Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ThaiTongueTied
•
ติดตาม
15 ส.ค. 2023 เวลา 00:00 • การศึกษา
ทำไมคำกริยาภาษาอังกฤษช่องที่ 2 และ 3 ถึงไม่เติม -ed เหมือนกันหมดทุกตัว ?
ภาษาอังกฤษมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและหลากหลาย หนึ่งในความน่าสนใจอยู่ที่คำกริยาบางคำที่มีวิธีการผันที่พิเศษ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า irregular verbs ไม่ใช้วิธีการผันด้วยแค่การเติม -ed เหมือนคำกริยาอื่น ๆ หากผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัยนี้ ขอเชิญมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้
รูปแบบของกริยาปกติ:
ก่อนที่จะดำดิ่งสู่เรื่องของของคำกริยาพิเศษหรือ irregular verbs สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำกริยาพิเศษกับคำกริยาปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการผันที่สอดคล้องกัน โดยทั่วไปจะต่อท้าย “-ed” เพิ่มเข้าไปในคำกริยาพื้นฐานเพื่อให้คำกริยาเหล่านั้นเป็นช่องที่ 2 หรือ 3 ตัวอย่างเช่น “walk (เดิน)” กลายเป็น “walked” และ “play (เล่น)” กลายเป็น “played” วิธีการผันที่เป็นระบบนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ภาษา ทำให้ผู้เรียนสามารถคาดเดารูปแบบกริยาได้ง่ายขึ้น
ปริศนาของคำกริยาพิเศษ:
มาถึงกรณีที่น่าสนใจของคำกริยาพิเศษ เช่นคำว่า “go (ไป)” ซึ่งท้าทายรูปแบบการผันปกติ โดยการนำรูปแบบเฉพาะมาใช้กับกริยาช่องที่ 2 และ 3 ในกรณีของคำว่า “go” ช่องที่ 2 กลายเป็นคำว่า “went” และช่องที่ 3 กลายเป็นคำว่า "gone” แทนที่จะผันไปตามระบบให้เป็นคำว่า “goed*” ซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนภาษาอังกฤษหลายท่านเกิดความสับสน และอาจขยาดภาษาอังกฤษได้ เหตุผลที่แท้จริงของการผันที่ไม่เป็นไปตามระบบนี้ฝังรากหยั่งลึกลงไปในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภาษาอังกฤษ ที่จะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป
รากเหง้าทางประวัติศาสตร์:
หากจะทำความเข้าใจคำกริยาพิเศษบางคำ ก็ต้องย้อนไปถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ได้รับการหล่อหลอมจากอิทธิพลทางภาษาศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่ภาษาเยอรมัน ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศส ในวิวัฒนาการ ภาษามีการเปลี่ยนแปลงทางสัทวิทยา (ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของระบบเสียงของภาษา) และสัณฐานวิทยา (ศาสตร์ที่พูดถึงระบบเสียงของภาษา) หลายครั้ง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากรูปแบบหลัก
คำกริยาที่แข็งแกร่งและอ่อนแอ:
กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจคำกริยาพิเศษได้นั้นอยู่ที่การจัดหมวดหมู่ของคำกริยาเป็นประเภท “กริยาแข็งแรง (strong verbs)” และ “กริยาอ่อนแอ (weak verbs)” ซึ่งเป็นคำเรียกคำกริยาตามวิธีการผันที่แตกต่างกันในภาษาอังกฤษแบบเก่า (Old English) คำกริยาแข็งแรงมีต้นกำเนิดมาจากภาษาเยอรมัน มีระบบการผันกริยาโดยการเปลี่ยนเสียงสระภายในคำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่คงไว้จากอิทธิพลของภาษาอังกฤษแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงสระภายในคำเช่นนี้ อาจเป็นการเปลี่ยนรูปสระหรือเพิ่มเสียงสระเดิมซ้ำเข้าไปในคำอีกที
ในทางกลับกัน คำกริยาอ่อนแอ มีระบบการผันให้เป็นรูปอดีตกาลในภาษาอังกฤษเก่าโดยเติมคำต่อท้าย เช่น “-de” “-ed” หรือ “-d” ซึ่ง 2 คัวอย่างหลังก็คือรูปแบบการผันกริยาปกติแบบที่ใช้กันภาษาอังกฤษปัจจุบัน
ในที่นี้ คำกริยา “go” จัดอยู่ในประเภทกริยาแข็งแรง แรกเริ่มเดิมที รูปอดีตกาลของคำว่า “go” ในสมัยภาษาอังกฤษเก่าคือคำว่า “eode” (ถอดเสียงอย่างง่าย ๆ อ่านว่า อี-โอ-เด) จากนั้นในยุคภาษาอังกฤษกลาง หรือ Middle English มีการเปลี่ยนเสียงและสระจนกลายเป็นคำว่า “yede” (ถอดเสียงอย่างง่าย ๆ อ่านว่า เย-เด)
ส่วนคำว่า “went” มีที่มาจากคำกริยาภาษาอังกฤษเก่าคำว่า “wendan” ซึ่งเป็นกริยาอ่อนแอที่มีความหมายว่า “หัน เปลี่ยนทิศทาง” หรือ “ไป” ในภาษาอังกฤษแบบเก่า คำกริยานี้มีการผันเพื่อสร้างกาลต่าง ๆ รวมถึงรูปอดีตกาลเป็นคำว่า “wende” (รูปอดีตเอกพจน์) และ “wendon” (รูปอดีตพหูพจน์) ก่อนจะวิวัฒนาการไปเป็นคำว่า “wente” และ “wenten” และในท้ายที่สุดก็ลดสระลงเหลือเพียงแค่คำว่า “went” ที่เราคุ้นเคยกันในภาษาอังกฤษปัจจุบัน
เมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคปลายของภาษาอังกฤษกลางและยุคต้นของภาษาอังกฤษสมัยใหม่หรือ Modern English ทั้งคำว่าว่า “yede” และคำว่า “went” ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน ต่างก็มีคนใช้สลับกันไปมาอยู่เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่ง คำที่เป็นที่นิยมมากกว่าคือคำว่า “went” ได้กลายมาเป็นกริยาช่องที่ 2 ที่เราใช้กันในภาษาอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนคำกริยา “wend” ยังคงมีอยู่ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน และยังรักษาความหมายเดิมบางส่วนไว้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและการเดินทาง
ความแปลกประหลาดของวิวัฒนาการของภาษา:
ภาษาพัฒนาไปตามกาลเวลาและไม่หยุดนิ่ง ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีชีวิตและใช้ภาษาอยู่ คำกริยาพิเศษในภาษาอังกฤษดังที่ยกมาพูดในบทความนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและหลากหลาย ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษจำนวนไม่น้อย
ปรากฏการณ์ทางภาษาศาสตร์ข้างต้นเกิดขึ้นได้กับทุกภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ในภาษาไทยเอง คำว่า “ปกติ” ที่มาจากภาษาบาลี และคำว่า “ปรกติ” ที่มาจากภาษาสันสกฤต ก็สามารถใช้ได้ทั้งสองคำ ซึ่งเชื่อได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป จะมีเพียงคำใดคำหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากกว่าอีกคำหนึ่ง ผ่านการใช้ของมนุษย์ผู้ใช้ภาษาไทย และกลายเป็นคำที่ “ถูกต้อง” ในที่สุด
เปิดรับความไม่สม่ำเสมอ:
เมื่อผู้เรียนต้องเจอกับคำกริยาพิเศษที่มีรูปแบบการผันที่ไม่สม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคือต้องเปิดรับและเปลี่ยนมุมมองว่า คำกริยาเหล่านี้ คือชิ้นส่วนที่ซับซ้อนทางภาษา มาพร้อมกับเรื่องราวในอดีต ที่เป็นทั้งมรดกและวิวัฒนาการของภาษาอังกฤษ แทนที่จะมองว่าคำกริยาเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษ อยากให้มองพวกมันเป็นเสมือนประตูสู่ประวัติศาสตร์ของภาษาที่เปิดขึ้นระหว่างเส้นการเรียนภาษาอังกฤษ
โดยสรุป คำกริยาพิเศษ เช่น “go” แสดงให้เราเห็นว่าภาษาเป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งหล่อหลอมมาจากปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางภาษามาหลายศตวรรษ ความไม่สม่ำเสมอของคำกริยาเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงธรรมชาติทางภาษาศาสตร์ของภาษาอังกฤษและการคงไว้ซึ่งวิวัฒนาการทางโครงสร้างของคำที่หลงเหลือจากอดีต ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ผู้เรียนต้องเจอกับคำกริยาพิเศษในภาษาอังกฤษ ก็ขอให้ทราบว่า ผู้เรียนไม่ได้แค่เรียนรู้คำศัพท์เท่านั้น แต่กำลังเจาะลึกถึงแก่นแท้ของวิวัฒนาการทางภาษา
ความรู้รอบตัว
หนังสือ
วัฒนธรรม
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย