16 ส.ค. 2023 เวลา 05:05 • ท่องเที่ยว

Hello Khajuraho .. Why Erotic Art?

คาจุราโห (Khajuraho) .. เป็นเมืองที่โด่งดัง ผู้คนรู้จักกันในเรื่องของภาพหินสลักที่งดงามของ Erotic Art ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มวิหาร คาจุราโห
“คาจุราโห” หรือ ฆุราฆะ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตโบราณ (ฆุรา, खर्जूर หมายถึง ต้นอินทผาลัม และ วาฮากะ, वाहक หมายถึง "ผู้แบกหาม" หรือผู้ถือ) ตำนานท้องถิ่นระบุว่าวัดมีต้นอินทผลัมสีทองสองต้นเป็นประตู (หายไปเมื่อค้นพบใหม่) Desai ระบุว่า Kharjuravāhaka ยังหมายถึงผู้ถือแมงป่อง ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของเทพพระอิศวร
ฉันเชื่อว่า การเดินทาง ให้อะไรมากกว่าที่เราคิด .. หลายครั้งที่เหมือนกับเราออกไปค้นหาอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นบางสิ่งที่เกือบจะจับต้องได้ แต่ยังคงขาดหายไป
.. โดยที่จุดหมายปลายทางไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด หากแต่ประสบการณ์ และสิ่งได้สัมผัส ได้พบเห็น กลับเป็นสิ่งที่มีค่ามากในตัวเอง และเป็นเสน่ห์ของการเดินทาง ที่ไม่มีวันเกิดขึ้น หากฉันเลือกที่จะนั่งเฉยๆอยู่กับบ้าน
การเดินทางท่องโลก จึงเป็นกิจกรรมที่ฉันชื่นชอบ และอินเดีย ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางนับครั้งไม่ถ้วนในการการเดิน
วัดฮินดู เป็นหนึ่งในหลายๆสถานที่ที่แนชอบไปชมและถ่ายภาพ ด้วยเหตุของความวิจิตรชองหินสลักที่ทำขึ้นด้วยจิตที่เปี่ยมศรัทธาสูงส่งของงคนสร้าง .. จนเหมือนกับ Poetry in the stone.
.. บ่อยครั้งของการเยือน ฉันมักจะเห็นภาพ Erotic Arts ในวิหาร เทวาลัยฮินดู .. จึงมักมีคำถามค้างคาใจว่า ทำไมวัดฮินดูจึงมีภาพเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ?
คะชุระโห .. โด่งดังจากประติมากรรมอีโรติคที่แฝงฝังอยู่ตามผนังด้านต่างๆของเหล่าวิหารและมณฑพของกลุ่มวิหาร และศาสนสถานที่มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม และแฝงตัวอยู่ท่ามกลางประติมากรรมทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่งดงามมากมายหลายร้อยชิ้น
บางที .. สิ่งที่ฉันอ่านพบ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ
ระบบอาศรม 4 ในศาสนาฮินดู
ภายใต้ระบบอาศรม 4 .. ชีวิตมนุษย์แบ่งออกเป็น 4 ช่วง โดยเป้าหมายของแต่ละช่วงชีวิตคือการเติมเต็มและพัฒนาปัจเจก ในระบบอาศรมแบบคลาสสิก เช่นใน อาศรมอุปนิษัท, ไวขานสธรรมสูตร และใน ธรรมศาสตร์ ซึ่งเขียนขึ้นในยุคถัดมา มีการระบุช่วงอายุแนะนำในการเข้าสู่แต่ละระยะ ในขณะที่ระบบดั้งเดิมดังที่ปรากฏใน ธรรมสูตร ยุคแรก .. อาศรมทั้งสี่ เป็นวิถีชีวิตทางเลือก 4 แบบ โดยไม่ปรากฏการระบุช่วงวัยที่ให้ปฏิบัติ
1. พรหมจรรย์ (เทวนาครี: ब्रह्मचर्य) เป็นแนวคิดที่พบในศาสนาแบบอินเดีย อันแปลตรงตัวว่า "การกระทำตนให้ประหนึ่งพรหม" .. แนวคิดพรหมจรรย์นั้นไม่ได้หมายถึง "การอยู่เป็นโสด" (celibacy) พรหมจรรย์ในศาสนาแบบอินเดียไม่ได้หมายถึงการถือสภาพพรหมจารีและการเว้นจากกิจกรรมทางเพศเสมอไป
