17 ส.ค. 2023 เวลา 21:13 • ท่องเที่ยว

Ochha : Lakmi Narayan Temple .. วัด ป้อม และหอศิลป์

ฉันชอบเดินชมภาพวาดในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ .. การได้จ้องมองที่ภาพวาด หรือชิ้นงานศิลปะ และพยายามทำความเข้าใจบริบทและความหมายที่ซ่อนอยู่ และบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมศิลปินถึงสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นขึ้นมา!
ภาพวาดหลายภาพ สะท้อนภาพที่หลากหลายของโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม การเมือง และแนวความคิดของคน .. และศิลปะไม่เคยหยุดการเดินทางไกล ไปทั่วทุกหนแห่งในโลก
ฉันเดินทางท่องเที่ยวในอินเดียหลายครั้งมาก .. หลงใหลใน บทกวีของแผ่นหินที่เย็นชืด ที่ได้รับการสลักเสลาเป็นภาพที่เหมือนกับมีชีวิตจริงๆของวัดฮินดู .. ฉันรักกำแพงที่หรูหรา เสา ประตูที่สวยงาม รูปปั้นที่ประณีตจนคุณอยากจะแตะปลายนิ้วของคุณเบา ๆ กับประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งชิ้นนั้น .. รวมถึงภาพวาดเฟรสโก ที่เห็นตามพระราชวังเก่าหลายๆแห่ง
.. ฉันจะได้มาเดินชมงานจิตรกรรม ณ สถานที่ที่อาจจะมีน้อยคนที่คิดว่าจะมีภาพวาดที่งดงาม .. ตามมาค่ะ
วันนี้เราอยู่ที่เมือง โอชา ในมัธยประเทศ อินเดีย เมืองที่เป็น Heartland of India, Madhya Pradesh
วัดลักษมีแห่ง Orchha ซึ่งบางครั้งเรียกว่า Laxmi Narayan Mandir เป็นวัดที่มีป้อมสมัยศตวรรษที่ 17 .. ซึ่งฉันแน่ใจว่า คุณคงไม่เคยเห็น
วัดที่สร้างเหมือนป้อมปราการ ตั้งตระหง่าน โดดเดี่ยวแยกจากที่อื่นๆและสูงตระหง่านบนภูเขา ตั้งอยู่ห่างจากป้อม Orchha ราว 2 กม.
.. แต่แม้ว่าจะโดดเดี่ยว ฉันว่า ตัววัดเองตั้งอยู่ในมุมที่มีเสน่ห์ของ Orchha ซึ่งแยกจากจุดสำคัญอื่นๆ
วัดลักษมีตั้งอยู่บนยอดเขาหิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง Orchha ประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากป้อมและอนุสาวรีย์ริมฝั่งแม่น้ำ Betwa .. เป็นวัดอีกแห่งที่มีป้อมเป็นของตนเอง บนหลังคาป้อมพระวิหารมีช่องใส่ปืนใหญ่ เป็นอาคารที่ไม่เหมือนที่อื่นที่เราเคยเห็นในอินเดีย
ประวัติศาสตร์อินเดียในศตวรรษที่ 16 ถึง 19 .. เมื่อ Bundelkhand ถูกโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีกและวัดถูกปล้นและถูกทำลาย สถาปัตยกรรมนี้ ดูได้ง่ายว่าสะท้อนถึงความพยายามในการปกป้องวัดแห่งนี้
วัดลักษมี สร้างโดยราชาบีร์ซิงห์ดีโอ (ค.ศ. 1605–26) และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1622 .. วัดแห่งนี้ สร้างอุทิศให้กับเทพีแห่งความมั่งคั่ง พระแม่ลักษมี ..
ซึ่งภายในห้องชั้นในของวัด Vir Singh ได้จัดเตรียมเครื่องบูชาสำหรับเทพธิดาลักษมี เป็นรูปโยนี ภายในห้องชั้นในสุดของวัดที่หรูหราแห่งนี้
แต่เนื่องจากการบำรุงรักษาสถานที่ไม่เพียงพอ สภาพของวัดจึงทรุดโทรมลงในไม่ช้า วัดถูกสร้างขึ้นใหม่โดย Raja Prithvi Singh ในช่วงปี 1793
ผังและโครงสร้างของวัด เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมของวัดและป้อมอย่างสวยงาม ..
โครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยมีปราการ 4 ด้านยื่นออกมาที่มุมทั้งสี่ กำแพงสี่เหลี่ยมสูงเสริมให้อาคารมีลักษณะเหมือนป้อม ในขณะที่ยอดแหลมสร้างความประทับใจให้กับวัดแห่งนี้
ที่น่าสนใจคือ อาคารแนวปูนและปูนที่มีหอคอยแปดเหลี่ยมตรงกลางมีหน้าต่างจำนวนมากที่มีรูกุญแจที่ออกแบบมา
สำหรับทหารในการวางตำแหน่งพลธนูและทหารเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับป้อม Orchha
ประตูและทางเข้ายังคงอยู่ทางทิศตะวันออกตามแบบฉบับของวัดฮินดู .. ภายในมีซุ้มศิขระ (ยอดแหลม) แปดเหลี่ยมอยู่เหนือพระอุโบสถ มองเห็นเป็นจุดเด่นแต่ไกล
ทางเดิน มณฑป และอันตาราลาผสมผสานระหว่างสไตล์ราชปุต-บุนเดลา-โมกุล
แม้ความจริง คือ สถานที่แห่งนี้คือ วัด .. แต่เมื่อคุณย่างก้าวผ่านซุ้มประตู ข้ามธรณีเข้าไป คุณจะลืมภาพลักษณ์ที่เคยมีในหัวโดยสิ้นเชิง (ฉันแน่ใจค่ะ)
เมื่อคุณผ่านเข้าไป คุณจะเห็นชุดของภาพเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ล้อมรอบด้วยซุ้มหินปูน
ภาพเหล่านี้เป็นภาพวาดฝาผนัง Bundeli แบบดั้งเดิม ซึ่งยังคงใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดส่าหรี ในภูมิภาค Bundelkhand
การวาดภาพมักจะทำโดยจิตรกรมืออาชีพที่เรียกว่า Chiteras ฐานปูนโคลนประกอบด้วยดินเหนียวสีแดงและส่วนผสมของขี้วัว ใช้นิ้วสลักลวดลายเชิงเส้นด้วยกรรมวิธีที่เรียกว่า ลิไป .. กระบวนการสร้างภาพเหล่านั้น ทำให้ภาพเขียนของที่นี่แตกต่างจากภาพเฟรสโกทั่วไป
ในการวาดภาพแบบขีดข่วน ศิลปินจะวาดภาพผนังก่อนแล้วจึงวาดตัวแบบโดยการขูดสีนี้ออก
ภาพวาดขูดขีดส่วนใหญ่ที่ประดับผนังห้องแสดงภาพในวัดลักษมีแสดงฉากยามว่างของราชวงศ์ เช่น การล่าสัตว์ มวยปล้ำ การสูบฮูกกา ราชินีตากปอยผมยาว กษัตริย์มอบดอกกุหลาบให้ราชินี และอื่นๆ
อันเป็นการแสดงออกถึงชีวิตของผู้คน ซึ่งเชื่อมโยงโดยเนื้อแท้กับบรรยากาศทางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ ภาพเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับ แต่ยังเป็นการบอกเล่าเรื่องราว
ใครบางคนเคยบอกฉันว่า .. เมื่อคุณออกเดินทางเพื่อสำรวจประวัติศาสตร์และมรดกของอินเดีย: "มองขึ้นไปเสมอ!"
.. คำกล่าวนี้เป็นจริงมาก เมื่อเราเดินอยู่ในวัดลักษที นารายัน .. ภาพวาดบนเพดานรูปแปดเหลี่ยมของโถงทางเข้า ที่เหมือนเป็น Reception Area
ภาพกฤษณะลีลา พระกฤษณะในพระราชวัง หนุมาน พระรามและนางสีดา .. ซึ่งส่วนใหญ่มีแรงบันดาลใจจากมหากาพย์ รามายะนะ
วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นในเรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใสงดงามมาก ครอบคลุมผนังและเพดานของห้องโถงทั้ง 4 ห้อง
.. ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเดินอยู่ในหอศิลป์ดีๆ ที่มีภาพเป็นองค์ประกอบที่มีชีวิตชีวาและครอบคลุมหัวข้อทางจิตวิญญาณและทางโลกที่หลากหลาย
หอศิลป์ 4 ห้องรอให้เราไปสำรวจ .. แต่ละห้องมีเอกลักษณ์และงดงามไม่แพ้กัน จัดแสดงตัวอย่างและความแตกต่าง
… โดยมีเค้าโครงของเรื่องมาจากวรรณคดีที่มีชื่อเสียงของอินเดีย เช่น จากเรื่องรามเกียรติ์ ภควัทคีตา กฤษณะลีลา
ชีวิตของผู้ปกครองท้องถิ่น และสงครามอิสรภาพครั้งแรกในปี พ.ศ. 2400 (Sepoy Mutiny 1857) ล้วนเป็นผลงานชิ้นเอกอย่างแท้จริง
ความงามทางศิลปะที่แท้จริงของภาพวาดเหล่านี้จะทำให้เราลืมเวลาที่ใช้เดินชมภาพวาดที่ตกแต่งเพดานทุกตารางนิ้ว ..
