15 ส.ค. 2023 เวลา 14:00 • ความคิดเห็น

โอกาสแม้ ‘หนึ่งในล้าน’ ก็ต้องลองทำ

แนวคิดจาก Tracy Britt Cool มือขวา Warren Buffett ที่ได้งานเพราะส่งจดหมายสมัครกับเขาโดยไม่กลัวโดนปฏิเสธ
ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาที่โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) เทรซี บริตต์ คูล (Tracy Britt Cool) มีวิชาหนึ่งที่เธอต้องเขียนรายงานเกี่ยวกับความฝันของตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า จินตนาการว่าตัวเองจะทำงานที่ไหนและทำอะไรอยู่
“เป้าหมายของฉันคือการได้ทำงานกับนักลงทุนที่เก่ง สำคัญกว่านั้นต้องเป็นคุณครูและที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยมด้วย”
เธอเขียนไว้ในรายงานแบบนั้น
แต่เพื่อนคนหนึ่งของเธอในห้องที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทลงทุนขนาดใหญ่บอกว่าเธอ “ใสซื่อเกินไป” และไม่รู้เลยว่าโลกแห่งความจริงเป็นยังไงและถ้าเธอทำงานไปเรื่อยๆสักสองสามปีจะรู้ว่าสิ่งที่เธอต้องการนั้นมันเป็นเพียงฝันลมๆแล้งๆ เท่านั้น
แล้วคูลได้โอกาสทำงานกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หนึ่งในนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้ยังไงกัน? ตอนที่คูลได้รับโอกาสไปสัมภาษณ์งานกับบัฟเฟตต์ในปี 2009 เธอได้เตรียม "ข้าวโพดและมะเขือเทศ" จากฟาร์มของครอบครัวมาฝากเขาด้วยเพราะหวังว่าความเป็นชาวชนบทเหมือนกันของเธอกับเขา (คูลเป็นชาวแคนซัสส่วนบัฟเฟตต์มาจากเนแบรสกา) จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับบัฟเฟตต์และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ที่จริงแล้วการเตรียมตัวเพื่อมาถึงจุดนี้เริ่มต้นก่อนหน้านั้นนานแล้วตั้งแต่เธอทำงานในฟาร์มที่แคนซัสของครอบครัว ในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เธอบอกว่า
“ตอนที่อายุได้ 10 ขวบ ฉันก็ไปออกบูทขายผลิตภัณฑ์เกษตรของตัวเอง จ้างเพื่อนมาทำงาน ตั้งเงินเดือน ตั้งราคาสินค้า และฉันก็เรียนรู้ว่าฉันชอบทุกด้านของธุรกิจเลยและนั่นคือสิ่งที่อยากจะทำ”
คูลนำความรู้ด้านธุรกิจติดตัวไปด้วยตอนเรียนระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และต่อมาก็เรียนต่อปริญญาโทที่โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด และในปี 2006 เธอมีโอกาสได้พบกับบัฟเฟตต์เป็นครั้งแรก ครั้งนั้นเธอกับเพื่อนร่วมชั้นที่ฮาร์วาร์ดจัดทริปไปยังโอมาฮาผ่านองค์กรที่เธอร่วมก่อตั้งขึ้นมาชื่อว่า “Smart Women Securities” (องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการเงินการลงทุนกับนักศึกษาปริญญาตรี) แล้วได้ใช้โอกาสเพื่อขอเข้าพบกับบัฟเฟตต์ และเขาก็ตกลงด้วย
แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บัฟเฟตต์รู้สึกถูกชะตากับเธอไม่น้อย อาจจะด้วยความที่เธอเองก็มีแนวคิดเรื่องการลงทุนที่คล้ายกับเขา การเลือกหุ้นบริษัทเก่าๆเดิมๆ มากกว่าหุ้นเทคฯสมัยใหม่
หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 2009 เธอตัดสินใจส่งจดหมายไปหา บัฟเฟตต์ อีกครั้งเพื่อสมัครงาน บอกว่าแค่ “วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียวก็ได้ ทำได้ทุกอย่างเลย”
แม้ตอนนั้นบัฟเฟตต์จะไม่ได้มีตำแหน่งว่างสำหรับเธอ แต่เขาก็ชวนเธอมาทานข้าวเที่ยงด้วยกันที่โอมาฮาอยู่ดี ตอนนั้นเองที่เธอเอาตะกร้าของฝาก ข้าวโพดและมะเขือเทศจากฟาร์มของครอบครัวมาฝากเข้าด้วย หลังจากนั้นไม่นานบัฟเฟตต์ก็ยื่นข้อเสนอให้เธอมาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยด้านการเงิน (Financial Assistant) กับเขา
ความรับผิดชอบของเธอคือการหาข้อมูลด้านการเงิน เข้าประชุมกับบัฟเฟตต์ และบางครั้งก็ขับรถพาเขาไปยังที่ต่างๆ ในเมือง ประมาณ เรียกว่าเป็นศิษย์เอก เด็กปั้น หรือมือขวาของบัฟเฟตต์ก็คงไม่ผิดนัก
