27 ส.ค. 2023 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์

In Memoriam: ศรัทธา, อ้อนวอน, มรณกรรมของสตรีในภาพวาดของพาตัน

อาณานิคมบริติชราชนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาณานิคมใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าในมุมมองของเจ้าอาณานิคมแล้ว ผู้อยู่ใต้การปกครองถูกมองว่าเป็นสายพันธุ์ที่ด้อยกว่าและนำมาซึ่งการเหยียดหยันต่อชนพื้นเมืองและการกลั่นแกล้งสารพัดดังที่เหตุได้ชัดเจนผ่านกลุ่ม “ชีปอย” ทหารชาวอินเดียในกองทัพอังกฤษที่มักจะถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา ๆ
ซึ่งหนึ่งการแกล้งที่รุนแรงและเป็นการเหยียดหยามอย่างแท้จริงคือเรื่องกรณีปืนเอ็นฟิลด์ ที่ห่อกระสุนนั้นถูกชโลมด้วยน้ำมันหมูและวัว ซึ่งนับว่าเป็นชนวนเหตุสำคัญที่นำมาสู่กบฏอินเดียปี 1857 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “กบฏชีปอย”
กบฏชีปอยนั้นเป็นเหตุการณ์กบฏครั้งใหญ่ในอนุทวีปอินเดีย อันนำมาซึ่งการสังหารหมู่ชาวตะวันตกเป็นจำนวนมากและเหยื่อในเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่ไปเด็กและผู้หญิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยเจอมาก่อนหน้านี้ โดยเกิดจากการกระทำโดยไม่รู้จักคิดของทหารอังกฤษต่อ “เพื่อน” ทหารต่างสัญชาติเหล่านั้น
ข่าวคราวของการสังหารหมู่นี้ดังไกลไปถึงแผ่นดินบริเตน เกิดการไว้อาลัยให้แก่ผู้ตายเป็นการใหญ่ โดยเหตุการณ์ความสูญเสียนั้นก็ได้ถูกบันทึกออกมาเป็นภาพวาดโดย “โจเซฟ โนเอล พาตัน” จิตรกรชาวสก็อตแลนด์ชื่อดังผู้มีชื่อเสียงจากภาพวาดแนวปกรณัมเซลติก
ภาพ “In Memoriam” หรือ ไว้อาลัย นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของพาตันที่ถูกพูดถึงอย่างมาก พาตันวาดภาพนี้ขึ้นมาจากคำบอกเล่าที่เคยได้ยินผนวกกับจินตนาการเขาออกมาเป็นภาพของกลุ่มสตรีชาวอังกฤษที่กอดกันเกลียว เตรียมตัวและเตรียมใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
สตรีชุดดำลายดอกกลางภาพเงยหน้าขึ้นมองไปยังด้านบนพร้อมกับดวงตาที่เอ่อล้นไปด้วยน้ำตา มือซ้ายของเธอถือไบเบิลและโอบกอดสตรีอีกสองคนราวกับภาวนาต่อพระผู้เจ้าให้ช่วยทุกคนในบ้านหลังนี้รอดพ้นจากเงื้อมมือของภัยอันตรายที่กำลังกรายใกล้เข้าจากประตูในพื้นหลังทางด้านซ้ายของผู้ชม
แม้แต่โทนสีชุดของพวกเธอที่เป็นสีขาวและดำก็สื่อถึงความบริสุทธิ์และความอาลัยที่เสมือนกับเป็นการปักธงเอาไว้ว่าพวกเธอคงไม่อาจมีชีวิตรอดไปได้ ในขณะที่เด็กน้อยในชุดสีส้มสดใสไร้เดียงสาก็นอนหลับอย่างไม่อาจจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ในอนาคต ที่ทางด้านขวาของผู้ชมจะเห็นแม่อีกคนหนึ่งนี่ก้มลงจุมพิตลูกน้อยราวกับปลอบประโลมและเป็นการจูบลาครั้งสุดท้าย
ความตายของสตรีคริสเตียนในภาพของพาตันได้สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลายของศาสนิกที่ยังคงสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าเพื่อช่วยให้พวกเธอผ่านพ้นวิกฤต ทว่าก็ไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตของพวกเธอได้เลย สตรีในภาพจึงเปรียบได้กับมรณะสักขีที่ถึงแม้จะต้องตายแต่ก็ไม่อาจละทิ้งพระเจ้าเอาไว้ข้างหลังได้ ภาพไว้อาลัยของพาตันนี้จึงกลายมาเป็น talk of the town ขึ้นมาในทันทีในเรื่องของความน่าสะเทือนใจที่ปรากฏในภาพ
และก่อให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างมากในเรื่องของความไม่เหมาะสม รวมไปถึงถูกตีความไปว่าเป็นภาพที่ทหารซีปอยกำลังจะเข้าข่มขืนผู้หญิงชาวอังกฤษ ซึ่งมีรายงานบนหนังสือพิมพ์เดอะไทม์ของอังกฤษที่กล่าวว่ามีเหยื่อถึง 48 คน และเด็กสุด 10 ขวบ แต่คาร์ล มากซ์ ไม่เห็นด้วยและมองว่าเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ เพราะเดอะไทม์ได้สกู๊ปข่าวมาจากพระในบังคาลอร์ซึ่งอยู่ไกลจากพื้นที่กบฏ จึงไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอจะบอกได้ว่าทหารอินเดียทำการข่มขืนจริง
ความรุนแรงในภาพวาดของพาตัน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่คู่ควรที่จะเอามาแขวนผนังโชว์” ซึ่งในภายหลังพาตันก็ได้แก่ไขภาพใหม่ให้ทหารซีปอยกลายเป็นทหารสก็อตแลนด์ที่เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มสตรีในภาพแทน ความหมายของภาพที่เคยเป็น “ศรัทธาที่สิ้นหวัง” ได้แปรเปลี่ยนเป็น “พระเจ้าตอบรับคำอ้อนวอน” แทน และกลายเป็นภายในความหมายของความศรัทธาที่แน่วแน่ต่อพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้นั่นเอง
อ้างอิง:
Bryson, Norman, and Linda Nochlin. “Women, Art, Power.” Essay. In Visual Theory: Painting and Interpretation. Cambridge: Polity Press, 1996.
"In Memoriam," in World History Commons, https://worldhistorycommons.org/memoriam
 
Beckman, Karen Redrobe (2003), Vanishing Women: Magic, Film, and Feminism, Duke University Press, pp. 33–34, ISBN 978-0-8223-3074-5
โฆษณา