16 ส.ค. 2023 เวลา 04:10 • ข่าว

อัฟกานิสถาน : เป็นประเทศหรือกรงขังสำหรับหญิงชาวอัฟกัน?

ภายหลังจากกองกำลังของนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ได้ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน
กองกำลังตาลีบัน ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามสุดโต่งสายเคร่ง ก็สามารถเข้ายึดกรุงคาบูลได้ในเวลาเพียงสามเดือน ถือเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน และเข้าควบคุมประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
คำแถลงแรกหลังจากเข้ายึดอำนาจของกลุ่มตาลีบัน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 มีเนื้อความบางตอน ว่า "เราจะอนุญาตให้ผู้หญิงเรียนและทำงานได้ภายใต้เงื่อนไขของเรา และผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้นในสังคมของเรา"
ผ่านมาแล้วสองปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลตาลีบัน การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กหญิงและสตรีชาวอัฟกัน ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล
ผู้นำกลุ่มตาลีบันประกาศใช้ข้อบังคับทางศาสนาที่ดูเหมือนว่าจะผ่อนปรนในช่วงแรกของการยึดอำนาจ แต่จนถึงปัจจุบันยังคงถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด ภายใต้กฎข้อบังคับอิสลามที่เรียกว่ากฏหมายชารีอะห์
ในเดือนกันยายน 2564 หลังการเข้ายึดอำนาจของกลุ่มตาลีบันเพียงหนึ่งเดือน ก็ได้มีการออกประกาศผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการเปิดโรงเรียนมัธยม ศึกษา แต่จะสามารถเข้าเรียนได้เฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้น
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2564 รัฐบาลก็ได้ออกคำสั่งอีกครั้งให้หญิงอัฟกันที่จะเดินทางไกลเกินกว่า 45 ไมล์ หรือมากกว่า 72 กิโลเมตร กฎหมายชารีอะห์จะต้องให้มีญาติผู้ชายเดินทางไปด้วยทุกครั้ง
และในวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ก็ได้มีการออกประกาศพระราชกฤษฎีกาที่รับรองโดยผู้นำสูงสุด นายมุลลาห์ ไฮบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ในประกาศระบุให้ผู้หญิงอัฟกันต้องสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดปกปิดใบหน้า ยกเว้นไว้เพียงดวงตาเท่านั้น
นอกจากนั้นผู้หญิงยังถูกห้ามเข้าสวนสาธารณะ,โรงยิม,สระว่ายน้ำ,รวมถึงห้องอาบน้ำสาธารณะด้วย และยังมีคำสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ให้มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทุกแห่ง ระงับการเรียนการสอนของผู้หญิงทั้งหมด จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตของพนักงานหญิงในองค์กรพัฒนาเอกชนทุกแห่ง ที่ดำเนินงานในอัฟกานิสถาน ซึ่ง ส่งผลให้ผู้หญิงอัฟกันไม่ค่อยมีงานและบทบาททางสังคม ซึ่งไม่เหลือทางเลือกมากมายนักสำหรับอนาคตของผู้หญิงที่นี่
ล่าสุดตาลีบันยังคงออกคำสั่งห้าม ไม่ให้ผู้หญิงเปิดร้านเสริมสวยในกรุงคาบูล และขยายกฎข้อห้ามนี้ออกไปทั่วทั้งประเทศ
ภาพจาก BBC
คำถามคือ อะไรที่เป็นอนาคตสำหรับผู้หญิงในประเทศนี้บ้าง หญิงชาวอัฟกานิสถานกำลังถูกเพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพ และกำลังถูกกีดกันออกจากทุกๆสิ่งในประเทศ
Zahra (ซาร่า) หญิงสาววัย 20 ปี เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าวในฐานะนักเรียนในอัฟกานิสถาน ว่า ตั้งแต่ตาลีบันเข้าควบคุมอำนาจและได้ออกกฏข้อบังคับต่างๆมากมาย
เธอก็ได้หมกตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปสู่โลกภายนอก ไม่ได้ไปโรงเรียนและไม่ได้ขี่จักรยานอีกเลย เธอไม่รู้ว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไรต่อไป
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรวมถึงนักเคลื่อนไหว ได้พยายามออกมาส่งเสียงไปยังรัฐบาลตาลีบัน ถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในอัฟกานิสถาน
ด้วยนโยบายที่ล้าหลังและสุดโต่งของตาลีบัน จะทำให้ชาวอัฟกันหลายล้านคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่เพียงแต่ปัญหาการริดรอนสิทธิเสรีภาพสตรีเท่านั้น
แต่ประชาชนชาวอัฟกานิสถานยังจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งความหิวโหย และวิกฤตการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะหญิงชาวอัฟกัน
กฎหมายอิสลามสุดโต่งของตาลีบันได้ระบุไว้ว่า ผู้หญิงจะต้องได้รับการรักษากับแพทย์ที่เป็นผู้หญิงด้วยกันเท่านั้น
และนโยบายที่ดูเหมือนว่าจะตลกอยู่ไม่น้อย ที่ตาลีบันพยามจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงแหล่งความรู้ของผู้หญิง เช่นการสั่งห้ามเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่ามีบางคนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอิสลามสุดโต่งของตาลีบัน
ซึ่งนั่นส่งผลให้อัฟกานิสถานต้องขาดแคลนบุคลากรที่เป็นผู้หญิงในหลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์
ยิ่งส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อการริดรอนสิทธิเสรีภาพของสตรีในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องการเข้าถึงสิทธิ์การรักษาที่เท่าเทียม
หญิงชาวอัฟกันได้พยายามเรียกร้อง และลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง ด้วยการออกมาประท้วงรัฐบาลตาลีบันอยู่บ่อยครั้ง
ภาพจาก CNN
ถึงแม้พวกเขาจะถูกรัฐบาลตาลีบันปราบปรามอย่างหนักก็ตาม นั่นคือเสียงของผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมของพวกเขากลับคืนมา
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ทำให้ชาวอัฟกันมากกว่า 1.6 ล้านคนเลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ ตั้งแต่ปี 2564 ตามการรายงานของสหประชาชาติ
เซราจ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวของอัฟกานิสถานกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุผลเดียวที่เธอยังอยู่ที่นี่คือการได้อยู่เคียงข้างพี่สาวของเธอ และเธอยังไม่ได้สูญเสียความหวังทั้งหมดไปซะทีเดียว
แต่ในทุกการต่อสู้ และทุกๆการตัดสินใจของเธอรู้สึกว่ามันจะยากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพจาก CNN
และเธอยังได้กล่าวต่ออีกด้วยว่า สำหรับเยาวชนชาว อัฟกันที่หวังจะรักษาอนาคตที่เหลือของตัวเองเอาไว้ การหลบหนีออกจากกรงขังแห่งนี้ ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่
อ้างอิงข้อมูลจาก
โฆษณา