ความงดงามของชิ้นงานเหล่านี้ ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึง 19
บางส่วนแสดงฉากฆราวาส เช่น มวยปล้ำ โยคี เทศกาลที่มีการเต้นรำในชุมชนโดยเป็นเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง และแม่ที่อุ้มลูกน้อย
ส่วนอื่นๆ ได้แก่ ฉากการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ของอาณาจักรฮินดูและราชวงศ์โมกุล
.. การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ Jhansi ki Rani ชนชั้นสูงของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม
.. รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับการสงครามในปี 1857 เมื่ออาณานิคมอังกฤษต่อสู้กับชาวฮินดูและชาวมุสลิมในอินเดีย
ภาพวาดของนกมหึมาที่เรียกว่า Shungi Chidiya ซึ่งสามารถเห็นได้ว่าช้างบินหนีไปพร้อมกับช้างที่ถูกจับด้วยกรงเล็บของมัน คะแนนเต็มสำหรับศิลปินสำหรับจินตนาการของเขา
นกชนิดนี้น่าจะสอดคล้องกับ “นกหัสดีลิงค์” ในคติความเชื่อของคนไทยส่วนหนึ่ง .. ซึ่งบางแนวความคิดกล่าวว่า เป็นนกที่มีลำตัวเป็นนกและหัวเหมือนช้าง มีพละกำลังมากเท่ากับช้าง 5 เชือก และชอบกินสัตว์สดๆเป็นอาหาร .. ตำนานนี้กล่าวว่าเรารับคติของนกชนิดนี้มาจากอินเดีย
ภาพนารายณ์บรรทมศิลป์ หรือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ .. เป็นตอนที่พระวิษณุบรรทมในช่วงการสร้างโลก
การบรรทมแต่ละครั้งนั้น จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์ .. ในคัมภีร์วราหแุราณะ กล่าวถึงพระวิษณุขณะบรรทมอยู่นั้น ได้ทรงพระสุบิน เกิดปัทมขึ้นจากพรพนาภี บนปัทมบังเกิดพระพรหม และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่างๆ
ภาพวาดเหล่านี้มีอายุย้อนไปถึง ยุคกลางของอินเดีย … ดังนั้นคุณจึงสามารถเห็นภาพเทพเจ้าฮินดูจำนวนมาก
ภาพวาดทั้งหมดใช้สีธรรมชาติ โดยใช้รูปแบบศิลปะที่เรียกว่าปูนเปียก หรือเฟรสโก้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลงานด้านความงามเหล่านี้อาจสูญเสียความแวววาวไปบ้าง แต่ความพยายามในการฟื้นฟูหลายปีทำให้ยังคงสภาพเดิมไว้
หอศิลป์ภายในวัด!! คุณชอบมั๊ยคะ?
เราขึ้นบันไดคอนกรีตแคบๆ มุ่งหน้าขึ้นไปที่ชั้นบนของป้อม ..
ด้านบน สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบได้กว้างไกล มีมุมถ่ายภาพได้สวยงาม
สถาปัตยกรรมที่เราเห็นนั้นสวยมาก คงเป็นงานศิลปะในยุครุ่งเรือง .. เราชอบงานปูนปั้น งานฉลุที่อ่อนช้อยมากมาย .. เป็นงานที่ทำจากปูนที่น่าทึ่งมาก
บันไดที่จำนำไปสู่ส่วนสูงสุดของป้อม .. แต่เราไม่แน่ใจเรื่องความแข็งแรงของบันไดที่ลอยอยู่ เลยไม่กล้าลองขึ้นไปดู
โฆษณา