17 ส.ค. 2023 เวลา 12:31 • หนังสือ

ถ้ามีใครสักคนถามว่าตอนนี้หนังสือเล่มไหนมีกระแสมาแรงที่สุด

ผมว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อวรรณกรรมคลาสสิกของโลกนามว่า “To Kill a Mockingbird” ของ Harper Lee อย่างแน่นอน
ด้วยปกใหม่ที่บาดจิตวิลิศมาหรา บวกกับโปรไฟล์ที่เวอร์วัง จึงไม่แปลกเลยที่เหล่านักอ่าน นักดองจะถูกป้ายยาและให้การตอบรับเป็นอย่างดี วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังกันครับว่าทำไมคุณถึงไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้
To Kill a Mockingbird ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วหลังตีพิมพ์ในปี 1960 ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1961 และได้ถูกทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1962 ในชื่อ “พิพากอธรรม” แม้กระทั่งตัวภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลออสการ์ได้ถึง 3 รางวัล (สมัยนั้นยังเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ)
ในปี 1999 ไลบรารี่ เจอร์นัล ยกให้ To Kill a Mockingbird เป็น “นวนิยายที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษ”
ต่อมาในปี 2006 บริติช ไลบรารี่ ก็ได้จัดอันดับหนังสือเล่มนี้ให้อยู่ในรายชื่อ “หนังสือที่ทุกคนควรอ่านก่อนตาย" โดยมีอันดับสูงกว่าคัมภีร์ไบเบิล เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมถึง 1984
The New York Times เคยจัดอันดับหนังสือที่ดีที่สุดในรอบ 125 ปี โดยโหวตจากนักอ่าน 67 ประเทศทั่วโลก และ 50 รัฐในอเมริกา ผลปรากฏว่า To Kill a Mockingbird ติดอันดับ 1 แซงหน้า เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ 1984 หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว และ Beloved (บีเลิฟด์)
ยิ่งกว่านั้นหนังสือเล่มนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ทำยอดขายถล่มทลายทั่วโลกกว่า 40 ล้านเล่ม ทำให้ To Kill a Mockingbird ติดอันดับอยู่ในรายชื่อ “หนังสือ 50 เล่มที่ขายดีที่สุดตลอดกาล” โดยมียอดขายไม่ทิ้งห่างจากหนังสือในตำนานอย่าง Cosmos และ Jonathan Livingston Seagull
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า To Kill a Mockingbird มีเนื้อหาเป็นอย่างไร ทำไมถึงขายดิบขายดี เดี๋ยวผมขออนุญาตบรีฟให้อ่านกันครับ
To Kill a Mockingbird เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ตีแผ่อคติที่บิดเบี้ยวของสังคม เล่าผ่านมุมมองของ “สเกาท์” เด็กหญิงวัย 6 ขวบที่อาศัยอยู่กับพ่อชื่อ “แอตติคัส” ซึ่งเป็นทนายความ และพี่ชายที่ชื่อ “เจ็ม” ที่อายุมากกว่าไม่กี่ปี ในเมืองเมย์คอมบ์ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในรัฐแอละแบมา ทางภาคใต้ของสหรัฐฯ
ช่วงแรกของเนื้อหาบอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตประจำวันทั่วไปของสเกาท์ การเล่นกับเพื่อนบ้าน การไปโรงเรียน รวมถึงการอยากรู้ความลับของเพื่อนบ้านคนหนึ่งชื่อ “อาร์เธอร์ แรดลีย์” ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏตัวให้ใครเห็น
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเรื่องคือ แอตติคัส พ่อของเธอ ได้รับงานเป็นทนายแก้ต่างให้ “ทอม โรบินสัน” หนุ่มผิวดำที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงผิวขาวคนหนึ่ง และทุกอย่างรอบตัวก็เริ่มเปลี่ยนไป เพื่อนๆ ต่างล้อเลียนเธอที่พ่อของเธอไปเข้าข้างคนดำ ชาวบ้านเริ่มมองเธอและครอบครัวเธอเปลี่ยนไปซึ่งได้สร้างความโกรธเคืองให้เธอเป็นอย่างมาก
หนังสือฉายภาพคำถามที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของเด็กหญิงอันแสนบริสุทธิ์ กับคำถามที่เรียบง่ายเกี่ยวกับความเท่าเทียม สีผิว ความสูงต่ำของเชื้อชาติและวงศ์ตระกูล รวมไปถึงความเป็นชาย-หญิง
เรื่องราวไปพีคตรงการพิจารณาคดีของ “ทอม โรบินสัน” ที่ดุเดือด เข้มข้นด้วยการฟาดฟันกันระหว่างตรรกกับอคติฝังร่าง พาร์ทนี้สนุกแบบวางไม่ลงเลย และการตัดสินครั้งนั้นนั่นเองที่ทำให้มุมมองอันแสนบริสุทธิ์ของสเกาท์นั้นเปลี่ยนไปตลอดกาล
แรงส่งที่ทำให้ To Kill a Mockingbird ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามอาจเป็นเพราะความครุกรุ่นที่ส่งทอดมาจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองอเมริกาในปี 1865 และการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองอย่างแข็งขันในช่วงปี 1954-1968
แน่นอนว่าท่ามกลางความขุ่นมัวของอคติการเหยียดผิว หนังสือเล่มนี้ได้เข้ามาตอบคำถามคาใจให้ทุกคนได้อย่างพอดิบพอดีได้ถึงประเด็นที่ว่า “เราจะใช้ชีวิตร่วมกับคนที่แตกต่างจากเราได้อย่างไร ?”
