16 ส.ค. 2023 เวลา 00:47 • ข่าว

จาก​ ‘จ่ายถ้วนหน้า’ สู่ ‘แก่แล้วต้องจน’ ปรับเกณฑ์ ‘จ่ายเบี้ย’ ในภาวะสังคมสูงวัย

14 ปี สวัสดิการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นับตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552 ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยมี 3 หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ประกอบไปด้วย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการคลัง
จากดราม่า "ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566" ที่ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีเงื่อนไขต่างจากหลักเกณฑ์เดิมคือ ‘เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด’
‘วอยซ์’ ชวนย้อนไทม์ไลน์จากรับเบี้ยแบบถ้วนหน้าไปจนถึงการตั้งหลักเกณฑ์ด้วยการพิสูจน์ความจน ในระหว่างที่รอความชัดเจนจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เคาะเกณฑ์การจ่ายเงินยังชีพ
🔴 สารตั้งต้นปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ
🔘 เดิมทีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุจะอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
🔘เมื่อปี 2564 เกิดกรณีมีผู้สูงอายุหลายรายถูกเรียกคืนเงินยังชีพผู้สูงอายุ โดยมูลเหตุสำคัญจากเรื่องหญิงสูงวัยรายหนึ่ง ซึ่งเป็นมารดาทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2562 ซึ่งตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ทำให้หญิงรายนี้รับเงินบำนาญพิเศษเดือนละ 9,000 บาท
อย่างไรก็ตามได้มีหนังสือขอเรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เธอได้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากกรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ระงับการการจ่ายเงินแก่หญิงรายดังกล่าว เนื่องจากมีการรับเงินบำนาญพิเศษจากหน่วยงานของรัฐอื่น ซึ่งเป็นจำนวนเงินกว่า 100,000 บาท ซึ่งในเวลาต่อมาพบว่ายังมีอีกหลายรายที่ถูกเรียกคืนเงิน จนเกิดการร้องเรียนขอให้แก้ไขกฎหมาย
🔘ในเวลาต่อมา ‘กรมกิจการผู้สูงอายุ’ สังกัดกระทรวง พม. ได้ยื่นระเบียบดังกล่าว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกาตีความ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบเดิมตามหลักเกณฑ์การจ่ายของ อปท. เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จนเป็นที่มาการเปลี่ยนหลักเกณฑ์เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา
🔴 คณะกรรมการผู้สูงอายุ ผู้กำหนดการจ่ายเงิน
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่าย หน่วยงานที่มีส่วนสำคัญคือ ‘คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ’ ปัจจุบันมี ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ เป็นประธาน โดยมีองค์ประกอบสำคัญอาทิ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ รองประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย,ปลัดการคลัง,ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเอกชน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี
โดยมีบทบาทสำคัญคือ กำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้สูงอายุ และมีอำนาจพิจารณาให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกิจกรรมและกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุน รวมถึงพิจารณาการอนุมัติการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนผู้สูงวัย
🔴 หากย้อนข้อมูลไป 5 ปี พบว่ามีรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังนี้
👉ปีงบ 2560 จำนวน 8.16 ล้านคน = 64,783.65 ล้านบาท
👉ปีงบ 2561 จำนวน 8.38 ล้านคน = 66,407.37 ล้านบาท
👉ปีงบ 2562 จำนวน 9.09 ล้านคน = 71,911.18 ล้านบาท
👉ปีงบ 2563 จำนวน 9.66 ล้านคน = 76,279.65 ล้านบาท
👉ปีงบ 2564 จำนวน 10.49 ล้านบาท = 79,300 ล้านบาท
ปีงบ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ที่ 90,000 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายอัตราเบี้ยยังชีพรายเดือน ‘แบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ’ โดยผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
สำหรับความต่างระหว่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขรับเบี้ยยังชีพแบบใหม่-เก่ามีดังนี้
🔴 เกณฑ์เดิม
1.มีสัญชาติไทย
2.มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
3.มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อ อปท.
4.ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด จากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติ ครม.
🔴เกณฑ์ใหม่
1. มีสัญชาติไทย
2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4. เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
จากข้อมูลกรมกิจการผู้สูงอายุใน 5 ปี ย้อนหลังพบว่าประเทศมีสถิติประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นจากแนวโน้มที่พุ่งขึ้นสูงดังนี้
-ปี 2560 จำนวน 10.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.45 ของประชากรทั้งหมด
-ปี 2561 จำนวน 10.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.06 ของประชากรทั้งหมด
-ปี 2562 จำนวน 11.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.73 ของประชากรทั้งหมด
-ปี 2563 จำนวน 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.57 ของประชากรทั้งหมด
-ปี 2564 จำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของประชากรทั้งหมด
-ปี 2565 จำนวน 12.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด
🔴2580 คาดวัยเด็กลดเหลือร้อยละ 14.3 ของประชากรทั้งหมด
ขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบบูรณาการการทำงานเชิงรุกในการรองรับสังคมสูงวัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปี 2564
สำหรับภาพอนาคตประชากรไทยระยะยาวสรุปได้ดังนี้คือ ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง และในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3
แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85 และในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580
โฆษณา