... แต่มุ่งเน้นไปที่การควบคุมจิตตะ ไม่ให้มีอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึง "พรหมญาณ" .. ในแนวคิดอาศรมสี่ของศาสนาฮินดู "พรหมจรรย์" เป็นหนึ่งใน 4 ขั้นของชีวิตซึ่งตามด้วย คฤหัสถ์, วานปรัสถ์ และ สัญญาสี "พรหมจรรย์" ในอาศรมสี่ หมายถึงวัยเด็กไปจนถึงอายุราว 25 ปี ให้หมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนและให้ประพฤติตนอยู่ในการไม่มีคู่ครอง
.. พรหมจรรย์ เป็นช่วงชีวิตแห่งการศึกษา และการดำรงตนเป็นพรหมจรรย์ (ละเว้นการร่วมประเวณี) นักเรียนจะเดินทางไปคุรุกุล (ที่พำนักของคุรุ) และโดยทั่วไปจะอาศัยกับคุรุ (อาจารย์) เพื่อรับความรู้ แนวคิด ปรัชญา สัจธรรม และตรรกะ, ปฏิบัติตนตามครรลอง, ทำงานเพื่อได้รับทักษิณมาจ่ายให้กับคุรุ, เรียนรู้ที่จะมีชีวิตด้วยธรรม
2. คฤหัสถ์ เป็นขั้นตอนที่ 2 ในชีวิตตามระบบอาศรม 4 ต่อจากพรหมจรรย์ .. ช่วงชีวิตนี้ประกอบด้วยการหาคู่ครอง การสมรส การดูแลครอบครัว ให้การศึกษาแก่บุตรหลาน มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางและมีชีวิตในสังคมที่มีธรรมะ ..
.. ในคัมภีร์โบราณและยุคกลางของฮินดูมองว่าขั้น “คฤหัสถ์” เป็นระยะที่สำคัญที่สุดในมุมมองของการอยู่รอดในสังคม
.. ระยะนี้เป็นระยะที่นอกจากจะหาความสุขเพื่อตัวเองแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เพื่อนมนุษย์ซึ่งอยู่ในระยะอื่น ๆ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ โดยเฉพาะให้การจุนเจือแก่บุตรหลานให้มีชีวิตต่อไป ระยะนี้ยังถือกันว่าเป็นช่วงชีวิตที่หนักหน่วงที่สุด มีความเครียดและภาระทั้งเชิงกายภาพ, อาชีพ, เพศ, ครอบครัว, สังคม และวัตถุ
.. หมายถึงช่วงชีวิตซึ่งได้สมรส, ดูแลเรือน, สร้างครอบครัว, เลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ลูก มีชีวิตทางสังคมและทางธรรมโดยมีครอบครัวเป็นหลักกลางของชีวิต ในทางสังคมวิทยา
.. ระยะนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นช่วงแห่งการสร้างอาหารและความมั่งคั่ง ที่จะช่วยจุนเจือผู้ที่อยู่ในระยะอื่น ๆ ของระบบอาศรม รวมถึงสร้างลูกหลานขึ้นมาเพื่อสืบทอดมนุษยชาติ และช่วงนี้เป็นช่วงที่มนุษย์เกิดความผูกพันทางโลกสูง
3. วานปรัสถ์ คือการเกษียณจากงานและเกษียณจากโลก และสัญญาสี คือการละทิ้ง ตามลำดับ .. ช่วงชีวิตหลังเกษียณ ส่งต่อภาระทางเรือนให้แก่ผู้คนในรุ่นถัดไป แล้วค่อย ๆ ถอนตัวออกจากชีวิตทางโลก วานปรัสถ์เป็นช่วงชีวิตแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการมุ่งเน้นซึ่งอรรถะ และ กามะ ไปสู่การมุ่งเน้นยังโมกษะ (การหลุดพ้น)
.. “กาม” หรือ “กามะ” (ภาษาสันสกฤต, ภาษาบาลี; อักษรเทวนาครี: काम) แปลว่า "ความต้องการ, ความปรารถนา, ความหวัง" ในวรรณกรรมฮินดูและพุทธ กาม มีความหมายกว้าง ๆ หมายถึง ความปรารถนาทางเพศและความปรารถนาในวรรณกรรมร่วมสมัย
.. แต่แนวคิดของ กามนั้นครอบคลุมความหมายกว้าง ๆ ถึง ความต้องการ, ความหวัง, ความใคร่, ความปรารถนา, ความสุขใจอันเกิดจากผัสสะ, ความต้องการถึง, ปรารถนาถึงการมีความสุขไปกับสุนทรียภาพ, ชีวิต, ความรักใคร่, ความหลง, การมีความสุขกับความรัก ไม่ว่าจะด้วยการมีเพศสัมพันธ์หรืออารมณ์ทางเพศหรือไม่ก็ตาม
ในศาสนาฮินดู “กาม” เป็นหนึ่งในเป้าหมาย 4 ประการของชีวิตมนุษย์ .. “กาม” ถือเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเป้าหมายอันดีต่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์เมื่อได้ทำตาม หากแต่ต้องไม่ละทิ้งเป้าหมายอีกสามประการที่เหลือ คือ ธรรม, อรรถ, และ โมกษะ เป้าหมายทั้งสี่ประการของชีวิตที่กล่าวมานี้เรียกรวมกันว่าเป็น “ปุรุษารถะ”
.. ในศาสนาพุทธเถรวาทนั้น พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ได้ระบุว่ากามคือ “ความอยากในกาม ความเยื่อใยในกาม ฯลฯ โดยทั่วไปหมายถึง ความอยากในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ” และถือว่า “ใจความสูงสุดของกามตัณหา หมายถึง ความยินดี ความติดใจ ความพอใจในกามภพ อันเป็นที่เกิดของผู้ยังเกี่ยวข้องด้วยกาม ซึ่งพร้อมมูลด้วยกาม ได้แก่โลกมนุษย์และเทวโลก
4. สันยาส (ละทิ้งทางโลก) .. เป็นช่วงชีวิตแห่งการละทิ้งความปรารถนาทางวัตถุและทางโลก โดยทั่วไปคือปราศจากสิ่งครอบครองรวมถึงที่อยู่ ใช้ชีวิตโดยมุ่งเน้นโมกษะ, ความสันติ และชีวิตทางจิตวิญญาณที่เรียบง่าย ผู้ใดก็ตามที่สิ้นสุดระยะพรหมจรรย์แล้วสามารถเข้าสู่ระยะนี้ได้ทุกเมื่อ
ดังนั้น หากเรื่องเพศจะเป็นเรื่องต้องห้ามของศาสนาหรือวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่เราก็คงไม่สามารถจะหมายรวมถึง “อินเดีย” และ “ศาสนาฮินดู”
... ด้วยเหตุที่แนวคิดพื้นฐานของชาวฮินดูเน้นความสมดุลของหน้าที่ตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ และระบบวรรณะ ทำให้ศาสนาที่เก่าแก่เป็นอันดับต้นๆของโลกศาสนานี้ ให้ความสำคัญกับเรื่อเพศพอๆกับกิจกรรมอื่นๆของชีวิต ด้วยตระหนักว่าหากเราไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง ย่อมไม่อาจดำรงเผ่าพันธ์อยู่ได้ เมื่อไม่มีการสืบลูกหลาน .. ความพยายามในการสร้างบ้านเมืองก็ไร้ค่า
การให้ความสำคัญกับเรื่องเพศนี้เอง ที่ก่อเกิดคัมภีร์ที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลกนาม “กามสูตร” (Kāmasūtra) ซึ่งเป็นคัมภีร์ฮินดูสมัยโบราณ ว่าด้วยเพศศึกษา หรือพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เขียนโดยวาตสยายน (วาต-สยา-ยะ-นะ) ว่าด้วยความรักในวรรณคดีสันสกฤต โดยมีชื่อเต็มว่า "วาตฺสฺยายน กาม สูตฺร" (คัมภีร์ว่าด้วยความรักของวาตสยายน)
สันนิษฐานว่า กามสูตรถูกเขียนขึ้นระหว่าง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช และคริสต์ศักราชที่ 200 .. กล่าวถึงหลักสู่การใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรมและงดงาม โดยกล่าวเกี่ยวกับธรรมชาติของความรัก ชีวิตในครอบครัว และมุมมองอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนฐานของสุขารมณ์
ในบางมุมของโลก กามสูตร ถูกตีความหมายเป็นดั่งท่วงท่าการร่วมเพศแบบสร้างสรรค์ ทว่าในความเป็นจริงแล้วมีเพียงแค่ 20% ของกามสูตรเท่านั้นที่กล่าวถึงท่าร่วมเพศ ส่วนที่เหลือนั้นเกี่ยวกับปรัชญาและทฤษฎีของความรัก สิ่งที่จุดประกายความต้องการ สิ่งที่ทำให้ความต้องการคงอยู่ และเมื่อไหร่หรือตอนไหนที่มันดีหรือไม่ดี
คัมภีร์ว่าด้วยความรักของวาตสยายน มีทั้งสิ้น 1,250 โศลก แบ่งเป็น 7 อธิกรณ์ (ภาค) คือ
1. สาธารณะ – ว่าด้วยความรัก การจำแนกประเภทของสตรี
2.สัมปรโยคิกะ – ว่าด้วยการจูบ การเล้าโลม การแสดงท่าร่วมรัก
