15 ส.ค. 2023 เวลา 11:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เทคโนโลยีชีวภาพเปลี่ยนอนาคต กับความท้าทายที่ฉุดรั้ง

[#BioTech] [#Longevity] [#FoodSecurity]: เทคโนโลยีชีวภาพเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดอนาคตของมนุษยชาติในทุกมิติ (Bio-revolution) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาว มีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางอาหาร และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ในปี ค.ศ. 2022 ตลาดเทคโนโลยีชีวภาพมีมูลค่าถึง 1.37 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นถึง 13.96% ในระยะคาดการณ์ปี ค.ศ. 2023 - 2030 เทคโนโลยีชีวภาพถูกมองว่าสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สาธารณสุข เกษตรกรรม กระบวนการทางอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชีวสารสนเทศ เป็นต้น
เทคโนโลยีชีวภาพจึงถูกคาดหวังว่าจะถูกพัฒนาจนสามารถทำลายขีดจำกัดหลายอย่างของมนุษย์ในปัจจุบัน เช่น การออกแบบตารางดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล การตรวจและป้องกันปัญหาสุขภาพก่อนมีอาการ การผลิตอาหาร ยา บรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่แหล่งพลังงานจากวัสดุชีวภาพ การตัดต่อพันธุกรรมและทำแปลงเกษตรในห้องปฏิบัติการหรือภายในเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
ในปัจจุบันมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับพบว่าจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกมีเพียงประมาณ 1,600 คนเท่านั้น ทั้งยังกระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพระดับเริ่มต้นต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญาโทขึ้นไป และในปัจจุบันทั่วโลกมีหลักสูตรด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพียงประมาณ 200 โครงการเท่านั้น
ขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันเพื่อเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพ หรือนัยหนึ่งคือเป็นผู้นำโลกในยุคถัดไป ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนเป็น 44% ในพื้นที่ตลาดเทคโนโลยีชีวภาพทั้งหมด
และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2023 จะมีการควบรวมและเข้าซื้อกิจการในภาคเวชภัณฑ์และชีววิทยาศาสตร์ภายในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 2.25 - 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีรายงานว่าประเทศจีนลงทุน 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะในฮ่องกง เพื่อรับมือกับความต้องการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการเติบโตของสังคมสูงวัย และเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งกำลังกำหนดทิศทางของตนกับเทคโนโลยีชีวภาพในอนาคต เช่น สหภาพยุโรปกำลังพยายามปรับองคาพยพในประเทศสำคัญ ได้แก่ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน รวมถึงสหราชอาณาจักร เพื่อให้นักธุรกิจหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียลงทุนมากถึง 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ตามวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพของโลกภายในปี ค.ศ. 2030
แม้เทคโนโลยีชีวภาพจะถูกมองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน แต่กลับพบว่ามีความท้าทายหลายประการที่ทำให้เทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันยังไม่สามารถก้าวหน้าได้เต็มศักยภาพ เช่น ข้อจำกัดด้านกฎหมายและนโยบายทั้งในระดับโลกและระดับชาติซึ่งสร้างแรงกดดันสูงให้กับภาคธุรกิจ ทำให้หน่วยวิจัยและบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพปรับราคาผลิตภัณฑ์ ขยายขนาดองค์กร และดำเนินกิจการได้ยากลำบาก
มีรายงานว่าแบรนด์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพกว่า 20 แบรนด์ที่สร้างรายได้รวมกันต่อปีเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียสิทธิบัตรภายในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ ประเด็นด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการที่ภาคธุรกิจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคก็กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างเข้มข้น ส่งผลกระทบต่อภาคการเงิน เช่น การลงทุนร่วมทุน การจัดหาเงินกู้ การเข้าสู่ตลาดหุ้น เป็นต้น
ถึงแม้ว่าตลาดเทคโนโลยีชีวภาพจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากการพัฒนาวัคซีนเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาด แต่หลังจากวิกฤติดังกล่าวผ่านไป การลงทุนในเทคโนโลยีชีวภาพปี ค.ศ. 2022 กลับลดลงถึง 54% สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีการลงทุนสูงและใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาเป็นระยะเวลานาน
จากการสำรวจพบว่ามีโครงการเพียง 28% ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่การลงทุนในครั้งแรก สวนทางกับความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าสู่ตลาดและสร้างผลกำไรตอบแทนการลงทุนได้อย่างรวดเร็วเพื่อนำไปต่อยอดการลงทุนอื่นต่อไป
มีการคาดการณ์ว่า 55% ของบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จะต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเงินไปจนถึงปี ค.ศ. 2025 ในขณะที่ 29% มีกระแสเงินสดไม่พอใช้ถึงสิ้นปี ค.ศ. 2023 ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพหลายแห่งต้องปรับทิศทางองค์กรและมุ่งเน้นไปที่การระดมทุนในลักษณะการสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรกันเองเพื่อขยายขีดความสามารถในการเติบโตและการประกันเสถียรภาพทางการเงินแทนการระดมทุนในตลาดทุนเพียงอย่างเดียว
โดยในปี ค.ศ. 2022 มีการคำนวณมูลค่าการตกลงเป็นพันธมิตรกันเฉพาะในอุตสาหกรรมยาสูงถึง 1.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการทำข้อตกลงที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับสามในรอบสิบปี อย่างไรก็ตาม มีเพียง 6% หรือ 7.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นที่อยู่ในรูปของกระแสเงินสดที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที สะท้อนให้เห็นถึงภาพของตลาดเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการให้ความสำคัญลดลงหลังจากภาวะโรคระบาด แม้ว่าผู้คนจะเริ่มเห็นและเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- รัฐบาลที่เห็นถึงความสำคัญและโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตของเทคโนโลยีชีวภาพจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์เพื่อให้เกิดระบบนิเวศงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในประเทศเกิดความตื่นตัวในอุตสาหกรรมดังกล่าว และดึงดูดนักลงทุนรวมถึงแรงงานศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น
- จำเป็นต้องมีการเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในงานวิจัยทฤษฎีและการประยุกต์งานวิจัยเชิงธุรกิจผ่านโครงการสนับสนุนและทุนการศึกษา แม้ว่าต้องมีการกำหนดเงื่อนไขผูกมัดบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อให้พัฒนาโครงการตามเป้าหมายขององค์กรผู้ให้ทุนให้สำเร็จ
- ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีชีวภาพในทางการแพทย์ การนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้เป็นอาวุธสงคราม เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: 3 Possible pathways to move forward to immortal society: http://bit.ly/3_possible_pathways_to_move_forward_to_immortal_society
อ้างอิงข้อมูลจาก
-Global or local: The future of biotech https://doi.org/10.1016/j.drudis.2023.103528
-South Korean biotech companies seek to diversify from China as US tensions rise https://www.ft.com/content/49870c62-4be2-453b-a93d-fe8cb59bdd35
-How Saudi Arabia can emerge as a global biotech hub https://www.arabnews.com/node/2327936
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofTech #WellBeing #MQDC
โฆษณา