18 ส.ค. 2023 เวลา 08:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Dilution effect คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญกับตลาดหุ้น

เหตุการณ์ใดบ้างที่ทำให้เกิด Dilution effect และเราควรจะรับมืออย่างไรดีเพื่อวางแผนให้พอร์ตของเราได้รับผลกระทบน้อยที่สุดกับ “Dilution effect” ของราคาหุ้น มาดูกันครับ
ทำความรู้จัก Dilution effect
Dilution effect คือการที่มีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้สัดส่วนหรือความเป็นเจ้าของในบริษัทนั้นๆ ลดน้อยลงและส่งผลสะท้อนไปยังราคาหุ้น
นักลงทุนอาจจะสงสัยว่า dilution effect นั้นมีความสำคัญอย่างไร? เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้แบบตรงๆ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักแต่ความจริงแล้วเหตุการณ์นี้มีความสำคัญค่อนข้างมาก เดี๋ยวเราจะมาดูกันว่าเหตุการณ์ใดบ้างที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ dilution effect
สาเหตุที่ทำให้เกิด Dilution effect
ความจริงแล้วสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นเกิดการ dilute มีมากมาย แต่วันนี้เราจะมาดู 4 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้กัน
1. บริษัทจ่ายเงินปันผล
การจ่ายเงินปันผลเป็นสิ่งที่ทุกคนจะพบกันบ่อยเพราะส่วนใหญ่แล้วบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรในรอบปีที่ผ่านมาก็มักจะประกาศจ่ายปันผลในทุกปีอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่การจ่ายปันผลเป็นอันรู้กันของนักลงทุนว่าเมื่อใดที่หุ้นขึ้น XD ราคาหุ้นจะปรับตัวลงใกล้เคียงกับจำนวนที่ปันผล เช่น บริษัทจ่ายปันผล 0.50 บาท ราคาหุ้นในวันที่ขึ้น XD ก็จะปรับตัวลงประมาณ 0.50 บาทเช่นกัน และการปรับราคาลงก็คือการ dilute ของราคานั้นเองเนื่องจากการจ่ายปันผลเป็นเงินสดทำให้เงินในบริษัทมีลดลงนั่นเอง
2. บริษัทจ่ายหุ้นปันผล
เหตุการณ์นี้ก็จะใกล้เคียงกับการจ่ายปันผลเป็นเงินสดแต่แตกต่างกันที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงอาจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กันการจ่ายปันผลเป็นหุ้นในสัดส่วนเท่าไหร่แล้วจึงเอาไปคำนวณเป็นการ dilute ของราคาหุ้นได้ เช่น 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยใช้สูตรคำนวณดังนี้
ราคาหุ้นหลังจ่ายปันผลเป็นหุ้น = ราคาหุ้นเดิม x (1 – จำนวนหุ้นปันผล/(จำนวนหุ้นเดิม+จำนวนหุ้นปันผล) )
ตัวอย่าง
หุ้น AAA จ่ายปันผลเป็นหุ้นอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ และราคาหุ้นเดิมเท่ากับ 20.00 บาทจะคำนวณราคาหุ้นหลังจากที่ dilute ได้ดังนี้
ราคาหุ้นหลังจ่ายปันผลเป็นหุ้น = 20.00 x (1 - 1/(10+1))
ราคาหุ้นหลังจ่ายปันผลเป็นหุ้น = 18.18 บาท หรือประมาณ 18.20 บาท
สาเหตุของการ dilute นั่นก็คือ จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นทำให้กำไรต่อหุ้นลดลงก็ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ลดลงเช่นกัน
3. การเพิ่มทุน
เป็นเหตุการณ์หลักที่ทำให้ราคาหุ้น dilute เนื่องจากการเพิ่มทุนทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น แต่กำไรของบริษัทยังคงเท่าเดิม ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลงเช่นกัน จึงส่งผลต่อราคาหุ้น โดยสามารถคำนวณราคาหุ้นหลังเพิ่มทุนได้ดังนี้
ราคาหุ้นหลังเพิ่มทุน = ((อัตราหุ้นเดิม x ราคาปิดก่อนขึ้นเครื่องหมาย)+(อัตราหุ้นเพิ่มทุน x ราคาใช้สิทธิ))/(อัตราหุ้นเดิม+อัตราหุ้นเพิ่มทุน)
4. การแตกพาร์
สามารถพบเจอกันได้แต่ไม่บ่อยมากนักซึ่งการแตกพาร์นั้นมักจะเป็นการที่ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่ทำให้การเข้าซื้อหุ้นเป็นไปได้ค่อนข้างยอกสำหรับรายย่อยจึงต้องทำการแตกพาร์ให้ราคาหุ้นปรับลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น
และการแตกพาร์นี้เองที่ส่งผลต่อการ dilute ของราคาหุ้นโดยตรงเนื่องจากจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นโดยที่สภาวะทุกอย่างเหมือนเดิมเปรียบเสมือนการแบ่งเค้กจากเดิมที่แบ่งไว้อยู่ 8 ชิ้น แต่เมื่อแตกพาร์คือการแบ่งเค้กเพิ่มขึ้นจาก 8 ชิ้นอาจจะเป็น 16 ชิ้นจึงทำให้เค้กชิ้นเล็กลงส่งผลให้ราคาขายก็จะต้องถูกลงเช่นกัน
สรุป
การเกิด dilution effect สามารถเกิดได้จากหลายเหตุการณ์โดยที่เหตุการณ์นั้นจะต้องส่งผลต่อผู้ถือหุ้นโดยตรงเช่น จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนความเป็นเจ้าของลดลง หากใครสงสัยว่าการเกิดเหตุการณ์ใดกับหุ้นแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อ DW สามารถเข้าไปดูกันได้ที่ https://www.dwarrant24.com/article/corporate-action-ส่งผลต่อ-dw-ยังไง
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม https://www.dwarrant24.com/article/
โฆษณา