15 ส.ค. 2023 เวลา 11:02 • ธุรกิจ
Bangkok

Technology Readiness Level (TRL) คืออะไร? และมีความสำคัญต่องานวิจัยอย่างไร⚙️

ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) คือเครื่องมือในการบ่งชี้ระดับความพร้อม และเสถียรภาพของเทคโนโลยีตามบริบทการใช้งานตั้งแต่องค์ประกอบสำคัญ อุปกรณ์ และกระบวนการทำงาน ระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผู้นำเทคโนโลยีไปต่อยอดหรือนำไปใช้งาน
ซึ่ง TRL นี้เป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมเพื่อศึกษาวิธีการบริหารจัดการงานวิจัย สามารถนำเอาผลงานวิจัยมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลักดันออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัยหลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญในการเริ่มนำเอา TRL มาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เช่น PMU(A B C) / วช. / สนช. / สวก. / สวรส. ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดการทุนวิจัย ติดตาม และประเมินผลงานวิจัยของในประเทศ โดยคำจำกัดความ และเกณฑ์ของ TRL แต่ละหน่วยงานจะแตกต่างกันออกไป
TRL มี 9 ระดับ โดย แบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก คือ
•TRL Level 1-3 เป็นช่วงงานวิจัยพื้นฐาน (Basic research)
•TRL Level 4-7 เป็นช่วงการพัฒนาต้นแบบ (Prototype development)
•TRL Level 8-9 เป็นช่วงการผลิตหรือการใช้งานต่อเนื่อง (Product on shelf)
Level 1 : หลักการพื้นฐานได้รับการพิจารณาและมีการรายงาน (Basic principles observed and reported)
Level 2 : มีการสร้างรูปแบบหลักการและ/หรือการประยุกต์ใช้ (Concept and/or application formulated)
Level 3 : หลักการได้ถูกสาธิตด้วยการวิเคราะห์หรือการทดลอง (Concept demonstrated analytically or experimentally)
Level 4 : องค์ประกอบที่สําคัญได้ถูกสาธิตในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว (Key elements demonstrated in laboratory environments)
Level 5 : องค์ประกอบที่สําคัญได้ถูกสาธิตในระดับสภาวะที่ใกล้เคียงกับการใช้งาน (Key elements demonstrated in relevant environments)
Level 6 : ตัวแทนสิ่งที่จะส่งมอบได้ถูกสาธิตในระดับสภาวะที่ใกล้เคียงกับการใช้งาน (Representative of the deliverable demonstrated in relevant environments)
Level 7 : ผลของการพัฒนาขั้นสุดท้ายได้ถูกสาธิตในสภาวะทํางาน (Final development version of the deliverable demonstrated in operational)
Level 8 : เทคโนโลยีที่ส่งมอบได้ป่านการทดสอบและสาธิตในสภาพการใช้งานจริง (Actual deliverable qualified through test and demonstration)
Level 9 : เทคโนโลยีที่ส่งมอบได้ผ่านการใช้งานจริง (Operational use of deliverable)
TRL "เป็นระดับความพร้อมของเทคโนโลยี ไม่ใช่ระดับความยากของเทคโนโลยี"
แล้ว TRL สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยเพื่อผลักดันออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างไรบ้าง
• เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการขอทุนวิจัย
• การตัดสินใจคัดเลือกและลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม
• การประเมินงบประมาณดำเนินงาน
• การนำ TRL เพื่อมาบริหารโครงการวิจัยและพัฒนาภายในหน่วยงาน ตั้งแต่กำหนดเป้าหมาย วางแผนงานและทรัพยากร
• สามารถสื่อสาร และถ่ายทอดความพร้อมของงานวิจัยในแต่ละระดับได้
• สามารถใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
• การประเมินความเสี่ยงของการนำเทคโนโลยีไปใช้
• การติดตามและดำเนินงานวิจัย
โดยการนำเอา TRL เข้ามาบริหารและจัดการงานวิจัยสำหรับการเชิงพาณิชย์ (Commercialized) นั้น จะต้องมีหลายปัจจัยประกอบ เช่น การประเมินด้านการตลาด ด้านเทคนิค เป็นต้น ซึ่ง TRL ก็มีจุดอ่อนที่ไม่เน้นการทำตลาด ดังนั้นจึงเป็นงานที่ต้องศึกษาต่อเนื่องว่าหากจะนำ TRL มาใช้กับงานวิจัยนั้นจะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการภายในกันอย่างไร จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ และนำมาสู่ผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
สรุป TRL เป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการโครงการวิจัยและพัฒนาที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติสำหรับบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ดังนั้น องค์กรหรือมหาวิทยาลัยที่เน้นการทำวิจัยเพื่อการศึกษา หรือบริษัทเอกชนที่เน้นการวิจัย จำเป็นต้องพิจารณาศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ตนเองถือครองอยู่ในระดับใด ระดับ TRL เองจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ การทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาใช้งาน หรือเพื่อจัดจำหน่ายสร้างรายได้เข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ
References:
•TRL ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี - ร่วมสร้างสรรค์แบ่งปันความรู้เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ - Knowledge Sharing
•Technology Readiness Levels: ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม - NSTDA
โฆษณา