22 ส.ค. 2023 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

"Hukou" เครื่องมือบริหารทรัพยากรมนุษย์ของจีน

"หูโข่ว" (Hukou) เปรียบเทียบอย่างง่ายก็คือ "ทะเบียนบ้านของจีน" นั่นเอง จีนนำระบบ Hukou มาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 3 ปี เนื่องจากประเทศไทยออกสำรวจจัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์และจัดทำทะเบียนราษฎร์ หรือทะเบียนบ้าน ออกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2499
หากพิจารณาการนำข้อมูลประชากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถือได้ว่าประเทศไทยยังล้าหลังประเทศจีนอยู่มาก ในขณะที่จีนมี Database ขนาดใหญ่กว่าไทยมาก แต่กลับบริหารจัดการได้อย่างสมประโยชน์ตามนโยบายของรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องต่อสู้กับสงครามเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาประเทศย่อมต้องเปลี่ยนแปลง และขณะนี้ จีนกำลังลดบทบาทและข้อจำกัดของ Hukou ลง เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงนั้น
ระบบ Hukou ของจีนคืออะไร?
เดิมระบบ Hukou เป็นวิธีการลงทะเบียนประชากรที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมในปีแรก ๆ ของระบอบคอมมิวนิสต์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ระบบ Hukou ได้ก้าวไปสู่การแสดงตนผ่านการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน จนกระทั่งในเวอร์ชันปัจจุบัน Hukou ทำหน้าที่หลักสามประการ :
- การควบคุมการย้ายถิ่นภายในประเทศ
- การจัดการการคุ้มครองทางสังคม
- การรักษาเสถียรภาพทางสังคม
ภาพถ่ายหนังสือหูโข่วจีนสมัยใหม่
การควบคุมการย้ายข้อมูลภายในประเทศเป็นเป้าหมายแรกของระบบ Hukou พลเมืองแต่ละคนจะต้องลงทะเบียนเมื่อเกิด โดยการลงทะเบียนมีข้อมูลพื้นฐานของแต่ละคน เช่น รายละเอียดทางกายภาพ อาชีพ ศาสนา สถานะ ถิ่นที่อยู่ (ในเมืองหรือชนบท) และประชากรในครัวเรือน แนวคิดเริ่มต้นในการจัดตั้งระบบ รัฐบาลจีนเชื่อว่า พื้นที่ชนบทมีโอกาสใช้แรงงานมากที่สุด ดังนั้น ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศควรอาศัยและทำงานในชนบท แนวคิดนี้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าการให้พลเมืองสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระทั่วประเทศอาจเป็นภัยคุกคามต่อผลผลิตทางการเกษตร
เมื่อจีนเริ่มกลายเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ชาวชนบทประมาณ 260 ล้านคนเดินทางเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วยความตั้งใจที่จะเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตเมือง แม้จะเผชิญปัญหาการว่างงาน และอาชญากรรม หลายคนถูกเลือกปฏิบัติและถูกจำคุก แต่พวกเขาก็ยังคงเลือกอยู่ในเขตเมือง โดยอาศัยตามหัวมุมถนน ในกระท่อมร้าง และในสถานีรถไฟ กระทั่งระบบ Hukou ได้รับการปฏิรูปเพื่อปรับโครงสร้างให้เข้ากับสถานะเศรษฐกิจใหม่ ในปี พ.ศ. 2527 สภาแห่งรัฐอนุญาตให้ชาวนาและชนชั้นแรงงานของสังคม สามารถเดินทางเข้าเมืองทั่วประเทศได้อย่างมีเงื่อนไข
แรงงานข้ามชาติที่ตกงานรวมตัวกันใกล้กับโฆษณางานที่ตลาดแรงงานในเมืองชิงเต่า ทางตะวันออกของจีน รูปถ่าย: Wu Hong/EPA
ในปลายปี พ.ศ. 2533 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปิดตัวใบอนุญาต Hukou ที่เรียกว่า " blue-stamp" ให้บริการสำหรับประชากรในวงกว้างและอนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยอพยพไปยังเมืองใหญ่อย่างถูกกฎหมาย เมืองเหล่านี้รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน คุณสมบัติสำหรับ Hukou นี้ จำกัดเฉพาะผู้อยู่อาศัยที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับนักลงทุนในและต่างประเทศ
หลังจากจีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลกในปี 2544 ภาคเกษตรกรรมของประเทศได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากต่างประเทศ และการสูญเสียงานจำนวนมาก ทำให้กฎระเบียบระบบ Hukou ของจีนเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงานได้รับการผ่อนปรนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมีข้อจำกัดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองใหญ่พัฒนาเป็นชุมชนแออัดหรือสภาวะสุขภาพที่ไม่ดีอันเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การเปลี่ยน Hukou นั้น เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากรัฐบาลกำหนดโควตาการแปลง Hukou ที่เข้มงวด ปัจจุบันบุคคลที่วางแผนจะพำนักมากกว่าสามวันในสถานที่นอกเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่จะต้องได้รับใบอนุญาตผู้พำนักชั่วคราว
ในการส่งเสริมเสถียรภาพทางสังคม ระบบ Hukou อนุญาตให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันโดยเจ้าหน้าที่ เช่น ตามคะแนนเครดิตทางสังคมของแต่ละบุคคล ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น รัฐบาลใช้ระบบคะแนน เพื่อระบุว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระบบคะแนนของบุคคล ได้แก่ ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประเภทการจ้างงาน การศึกษา บันทึกทางกฎหมาย ฯลฯ
ข้อดีของระบบ China Hukou คือการเชื่อมโยงสิทธิของบุคคลเข้ากับสวัสดิการต่างๆ ช่วยให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ตามสถานะและสถานะทางการเงินของพวกเขา และมีสวัสดิการประกันสังคมมากมายที่มาพร้อมกับ Hukou ที่ออกโดยรัฐบาล เช่น ประกันสุขภาพ เงินเกษียณ ประกันการว่างงาน ผลประโยชน์การคลอดบุตร ประกันการทำงาน และกองทุนที่อยู่อาศัยตามที่นายจ้างจัดหาให้
ข้อเสียของระบบ China Hukou คือสร้างความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการระหว่างคนในท้องถิ่นและผู้ย้ายถิ่นโดยห้ามผู้ย้ายถิ่นเข้าถึงระบบสวัสดิการที่คนท้องถิ่นได้รับเท่านั้น นอกจากนี้ ระบบ Hukou ยังขยายความไม่เท่าเทียมกันในระดับภูมิภาคระหว่างท้องถิ่นที่ร่ำรวยซึ่งนำเข้าแรงงานและท้องถิ่นที่ส่งออกแรงงานที่ด้อยพัฒนา ผู้ย้ายถิ่น (จากท้องถิ่นที่ด้อยพัฒนา) ไม่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการในท้องถิ่นที่ร่ำรวยกว่าที่พวกเขาทำงานอยู่ ภาระด้านสวัสดิการตกอยู่กับพื้นที่ด้อยพัฒนาและตัวแรงงานข้ามชาติเองอย่างไม่สมส่วน
ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ถึง 2555 มีการปฏิรูป Hukou เริ่มกระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นในเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง สามารถในการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของการมีสิทธิ์พำนักได้ แต่ปัญหาต่อมาคือ แรงงานข้ามชาติที่ต้องการตั้งถิ่นฐานถาวรในเมือง และการที่ผู้อพยพไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม เนื่องจากระบบการลงทะเบียน Hukou ทำให้แรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 250 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือทางสังคม
ระบบ Hukou จะยังคงเผชิญกับการปฏิรูปเป็นระยะ แต่หน้าที่หลักของระบบยังคงเผยให้เห็นความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของเศรษฐกิจจีน แต่การเรียกร้องให้ยุติระบบ Hukou อาจสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเนื่องจากการอพยพของผู้คนจำนวนมากจากพื้นที่ชนบทของประเทศเข้าสู่เมือง
รัฐบาลจีนพยายามปฏิรูประบบ Hukou เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ให้มากขึ้นระหว่างผู้ถือครอง Hukou ประเภทต่างๆ และสร้างความคล่องตัวในตลาดแรงงาน การให้สิทธิ์แรงงานข้ามชาติกับ Hukou ในเมืองยังทำขึ้นด้วยความหวังที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการดึงดูดและรักษาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถไว้ในประเทศ
ปัจจุบันด้วยราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลให้แรงงานในเมืองจำนวนมากที่ถือครอง Hukou ในชนบท พยายามที่จะรักษาสถานะ Hukou ในชนบท แทนที่จะเปลี่ยนไปใช้เอกสาร Hukou ในเมือง ปัญหาที่ตามมาคือระบบสวัสดิการต่าง ๆ ไม่สามารถให้บริการนอกระบบได้ การให้แรงงานเปลี่ยนไปใช้เอกสาร Hukou ในเมืองใหม่ก็หมายถึงการถูกบังคับให้สละที่ดินอันมีค่าใกล้กับบ้านในชนบทของพวกเขา