แม้ To Kill a Mockingbird ถูกยกให้เป็นวรรณกรรมเพื่อมนุษยชาติ และถูกใช้สอนในโรงเรียนจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ ก็ถูกเรียกร้องให้ถอดถอนออกจากหลักสูตรและห้องสมุดหลายครั้ง เนื่องจากการร้องเรียนว่ามีการใช้ N-word เกือบ 50 ครั้ง (N-word คือคำเซนเซอร์ของคำว่า “nigga” ที่แปลว่า “ไอ้มืด” ซึ่งแสดงถึงการเหยียดสีผิวคนดำ)
ส่วนตัวผมมองว่าแม้ในเนื้อหาจะมีการใช้ N-word อยู่หลายจุด แต่แอบคิดว่าบริบทของหนังสือมันควรต้องชี้ให้เห็นว่าการเหยียดมันเป็นแบบนี้ มันถึงสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเกลียดของสังคมอย่างชัดเจน
และอีกอย่างมีฉากหนึ่งที่แอตติคัสสอนสเกาท์ว่าอย่าใช้คำว่า “ไอ้มืด” เพราะเป็นคำที่หยาบคาย ผมว่าประเด็นนี้ก็อาจสะท้อนเจตนาของผู้เขียนว่าไม่ได้ต้องการเหยียดแต่อย่างใด เพียงแค่บริบทมันเอื้อให้ต้องใช้
ด้วยโปรไฟล์การประสบความสำเร็จสุดยิ่งใหญ่ของเล่มนี้ หลายคนคงคิดว่านักเขียนอย่าง Harper Lee คงต้องใช้เทคนิคการเล่าที่แพรวพราวเร้าใจ เค้นมันสมองออกมาทุกกระเบียดนิ้ว แต่จริงๆแล้ว Harper Lee ไม่ได้ตีลังกาเขียนแต่อย่างใด
เธอเผยว่าเธอเขียนเรื่องนี้โดยถ่ายทอดเค้าโครงมาจากประสบการณ์จริงตอนที่เธออายุได้ประมาณ 10 ขวบ โดยถ่ายทอดมุมมองของตัวเธอเองผ่านมุมมองของสเกาท์ พ่อของเธอเป็นทนายความเหมือนกับแอตติคัส ฟินช์ และเคยว่าความให้กับชายผิวดำเหมือนกัน นอกจากนั้นเธอก็มีพี่ชายซึ่งอายุมากกว่าเธอสี่ปีเหมือนตัวละคร เจ็ม เป๊ะๆ
ซึ่งการเล่าผ่านมุมมองของเด็กอย่างสเกาท์กลับกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เล่มนี้ตีแผ่อคติอันบิดเบี้ยวออกมาได้ชัดเจน
ทำไมผู้หญิงถึงไม่เหมาะที่จะใส่กางเกง ทำไมเราต้องคีพลุ๊คอยู่ตลอดเพียงเพราะว่าเราสืบเชื้อสายจากวงศ์ตระกูลที่สูงส่ง ทำไมคนขาวเข้าโบสถ์คนดำไม่ได้ ทำไมคณะลูกขุนต้องเป็นผู้ชาย ทำไมผู้หญิงต้องเย็บปักถักร้อย ทำไมเราต้องไม่คบกับใครเพียงเพราะเค้ามาจากชาติตระกูลที่ต่ำกว่า
คำถามอันไร้เดียงสาเหล่านี้จะผุดขึ้นมาตลอดทั้งเรื่อง และทำให้เรามองเห็นความผิดปกติของระบบความเชื่อในสังคมได้แจ่มชัดขึ้น
ผมว่าเล่มนี้อ่านแล้วทำให้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง คือ Uncle Tom's Cabin ของ แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ที่วางขายก่อนหน้าเล่มนี้ประมาณ 100 ปี ซึ่งตอนนั้นอิทธิพลของ Uncle Tom's Cabin ก็เป็นหนึ่งในชนวนนำไปสู่สงครามกลางเมืองอเมริกาในตอนนั้น
ตอนอ่านจบ สิ่งที่ผมได้จากการอ่านเล่มนี้ก็คือ ผมรู้สึกทึ่งกับพลังของวรรณกรรม แม้ผมไม่อาจตอบได้ว่าหนังสือเล่มนี้ส่งผลต่อสังคมได้ครอบคลุมเพียงใด ไม่อาจรู้ได้ว่าหนังสือเล่มนี้เซฟชีวิตคนไว้ได้กี่ชีวิต หรือกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ได้มากเพียงใด
แต่ผมเชื่อว่า หลายแสนความสุข หลายล้านรอยยิ้มเกิดขึ้นได้ทุกวันนี้เพราะมีหนังสือเล่มนี้ช่วยปูทาง
นั่นละครับพลังของมัน
…พะโล้
#เรื่องย่อของหนังสือเล่มเยี่ยม
โฆษณา