15 ส.ค. 2023 เวลา 14:35 • ท่องเที่ยว
เฮือนคำนาง ขอนแก่น

เชฟเทเบิ้ลอาหารอีสานแบบแท้ๆ​ กับความตั้งใจพัฒนาชุมชน

“สวัสดีค่ะคุณนาง วันที่ 8-10กพ มีคิวว่างบ้างมั้ยคะ” เราทักในเพจ เฮือนคำนางก่อนวันเดินทางประมาณหนึ่งเดือน โชคดีที่เวลาประจวบเหมาะได้คิว ที่นี่ปกติรับวันละโต๊ะเท่านั้น (พี่นางเพิ่งจะเปิดรับเพิ่มเป็นวันละสองโต๊ะ เนื่องจากคิวที่จองเข้ามาต่อเนื่องจนลูกค้าอาจต้องรอนานเกินไป)
เราจินตนาการไม่ถูกเลยว่า ถ้าไม่ใช่ลาบ น้ำตก ส้มตำ ที่เป็นภาพจำใหญ่ของอาหารอีสานที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปแล้ว อาหารอีสานที่จะจัดมาในสำรับจะเป็นรูปแบบไหน
“พรุ่งนี้เจอกันใน 'พาสวย' ค่ะ”
พี่คำนางทักกลับเข้ามาในวันก่อนวันนัด พาข้าวหรือสำรับอาหารของชาวอีสานจะเรียกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา: พาสวย ที่หมายถึง สำรับอาหารมื้อกลางวัน / พางาย - มื้อเช้า / พาแลง - มื้อเย็น
พี่นางเปิดสำรับแรกมาเป็น ‘เมี่ยงปลาหมอกลีบบัว’ แพร์คู่เหล้ามะนาวหมักเอง ตัวเมี่ยงมีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ให้รสชาติแบบครบถ้วนทั้งเปรี้ยว เผ็ด กินกับกลีบบัวหลวงที่ให้รสฝาดเจือขมนิดๆ โรยด้วยเกลือขี้ทาที่ถือเป็นเกลือสินเธาว์อีสานที่ให้ความเค็มกำลังดีไม่โดดจนเกินไปและราดด้วยซอสปรุงพิเศษ ด้วยน้ำอ้อยท็อปด้วยเม็ดกระบกที่พี่นางเสริมว่าเป็นอัลมอนด์อีสาน ในแต่ละคำจึงอัดแน่นไปด้วยรสชาติทั้งเค็ม หวาน มัน เปรี้ยว เผ็ด ขม ฝาด อัดอยู่ในปาก เป็นเมนูเปิดโลกมากๆเมนูหนึ่ง
สำรับถัดมาเป็นเมนูปู มีทั้งจี่ปู ลาบปู ขนมจีนปู ที่พิเศษมากๆคือข้าวที่นำมาจ้ำกินด้วย มีข้าวหลามหนึ่งและข้าวฮางอีกหนึ่ง ข้าวฮางที่ถือเป็นภูมิปัญญาอีสาน ให้รสสัมผัสที่อยู่กึ่งกลางระหว่างข้าวเหนียวและข้าวสวย เรียกว่าจกกินจิ้มเกลือขี้ทาเปล่าๆก็เพลินแล้ว ถูกใจมากจนถึงกับขอพี่นางซื้อหิ้วขึ้นเครื่องกลับบ้าน
ชีวิตมันต้องสู้ สู้สิแม่!! กินคนเดียวก็ต้องสู้!!! แต่ละเมนูก็เด็ดๆทั้งนั้น พี่นางยังคงทยอยนำสำรับออกมาอย่างต่อเนื่อง ชุดต่อมาคือบรรดาเนื้อทั้งหลายผ่านกรรมวิธีการเอาะ พลางเล่าให้ฟังถึงกรรมวิธีการปรุงของชาวอีสานทั้งการวัดที่ระดับน้ำตั้งแต่ ต้ม แกง อ่อม อ๋อ อูด อึ๊บ อั่ว อู๋ เอาะ / วัดที่ระดับเปลวไฟ ได้แก่ ขาง ย่าง ปิ้ง จี่ ซุกเถ้า รวมถึงกรรมวิธีอื่นๆ เช่น แจ่ว ซุบ ป่น
วิธีการปรุงของสำรับนี้หรือการเอาะ คือการตุ๋นจนน้ำงวด พี่นางยกมาให้ทานทั้ง หมูเอาะเผือก ไก่เอาะมันนก เนื้อวากิวA5เอาะกระเทียม พอตุ๋นจนได้ที่ เนื้อแต่ละจานเลยให้รสสัมผัสที่นุ่มกำลังดี กินกับเครื่องเคียงที่ให้มาได้อย่างเข้ากัน แถมแพร์กับเหล้าองุ่นป่าเข้าไปอีก
ถึงท้องจะเริ่มอิ่ม แต่ความอยากรู้อยากเห็นยังอยากลองต่อไปเรื่อยๆ พี่นางยกสำรับต่อไปออกมา ได้แก่ อ๋อปลายอน (อ๋อ=น้ำขลุกขลิก) ปลาตะเพียนปิ้ง ซุบมะเขือ แกงเห็ดใบผักติ้ว วัตถุดิบสดจนแทะกินปลาตะเพียนปิ้งหอมๆเปล่าๆได้เกือบหมดทั้งตัว
ปิดท้ายสำรับอาหารคาวด้วย ก้อยไข่มดแดงโพละ(โปะ)กุ้ง จานนี้คือมีสิบก็กินหมดสิบ ฉันรักไข่มดแดง วัตถุดิบอย่างที่บอกว่าสดมากจนน้องมดยังออกมาทักทายเซย์ไฮ จานนี้ไม่เหลืออ
อาหารหวานล้างปาก วัตถุดิบหลักคือวุ้นหมาน้อยที่ได้จากใบหมาน้อย นิยมปรุงเป็นอาหารคาว แต่พี่นางนำมาทำเป็นอาหารหวาน ท็อปด้วยกะทิเค็มมันและมะม่วงสุกหวาน ทุกอย่างเข้ากันลงตัว กินจนเหลือแต่แก้วเปล่า
การทานอาหารมื้อนี้ เหนือกว่าการได้กินคือการได้รับรู้วัฒนธรรมอาหารอีสานพื้นถิ่น ผ่านการถ่ายทอดด้วยเรื่องเล่าจากผู้คลุกคลีในวัฒนธรรมอีสานแท้ๆ และการนำเสนอเป็นประจักษ์พยานของการเล่าเรื่องราว ผ่านวัตถุดิบและวิธีการปรุงที่หลากหลาย เพื่อลบมายาคติบางอย่างที่หลายคนมีต่ออาหารอีสาน และเพื่อส่งมอบประสบการณ์ในความงามของอาหารอีสานให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น​ ทั้งช่วยส่งเสริมรายได้ให้พี่ๆในชุมชนด้วยการซื้อวัตถุดิบจากชุมชนโดยให้ราคาที่สูงกว่าตลาด
ร้านพี่คำนางอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองขอนแก่น
จองล่วงหน้าติดต่อผ่านเพจ เฮือนคำนาง ได้เลยค่ะ
แนะนำมากๆ 😊
โฆษณา