17 ส.ค. 2023 เวลา 07:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปผลประกอบการ 6 หุ้นโรงพยาบาลใหญ่ในตลาดหุ้นไทย

“ธุรกิจโรงพยาบาล” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตที่มีความต้องการจากผู้บริโภคไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ จึงไม่แปลกนักที่ในแง่ของการลงทุนจะถูกนักลงทุนให้ความสนใจหรือดึงดูดเม็ดในการลงทุนเป็นอันดับต้นๆ
ดังนั้นในวันนี้ทาง Wealthy Thai จึงอยากขอใช้โอกาสนี้เพื่อพาผู้อ่านและนักลงทุน ไปชมอาณาจักรของ 6 หุ้นโรงพยาบาลในตลาดทุนไทยที่เราได้ทำการรวบรวมข้อมูลมาในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ใครหลายคนอาจจะต้องคุ้นหูคุ้นตามาบ้างไม่มากก็น้อย
โดยเริ่มกันที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลแนวหน้าของไทยและมีโรงพยาบาลในเครือกว่า 57 แห่ง ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกปี 2566 ก็สามารถกวาดรายได้ไปถึง 4.86 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6.53 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังปี 2566 บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ได้คาดไว้ว่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นของอุตสาหกรรมและผลบวกจากการปรับขึ้นค่าหัวประกันสังคม10% จึงได้ประมาณการกำไรปี 2566 ที่ 1.39 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 11% ดังนั้น จึงให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 37.40 บาท
ถัดมาเป็นบริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 ที่ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกปี 2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.98 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.2% แต่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 229.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 18.5%
แต่อย่างไรก็ดีบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลังปี 66 จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากจะเข้าไฮซีซั่นของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลและตามการเติบโตของคนไข้ทั้งในประเทศและต่างประเทศจาก Pent-up demand สำหรับกำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ 551 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 3%
ทั้งนี้ ยังคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 22.70 บาท จากผลประกอบการที่จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังปี 66 และราคาปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับถูก โดยซื้อขายบน PER ที่ 25.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง5ปี
ต่อมากับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่ผลการประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกปี 66 มีรายได้อยู่ที่ 5.02 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 19% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 339 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 63%
ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ได้คาดการณ์กำไรในปี 2566 ที่ 665 ล้านบาท ลดลง 58% ตามการปรับฐานรายได้จากการให้บริการเกี่ยวกับ COVID และการเข้าไปลงทุน รพ.ใหม่ที่ไม่สามารถชดเชยรายได้เกี่ยวกับ COVID ได้ทันในปีนี้ จึงให้คำแนะนำ “ขาย” ราคาเป้าหมายที่ 45 บาท
และแน่นอนหากพูดหุ้นก็ต้องมีบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ที่มีจำนวนโรงพยาบาลในเครือกว่า 15 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกปี 66 ก็มีรายได้อยู่ที่ 5.56 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 56% และกำไรสุทธิที่ 551 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกัน 83%
ในด้านบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังปี 2566 จะพลิกกลับมีกำไร เนื่องจากรับผลบวกเต็มไตรมาสจากการปรับขึ้นค่าหัวประกันสังคม 10% และกลุ่มลูกค้าเงินสดได้ผลบวกจากการเติบโตของการรักษาโรคเฉพาะทาง ส่วนกำไรทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 1.62 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 60%
ทั้งนี้ยังคงให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 21.30 บาท เนื่องจากตลาดรับรู้ปัจจัยลบผลประกอบการที่อ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ไปแล้ว และราคาซื้อขายในปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างถูก
ถัดมาเป็นบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG ที่ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 3.65 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 44% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 446 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 80%
โดยบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) มองกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีหลังปี 66 จะกลับมาเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนและช่วงก่อนหน้า ตามการเติบโตของรายได้และคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของอัตรากำไร แต่อย่างไรก็ดี ประเมินกำไรปี 66 ที่ 1.13 พันล้านบาท ลดลง 59%
ทั้งนี้ยังคงให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 3.70 บาท เนื่องจากประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/66 และการเพิ่มศักยภาพให้บริการทางการแพทย์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะเป็นบวกต่อการขยายฐานลูกค้าใหม่และ Intensity ค่ารักษาสูงขึ้น
และสุดท้ายบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 มีรายได้อยู่ที่ 2.49 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 35% และพลิกขาดทุนอยู่ที่ 540 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 622 ล้านบาท
โฆษณา