นอกจากนี้ แนวโน้มทางประชากรก็กำลังเป็นปัญหาต่อการเติบโตของจีน เนื่องจากเมืองใหญ่ของจีนเป็นที่อยู่ของแรงงานวัยกลางคนจำนวนมาก จึงคาดว่าเกือบ 50% ของผู้อาศัยในเมืองใหญ่บางแห่งอาจมีอายุเกิน 65 ปีภายในปี 2593 หากไม่คลายข้อจำกัด Hukou ในปัจจุบัน ประเทศก็จะตกอยู่ในอันตราย รัฐบาลจึงต้องวางแผนการปฏิรูป Hukou เพื่อบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศในอนาคต หลังจากผิดพลาดจาก "นโยบายลูกคนเดียว" มาแล้ว
คำแถลงจาก คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission : NDRC) ในเดือนธันวาคม 2564 กำหนดให้เมืองที่มีผู้อยู่อาศัยน้อยกว่า 3 ล้านคนต้องเปิดเสรีนโยบาย Hukou รัฐบาลจีนประกาศจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นภายในประเทศ ทำให้ผู้คนสามารถตั้งถิ่นฐานในเมืองเล็กๆ ได้ง่ายขึ้น เพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และกระตุ้นการเติบโต
กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ (MPS) ได้ประกาศแผนการที่จะลดเกณฑ์ในการขอทะเบียนบ้านในเขตเมือง แต่ปักกิ่งต้องการให้รัฐบาลท้องถิ่นยกเลิกการจำกัด Hukou ในเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 3 ล้านคน และผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับเมืองที่มีประชากร 3-5 ล้านคน เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้รับเอกสารการลงทะเบียนเมือง อีกทั้งเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด ทำให้จีนจำเป็นต้องผ่อนคลายระบบ Hukou และการควบคุมทางสังคมหลายด้าน รวมถึงวีซ่าสำหรับนักธุรกิจ ในต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่
ผู้พักอาศัยแสดงทะเบียนบ้านที่ศูนย์บริการกิจการพลเรือน เมืองเหลียนหยุนกัง มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน วันที่ 31 กรกฎาคม 2557
ปัจจุบันมีการยกเลิกข้อจำกัดในการขึ้นทะเบียน Hukou ในเมืองหลายแห่งแล้ว เช่น มณฑลเจียงซี มณฑลชานตง มณฑลเจียงซู (ยกเว้นหนานจิงและซูโจว) และมณฑลเจ้อเจียง โดย หม่า หลี่ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประชากรแห่งประเทศจีน วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ มีเป้าหมายเพื่อขยายกลุ่มผู้มีความสามารถในเมืองที่มีอยู่ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยของจีน แต่สิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์คือ บริการสาธารณะพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
อีกแง่มุมหนึ่ง สำหรับเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และกวางโจว นั้น การปรับเกณฑ์การลงทะเบียน Hukou คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องจำกัดการเติบโตของประชากรเพื่อต่อสู้กับความแออัดยัดเยียดในเมือง อย่างไรก็ตาม นักประชากรศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การยกเลิกข้อจำกัด Hukou จะนำไปสู่การกระจุกตัวของประชากรในเขตเมืองและการลดลงของประชากรในชนบท
การปฏิรูป Hukou เป็นนโยบายที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งปรากฏเอกสารตั้งแต่ขณะเป็นผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน ซึ่ง สี จิ้นผิง กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ซิงหัว ได้เขียนวิทยานิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่สามารถรับบริการทางสังคมต่างๆ ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในสถานะ Hukou ของพวกเขา
และสี จิ้นผิง ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาของ Hukou อีกหลายครั้งก่อนที่เขาจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ดังนั้น แนวโน้มนโยบายยกเลิกระบบ Hukou จึงชี้ไปที่แนวความคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นั่นเอง
โฆษณา