในฐานะลูก สิ่งที่พอจะทำได้ คือ การรู้จักกตัญญูรู้คุณ การทำความดีต่อกัน และการทำทุก ๆ วันให้เป็นวันที่อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่เฉพาะแต่วันแม่หรือวันพ่อ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีแล้วเกิดมามีทุกสิ่ง และที่สำคัญ เป็นไปได้ว่า การจัดกิจกรรมที่ต้องมีการเชิญพ่อแม่มาโรงเรียนเพื่อเป็นตัวแทนให้ทุกคนได้ก้มกราบนั้น ควรจะ “ยกเลิก” ไปให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นการทับถมจิตใจของคนบางคน
ดังเช่นที่โรงเรียนอนุบาลศรีธาตุ ตำบลศรีธาตุ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ได้พิจารณางดจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 ด้วยคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละครอบครัว ตลอดจนห่วงใยความรู้สึกขอนักเรียนที่คุณแม่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้ พร้อมกับมีการปรับรูปแบบเป็นการทำการ์ดอวยพรให้คุณแม่และประกวดแต่งกลอนและเขียนเรียงความวันแม่แทน (
https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/202958
)
ฉะนั้นแล้ว ใครที่ยังมีพ่อแม่ หรือคนที่ท่านยกย่องให้เป็นผู้มีพระคุณอยู่ จงโอบกอดพวกท่านไว้ให้นานที่สุด จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง ในวันที่พวกท่านจากไปอย่างไม่หวนคืนมาอีก...
อ้างอิง:
●
12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ 2566" มีความเป็นมาอย่างไร โดย ไทยพีบีเอส (
https://www.thaipbs.or.th/news/content/330297
)
●
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ รำลึกถึงพระคุณแม่ โดย สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (
https://oldweb.dpt.go.th/images/stories/pdf/newpub/64/Mali_64.pdf
)
●
กำเนิด “เพลงค่าน้ำนม” ครูไพบูลย์แต่งให้แม่ที่ดูแล ไม่รังเกียจโรคร้ายของลูก โดย ศิลปวัฒนธรรม (
https://www.silpa-mag.com/history/article_36972
)
●
ค่าน้ำนมกับดักคนดี......... โดย TZC WebBoard (
https://web.archive.org/web/20080217202245/http://www.typezclub.com/forums/lofiversion/index.php/t2724.html
)
●
คมเคียวคมปากกา - เพลงแม่นี้มีบุญ และ เพลงอุ่นใดๆ โดย
Komchadluek.net
(
https://www.komchadluek.net/entertainment/68908
)
●
ซึ้งน้ำตาจะไหล! สุรพล เปิดรักแท้ที่มีมอบให้ สวลี ผกาพันธุ์ โดย ไทยรัฐออนไลน์ (
https://www.thairath.co.th/entertain/news/1273804
)
●
ประวัติความเป็นมา "วันพ่อแห่งชาติ 2565" ตรงกับ 5 ธันวาคมของทุกปี โดย ไทยรัฐออนไลน์ (
https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/1988969
)
●
ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับวันแม่ โดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (
https://web.archive.org/web/20070701080922/http://webserv.kmitl.ac.th/~s7035655/index4.html
)
●
เปิดที่มาเพลง ‘อิ่มอุ่น’ รับวันแม่ ‘ศุ บุญเลี้ยง’ ปันค่าลิขสิทธิ์แจกรางวัล อิ่มอุ่นอวอร์ด โดย มติชนออนไลน์ (
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1616734
)
●
เฟซบุ๊ก สุรพล โทณะวณิก (Surapol Donavanik) (
https://www.facebook.com/surapol.donavanik/posts/pfbid0hKpvsD3nkXNvUMkLEWjkWpminejFFPgT9UJLG8u7oWZhQtSneXXmk53AL13xuF4Ll
)
●
ย้อนประวัติเพลง ‘อิ่มอุ่น’ มอบรางวัลให้กับผู้ที่ทำให้โลกอุ่นและอิ่ม ในงานอิ่มอุ่นอวอร์ด โดย ศุ บุญเลี้ยง โดย The Standard (
https://thestandard.co/imoun-award/
)
●
‘สุรพล’ ร่วมอาลัย ‘สวลี’ เผยบันทึก ‘รักข้างเดียว’ ของหนุ่มขายน้ำ โดย มติชนออนไลน์ (
https://www.matichon.co.th/social/news_942720
)
●
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ เชอร์รี่ เศวตนันทน์ (สวลี ผกาพันธุ์) ศิลปินแห่งชาติและปูชนียบุคคลเพลงลูกกรุง โดย แนวหน้า (
https://www.naewna.com/lady/366276
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#วันแม่ #วันแม่แห่งชาติ
วันแม่
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย