19 ส.ค. 2023 เวลา 12:00

โลกนี้ต้องการคนที่มี Empathy แต่การมี Empathy ต่อคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย

ในวันที่เราต้องการกำลังใจจากคนที่เรารัก เราอาจได้รับแต่การเมินเฉย วันที่อยากได้รับคำชื่นชมจากครอบครัว เราอาจได้รับแต่คำติเตียน วันที่อยากได้คำปลอบใจ เราอาจได้แต่คำสั่งสอน วันที่รู้สึกโดดเดี่ยว จนอยากได้ใครสักคนรับฟัง คนรอบตัวของเราอาจทำได้แค่บอกเราว่า “อย่าไปคิดมากเลย เรื่องเล็กน้อย”
4
บางครั้งเราอาจสงสัยว่าทำไมคนรอบข้างถึงใจร้ายกับความรู้สึกของเราขนาดนั้น ทั้งที่เราเองพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นมาโดยตลอด แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยได้รับความรักและความเข้าอกเข้าใจจากใคร รู้สึกเหมือนไร้คนรับฟังและไร้ที่พึ่งพิง จนบางครั้งรู้สึกเหมือนโลกช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย
แต่บางทีพวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้ใจร้ายกับความรู้สึกของเราอย่างที่เราตีความหรอก พวกเขาในเวลาอื่นอาจเป็นคนที่ใจดีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก พูดจากับคนอื่นดีมาก จนมองดูแล้วไม่น่าติดคำว่าใจร้ายไว้ที่ตัวได้เลย แต่ที่เขาเฉยชาและมักทำเหมือนไม่สนใจความรู้สึกของเรา บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาขาดทักษะ “Empathy” เท่านั้นเอง
4
ความจริงแล้ว มนุษย์เกิดมามีทักษะ “Empathy” ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
2
แวบแรกที่กวาดสายตาอ่านเราอาจรู้สึกไม่อยากเชื่อ เพราะทั้งสงครามและความขัดแย้งล้วนเป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งนั้น แล้วมนุษย์ทุกคนจะมี “Empathy” ตั้งแต่เกิดอยู่แล้วได้อย่างไร?
2
เจเรมี่ ริฟคิน (Jeremy Rifkin) นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และนักสังคมชาวอเมริกัน ยกเรื่องราวนี้มาเขียนไว้ในหนังสือ “Empathic Civilization” เพื่ออธิบายถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์และรากเหง้าของสังคมมนุษย์ที่มาจากการมี “Empathy”
โดยเขาเชื่อว่า “Empathy” เป็นบ่อเกิดถึงอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง เขาได้อ้างอิงงานวิจัยหลายตัวเพื่อที่จะบอกผู้อ่านว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาโดยมี “Empathy” ในตัวเองอยู่แล้ว
1
ริฟคินกล่าวถึงงานวิจัยที่พบว่า เด็กทารกที่เกิดมาบนโลกนี้ได้เพียงสองวัน สามารถรับรู้ความรู้สึกของเด็กทารกคนอื่นจากเสียงร้องไห้ แล้วจะร้องไห้ตอบกลับไปยังเด็กคนนั้น ในงานวิจัยอื่นยังระบุว่า เด็กอายุเพียงสองขวบ มักจะแสดงอาการ “ไม่สบายใจ” เมื่อเห็นเด็กคนอื่นกำลังทุกข์ และจะเข้าไปหาเด็กคนนั้นเพื่อแบ่งของเล่น โอบกอด หรือพาเด็กคนนั้นไปหาแม่ของพวกเขาเพื่อเป็น “การช่วยเหลือ”
ในหนังสือยังเล่าว่า แม้แต่ในสถานที่ที่ดูไร้ความเข้าอกเข้าใจกันมากที่สุดอย่างใน “สนามรบ” ยังเคยเกิดปรากฏการณ์ “คริสต์มาสทรูซ (Christmas Truce)” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1914 คือเหตุการณ์ที่ทหารอังกฤษและทหารเยอรมันพากันกอดคอร้องเพลงในคืนคริสต์มาสอีฟ และมีบทสนทนาคิดถึงบ้านร่วมกัน ทั้งที่ตอนนั้นโลกกำลังวุ่นวายกับสงครามโลกครั้งที่ 1
3
อย่างไรก็ตาม “Empathy” เหมือนกับทักษะอื่นๆ ของมนุษย์ ถึงแม้จะเป็นทักษะที่สามารถมีมาตั้งแต่เกิด พัฒนาและฝึกฝนได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจเกิดมามี “ไม่เท่ากัน” โดยมีทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม การเลี้ยงดูจากพ่อแม่และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด
1
ทำไมการพัฒนาทักษะ “Empathy” ถึงเป็นเรื่องยาก?
1
เบรเน่ บราวน์ (Brene Brown) นักวิจัยและนักเขียนชื่อดัง กล่าวไว้ใน Ted Talks ว่า การจะทำความ “เข้าใจ” ผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ อันดับแรกเราต้องเข้าใจ “ความเปราะบาง” ในใจของตนเองก่อน คนที่ “กล้า” โอบรับความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตนเอง ยอมรับความอ่อนแอของตนเอง และกล้าเปิดเผยมันต่อผู้อื่น จึงจะเป็นผู้ที่สามารถ “รู้สึก” ถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น และแสดง “ความเข้าอกเข้าใจ” ออกมาได้
4
เพราะการเข้าใจผู้อื่น ไม่ใช่แค่การ “เห็น” ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร แต่เป็นการ “เข้า” ไปนั่งใน “หัวใจ” ของอีกฝ่าย เพื่อ “เข้าใจ” สถานการณ์ ความยากลำบาก หรือประสบการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ และรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับพวกเขาด้วย เหมือนกับการปลอบโยนว่า “เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ” “ฉันพร้อมที่จะเข้าใจ รับฟังและช่วยเหลือเธอ”
การเปิดเผยและยอมรับความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตนเอง เพื่อ “ร่วม” รู้สึกเจ็บปวดไปกับผู้อื่นด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะมนุษย์ต้องการ “ความมั่นคง” ทางอารมณ์ และต้องการ “ความปลอดภัย” บ่อยครั้งจึงเกิดการสร้างเกราะกำบังและหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้ตัวเองรู้สึก อ่อนแอด้วยการเดินหนี การเมินเฉย และการรับฟังเราแต่เพียงผิวเผิน
2
ถ้าคนสำคัญของเราไม่มี Empathy ให้กับเราเลย แล้วเราจะต้องทำอย่างไร?
1
เมื่อคนที่เราให้ความสำคัญไม่มี Empathy กับเรา โปรดตระหนักไว้ว่า พวกเขาก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเปราะบางในใจไม่ต่างจากเรา แน่นอนว่า เราสามารถเลือกที่จะไม่ให้พวกเขามามีอิทธิพลกับความรู้สึกของเรา เพื่อปกป้องตัวเราไม่ให้ผิดหวังและเสียใจมากขึ้นได้เช่นกัน โดยเราขอแนะนำวิธีรับมือกับคนที่ไม่มี “Empathy” ดังนี้
4
[  ] สร้างขอบเขตของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นคนรัก คนในครอบครัวหรือคนที่ทำงาน ถ้าเวลาที่เราไปขอความเข้าอกเข้าใจจากพวกเขา หรือแค่กำลังอยู่ในบทสนทนาด้วย แต่เขากลับจงใจใช้คำพูดรุนแรงไม่เกรงใจเรา ให้เราแสดงจุดยืนว่าเขากำลัง “ล้ำเส้น” และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับเรา เพราะแม้ว่าเขาจะไม่สามารถทำความเข้าใจเราได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาสามารถใช้คำพูดไม่ดีกับเราได้
1
[  ] ผูกมิตรกับคนอื่นที่มี Empathy
ถึงแม้การรับผิดชอบอารมณ์และความรู้สึกจะเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง แต่ในเชิงจิตวิทยาก็มีการพิสูจน์แล้วว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันและคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จะเป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรามากในระยะยาว ทางที่ดีเราจึงควรเลือกสานสัมพันธ์กับคนที่มีทักษะ Empathy สูงไว้ด้วย
1
[  ] เลี่ยงขอกำลังใจจากคนที่ไม่มี Empathy
ในบางเวลาเราอาจจะต้องการใครสักคนที่รับฟังเรื่องของเราและเข้าใจเรา แต่ “ใครสักคน” ที่ให้ความเข้าอกเข้าใจเราได้ ย่อมไม่ใช่คนที่ขาดทักษะ Empathy
ทางที่ดีเราควรหันกลับมาฝึกการยอมรับและทำความเข้าใจความรู้สึกตนเอง (Self-Acceptance) หรืออาจไปปรึกษาคนที่สามารถให้ความเข้าอกเข้าใจเราได้ โดยที่ไม่ตัดสินและเมินเฉยปัญหาของเรา อาจเป็นเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเรา
[  ] อย่าคาดหวังให้ใครเปลี่ยนแปลง
ทักษะ Empathy สามารถฝึกฝนเพื่อพัฒนาได้ แต่เราไม่สามารถไปทำให้ใครอยากฝึกฝนและพัฒนาทักษะนี้ รวมถึงไปคาดหวังว่าสักวันหนึ่งคนที่ไม่มี Empathy เลยจะกลายเป็นคนที่มี Empathy มากขึ้น เพราะหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงเป็นของตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเรา
1
อย่างไรก็ตาม ถ้าอีกฝ่ายอยากจะเปลี่ยนแปลง เราสามารถให้การสนับสนุนได้ แต่ต้องไม่ใช่การพยายามไปเปลี่ยนแปลงตัวตนของพวกเขา
5
[  ] เดินออกมาถ้าจำเป็น
ถ้าคนที่ไม่มี Empathy กับเราเป็นคนรัก พ่อแม่หรือเพื่อนที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด เวลาที่พวกเขาเมินเฉยและด้อยค่าความรู้สึกของเรา อาจสร้างความเสียใจและความเจ็บปวดให้เราได้หลายเท่ากว่าคนอื่น การได้ลองเดินออกมามองภาพที่กว้างขึ้น จะทำให้เราได้ทบทวนว่าความสัมพันธ์นี้ยังควรค่าแก่การรักษาไว้หรือไม่ หรือเราควรสร้างระยะห่างเท่าใดในความสัมพันธ์จึงจะเหมาะสม?
3
[  ] พยายามไม่ถือสา
สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ การที่คนอื่นแสดงการกระทำหรือคำพูดด้วยอารมณ์แง่ลบต่อเรา ไม่ใช่ความผิดหรือความรับผิดชอบของเรา เพราะเราไม่สามารถรับผิดชอบอารมณ์ของคนอื่นได้ หนึ่งสถานการณ์จะสร้างความรู้สึกหรืออารมณ์แบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้ที่ให้ความหมายสถานการณ์นั้น
ในอีกแง่หนึ่ง คนที่กำลังขาดทักษะ Empathy และแสดงพฤติกรรมใจร้ายออกมา บางทีอารมณ์ลบนั้นอาจมาจากปัญหาส่วนตัวที่เขากำลังเผชิญอยู่ อาจเป็นปมในอดีตหรือประสบการณ์ฝังใจ ซึ่งเราไม่มีทางรู้หรือตัดสินเขาได้เลย
นอกจากการพยายามหลีกเลี่ยง บางทีเราอาจเลือกที่จะ “เข้าใจ” ในสิ่งที่เขาเป็นก็ได้เช่นกัน ถ้าเราเลือกเข้าใจเขา เขาอาจจะเปิดใจและเข้าใจเรากลับหรืออาจไม่เข้าใจเราเลยก็ได้ เพราะการมี Empathy คือการรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเลือกที่จะเข้าใจผู้อื่น โดยไม่คาดหวังให้ใครต้องเปลี่ยนแปลง
แม้บนโลกนี้เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อคนอื่น ต่อสังคม และต่อโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้นได้ เพราะแม้แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารอังกฤษกับทหารเยอรมัน ยังสามารถกอดคอร้องเพลงในคืนคริสต์มาสอีฟได้เลย
5
อ้างอิง
- หนังสือ The Empathic Civilization : Jeremy Rifkin
- The Power of Vulnerability : Brene Brown - https://bit.ly/44Pht3z
- Think Empathy Is A Soft Skill? Think Again. Why You Need Empathy For Success : Tracy Browner - https://bit.ly/45fb3dT
- What to Do If You or a Loved One Lack Empathy : Kendra Cherry - https://bit.ly/3KpI13b
#relationship
#selfdevelopment
#empathy
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา