Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้านสวนผัก
•
ติดตาม
21 ส.ค. 2023 เวลา 03:27 • การเกษตร
ว่าด้วยเรื่องแห้วหมูของดีประโยชน์แยอะที่หลายคนมองข้าม
สมุนไพรแห้วหมู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าแห้วหมูหรือหญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน), ซาเช่า (แต้จิ๋ว), ซัวฉ่าว (จีนกลาง) เป็นต้น
ต้นหญ้าแห้วหมู มักถูกมองเป็นวัชพืชที่ไร้ค่า หากขึ้นบ้านไหนก็เป็นได้ตัดถอนทิ้ง แถมมักแย่งสารอาหารในดินทำให้ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกลดลง และยังเป็นวัชพืชที่กำจัดยากมาก เนื่องจากมีหัวอยู่ใต้ดินและทนทานต่อสารกำจัดวัชพืช แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในตำรายาแผนโบราณของไทยและต่างประเทศนั้นมีการใช้แห้วหมูเป็นยาสมุนไพรมานานมากแล้ว แถมยังเป็นยาดีที่มีราคาถูกอีกด้วย
แห้วหมู มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ แห้วหมูใหญ่และแห้วหมูเล็ก ซึ่งมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันในเรื่องของความสูงของลำต้น ลักษณะของดอก โดยสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ทั้ง 2 ชนิด เพราะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกันมาก โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ปรุงเป็นยาก็ได้แก่ ส่วนของหัว ต้น ราก และใบแห้วหมู
ลักษณะของแห้วหมู
ต้นแห้วหมู หรือ ต้นหญ้าแห้วหมู จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก จัดอยู่ในจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นหัวกลม สั้น มีตาจำนวนมาก มีสีดำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นดิน มีขนาดเล็กเรียวเป็นเหลี่ยม มีความสูงประมาณ 4-10 นิ้ว มีสีเขียวแก่ เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการใช้หัวหรือไหลใต้ดิน เป็นพรรณไม้ที่มักเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ตามทุ่งนา ข้างทางหรือที่รกร้าง กระจายพันธุ์สูงในเขตร้อน
ใบแห้วหมู ใบเกิดที่ลำต้น ชิดแน่นโดยเป็นกาบใบหุ้มซ้อนม้วนทับกัน ชูขึ้นเหมือนลำต้นแต่แผ่เป็นใบ ใบมีขนาดเล็ก มีลักษณะแบนเรียวยาว ปลายแหลม กลางใบเป็นสันร่อง ผิวใบเกลี้ยงมีสีเขียวเข้ม ใบกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 25 เซนติเมตร
ดอกแห้วหมู ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ก้านช่อดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมสีเขียวเข้มแทงขึ้นสูง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วแตกเป็นช่อย่อยอีกหลายช่อ ดอกมีขนาดเล็ด หนึ่งช่อดอกมีใบประดับประมาณ 2-4 ใบ กางออกอยู่ฐานช่อดอก ดอกย่อยไม่มีก้าน ดอกมีสีน้ำตาล
ผลแห้วหมู ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม หน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ผลมีสีน้ำตาลหรือสีดำ
สรรพคุณแห้วหมู
แห้วหมู เป็นสมุนไพรที่มีการวิจัยพบว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) สมุนไพรหญ้าแห้วหมู ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
ด้วยการใช้หัวนำมาล้างให้สะอาดแล้วนำมาเคี่ยวกิน หรืออีกวิธีเป็นสูตรของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งในสูตรจะประกอบไปด้วย หัวแห้วหมู 10 หัว, ดีปลี 10 หัว และพริกไทยดำ 10 เม็ด นำทั้งหมดมาบดให้เป็นผงแล้วใช้ชงกับน้ำผึ้งดื่มก่อนนอน ตามตำรานี้กล่าวว่า ให้ทำเฉพาะวันเสาร์และรับประทานให้หมดในวันเดียว ไม่ให้เหลือทิ้งไว้ แล้วเสาร์ต่อไปค่อยทำใหม่ ผู้ใช้สูตรยาตำรับนี้ร่างกายจะปราศจากโรคภัยและมีอายุยืนยาว (หัว) ช่วยบำรุงกำลัง ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงกระชุ่มกระชวย ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน หูตาสว่างไสว (หัว)
ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (หัว, ราก)
ช่วยแก้ธาตุพิการ (หัว) หัวแห้วหมู นำมาแช่น้ำเกลือแล้วผัดกิน มีสรรพคุณช่วยปรับลมปราณให้สมดุล (หัว) ช่วยบำรุงหัวใจ กินน้อยเป็นยาบำรุงหัวใจ แต่ถ้าหากกินมากเกินไปจะมีฤทธิ์บีบหัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้น (หัว) ช่วยลดไขมัน ด้วยการใช้แห้วหมูทั้ง 5 ส่วน ตั้งแต่รากจนถึงต้น จำนวนตามต้องการ นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ คั่วไฟให้เหลือง แล้วใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นชา (หัว)
ใช้เป็นยาลดความอ้วน ทำให้น้ำหนักตัวลดลง ด้วยการใช้หัวแห้วหมู 5 บาท, บอระเพ็ด 4 บาท, กระชาย 5 บาท, เหงือกปลาหมอ 10 บาท, พริกไทยอ่อน 10 บาท, และมะตูมอ่อนแห้ง 4 บาท นำมาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเม็ดพุทรา ใช้รับประทานก่อนนอนวันละ 1 เม็ด สูตรนี้ยังช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ดีอีกด้วย (หัว) ช่วยลดความดันโลหิต โดยใช้หัวแห้วหมูนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม ในอัตราส่วนหัว 1 ส่วน ต่อน้ำร้อน 10 ส่วน (หัว)
ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ตามตำราแพทย์กรีกโบราณใช้แห้วหมูเป็นยากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) รากใช้เป็นยาแก้กษัย (ราก) ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ด้วยการใช้หัวแห้วหมูประมาณ 1 ฝ่ามือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว)
ช่วยแก้อาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเป็นโรคผอมแห้งแรงน้อย ด้วยการใช้หัวแห้วหมู พริกไทยอ่อน น้ำผึ้ง และเนย ในปริมาณอย่างละเท่า ๆ กัน นำมาผสมรวมกันใส่ลงไปในกระทะ ตั้งไฟกวนให้เป็นตังเม แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพุทรากินก่อนนอนทุกคืน และสูตรนี้ยังช่วยบำรุงกำลังและเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย (หัว)
หัวใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ รวมไปถึงอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ ด้วยการนำหัวแห้วหมูที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว 1 ถ้วยตวง และต้นอ้อยที่จัดเป็นปล้องเล็ก ๆ 1 ต้น แล้วใส่ลงไปต้มในหม้อกับน้ำฝน 4 ถ้วยตวง เคี่ยวจนน้ำหวานเล็กน้อย ขมเยอะ เสร็จแล้วก็เอาลง รอให้อุ่น แล้วนำมาตักกินก่อนอาหารมื้อละ 1 ถ้วย พอวันถัดไปก็ให้นำมาอุ่นทุกเช้าก่อนนำมาดื่ม (หัว) ช่วยลดไข้ แก้ไข้ ด้วยการใช้ทั้งต้นและหัว นำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วต้มเป็นน้ำดื่ม (หัว, ราก)
หากรู้ตัวว่าเป็นไข้เลือดออก มีอาการอาเจียนและมีไข้สูง หรือหากมีอาการไข้ขึ้นสูงและมีอาการไอ กินยาแล้วไม่หายเนื่องจากพิษกระจายถึงกระแสเลือด โดยเฉพาะไข้หวัด 2009 หากไปพบแพทย์ไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งวิธีแก้ในเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ก็คือ
ให้เอาหัวแห้วหมูตากแห้งที่บดเป็นผงแล้ว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับเหล้า 40 ดีกรีในปริมาณ 3/4 ของแก้วน้ำ แล้วกรองเอาแต่เหล้ามาดื่ม และใช้ผ้าคลุมตัวไว้เพื่อให้เกิดความร้อนจะได้ช่วยขับเหงื่อ ทำให้เกิดอาการอาเจียนขับพิษออกมาให้หมด แล้วไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อ (หัว) หัวช่วยขับเหงื่อ (หัว)
ช่วยแก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน (หัว) ช่วยระงับอาการหอบหืด เนื่องจากมีฤทธิ์ในการต้านการทำงานของฮีสตามีน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
ช่วยทำให้ดวงตาแข็งแรง ป้องกันตามัว ตาไม่แก่เร็ว ทำให้ตาใสไม่ขุ่นมัว มองเห็นได้อย่างชัดเจน ด้วยการใช้หัวแห้วหมูสดนำมาปอกเปลือกออกแล้วล้างน้ำให้สะอาด ใช้รับประทานทุกวันตอนเช้า วันละ 2-3 หัว (หัว)
ช่วยทำให้ฟันแน่นแข็งแรง ด้วยการใช้หัวที่ล้างสะอาดแล้วนำมาทุบให้แหลกแล้วนำไปคั่วไฟ ใช้ชงกับน้ำเป็นชาดื่ม (หัว) ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก จุกอก ลมสลักอก รับประทานอาหารไม่ได้ ด้วยการใช้ หัวแห้วหมู เถาบอระเพ็ด ขิงแห้ง ใบหนาด ดอกดีปลี พริกไทย ผักคราดหัวแหวน และใบมะตูม น้ำหนักอย่างละเท่า ๆ กัน นำมาบดให้ผงละเอียด นำมาใช้ชงกับน้ำต้มสุกหรือใช้ผสมกับสุราดื่มเช้าเย็น (หัว)
ตามตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย ใช้แห้วหมูเพื่อรักษาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร (หัว) ช่วยรักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องร่วง (หัว) ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้หัวแห้วหมูประมาณ 6-8 หัว นำมาบดผสมกับขิงแก่ประมาณ 4-5 แว่น ผสมกับน้ำผึ้งใช้เป็นยา (หัว) ช่วยแก้อาการปวดท้องอันเนื่องมาจากท้องอืด (หัว)
ช่วยลดอาการปวดเกร็งในลำไส้ หรือมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการหดเกร็งและการบีบตัวของลำไส้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ช่วยแก้โรคบิด ด้วยการใช้หัวนำมาบดผสมกับขิงแก่และน้ำผึ้งแท้ แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนไว้รับประทานแก้อาการ (หัว)
ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการไม่ย่อย ด้วยการใช้หัวแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้หัวสดครั้งละ 5 หัว นำมาโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน (หัว) สรรพคุณแห้วหมู ช่วยในการย่อยอาหาร (หัว) หัวมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการใช้หัวแห้วหมูประมาณ 6-8 หัว นำมาบดผสมกับขิงแก่ประมาณ 4-5 แว่น ผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ปั้นเป็นยาลูกกลอนไว้กิน (หัว)
ช่วยขับพยาธิไส้เดือน (หัว) หัวแห้วหมูใช้ผัดกับเหล้า ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากไส้เลื่อน และยังช่วยทำให้ระบบเส้นลมปราณไหลเวียนดีขึ้นอีกด้วย (หัว) ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (หัว, ราก) ช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด ด้วยการใช้หัวแห้วหมูสดนำมาล้างน้ำให้สะอาด นำไปตากให้แห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียด แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนกิน (หัว)
ช่วยแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (หัว) ช่วยแก้อาการปวดท้องเพราะมากในกามกิจ ด้วยการใช้แห้วหมู ใบบัวบก หญ้าเปลือกหอย อย่างละครึ่งตำลึง นำมาตำให้แหลก แล้วเอาน้ำมาชงกับเหล้าไว้ดื่ม ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกสะดือ (หัว) ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (หัว) ช่วยขับประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ (หัว)
ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้หัวที่บดละเอียดแล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณที่คัน อาการจะทุเลาลงและหายไปในที่สุด (หัว) หัวสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกแก้อาการคันอันเนื่องมาจากโรคผิวหนังได้ (หัว)
หัวสดนำมาตำละเอียดใช้เป็นยาพอกช่วยดูดหนองจากฝีมีหัวหนอง หรืออีกสูตรใช้หัวแห้วหมูและเกลือตัวผู้พอประมาณ พริกไทย 7-8 เม็ด และข้าวเหนียวที่คั่วให้เหลืองตำละเอียดแล้วประมาณ 3 หยิบมือ นำทั้งหมดมาผสมกันและคลุกผสมกับน้ำปูนใส แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหัวฝี ตัวยาจะช่วยดูดหนองออกมาจนหมด (หัว)
หัวนำมาตำ ใช้พอกหรือทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (หัว) ช่วยรักษาแผลสดและห้ามเลือด ด้วยการใช้ต้นและใบนำมาโขลกแล้วใส่น้ำปูนใสเล็กน้อย เสร็จแล้วเอามาพอกหรือกดที่แผลเพื่อห้ามเลือด (ต้น, ใบ) ช่วยรักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นและใบประมาณ 5-10 ต้น นำมาหั่นตำให้ละเอียดแล้วใช้พอกแผล (ต้น, ใบ) ช่วยรักษาบาดทะยัก ด้วยการใช้หัวแห้วหมู ต้นผักบุ้ง และสารส้ม นำมาโขลกรวมกัน แล้วผสมยามหานิล แล้วคั้นเอาแต่น้ำกิน ส่วนกากนำมาใช้พอกบริเวณบาดทะยัก (หัว)
สรรพคุณของหญ้าแห้วหมู หัวสดใช้เป็นยาแก้อาการปวด (หัว) ชาวอาหรับใช้หัวนำไปอบให้ร้อน แล้วนำมาประคบบริเวณที่บวม (หัว) ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย โดยใช้หัวที่ล้างสะอาดนำมาทุบให้แหลกแล้วนำไปคั่วไฟ ใช้ชงกับน้ำเป็นชาดื่ม (หัว) ช่วยลดการอักเสบ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมในหลอดทดลองได้ (หัว)
น้ำมันหอมระเหยจากหัวแห้วหมู มีฤทธิ์ช่วยลดความเจ็บ ช่วยผ่อนคลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ (หัว) ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ก็คือช่วยต้านเชื้อไวรัส เชื้อมาลาเรีย เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และช่วยฆ่าแมลง (หัว) หัวแห้วหมูที่นำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์จะได้สารที่ช่วยต้านเชื้อรา (หัว) น้ำมันหอมระเหยในหัวแห้วหมู มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสแต๊ฟ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝี เจ็บคอ และอาการท้องเสีย (หัว) ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงทารกในครรภ์ (หัว)
สมุนไพรไทยแห้วหมู กับการใช้หัวแห้วหมูเพื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย จะใช้ในรูปแบบชาชงดื่ม หรือแบบตำรับยาก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ วิธีแรกก็คือ การใช้หัวสดประมาณ 60-70 หัว (ประมาณ 15 กิโลกรัม) นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ ส่วนอีกวิธีก็ใช้ปั้นผสมกับน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอนไว้รับประทานก็ได้
ประโยชน์ของแห้วหมู แม้ว่าหัวแห้วหมูจะมีรสขมแต่ก็มีคุณค่าทางอาหาร ซึ่งในทวีปแอฟริกาใช้หัวรับประทานเป็นอาหารในช่วงขาดแคลน หัวแห้วหมูสามารถนำมาใช้เป็นอาหารนกได้ มีการนำมาใช้ผสมใยลูกหมากแห้งหรือแป้งเหล้าในการทำเป็นแอลกอฮอล์ เพราะมีคุณสมบัติทำให้เกิดแก๊สเร็ว
แหล่งอ้างอิง : สถาบันการแพทย์แผนไทยไพร, สำนักงานข้อมูลสมุน มหาวิทยาลัยมหิดล, กองวิจัยการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ไทยรัฐออนไลน์ (นายเกษตร), หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, สารศิลปยาไทย (ฉบับที่ 23), เว็บไซต์สมุนไพรดอทคอม,
www.gotoknow.org
(by krutoiting, นพ. วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์) ภาพประกอบ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,
www.flickr.com
(by Peter M Greenwood, Navida2010, IRRI Images, Russell Cumming, Siwa41PF, Vietnam Plants & The USA. plants,
florademurcia.es
)
สมุนไพร
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย