21 ส.ค. 2023 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์

"ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler)" จากนักธุรกิจสู่พ่อพระของชาวยิว

เรื่องราวของ "ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler)" ได้ถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกผ่านภาพยนตร์ปีค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) เรื่อง "Schindler’s List" และสร้างความประทับใจให้แฟนภาพยนตร์มากมาย
บทความนี้ก็จะพูดถึงเรื่องราวของเขาครับ
ชินด์เลอร์เกิดที่เช็กโกสโลวาเกียในปีค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) และเติบโตในเมืองอุตสาหกรรมที่ชื่อ "Zwittau" ซึ่งเป็นเมืองใกล้ๆ กับชายแดนเยอรมนี
Zwittau เป็นเมืองที่มีประชากรที่พูดภาษาเยอรมันเป็นจำนวนมาก และชินด์เลอร์ก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเยอรมัน และชินด์เลอร์ก็สนใจในวิศวกรรมศาสตร์และการบริหารธุรกิจ
ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler)
แต่แล้วการเข้ามาของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในต้นยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) ก็ได้ทำให้ธุรกิจของครอบครัวไปไม่รอด และบริษัทของพ่อชินด์เลอร์ก็ต้องปิดตัวลงในปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478)
ต่อมา กองทัพเยอรมันได้เข้ารุกรานซูเดเทินลันท์ ซึ่งเป็นบริเวณชองเช็กโกสโลวาเกียที่มีประชากรที่พูดภาษาเยอรมันอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ชินด์เลอร์เห็นช่องทางทำเงิน
ชินด์เลอร์ได้เข้าเป็นสายลับให้ฝ่ายเยอรมนี ก่อนจะไปยังเมือง Krakow และก่อตั้งธุรกิจส่งสินค้าให้กองทัพเยอรมัน
ภายใต้อำนาจของฝ่ายเยอรมัน ชาวยิวในโปแลนด์นั้นถูกกดขี่อย่างหนัก ค่าแรงเพียงน้อยนิด ชินด์เลอร์จึงใช้โอกาสนี้จ้างคนงานชาวยิวให้เข้ามาทำงานในโรงงานของตนเพื่อประหยัดค่าแรง
ในไม่ช้า ชินด์เลอร์ก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นเศรษฐี และเขาก็ใช้เงินในการหาซื้อความหรูหรา ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเม้นท์สุดหรูและของมีค่าต่างๆ อีกทั้งยังใช้เงินปรนเปรอผู้หญิง ถึงแม้ว่าตนจะมีภรรยาอยู่แล้วก็ตาม
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวยิวใน Krakow ก็ถูกเยอรมนีกดขี่หนักขึ้นทุกวัน ครอบครัวชาวยิวก็ถูกต้อนเข้าไปยังเก็ตโต้ ซึ่งเป็นสถานที่กักกันชาวยิว ชีวิตความเป็นอยู่ก็แย่ ก่อนจะถูกส่งเข้าค่ายกักกันเพื่อใช้แรงงาน
ชินด์เลอร์เองก็สังเกตเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และตระหนักดีว่าชาวยิวที่เป็นคนงานในโรงงานของตนก็อาจจะถูกฆ่าหรือถูกจับตัวไปเมื่อไรก็ได้ ชินด์เลอร์จึงตัดสินใจจะช่วย
ชินด์เลอร์ได้กว้านซื้ออาหารและของใช้จำเป็นต่างๆ จากตลาดมืด ก่อนจะโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่กองทัพเยอรมันเชื่อว่าคนงานชาวยิวในโรงงานของตนนั้นจำเป็นสำหรับโรงงานจริงๆ และต่างก็ไม่มีประโยชน์ที่กองทัพจะเอาตัวไป
ชินด์เลอร์ยังโน้มน้าวอีกว่าหากให้คนงานยิวเหล่านี้อยู่กับตน ก็อาจจะสามารถผลิตกระสุนปืนและอุปกรณ์สำหรับกองทัพได้เป็นจำนวนมาก และสามารถขายให้ได้ในราคาถูกอีกด้วย
แต่ชินด์เลอร์ก็ยังกังวลว่าพวกเยอรมันอาจจะเปลี่ยนใจทีหลัง เขาจึงคุยกับกองทัพเยอรมันว่าจะสร้างค่ายขึ้นในโรงงานของตน ให้ชาวยิวอาศัยอยู่ในนั้น โดยจุดประสงค์เพื่อที่คนงานชาวยิวจะได้ไม่ต้องไปเข้าค่ายกักกัน และอ้างกับกองทัพเยอรมันว่าจะได้ใช้งานคนงานเหล่านี้ได้ตลอด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสงคราม
กองทัพเยอรมันยอมตามข้อเสนอของชินด์เลอร์ ซึ่งชินด์เลอร์ก็เป็นคนออกทุนสร้างค่ายขึ้นในโรงงาน และถึงแม้ในค่ายจะไม่ได้สะดวกสบายนัก แต่เหล่าชาวยิวก็ปลอดภัย ไม่มีการทารุณหรือประหารคนงาน
เมื่อถึงช่วงกลางปีค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) ฝ่ายเยอรมนีก็เริ่มตระหนักแล้วว่าโอกาสที่จะชนะสงครามคงยาก กองทัพรัสเซียก็ขยับเข้ามาเรื่อยๆ กองทัพเยอรมันจึงวางแผนจะสังหารชาวยิวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
3
กองทัพเยอรมันบอกให้ชินด์เลอร์ปิดโรงงานและส่งตัวคนงานชาวยิวไปยังค่ายกักกัน ซึ่งชินด์เลอร์ก็ทำทุกวิถีทาง รวมทั้งติดสินบนเจ้าหน้าที่ พยายามเจรจาให้กองทัพเยอรมันยอมให้เขาย้ายโรงงานไปเมืองอื่น
ในการย้ายครั้งนี้ ชินด์เลอร์ทำรายชื่อของชาวยิวที่เขาจะพาหนีไปด้วย ซึ่งรายชื่อนั้นก็ประกอบด้วยผู้ชาย 800 คน ผู้หญิง 300 คน และการขนย้ายก็ไม่ง่าย
ในช่วงหนึ่ง พวกผู้หญิงถูกพาไปยังค่ายกักกันเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ซึ่งชินด์เลอร์ก็ต้องติดสินบนพวกทหารเยอรมันให้ปล่อยตัวออกมา
ชินด์เลอร์ยังคงช่วยเหลือชาวยิวต่อไปด้วยการซื้อของใช้จำเป็นจากตลาดมืดและนำมาแจกจ่ายให้ชาวยิว และในช่วงที่สงครามใกล้จบลง ราคาข้าวของก็ดีดตัวสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากอาหารและข้าวของขาดแคลน
แต่ถึงอย่างนั้น ชินด์เลอร์ก็ยอมจ่ายเพื่อช่วยเหลือชาวยิว เขาถึงขั้นซื้ออาวุธให้ชาวยิวเพื่อให้ใช้ป้องกันตนเองในเวลาอันตราย
หลังสงครามจบลง ทรัพย์สินของชินด์เลอร์ก็หายไปหมด ชินด์เลอร์กับภรรยาต้องย้ายไปยังมิวนิก ประเทศเยอรมนี และดำรงชีพจากอาหารที่ฝ่ายอเมริกันนำมาแจกจ่าย
ชุมชนชาวยิวก็ต่างต้อนรับและให้การช่วยเหลือชินด์เลอร์
ชินด์เลอร์เสียชีวิตในปีค.ศ.1974 (พ.ศ.2517) และร่างของเขาก็ถูกฝังไวัที่กรุงเยรูซาเลม ตามความตั้งใจของชินด์เลอร์
โฆษณา