บัฟเฟตต์ตั้งชื่อเล่นให้เธอว่า “นักดับเพลิง” ด้วยความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ตำแหน่งหน้าที่การเงินของคูลเติบโตอย่างรวดเร็ว 5 ปีหลังจากนั้น คูลในวัย 30 ปีก็ได้เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัทขายอุปกรณ์ทำครัว Pampered Chef ซึ่งอยู่ในเครือของเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์
ในฐานะซีอีโอ คูลนำทีมผู้บริหารของ Pampered Chef ดูแลกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวของบริษัท และรับผิดชอบ "ทิศทางโดยรวมของธุรกิจ" นอกจากนั้นยังทำหน้าที่อื่นๆในเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ด้วย เธอดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท Kraft Heinz และดำรงตำแหน่งประธานของ Benjamin Moore, Larson-Juhl และ Oriental Trading Company
เธอได้บรรยายช่วงเวลาที่ได้อยู่กับบัฟเฟตต์ว่า “ฉันมีความสุขมากที่จะบอกว่าได้เจอคุณครูและที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยม และเขาก็เป็นหัวหน้าที่ไม่มีทางดีไปกว่านี้ได้แล้ว”
ในปี 2020 คูลได้ออกมาก่อตั้งบริษัทลงทุนของตัวเองชื่อว่า Kanbrick ที่ปรัชญาการลงทุนนั้นมีความคล้ายคลึงกับที่เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคูลในการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหาร การจัดการแบบลงมือปฏิบัติจริง และการสร้างธุรกิจแบบ “อิฐทีละก้อน” เข้ามาผสมด้วย
ความสำเร็จของเธอที่ผ่านมา การส่งจดหมายไปขอทำงานกับบัฟเฟตต์โดยตรง อาจจะดูเป็นโอกาสหนึ่งในล้าน แต่เธอก็พร้อมที่จะลองเสี่ยงดูอยู่ดี
2
“ความเสี่ยงมันต่ำมากๆ อย่างมากเขาก็แค่ปฏิเสธมา แล้วทำไมจะไม่ลองดูละ?”
คูลเล่าถึงช่วงเวลาที่ทำงานในฟาร์มว่ามันช่วยปลูกฝังความอึดและทนต่อการถูกปฏิเสธของเธอด้วย
“มันเป็นพื้นที่ฝึกฝนที่ดีมากๆเพราะคุณต้องขายสินค้าของตัวเองและต้องคุยกับคนอื่นๆ คุณต้องถามและถูกปฏิเสธเยอะมากๆ เพราะคนไม่ได้สนใจในของเหล่านั้น ฉันเริ่มทนมากขึ้นและไม่มีปัญหาเลยถ้าคนจะบอกว่า ‘ไม่’”
ช่วงที่อยู่มัธยมปลาย คูลก็เคยเขียนจดหมายไปยังองค์กรต่างๆ ที่เธอสนใจอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้เขียนตอบหรือแม้แต่จะส่งโบรชัวร์มาให้ด้วยซ้ำ
พอเข้ามหาวิทยาลัยเธอก็เริ่มส่งจดหมายไปหาผู้บริหารต่างๆ ที่เธอชื่นชอบ “ฉันพบว่าเมื่อลองติดต่อคนอื่นๆ แบบเชิงรุกและมีประสิทธิภาพ — และมีความเคารพด้วย — คนส่วนใหญ่จะไม่ตอบหรือพูดว่า 'ไม่' แต่คนกลุ่มเล็ก ๆ จะตอบ ‘ตกลง’”
ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในคนที่ตอบตกลงก็คือบัฟเฟตต์ (และซีอีโอของบริษัทใหญ่อย่าง Morgan Stanley หรือ Bear Stearns ก็เช่นกัน) แม้คูลจะบอกว่าการเขียนจดหมายไปหานั้นไม่ได้หมายความว่าเธออยากได้งาน แต่เป็นเพียงการแสดงความนับถือหรืออยากสร้างความรู้จักเท่านั้น
2
คูลเปรียบเทียบประสบการณ์นี้กับขั้นตอนการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเธอต้องหาเงินมาจ่ายค่าเทอมเอง ตอนนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ ซึ่งเธอเล่าว่า “ฉันอ่านหนังสือหนา 400 หน้าสองเล่มและเช็กทุนการศึกษาทุกทุนที่ฉันมีคุณสมบัติเหมาะสมจะสมัครได้ จากนั้นจึงสมัครขอรับทุนเหล่านั้นทุกที่เลย”
1
หลายที่ก็ “ปฏิเสธ” แต่บางที่ก็ตอบ “ตกลง”
สำหรับคูลแล้ว การได้รับการตอบรับคือการอดทนฟันฝ่าการถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า
“สิ่งนี้อาศัยวินัยและใช้เวลาและพลังงาน เพื่อจะทุ่มเทให้กับมัน”
เพราะฉะนั้นสำหรับใครก็ตามที่กำลังมีความฝันบางอย่าง แม้จะเป็นโอกาสเพียงหนึ่งในล้านและความเสี่ยงอย่างมากที่สุดก็แค่ถูกปฏิเสธ หวังว่าเรื่องราวของคูลจะทำให้คุณกล้าลองอีกครั้ง ถูกปฏิเสธก็ลองใหม่ มันอาจจะดูไร้เดียงสาหรือใสซื่อ แต่มันก็คงจะดีกว่าแค่ฝันแล้วไม่ลงมือทำอะไรเลย
#aomMONEY #Investment #inspiration #TracyBrittCool #แรงบันดาลใจ #ความฝัน #แนวทางการทำงาน #WarrenBuffett #เทรซีบริตต์คูล #วอร์เรนบัฟเฟตต์
โฆษณา