21 ส.ค. 2023 เวลา 12:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เกิดอะไรขึ้นกับตัวเลข GDP ไตรมาสสอง?

[econ geek alert]
กลายเป็นตัวเลขหักปากกาเซียนกันอีกครั้ง เมื่อสภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสองออกมา และ GDP ของไทยโตได้แค่ 1.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งๆที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ตั้งความหวังไว้ค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่คาดกันว่าน่าจะโตได้สัก 3% เพราะนักท่องเที่ยวก็มาแล้ว เมืองก็เปิดแล้ว
ถ้าใครดูตัวเลขเผินๆ ฟังคำอธิบายว่า การท่องเที่ยวโตดีเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ แต่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว (เพราะไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว) และการส่งออกสินค้าหดตัว ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด ก็พอเข้าใจได้ และรอดูนักวิเคราะห์ปรับประมาณการ GDP ลงแน่ๆ
2
ถ้าดูฝั่งการผลิต ภาคบริการโตดี ภาคอุตสาหกรรมติดลบ ภาคเกษตรนิ่งๆ ก็มีเหตุผล
แต่ใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์มา จำสมการ Y=C+I+G+X-M ได้ขึ้นใจ และติดตามตัวเลขเศรษฐกิจแบบใกล้ชิดอาจจะปวดหัวขึ้นไปอีก เมื่อดูตัวเลขในรายละเอียด
การบริโภคเอกชน (C) โต 7.8% โห...โตดีจัง (ว่าแต่ว่าการบริโภคอะไรมันโตดีขนาดนี้นะ)
การบริโภคของรัฐบาล (G) ติดลบ 4.3% เข้าใจได้ แต่สัดส่วนไม่เยอะเท่าไรไม่น่าทำเศรษฐกิจโตช้า
4
การสะสมทุนถาวร (I) +0.4% อะ ไม่เป็นไรไม่เยอะ
1
การส่งออกสินค้าและบริการ +0.7% ท่องเที่ยวบวกเยอะ แต่การส่งออกหดตัว พอเข้าใจได้
แต่การนำเข้าสินค้าและบริการ ติดลบ แปลว่าการส่งออกสุทธิต้องบวกเยอะสิ
ถ้าเอาทุกตัวบวกกัน C+I+G+(X-M) เศรษฐกิจต้องโตเกิน 6% เลยนะ!
1
อ้าว แล้วทำไมตัวเลขมันเหลือแค่ 1.8% ได้ละ!
1
ก่อนอื่นต้องออกตัวไว้ก่อนว่า มีคนเคยบอกว่า ถ้าอยากกินอาหารให้อร่อย อย่าเดินเข้าไปในครัว แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ว แวะไปในครัวนิดนึงแล้วกัน
GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งวัด “มูลค่าตลาด” ของสินค้าและบริการ ที่ถูก “ผลิตขึ้น” ในระยะเวลาหนึ่ง ในประเทศใดประเทศหนึ่ง
สังเกตว่าโดยความหมาย GDP วัดกันที่การผลิต อาจจะไม่ได้เท่ากับมูลค่าของสินค้าและบริการที่ถูกบริโภคในระยะเวลานั้น
เพราะฉะนั้นการวัดมูลค่าของการใช้จ่าย C+I+G+X-M อาจจะไม่เท่ากับ GDP ก็ได้ และส่วนต่างอาจจะอธิบายได้โดยตัวเลขอีกสองตัว คือ การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง (changes in inventory) และส่วนต่างทางสถิติ (statistical discrepancy)
4
เช่น ของที่ผลิตในไตรมาสนี้ อาจจะถูกบริโภคในไตรมาสถัดไป การผลิตในไตรมาสนี้อาจจะสูงกว่าการบริโภคก็ได้ ส่วนต่างก็คือการสะสมสินค้าคงคลัง ซึ่งในไตรมาสถัดไปอาจจะเห็นการบริโภคสูงกว่าการผลิตก็ได้สลับกันไป
2
และอาจจะพอวิเคราะห์แนวโน้มได้ เช่น ถ้าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังเป็นลบเยอะๆ เพราะคนกลับมาบริโภคก่อนที่การผลิตจะเพิ่มขึ้น
1
และเนื่องจากเป็นการประมาณสองวิธีมาเจอกัน ถ้าหาอะไรไม่เจอ ก็ใส่ไว้ในส่วนต่างทางสถิติไว้ก่อนก็ได้
1
ซึ่งการส่วนต่างเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไร และส่วนใหญ่ส่วนต่างจะไม่ใหญ่มากนัก และสลับกันบวกลบ
แต่ไตรมาสนี้เป็นอีกไตรมาสที่เราเห็นอะไรแปลกๆ เพราะส่วนต่างสองตัวนี้ใหญ่มากๆ และยิ่งดูตัวเลขเศรษฐกิจยิ่งงง
1
ประมาณว่าส่วนต่างที่มาจากสองตัวนี้สูงถึงประมาณ 5 percentage points แบ่งเป็น error ประมาณ 3.2% และมาจากสินค้าคงคลังอีก 1.7% และที่น่ากลัวและไม่เข้าใจคือสองส่วนนี้มันโตขึ้นเรื่อยๆ
แปลว่า เราประมาณกันว่า GDP โตได้ 1.8% ในไตรมาสนี้ แต่มีส่วนที่เราอธิบายไม่ค่อยได้สูงกว่าประมาณการของ GDP อีก
2
ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ เกาหัวแกรกๆ และคิดว่าเรากำลังวิเคราะห์อะไรกันอยู่เนี่ย
แต่อย่างว่านะครับ เนื่องจากตัวเลขนี้เป็นตัวเลขทางการ และตัวเลขที่ดีที่สุดที่เรามี เราก็ต้องเชื่อมั่น และศรัทธากันต่อไป
1
และน่าจะแปลว่าเศรษฐกิจที่เราคิดว่าจะฟื้นได้เนี่ย มันฟื้นช้ากว่าที่เราคาด สอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมาเร็วมากที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีกำลังซื้อดีขนาดนั้น
2
ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีอยู่เต็มไปหมด ทั้งหนี้สูง กำลังซื้อรากหญ้าหด เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ดอกเบี้ยขึ้น ค่าเงินผันผวน ผมว่าแบงก์ชาติเห็นแบบนี้ น่าจะต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อนและรอดูสถานการณ์ก่อน
1
แต่ไม่ได้แปลว่าดอกเบี้ยในตลาดจะไม่ขึ้นนะครับ เราอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างกันมาก ฝั่งนึงมีเงินเฟ้อ เศรษฐกิจร้อนแรง อีกฝั่งมีเงินฝืด และเศรษฐกิจย่ำแย่ ค่าเงินก็เลยผันผวนวุ่นวายไปหมด
2
จับตากันดูดีๆ นะครับ
โฆษณา