3.กันยาสัมปรยุกตกะ – ว่าด้วยการเลือกหาภรรยา การเกี้ยวพาราสี และการแต่งงาน
4. ภารยาธิการิกะ – ว่าด้วยการประพฤติตัวอย่างเหมาะสมของภรรยา
5.ปารทาริก – ว่าด้วยการแอบมีชู้กับภรรยา
6.ไวศิกะ – ว่าด้วยหญิงคณิกา หรือโสเภณี
7.เอาปนิษทิกะ – ว่าด้วยการสร้างเสน่ห์ให้ตนเอง
สังเกตให้ดีจะพบว่าคัมภีร์กามสูตร ไม่ได้มีแต่เรื่องทางเพศอย่างเดียว ... ทว่ายังสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมศาสตร์รวมถึงจริยศาสตร์ และแพทยศาสตร์ไว้ด้วย โดยมีสมดุลของชีวิตบนพื้นฐานศีลธรรมเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด
.. เนื้อหาสำคัญของกามสูตร ว่าด้วยการร่วมรัก .. ซึ่งวาตสยายนกล่าวเอาไว้มากถึง 64 ท่า โดยเขาบรรยายเป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่คนอินเดียทั่วไปใช้สื่อสาร แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของชาวเมืองขชุราโห ในแคว้นมัธยประเทศ ตำบลชัตปูร์ หมู่บ้านขชุราโห คือที่ตั้งของหมู่เทวสถานในศาสนาฮินดูและศาสนาเชนที่เก่าแก่กว่า 1,800 ปี แต่ละแห่งสร้างด้วยหินทรายสีขาว สลักเสลาลวดลายสวยงามวิจิตร
เราเดินทางจาก เดลฮี โดยใช้บริการของสายการบินภายในประเทศ ..
สนามบิน คาชุราโห ทันสมัยในระดับหนึ่ง มีเครื่องอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบ แต่ดูเหมือนจะมีนักท่องเที่ยไม่มากนัก
ภาพประตอมากรรมบนผนัง บอกให้รู่ว่าเรามาถึงเมืองที่โอบกอดด้วยกลิ่นอายของสัมผัสอันแนบแน่นของมนุษย์แล้ว
Clarks Hotel .. ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบิน โรงแรมค่อนข้างใหม่ สะอาด และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แนบชิดกับธรรมชาติ รื่นรมย์ไปด้วยโอบกอดของต้นไม้ใหญ่
พื้นที่ต้อนรับดูโปร่ง โล่งสบาย .. หมอนอิงสีสดใส จัดจ้านบนโซฟา แต่งเติมบรรยากาศให้ดูน่าตื่นเต้น น่าค้นหาความหมายของวันพักผ่อนที่นี่
กลิ่นอายของ “อินเดีย” ภายในพื้นที่ต้อนรับ
ด้านหนึ่งมีห้องให้นั่งจิบเครื่องดื่มสีสวยตามสั่ง
การออกแบบมุ่งเน้นให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสถึงอารมณ์ของการพักผ่อน ความรู้สึกสบาย ผ่านสถาปัตยกรรมที่เปิดโล่ง สัมผัสกับธรรมชาติภายนอก
ไม้ดอกสีหวานละมุน .. สวยจนอยากแปลงร่างเป็นแมลง เพื่อจะได้บินมาเชยชม ดูดน้ำหวานให้อิ่มเอม เริงร่า
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงแรมมีครบครัน .. ทั้งสระว่ายน้ำกลางแจ้ง
สนามเทนนิส ลานโยคะ สนามหญ้าสำหรับออกกำลังกาย
ส่วนที่เราชอบเป็นพิเศษ .. ลานอเนกประสงค์ที่มีภาพ Wall Art สวยๆ อยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่น้อยที่ร่มรื่น เวลาเช้าๆ มีนกหลากหลายสายพันธุ์ออกมาโผบินเป็นสีสันให้สวนสวย รวมถึงทำให้ช่วงเวลาที่เราอยู่ที่นี่เต็มไปด้วยความรื่นรมย์
ห้องอาหารเรียบง่ายบริเวณชั้นล่าง ตกแต่งร้านในแบบโมเดร์นคลาสสิก เน้นสีเอิร์ทโทน เรียบง่ายทว่างดงาม .. มีให้เลือกนั่งตามสบายอารมณ์
อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารอินเดียแน่นอน .. เปิดโอกาสให้คุณได้สัมผัสกับความฉูดฉาดในสีสัน และรสชาติที่โดดเด่น อันเกิดจากความชำนาญและรู้จริงของเชฟ
โฆษณา